ผี พราหมณ์ พุทธ : ร่างทรงแห่งรัฐ / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ภาพประกอบจาก ภาพยนตร์ เรื่อง ร่างทรง

 

ร่างทรงแห่งรัฐ

 

ผมยังไม่ได้ชมภาพยนตร์ชื่อคล้ายกับบทความวันนี้ มีหลายคนไปชมมาแล้วก็วิจารณ์ไปต่างๆ กัน แต่แน่นอนว่า อย่างน้อยคงทำให้คนชมรู้จักความเชื่อบางอย่างที่แพร่หลายในทุกภูมิภาคของบ้านเรา คือเรื่องการทรงเจ้าเข้าผี

ที่จริงผมได้เคยพูดเรื่องเข้าทรงไปแล้วหลายครั้ง แต่เรื่องนี้ยังมีอะไรให้พูดได้อีกเรื่อยๆ เพราะความเชื่อและพิธีกรรมปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดไม่ได้หายไปไหน ไม่ใช่แค่ในบ้านเรา แต่ทั่วทั้งโลก ดังนั้น คงมีแง่มุมมาให้เล่ากันได้อีกถ้ายังไม่เบื่อเสียก่อน

ในศาสนาวิญญาณนิยม (animism) หรือศาสนาผีนั่นแหละครับ มีความเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ล้วนมีวิญญาณ และโลกของวิญญาณยังคงสามารถติดต่อสื่อสารกับโลกของมนุษย์เราได้ เพียงแต่ในเงื่อนไขที่แตกต่างออกไป เพราะแม้คนจะเชื่อว่าโลกวิญญาณมีลักษณะคล้ายโลกของคนเป็น แต่ก็อยู่ในสภาพที่ไม่เหมือนกัน เช่น ไม่มีตัววัตถุหรือร่างกาย

ด้วยเหตุนี้คนทรงจึงเข้ามามีบทบาทในฐานะคนกลาง (medium) ที่ทำหน้าที่แทนคนอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถจะติดต่อสื่อสารกับวิญญาณได้โดยตรง

คนทรงจึงมีหน้าที่ในชุมชน ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกหรือใครคนใดคนหนึ่งอย่างในปัจจุบัน และเมื่อสามารถติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนอื่นติดต่อไม่ได้

คนทรงจึงมีอำนาจในทางวัฒนธรรมด้วย

 

การเข้าทรงนั้นจริงหรือไม่ผมไม่อาจทราบ ตอนเป็นเด็กๆ มีชีวิตใกล้ศาลเจ้าก็อยากเป็นร่างทรง (ภาษาฮกเกี้ยนเรียกว่า กี่ต๋อง) กับเขาเหมือนกัน เพราะนอกจากจะอยากรู้ว่าเป็นอย่างไรในขณะที่เทพเจ้าลงมาประทับ อีกอย่างก็รู้สึกเท่ดีถ้าเราได้ทรงเจ้า แต่ตามคติความเชื่อท้องถิ่น ผมเป็นคนที่ “พระไม่จับ” คือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ไม่เลือกให้เป็นคนทรง เพราะมักเลือกคนที่ดวงตกหรือถึงฆาต ผมจึงอดเป็นร่างทรงไป

บางท่านว่าการทรงเจ้ามีทั้งจริงและไม่จริงผสมปนเปกัน ที่บอกจริงก็ไม่ทราบเช่นกันว่าจริงในความหมายใด เช่น จริงว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์นั้นๆ มาเข้าสิงร่าง

หรือจริงว่ามีดวงวิญญาณที่ใช้ชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมาเข้าสิงร่าง

หรือคนทรงรู้สึกจริงๆ ว่ากำลังมีสิ่งใดมาเข้าร่างอยู่ โดยที่อาจไม่มีสิ่งนั้นเข้ามาในร่างกายจริงๆ ก็ได้

ในชุมชนระดับเผ่าหรือหมู่บ้าน ร่างทรงคงมีหน้าที่สำคัญมากอยู่ เช่น ทำนายทายทัก รักษาโรคภัยไข้เจ็บและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ แต่เมื่อหมู่บ้านกลายเป็นบ้านเมืองหรือรัฐแล้ว คงรับเอาคติทางศาสนาหลักซึ่งมาจากที่อื่นมาแทนที่ศาสนาผี (อย่างน้อยก็ในฉากหน้า) พระนักบวชหรือพราหมณ์ก็เข้ามาทำหน้าที่ให้กับพระราชาแทนร่างทรง

ผมยังไม่เคยเห็นบันทึกว่า ในสมัยโบราณของบ้านเรา ร่างทรงมีบทบาทต่อราชสำนักอย่างไรบ้าง หรือถึงจะมีอยู่แต่คงไม่ได้บันทึกไว้เป็นทางการ

หากใครทราบแหล่งค้นคว้าก็โปรดบอกด้วยเถิด

 

ในสมัยกรีกโบราณ ร่างทรงตามวิหารต่างๆ โดยเฉพาะวิหารแห่งเดลฟาย มีการให้คำปรึกษาโดยร่างทรงซึ่งประจำอยู่ที่นั่น ซึ่งให้คำปรึกษาตั้งแต่คนธรรมดาไปจนถึงเจ้าผู้ปกครองรัฐ ดังนั้น เรื่องร่างทรงจึงเป็นเรื่องสากลเรื่องหนึ่งของมนุษย์ เพราะมีในทุกเผ่าพันธุ์ เอเชียมี ฝรั่งก็เคยมี

นอกจากนี้ การเข้าทรงยังเป็นเรื่องเดียวกับ “ศิลปะการแสดง” โดยเฉพาะการแสดงตามขนบ เพราะการที่เราจะแสดงเป็นใครได้นั้น จำจะต้องถอดเอาตัวเองออกไป แล้วรับเอาตัวตนใหม่เข้ามาเพื่อเข้าถึงบทบาทของตัวตนใหม่นั้น การแสดงจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวตนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย การเขียนหน้าทาปาก ไปจนการใช้ “หน้ากาก”

หน้ากากจึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของพิธีกรรมเข้าทรง นับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหลายวัฒนธรรม

ผมคิดว่า โขนของบ้านเราก็มีพื้นฐานเช่นนี้จึงมีความเชื่อและขนบประเพณีมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหัวโขน

 

ที่จริงการเข้าทรงเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้นำของรัฐหรือบ้านเมือง (ไม่ใช่แค่ในระดับชุมชนหรือหมู่บ้าน) ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบันมิใช่เป็นเรื่องในอดีตเท่านั้น คือยังมีในกลุ่มคนทิเบตครับ

ทิเบตปกครองอาณาจักรและพุทธจักรโดยพระภิกษุมายาวนาน โดยมีองค์พระประมุขคือองค์ทะไลลามะ และมีรัฐบาลกลางเพื่อดำเนินกิจการต่างๆ ด้วย แม้ว่าแต่ละนิกายย่อยๆ องค์ประมุขนิกายอาจจะมีอำนาจในเขตปกครองของตนเองไปพร้อมๆ กัน

นอกจากพุทธศาสนาแล้ว ทิเบตยังมีคติความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับภูตผีและเทพท้องถิ่นจำนวนมาก เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาในทิเบต บรรดาภูตผีและเทพเหล่านี้ก็ถูกทำให้เป็น “พระธรรมบาล” หรือผู้ปกป้องพุทธศาสนาดังที่ผมได้เคยเขียนไว้แล้ว

พระธรรมบาลมีบทบาทในทางวัฒนธรรมและความเชื่อไม่น้อยไปกว่าเทพและพระพุทธะในพุทธศาสนา และมีบทบาทกระทั่งในเรื่องการเมืองการปกครองด้วย

บางเรื่องสำคัญในกิจการบ้านเมือง นอกจากองค์ทะไลลามะจะปรึกษากับเหล่าขุนนางหรือรัฐบาลแล้ว บางครั้งก็ยังทรงขอคำปรึกษาจากพระธรรมบาลเหล่านี้ผ่านร่างทรงนั่นเอง

 

ในบรรดาพระธรรมบาลทั้งหมด พระธรรมบาลที่ได้รับการเคารพนับถือและยอมรับว่าเป็น “พระธรรมบาลแห่งรัฐ” คือพระธรรมบาลเนจุง (Nechung) หรือดอร์เจ ดรักเดน (Dorje Drak-den) ซึ่งหากเทียบคล้ายจะเป็น “พระทิเบตเทวาธิราช” นั่นแล

เนจุงเป็นเทพท้องถิ่นของทิเบต ไม่ใช่พระธรรมบาลจากอินเดีย มีลักษณะดุร้ายน่ากลัว แต่ได้ตั้งปณิธานที่จะปกป้องดูแลพุทธศาสนาและทิเบต เมื่อองค์ทะไลลามะหลายต่อหลายพระองค์ให้ความสำคัญกับพระธรรมบาลองค์นี้ เนจุงจึงมีอารามเฉพาะของตนที่เก่าแก่ขึ้นมาโดยเฉพาะ

คนทรงของเนจุงเรียกว่า เนจุง กูเต็น ตำแหน่งนี้เป็นของพระภิกษุเท่านั้น ซึ่งจะมีการสืบทอดเป็นรุ่นๆ พระภิกษุที่เป็นคนทรงเนจุงจะได้รับการแต่งตั้งจากรัฐและเป็นที่เคารพนับถือ ท่านปัจจุบันคือพระอาจารย์ทุบเทน โงดรุป ซึ่งพำนักอยู่ที่เมืองธรรมศาลา นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งเนจุง ริมโปเชซึ่งเป็นประมุขของอารามเนจุง

การเข้าทรงเนจุง พระภิกษุผู้เข้าทรงจะได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ เมื่อเข้าทรงแล้วจะมีการสวมชุดแต่งกายและมีเครื่องสวมศีรษะ ซึ่งในเวลาปกติจะไม่สามารถสวมได้เพราะมีน้ำหนักถึงสิบสามกิโลกรัม (ในอดีตหนักถึงสามสิบกิโลกรัม) สีหน้าและน้ำเสียงจะเปลี่ยนไป

เนจุงจะพูดด้วยภาษาทิเบตโบราณ ซึ่งมีเพียงพระไม่กี่รูปเข้าใจ มีการกำหนดนัดหมายสำหรับให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลและองค์ทะไลลามะเป็นประจำ หรือหากมีเหตุการณ์พิเศษก็สามารถปรึกษาเนจุงได้

คนทรงเนจุงมีได้คนเดียวเท่านั้นนะครับ ชาวบ้านทั่วไปหรือใครนึกจะอ้างว่าเข้าทรงเนจุงไม่ได้ครับ เพราะเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล

 

เหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทิเบต คือในวันที่ 7 มีนาคม 1959 คนทรงเนจุงได้บอกองค์ทะไลลามะขณะเข้าทรงอยู่ว่า ให้รีบหนีออกจากทิเบตในคืนนั้นทันที ตอนนั้นจีนได้บุกเข้าทิเบตและล้อมไว้ทุกทางแล้ว องค์ทะไลลามะบันทึกไว้ว่าเนจุงได้บอกเส้นทางที่จะหลบหนีไปจนถึงชายแดนอินเดียอย่างชัดเจน และองค์ทะไลลามะตลอดจนผู้ติดตามสามารถหลบหนีไปได้อย่างปลอดภัย

แม้เนจุงจะพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำหลายครั้ง แต่องค์ทะไลลามะก็ตรัสเองว่า ทรงฟังคำปรึกษาทั้งจากเนจุงและรัฐบาลอย่างใคร่ครวญพิเคราะห์ มิได้ทรงฟังแต่ทางใดทางหนึ่งเพียงอย่างเดียว และทรงตัดสินใจด้วยตัวเองตลอด

หากมองจากสายตาคนนอกอย่างเราคงจะรู้สึกแปลกๆ ที่รัฐบาลและประมุขของประเทศฟังคำปรึกษาจากเทพเจ้าผ่านคนทรงด้วย แต่ในวัฒนธรรมทิเบตซึ่งเกี่ยวพันกับภูตผีปีศาจและเทพเจ้าอย่างลึกซึ้ง เรื่องพวกนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมของเขา เป็นความเชื่อที่ฝังแน่นในจิตใจคนทิเบตมาก

กระนั้นผมคิดว่าบ้านเราเองก็มี “ร่างทรงแห่งรัฐ” เหมือนกัน ที่อาจแปลกประหลาดกว่าของทิเบตเสียอีกเพราะไม่ได้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนมาเข้าทรง เป็นแต่อ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่ออำนาจของตัวอยู่เสมอ

อันนี้น่ากลัวและน่าระแวงมากกว่าเยอะครับ