ผี พราหมณ์ พุทธ : ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ภารตะ-สยาม

ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง

 

ชื่อบทความวันนี้ เป็นชื่อเดียวกับหนังสือรวมบทความในมติชนสุดสัปดาห์ จากคอลัมน์ “ผี พราหมณ์ พุทธ” ของผมนี่แหละครับ เพิ่งจะออกมาไม่นานนี้เอง

แน่นอน ผมคงต้องแอบโฆษณาหนังสือตัวเองอยู่บ้าง แต่เพื่อไม่ให้น่าเกลียดจนเกินไป ก็คงมีสิ่งอันเป็นสาระความรู้หรือแง่คิดมาเสนอท่านผู้อ่านด้วยไม่มากก็น้อย แล้วก็อยากเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกันครับ

ในครั้งแรก ผมเพียงแค่อยากรวบรวมประเด็นเรื่องปรากฏการณ์ทางศาสนาในบ้านเราที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเอาไว้ในที่เดียว และก็คิดเพียงว่า อยากมีหนังสือรวมบทความเรื่องนี้เก็บไว้

ต่อมาก็คิดได้ว่า ด้วยความชอบเรื่องอินเดียและได้เขียนประเด็นทางศาสนากับการเมืองของอินเดียไว้เป็นระยะๆ ก็น่าจะเอามารวมได้ด้วย ในชื่อ “การเมืองกับศาสนา ภารตะ-สยาม” อะไรทำนองนี้

เมื่อกองบรรณาธิการมติชนและศิลปวัฒนธรรมเห็นด้วย จึงเกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา โดยมีการพูดคุยปรับปรุงทั้งในส่วนเนื้อหาและชื่อ ผมจึงได้แบ่งเนื้อหาในหนังสือออกเป็นสี่ส่วน คือ เรื่องพุทธศาสนาในชื่อพุทธธรรมกับการเมือง ส่วนที่เป็นเนื้อหาของอินเดียกับศาสนาฮินดูในชื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับการเมืองและความศักดิ์สิทธิ์

ส่วนที่สามเน้นสถานการณ์ในสังคมไทยในชื่อไสยศาสตร์กับการช่วงชิงความหมายในการเมืองไทย และส่วนสุดท้าย เป็นข้อเสนอคือ ปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง

สำหรับท่านที่ถามว่า เอ้า ก็รวมบทความที่เคยเขียนแล้ว ก็ต้องเคยอ่านแล้วถ้าติดตามเป็นประจำ จะซื้อทำไม ผมคงต้องบอกว่า การรวมจัดประเด็นไว้ในที่เดียวนั้น สะดวกต่อการอ่านซ้ำมากๆ ทั้งยังมีการปรับปรุง การจัดประเด็นหมวดหมู่ มีคำนำคำนิยมอะไรตั่งต่าง จึงควรมีไว้สักเล่มครับ (แฮร่)

 

สมัยก่อนก็งานรวมบทความของนักวิชาการต่างๆ ที่เขียนในหนังสือพิมพ์นี่แหละ ที่ช่วยให้ผมได้เรียนรู้ ได้ใช้ประโยชน์มาถึงปัจจุบัน

เมื่อทางกองบรรณาธิการได้ข้อสรุปว่า หนังสือเล่มนี้ควรจะชื่อ “ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง” เพื่อจะล้อเล่นกับคำว่า “ต้องห้าม” เพราะโดยทั่วไปนั้น มักคิดกันว่า การเมืองเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับศาสนา

กระนั้น หนังสือเล่มนี้จะบอกว่า แม้ภายนอกศาสนาจะพยายามบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องต้องห้าม ต้องหลีกให้ไกล แต่เอาเข้าจริงศาสนาสัมพันธ์กับการเมืองมากกว่าที่เราคิด ไม่ว่าจะเป็นการเมืองภายนอกหรือการเมืองภายในศาสนจักรเอง

ซึ่งโดยมากเป็นการเมืองแบบไม่สร้างสรรค์ด้วย คือเป็นไปตามแนวทางอำนาจนิยม เผด็จการนิยม

ผู้อ่านบางท่านอาจเถียงผมว่า ก็นั่นเป็นสิ่ง “แปลกปลอม” ที่เข้ามาทำให้ศาสนาที่บริสุทธิ์ “แปดเปื้อน” เป็นของปลอมปน

เช่นเดียวกับประโยคที่มักจะพูดว่า “ศาสนาไม่ได้เสื่อมหรอก คนต่างหากที่เสื่อม”

แต่การพูดเช่นนี้ราวกับว่า จะสามารถแยก “คน” ออกจาก “ศาสนา” ได้ ถ้าไม่มีคนแล้ว ศาสนาจะอยู่ตรงไหน ก็คนทั้งนั้นที่เป็นศาสนิกที่ “ถือศาสนา”

บาดหลวง (ผมมักเขียนเช่นนี้ เพราะเห็นด้วยกับมติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงวินิจฉัยว่า คำนี้มาจาก ปาเดร (padre) ที่แปลว่าพ่อ และตรงตาม พ.ร.บ.บาดหลวงที่ใช้กันมาแต่เดิม อีกทั้งคำว่าบาทหลวงมักมีผู้เข้าใจไปว่า แปลว่า ตีนโต เพราะหมายถึงฝรั่ง ซึ่งผมไม่เชื่อคำอธิบายนี้) ท่านหนึ่งเคยพูดกับผมอย่างน่าฟังว่า แม้ศาสนาของเราจะเป็นเรื่องของพระเจ้า แต่พวกเราก็เป็นมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมบกพร่องผิดพลาดได้ องค์กรทางศาสนาหรืออะไรก็ตามที่มนุษย์ทำก็ย่อมบกพร่องผิดพลาดได้เช่นกัน

ศาสนาของมนุษย์จึงมีข้อบกพร่องเสมอ แต่ก็ต้องพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขกันไป

ผมชอบคำอธิบายของบาดหลวงผู้ใหญ่ท่านนี้มาก เพราะสุดท้ายแล้ว ก็มนุษย์ทั้งนั้นที่ถือศาสนา และมนุษย์ที่จะบริสุทธิ์ผุดผ่องชนิดที่จะไม่ทำความผิดบกพร่องอะไรเลยจะมีแค่ไหนกัน

 

วิจักขณ์ พานิช ผู้ให้เกียรติเขียนคำนิยมให้หนังสือเล่มนี้ก็กล่าวว่า ในทางกลับกัน การเมืองซึ่งดูเป็นเรื่องโลกย์ๆ ไม่ศาสนาที่ตรงไหน กลับแสดงให้เราเห็นถึงอนาคตของความหวัง “ความหลุดพ้น” จากการกดขี่ข่มเหง แสดงให้เราเห็นถึง จิตวิญญานของความเท่าเทียมเสมอภาค นี่ไม่ใช่เรื่องจิตวิญญานแบบที่เราพูดถึงศาสนาหรือ

ดังนั้นแล้ว การเมืองก็เป็นเรื่องจิตวิญญานไม่น้อยไปกว่าศาสนา เพียงแต่มันไม่ได้มีเปลือกหุ้มอย่างเดียวกับศาสนา คือรูปแบบพิธีกรรมและความเชื่อถึงสิ่งเร้นลับ

คนที่เข้าใจทะลุประเด็นนี้มีไม่น้อย แม้แต่นักบวชในศาสนาเอง อย่างเช่นองค์ทะไลลามะ ก็มักตรัสว่า ผู้ปฏิบัติการทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์คือการปฏิบัติแบบโพธิสัตว์ เป็นต้น

ส่วนศาสนา หลายครั้งกลับยุ่งกับการเมืองอย่างไม่สร้างสรรค์เสียเอง แย่ยิ่งกว่าการเมืองในระบบอีก ทั้งการทำให้ศาสนาปลอดจากการเมืองจะเป็นไปได้จริงแค่ไหน หากนิยาม “การเมือง” กว้างขวางกว่าแค่กิจกรรมในรัฐสภาหรือการเคลื่อนไหวต่างๆ หากการเมืองเป็นทั้งเรื่องการจัดสรรทรัพยากรและการบริหารอำนาจ รวมทั้งเรื่องจิตวิญญาณดังที่กล่าวไว้แล้ว

สำหรับผมแล้ว จึงเป็นการดีกว่าที่จะยอมรับว่า ศาสนาและการเมืองเกี่ยวพันกันอย่างไร ไม่สร้างสรรค์เพียงใด แล้วแสวงหาที่ทางที่เหมาะสมในความสัมพันธ์กับรัฐ (คือแยกศาสนาออกจากรัฐ) ในขณะเดียวกันก็มาเกี่ยวพันกับการเมืองในทางสร้างสรรค์แทน

เช่นนี้ศาสนากับการเมืองจะเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน ตรวจสอบกัน และมีระยะที่เหมาะสมต่อกัน และสามารถนำสังคมไปสู่ความเจริญได้

 

ผมคิดว่า ปรากฏการณ์ทางศาสนาในบ้านเรา ทั้งที่ผ่านพ้นไปแล้ว หรือที่จะเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ต่อไป ล้วนแต่สะท้อนความใกล้ชิดกันทางการเมืองกับศาสนาทั้งสิ้น แต่เป็นแบบไหน คงไม่ต้องอธิบายหรือยกตัวอย่างให้เห็นอีก

การคิดจะให้ศาสนาปลอดการเมืองโดยสิ้นเชิงนั้น จึงไม่ใช่วิธีคิดของผม แต่ทำอย่างไรที่จะปลดปล่อยการช่วงใช้กันระหว่างรัฐกับศาสนา ไม่ว่าจากฝ่ายไหน คำตอบที่ตอบมาหลายต่อหลายครั้ง คือการแยกศาสนาออกจากรัฐนั่นเองครับ ซึ่งจะส่งผลดีต่อศาสนาเอง

ผมคิดว่าสำนึกต่อบทบาทของศาสนาในบ้านเรากำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป นอกจากต้องให้เครดิตแก่บรรดานักวิชาการหลายท่าน ไม่ว่าอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ, อาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์, วิจักขณ์ พานิช ฯลฯ ยังควรให้เคนดิตแก่ พส.ทั้งสองรูป คือพระมหาสมปองและพระมหาไพรวัลย์ด้วย

คุณูปการที่แท้จริงของสองท่านสำหรับผม ไม่ใช่การชักจูงคนให้มาสนใจศาสนามากขึ้น ซึ่งเป็นอีกเรื่อง (เพราะเป็นแนวคิดเรื่องการเผยแผ่ศาสนา ซึ่งจะมีประโยชน์มากน้อยแก่ผู้คนเพียงใดคงต้องถกเถียงกันต่อ) แต่คือการทำให้พระเป็นคนจริงๆ เสียที เป็นเพื่อนกับฆราวาสที่หยอกล้อคุยกันได้ ถกเถียงกันได้ ไม่ได้แยกออกจากชาวบ้านหรือผู้คน

แสดงให้เห็นว่า เออ พระก็คนนี่แหละ

 

ผมไม่ได้จบมาทางรัฐศาสตร์หรือการเมืองการปกครอง ผมจึงรู้สึกเขินๆ ทุกครั้งที่เขียนงานทางศาสนาที่มีประเด็นทางการเมือง เพราะคิดว่ามุมมองของตัวเองยังขาดความแหลมคมหรือความรอบด้านอีกมาก

ดังนั้น หนังสือเล่มใหม่ที่จะขอฝากไว้ในอ้อมอกอ้อมใจของมิตรรักนักอ่านทุกท่าน จึงไม่ใช่หนังสือที่หวังได้ถึงความแหลมคมทางความคิด หรือแนววิเคราะห์อันล้ำลึก เพียงแต่พยายามชวนคิดชวนคุยกับคนอ่าน

มิใช่ผู้บอกทาง แต่เป็นผู้ร่วมทาง รวมฝัน ร่วมหวังไปด้วยกัน

จึงขอให้ท่านผู้อ่าน อ่านด้วยขันติธรรมและเมตตาธรรมต่อผู้เขียนด้วย

ดังเช่นที่ได้เคยมีมาตลอด