ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
คเณศจตุรถี
เป็นวันเกิดของพระพิฆเนศวร์?
ปกติในช่วงนี้ของปี ผมมักจะได้เดินทางไปยังประเทศอินเดียเพื่อไปร่วมงานคเณศจตุรถี แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดที่รุนแรงในอินเดีย ผมจึงไม่ได้ไปงานคเณศจตุรถีมาสองรอบแล้ว
แม้แต่การจัดงานในเมืองไทยเอง หลายที่ก็งด หลายที่ก็ทำเป็นการภายในเท่านั้น
พูดแล้วก็ชวนให้นึกถึงบรรยากาศความสนุกสนานที่เคยได้พบ ทั้งยังเป็นโอกาสที่ผมจะได้ “เดินด้วยตีน เห็นด้วยตา” เผื่อจะเก็บความรู้อะไรใหม่ๆ มาฝากท่านผู้อ่านบ้าง
แต่ก็นั่นแหละครับ พอไม่ได้เดินทาง แถมอยู่บ้านสอนออนไลน์มาเป็นปี ก็หมดแรงและอ่อนล้า ไม่ได้หาความรู้เพิ่มเติมเอาเสียเลย
หากขอพรพระคเณศในช่วงเทศกาลนี้ได้ ผมคงขอให้โรคภัยไข้เจ็บในโลกทุเลาเบาบาง ผู้คนพ้นจากความทุกข์ยาก ยิ่งไปกว่านั้น ขอให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่มรรควิถีที่ควรเป็น ที่ถูกที่ต้องเสียทีเถิด ผู้คนจะได้หายทุกข์หายยากเสียที
พอพูดเรื่องเทศกาลคเณศจตุรถี ผมเคยเขียนบทความชื่อ “คเณศจตุรถี ไม่ใช่วันเกิดพระคเณศ!” ตีพิมพ์ไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2559 และยังนำไปรวมตีพิมพ์ในหนังสือ “ภารตะ-สยาม? ผีพราหมณ์พุทธ?” ด้วย
ในบทความนั้น ผมมีข้อเสนอว่า เทศกาลคเณศจตุรถี ไม่ใช่วันเกิดของพระคเณศ เพราะทางแคว้นมหาราษฎร์ที่ซึ่งจัดงานนี้อย่างยิ่งใหญ่ที่สุด เขาถือเอาว่าวันประสูติของพระคเณศเป็นอีกเทศกาลหนึ่ง คือเทศกาล “คเณศชยันตี” ซึ่งอยู่ในเดือนมาฆะ ตกราวกลางมกราคมถึงกุมภาพันธ์
ผมอ้างถึงงานเขียนของคุณไมค์ (ไมเคิล ไรท์) ว่า ชาวอินเดียใต้มักแห่พระคเณศเมื่อยามฝนแล้ง ดังนั้น ผมจึงตีความว่า งานคเณศจตุรถีซึ่งมีในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนั้น เป็นงานขอฝนหรือขจัดอุปสรรคก่อนจะทำการเกษตร เพราะพอหมดคเณศจตุรถี ก็จะเป็นช่วงหว่านไถ และเป็นเทศกาล “เคารีบูชา” หรือการบูชาเจ้าแม่แห่งพืชพรรณต่อทันที
ผมจึง “ฟันธง”ว่า ยังไง้ยังไง เทศกาลคเณศจตุรถีไม่ใช่งานวันเกิดพระคเณศแน่ๆ และการเข้าใจเช่นนั้นย่อมเป็นการเข้าใจที่ผิด
ต่อมาคงมีผู้กล่าวถึงประเด็นนี้กันมาก และมีเพจความรู้ชื่อ “ไวทิกทรรศนะ” ได้ค้นคว้าและเขียนประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ผมจึงพลอยได้รับความรู้ด้วย และท่านก็มีหลักฐานมาแสดงว่า ที่จริงคเณศจตุรถีก็เป็นวันเกิดพระคเณศนะ
เพจนี้ใครสนใจภาษาสันสกฤต วัฒนธรรมอินเดีย และความรู้ต่างๆ ในคัมภีร์ของฮินดูควรจะต้องติดตามครับ ผมรู้จักกับแอดมินคือคุณศรีเวทชนนีทาสในทางส่วนตัวด้วย นับว่าเป็นอัจฉริยบุคคลในทางตำราและภาษาสันสกฤตคนหนึ่งของเมืองไทย แม้อาจมีบางเรื่องไม่ได้คิดตรงกันเสียทีเดียว แต่ท่านก็เป็นผู้มีความรู้อย่างยิ่งควรแก่การคารวะ
เมื่อมีผู้นำเสนอข้อมูลใหม่โต้แย้งกับสิ่งที่ผมได้เคยฟันธงไว้ แล้วมีหลักฐานแน่นหนา ผมก็ยอมรับด้วยความเต็มใจครับ จึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาใหม่ว่าการฟันธงของผมนั้นผิดไปจากข้อมูลในชั้นคัมภีร์ และจะได้พิจารณาว่าอะไรทำให้ผมเข้าใจเช่นนั้น
ทั้งนี้ ย่อมเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของการโต้แย้งกันด้วยข้อมูลความรู้ ก็จะเกิดความงอกงามทางสติปัญญากันต่อไป
คุณศรีเวทชนนีทาสได้ยกหลักฐานมาว่า ในคัมภีร์ปุราณะหลัก ได้แก่ ศิวมหาปุราณะระบุว่า พระคเณศเกิดใน วันแรม 4 ค่ำ เดือนภาทฺรปทะ (ภัทรบท) ต่างกันกับช่วงเวลาเทศกาลที่ฉลองกันโดยทั่วไปสิบห้าวัน (คนละปักษ์) ส่วนในสกันทะปุราณะและคเณศปุราณะ ระบุว่าพระคเณศเกิดใน วันขึ้น 4 ค่ำ เดือน ภาทฺรปทะ (ตรงกับช่วงเวลาคเณศจตุรถี)
มีเพียงในคัมภีร์มุทฺคลปุราณะ ที่กล่าวว่า พระคเณศเกิดใน วันขึ้น 4 ค่ำ เดือน มาฆะ (แต่ก็กล่าวถึงวันขึ้นสี่ค่ำในเดือนภัทรบทด้วย)
จะเห็นได้ว่า แม้แต่คัมภีร์เองยังกล่าวถึงการกำเนิดของพระคเณศไว้ไม่ตรงกัน ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในคัมภีร์ชั้น “ปุราณะ” หรือเทวตำนาน ความขัดแย้งในคัมภีร์เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมากๆ หากเทียบกับเทวตำนานอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากปุราณะของ “ต่างนิกาย” กัน
เรื่องราวของเทพแต่ละองค์ ต่างปุราณะกันก็เล่าต่างกันออกไป เพราะแต่ละปุราณะก็ยึดถือกันอยู่ตามหมู่คณะของตนเอง บางครั้งก็โจมตีกันรุนแรงมาก เช่น ฝ่ายไวษณพ (นับถือพระวิษณุ) นี่เขาถือเลยนะครับว่าปุราณะของพวกนับถือพระศิวะ จัดเป็น ตมสิกะ (ดำมืด) ใครอ่านก็จะต้องตกนรกหมกไหม้ ผิดกับของฝ่ายตนที่เป็น “สตวิกะ” คือสว่างขาว อ่านแล้วก็ไปสวรรค์ ทำนองนี้
แม้ผู้นับถือพระคเณศเอง ก็ยังถือคัมภีร์ต่างกันออกไปด้วย ขึ้นอยู่กับความนิยมนับถือของท้องถิ่นนั้นๆ
ผมจึงขอยอมรับโดยดุษณีว่า การฟันธงว่าคเณศจตุรถีไม่ใช่วันเกิดพระคเณศของผมนั้น ผิดไปจากคัมภีร์จริงๆ เพราะเมื่อคัมภีร์เขียนไว้เช่นนั้นตามที่ผู้รู้ยกมา ก็ควรจะถือได้ว่าคเณศจตุรถีเป็นเวลาของการประสูติของพระคเณศตามที่ปุราณะระบุไว้
กระนั้น ความเข้าใจของผมว่า คเณศจตุรถีไม่ใช่การประสูติของพระคเณศ ก็เกิดจากการเข้าไปเรียนรู้ และสังเกตการณ์ความเชื่อของท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากตัวคัมภีร์ แต่เป็นความเชื่อและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ผมได้พบเห็น
ต้องกล่าวอย่างนี้ครับว่า เท่าที่ผมทราบ ในแคว้นมหาราษฎร์ซึ่งมีการฉลองเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่ เขามักถือเอาวันคเณศชยันตีในช่วงต้นปีเป็นการฉลองวันประสูติของพระคเณศมากกว่าคเณศจตุรถี
ผมเคยสอบถามคนมาราฐีหรือคนพื้นถิ่นหลายคน ท่านก็ยืนยันเช่นนี้ แม้แต่วัดพระศรีสิทธิวินายกที่มุมไบ ซึ่งเป็นวัดพระคเณศที่โด่งดัง ก็ฉลองวันคเณศชยันตีโดยมีการนำเทวรูปทารกพระคเณศ (พาลคณปติ) มาบูชาและฉลองในเทศกาลนี้ ซึ่งไม่ได้ทำแบบเดียวกันในช่วงคเณศจตุรถี
ส่วนเทวสถานสำคัญที่จิณจาวัฑซึ่งเป็นศูนย์กลางของนิกายคาณปัตยะในแคว้นนั้น ก็ฉลองทั้งคเณศจตุรถีและคเณศชยันตีอย่างยิ่งใหญ่ทั้งคู่
ผมคิดว่า ความเชื่อพื้นเมืองดังกล่าวมาจากอิทธิพลของสองสิ่งที่สำคัญ
อย่างแรกคือ การให้ความสำคัญกับ “มุทคลปุราณะ” คือคัมภีร์ปุราณะรองที่ว่าด้วยพระคเณศ ซึ่งประพันธ์ขึ้นในดินแดนแถบนั้นประมาณช่วงศตวรรษที่ 16-17 โดยศรีคเณศโยคีนทราจารย์และนักบุญท่านอื่นๆ ในนิกายคาณปัตยะ มีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองโมเรคาว (โมเรคราม) ที่ตั้งเทวสถานพระมยุเรศวร
ด้วยเหตุที่มุทคลปุราณะแพร่หลายในแถบนั้นมาก จึงอาจเป็นเหตุให้คนมาราฐีเชื่อว่า คเณศชยันตีถือเป็นวันเกิดพระคเณศ
แต่อย่างที่สองที่ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นอิทธิพลที่สำคัญกว่า คือ ท่าน โมรยาโคสาวี (โมรยาโคสวามี) นักบุญคนสำคัญที่สุดของนิกายคาณปัตยะในแคว้นมหาราษฎร์ มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 มีวันเกิดในวันคเณศชยันตีพอดี
คนมาราฐีมีความเชื่อที่พิเศษอันหนึ่ง คือเชื่อกันว่าท่านโมรยาโคสาวีเป็นอวตารของพระคเณศ พระมยุเรศวรได้มาบังเกิดเป็นท่าน ท่านจึงได้ชื่อ “โมรยา” อีกทั้งทายาททั้งเจ็ดรุ่นของท่านต่างเป็นอวตารของพระคเณศทั้งแปดองค์ (อัษฏวินายก)
การเชื่อว่าพระคเณศเกิดในวันคเณศชยันตีไม่ใช่คเณศจตุรถี จึงเป็นความเชื่อของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ซึ่งรวมเอาความนับถือท่านโมรยาเข้าไว้ ผนวกกับสภาพของสังคมเกษตรที่เน้นการเพาะปลูกที่ทำให้ความหมายของงานคเณศจตุรถีมีนัยถึงความอุดมสมบูรณ์ และรวมกับการขับเน้นมิติทางการเมืองของพิธีคเณศจตุรถีด้วย จึงอาจทำให้ความคิดว่า คเณศจตุรถีเป็นวันเกิดพระคเณศมิได้แพร่หลายในกลุ่มคนมาราฐีเท่ากับวันคเณศชยันตี
ผมจึงเข้าใจตามสิ่งที่ได้พบเห็น แต่เมื่อมีผู้ทักท้วงว่า คัมภีร์ก็กล่าวถึงการประสูติในเทศกาลคเณศจตุรถีเช่นกัน
จึงขอน้อมรับไว้ด้วยความเคารพ
และขอขอบคุณครับ