ผี พราหมณ์ พุทธ l ว่าด้วยเทพเจ้าจีน : ที่มาจากศาสนาผสม / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ว่าด้วยเทพเจ้าจีน

: ที่มาจากศาสนาผสม

 

คราที่แล้วผมได้พูดถึง “ตี่จู้เอี๊ยะ” หรือเต่กี้จู้ในความเข้าใจที่ผมได้รับมา ขอบอกด้วยความสัตย์จริงเลยครับ ผมมิได้ปรารถนาจะทำให้ท่านผิดหวังหรือรู้สึกว่าทำอะไรที่พลาดจนถึงอยากจะเปลี่ยนศาลใหม่ เอารูปแปะกงออกไปหรือถึงขั้นเลิกนับถือเต่กี้จู้

แต่ในฐานะคนทำงานด้านวิชาการ ผมมีหน้าที่นำเสนอความรู้ความเข้าใจเท่าที่สติปัญญาของผมจะมี ส่วนจะอย่างไรต่อนั้นก็แล้วแต่ท่านครับ

ในการนำเสนอของผม บางเรื่องท่านก็อาจทราบมาแล้ว บางเรื่องก็อาจตรงข้ามกับสิ่งที่ท่านเคยรู้ ผมเองมิได้จงใจขวางโลกหรือเอาแต่รื้อถอน

แต่จะให้ทำอย่างไรได้ ก็ในเมื่อผมทราบมาแบบนี้เรียนมาแบบนี้ ถ้ามีสิ่งใดที่ผมรับทราบมาผิดหรือเข้าใจผิดก็ขอได้โปรดชี้แนะผมด้วย

ช่วงนี้ขอเปลี่ยนจากเรื่องอินเดียหรือเรื่องในบ้านเรามาเขียนเรื่องจีนๆ บ้าง เพราะกำลังสนุกกับการเรียนอะไรใหม่จากผู้รู้ทางจีน อันที่จริงคุณทวด (อาจ้อ) ของผมท่านเป็นผู้ดูแลศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดของระนอง คือ “จูเจ่เก็ง” หรือ ศาลเจ้าต่ายเต่เอี๋ย

ลุงป้าน้าอาเล่าว่า ท่านมีความรู้ทางพิธีกรรมและโหราศาสตร์ดี เสียดายว่าท่านตายตั้งแต่ผมยังไม่เกิด ผมจึงไม่ได้เรียนรู้เรื่องจีนจากท่านเลย และท่านก็ไม่ได้สืบทอดความรู้เหล่านี้ไว้ เพราะเมื่อมาถึงรุ่นปู่ (ก้อง) สมัยนั้นก็ถึงยุคนิยมไทยของจอมพล ป.แล้ว

เรื่องเทพเจ้าของจีนมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค แต่ละมณฑลหรือแต่ละสายการสืบทอดทางวัฒนธรรม แต่ผมคิดว่ามีแก่นแกนบางอย่างร่วมกันอยู่

จึงอยากจะนำมาเสนอในวันนี้ครับ

 

คนจีนแต่โบราณมีศาสนาผีเป็นศาสนาดั้งเดิม มีความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษและขวัญหรือพลังชีวิตไม่ต่างจากอุษาคเนย์ จนพัฒนาเกิดเป็นอาณาจักรบ้านเมืองแล้ว ก็มีสำนักคิดต่างๆ ที่จะพัฒนาเป็นศาสนาของท้องถิ่นต่อไป

สำนักคิดในจีนนั้นน่าสนใจ เพราะเกิดเป็นสำนักปรัชญาก่อนที่จะกลายเป็นศาสนา เช่น เต๋าและหยู (ขงจื่อ) เดิมเป็นสำนักคิดแล้วค่อยพัฒนาด้านระเบียบประเพณีพิธีกรรม ผิดกับทางอินเดียหรือฝรั่งที่เกิดศาสนาแล้วจึงค่อยๆ อธิบายให้เป็นหลักคิดทางปรัชญาทีหลัง

จีนนั้นนับถือศาสนาผสมเช่นเดียวกับอุษาคเนย์ เรียกว่าซัมก่าหรือสามลัทธิ ได้แก่ ศาสนาขงจื่อหรือหยู ศาสนาเต๋า และศาสนาจากอินเดียคือศาสนาพุทธ

ศาสนาหยูนั้นเน้นตัวระบบคุณธรรม เชิดชูบุคคลที่เปี่ยมคุณธรรมว่าเป็นวิญญูชน พร้อมกับขับเน้นความกตัญญูให้กลายเป็นแกนหลักของครอบครัว และเอาคุณธรรมเหล่านี้สอดแทรกเข้าไปในความเชื่อดั้งเดิม เช่น คนโบราณกราบไหว้บรรพชนก็ด้วยหวังว่าจะเกิดความอุดมสมบูรณ์หรือบันดาลความสุข ต่อเมื่อมีแนวคิดหยูแล้ว ก็สอดแทรกคติเรื่องความกตัญญูเข้าไป กลายเป็นไหว้เพื่อรักษาขนบจารีตและเพื่อแสดงความกตัญญูเป็นหลัก

คุณธรรมเหล่านี้จึงมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคนจีนอยู่มาก ความคิดเรื่องลำดับขั้น ความอาวุโส ความกตัญญู การยึดถือคุณธรรมและรักษาจารีตกลายเป็นความคิดหลักในสังคมจีน ซึ่งให้ผลทั้งทางบวกและลบไม่น้อย

เทพเจ้าที่มาจากหยูมักเป็นบุคคลจริงๆ ในประวัติศาสตร์ซึ่งได้รับการยกย่อง เช่น กวนอู งักฮุย บรรดาบรรพกษัตริย์ หรือแม้แต่ตัวขงจื่อเอง และการเคารพเทพบรรพบุรุษ

 

ส่วนศาสนาเต๋านั้นเริ่มต้นจากการคิดเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้มุ่งมองแต่เพียงสังคมมนุษย์ และเน้นไปยังความเข้าใจเรื่อง “มรรควิถี” (เต๋า) ซึ่งมีทั้งมรรควิถีในระดับล่างสุดอันได้แก่ ระบบต่างๆ ในวิถีของสังคมมนุษย์ มรรควิถีแห่งฟ้าหรือมรรควิถีแห่งโลกธรรมชาติ และมรรควิถีใหญ่คือวิถีที่อยู่เบื้องหลังสรรพสิ่งต่างๆ

ด้วยเหตุที่มรรควิถีแห่งฟ้าและมรรควิถีใหญ่มีความลึกลับ มนุษย์จำจะต้องละทิ้งกิเลสตัณหาเพื่อจะเข้าใจและใช้ชีวิตบรรสานกับมรรควิถีนั้น การมุ่งบำเพ็ญพรตก็อาจทำให้ผู้นั้นบรรลุถึงสภาวะสูงสุดนี้ ซึ่งจะเรียกว่าสภาวะอมตะหรือบรรลุเป็นเซียน ศาสนาเต๋าที่ถูกพัฒนาขึ้นจึงเข้ากันได้ดีกับคติพื้นบ้านหรือการนับถือทวยเทพต่างๆ ในธรรมชาติ ดวงดาว หรือการปรุงโอสถอายุวัฒนะต่างๆ

เทพจากเต๋าจึงมีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการเคารพเทพบรรพจารย์ของศาสนาเต๋า เช่น ซำเช้งเต๋าจ้อ เตียวฮู้เทียนซือ

เทพที่มาจากการนับถือดวงดาว เช่น เทพกิ่วอ๋องไต่เต่ เทพเจ้าดาวเหนือ (เหี่ยงบู๊ซัวฮุดโจ้ว หรือเจ้าพ่อเสือตามความเชื่อของคนแต้จิ๋ว)

ผี ดวงวิญญาณบุคคลสำคัญ ผู้วิเศษ ผู้ใช้เวทมนตร์ เทพตามคติความเชื่อชาวบ้าน

หรือ “สภาวะ” ต่างๆ ของธรรมชาติซึ่งถูกทำให้เป็นบุคคล เช่น ฟ้ากลายเป็นพระหยกจักรพรรดิราช (หยกอ๋องสย่งเต่ หรือเง็กเซียนฮ่องเต้)

 

เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาในจีนแล้วก็ได้นำเอาทวยเทพจากอินเดีย พระพุทธและพระโพธิสัตว์ต่างๆ เข้ามาในจีนด้วย และดูเหมือนคำสอนในพุทธศาสนาจะเข้ากันได้ดีกับศาสนาเต๋าเพราะมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน เช่น มุ่งเน้นความสงบและละกิเลส รวมทั้งศาสนาเต๋าเองก็ได้นำเอาพิธีกรรมจากพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้อยู่ในน้อย เช่น การสวดมนต์

พระพุทธและพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนาจึงถูกเคารพปนๆ ไปกับคติของศาสนาทั้งสองที่มีอยู่ก่อน บางองค์ก็ถูกทำให้กลายเป็นเทพของอีกศาสนาหนึ่ง

เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่กลายเป็นเจ้าแม่กวนอิมในตำนานท้องถิ่นเรื่องเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน เป็นต้น

แม้สามศาสนาจะกลายเป็นองค์ประกอบของความเชื่อพื้นฐานในจีน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสามศาสนาก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป มีทั้งความขัดแย้งและการแข่งขันกัน ในบางยุคสมัยฮ่องเต้บางองค์ก็เชิดชูเพียงศาสนาเดียว ศาสนาที่เหลือก็ได้รับความลำบากเดือดร้อน

วรรณกรรมสองเรื่องที่สะท้อนความขัดแย้งในที่นี้ คือเรื่องไซอิ๋ว เป็นวรรณกรรมยกชูพุทธศาสนาและข่มเต๋า

ดังพวกเทพของเต๋าถูกกลั่นแกล้งจากลิงหรือมีอำนาจน้อยกว่าพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนา

ส่วนวรรณกรรมเรื่องห้องสินหรือวรรณกรรมตั้งเทพ เป็นวรรณกรรมเชิดชูเทพในศาสนาเต๋า และพยายามผนวกเอาพระโพธิสัตว์ของพุทธให้กลายเป็นเทพเต๋า

แม้แต่ละศาสนาจะมีเทพเจ้าของตัวเอง แต่ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือเทพเจ้าหลายองค์มีบทบาทในทั้งสามศาสนาอย่างแตกต่างกันออกไป

เช่น เทพเจ้ากวนอู

 

คนจีนฮกเกี้ยนบ้านผมมักเรียกกวนอูว่า กวนเส้งเต้กุน เต้กุน หรือเต้เอี๋ย คือเรียกจากยศมากกว่าชื่อตัว หรือเรียกตามคติเต๋าว่า เฮียบเทียนไต่เต่

กวนอูนั้นเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก และมักได้รับการยกย่องจากพวกหยูว่าเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูง ภาพลักษณ์อย่างหนึ่งของกวนอูคือนอกเวลารบพุ่งก็ใช้เวลาศึกษาคัมภีร์ จึงมีการสร้างรูปเคารพในปางอ่านคัมภีร์ด้วย แสดงให้เห็นถึงความเป็น “วิญญูชน” ตามคติหยูนั่นเอง

ในขณะที่เต๋ามองว่ากวนอูคงเป็นดวงวิญญาณที่มีฤทธานุภาพ คือเฮี้ยน เป็นเทพสาย “บู๊” และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเทพเจ้าจนกระทั่งอยู่ในตำแหน่งเป็น “เฮียบเทียนไต่เต่”

เทพระดับ “ไต่เต่” (จีนกลางว่า ต้าตี้ แต้จิ๋วว่า ไต่ตี่) ในศาสนาเต๋าหมายถึงจักรพรรดิหรือราชาธิราช ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการที่ราชสำนักมอบให้เทพเจ้าต่างๆ (ไว้จะเล่าเรื่องการตั้งเทพและระบบราชการในเทพเจ้าจีนภายหลัง) ในบางกลุ่มลัทธิพิธีเชื่อกันว่า กวนอูได้รับตำแหน่งเป็นเง็กเซียนฮ่องเต้ของยุคปัจจุบันด้วย แต่ไม่ใช่ความเชื่อซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

นอกจากนี้ พุทธศาสนายังรับเอาเทพเจ้ากวนอูไปอยู่ในวัดในฐานะ “พระสังฆรามปาลโพธิสัตว์” คือเกิดเรื่องเล่าว่า ดวงวิญญาณกวนอูได้ไปพบพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งท่านได้ให้คำสอนและให้กวนอูรักษาวัดวาอารามในฐานะพระธรรมบาล คตินี้นิยมมากในสมัยชิง เพราะเทพเจ้าสายบู๊เดิมที่ราชสำนักหมิงยกย่องได้แก่งักฮุยหรืองักบู๊บกอ๋องมีบทบาทขับไล่พวกมองโกลและพวกนอกด่าน กวนอูจึงเหมาะกับราชสำนักชิงซึ่งมาจากพวกนอกด่านมากกว่า

คตินิยมนี้ยังแพร่ไปจนถึงทิเบตเพราะมีการนับถือกวนอูในฐานะพระธรรมบาลโดยเฉพาะในนิกายการจูร์

 

ดังนั้น ถ้าเราเจอรูปเคารพกวนอูในวัดจีน นั่นคือกวนอูในคตินิยมแบบพุทธ แต่ถ้าไปศาลเจ้าคือเทพกวนอูในคตินิยมแบบเต๋าหรือหยูนั่นเอง เช่นเดียวกับเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นได้ทั้ง “เจ้าแม่” ตามความเชื่อแบบเต๋าพื้นบ้าน หรือจะเป็นพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาก็ได้

เรื่องเล่าเทพเจ้าจีนตามสติปัญญาอันน้อยของผมจะมีอะไรมาต่อ

ขอโปรดติดตาม