ผี พราหมณ์ พุทธ l สมณสารูป : ความเป็นพระ ธรรมะ และตลกเทศนา?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

สมณสารูป

: ความเป็นพระ ธรรมะ และตลกเทศนา?

 

ผมมีเรื่องอยากเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวที่มีต่อพระสักหน่อยครับ คือผมมีประสบการณ์ทั้งที่ดีและไม่ดีเกี่ยวกับพระ

โดยเรื่องแรกเป็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยโสภาเล็กๆ สำหรับผม

ในสมัยที่ผมยังเป็นรองคณบดี มีภาควิชาหนึ่งในคณะได้จัดกิจกรรมนิมนต์พระวิทยากรซึ่งเป็นพระรุ่นใหม่วัยใกล้เคียงกับผมมาคุยกับนักศึกษา (ปัจจุบันสึกหาลาเพศไปแล้ว ขออนุโมทนา)

ทางภาควิชานั้นจึงขอให้ผมไปเป็นตัวแทนคณะในการถวายของที่ระลึกเพื่อเป็นเกียรติอะไรทำนองนั้น ขณะที่พิธีกรกล่าวเชิญ พระวิทยากรนั่งอยู่ที่โต๊ะบรรยายกลางเวที ผมก็พุ่งตัวไปยืนถวายของให้ตามความคุ้นชิน แต่พระรูปนั่นพูดขึ้นว่า ให้คุกเข่าลงซะ แล้วค่อยยื่นถวายของ

ตอนนั้นในใจผมปรี๊ดขึ้นมาเลยครับ คือผมก็พอรู้ธรรมเนียมชาววัดบ้าง แต่ในงานแบบนี้ ไม่ใช่ศาสนพิธี คุณ (มึง) ก็แค่ยืนขึ้นมารับของจากตามสากลเขา จะยากเย็นอะไรวะ จะมาเจ้ายศเจ้าพิธีการอะไรในเวลานี้ นี่เหรอพระรุ่นใหม่ (คิดในใจ) แม้ในใจจะมีเป็นหมื่นล้านคำ

แต่ก็ทำไปตามนั้นด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเพื่อไม่ให้งานเขาขลุกขลัก

 

ส่วนกรณีที่ดีนั้นมีเยอะอยู่ นอกเหนือจากครูบาอาจารย์ในสายธรรมต่างๆ มีพระที่ผมเคารพมากๆ อยู่รูปหนึ่ง เป็นรุ่นพี่ที่อายุต่างกันไม่มาก พระรูปนี้สนใจใคร่รู้สิ่งต่างๆ มักจะลงเรียนคอร์สอะไรต่อมิอะไร โดยเฉพาะความรู้ “ทางเลือก” หรือวิชาของพวกฮิปปี้ เราจึงได้เจอกันเสมอ ท่านเร่ร่อนไปอยู่ตามที่ต่างๆ แม้จะมีวัดสังกัด จะป่าเขาหรือที่ไหนๆ ก็อยู่ได้ มีความรู้ภาษาดี และเป็นมิตรกับทุกคนอย่างจริงใจ

ด้วยความที่ท่านเป็นนักดนตรีเก่า บางครั้งเมื่อพวกเราคุยกันจนดึกดื่น จู่ๆ ท่านจะคว้ากีตาร์ขึ้นมาบรรเลงและร้องเพลงจากมนตราทิเบตบ้าง แต่งเพลงเกี่ยวกับธรรมะสดๆ ในตอนนั้นเลยบ้าง แต่ผมไม่เคยเห็นท่านเอาเพลงทางโลกหรือเพลงฮิตมาร้องนะครับ โอ้ย เพลงที่ท่านแต่งนั้นไพเราะจนน้ำตาไหล

บางครั้งคุยกันยาว เพื่อนบางคนเคยยุให้ผมถวายอาหารว่างให้ท่านฉันในตอนดึกๆ เพราะกลัวท่านหิว ท่านอึกอักแต่ก็รับไปฉันต่อหน้าเรานั่นแหละ แม้จะรู้ว่าเป็นอาบัติเล็กน้อยทั้งท่านและคนถวาย แต่ผมกลับรู้สึกมีความสุขอย่างประหลาดที่ได้ถวายข้าวเย็นให้พระ

นอกเวลาที่เรียนหรือสนทนากับพวกเรา ท่านจริงจังกับการภาวนาหรือแสวงหาคำตอบของชีวิตด้านใน ใช้เวลาไปกับการภาวนาหลีกเร้นหรือหาความรู้จากพุทธศาสนานิกายต่างๆ เวลาคุยหรือเถียงกับเราไม่เคยยกความเป็นพระมาสู้ ท่านมีชีวิตเรียบง่าย ไม่สั่งสม จริงใจ มักให้กำลังใจและความเป็นมิตรอย่างมาก แม้จะชอบหยอกล้อต่อเถียงกัน

นี่เป็นพระที่ผมกราบได้อย่างสนิทใจรูปหนึ่ง สมัยนี้ผมมักมือแข็งกับพระ เพราะพระตอแหลมีมาก แสร้งว่าเคร่งครัดแต่เลวทรามกว่าฆราวาสก็เยอะ หรือหากไม่ตอแหลก็มักไม่ค่อยมีความเป็นกัลยาณมิตรกับโยม

 

อาจารย์อนุสรณ์ ติปยานนท์ เคยเล่าถึงพระเกจิต่างจังหวัดรูปหนึ่ง เป็นพระฉันเหล้า เป็นคนดุ แต่ชาวบ้านนับถือมาก แม้จะทราบว่าท่านฉันเหล้า หรือชาวเหนือที่ส่งข้าวเย็นให้พระฉันก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป

แม้แต่องค์ทะไลลามะยังเคยพูดอะไรตลกๆ ท่านเล่าว่า บางครั้งท่านก็แอบฉันคุกกี้ตอนกลางคืนเพราะหิว ก็รู้ว่าอาบัติแต่มันหิวนี่นา ท่านเล่าด้วยอารมณ์ขันอย่างไม่ปิดบัง

ผมไม่ได้กำลังบอกว่าพระควรฉันข้าวเย็นหรือดูถูกวินัยเล็กๆ น้อยๆ นะครับ

แต่สำหรับผมและหลายๆ คน ความเป็นพระมิได้อยู่ที่ศีลพรตที่ต้องยึดถืออย่างตายตัวตามตัวอักษรจนกลายเป็น “สีลัพพตปรามาส” คือยึดถือศีลพรตจนกลายเป็นสิ่งที่ส่งเสริมอัตตา แทนที่ศีลพรตจะเป็นสิ่งที่ช่วยถ่ายถอนอัตตาตัวตน แต่สารัตถะของความเป็นพระ คือการเลือกวิถีชีวิตของการสละละวาง ซึ่งมิได้หมายความว่าจะต้องปลดปลงกับทุกสิ่งและบีบเค้นตนเองราวกับพวกฤษีสักประเภทหนึ่ง

ศีลพรตที่ควรเป็นจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด แต่คือการเข้าใจเจตนารมณ์ของศีลและวินัยเหล่านั้นด้วย ซึ่งมีขึ้นเพื่อรักษา “ความเป็นปกติ” ของชีวิตพระหรือฆราวาสให้ราบรื่น ดำเนินไปโดยปราศจากความกังวลและความทุกข์ร้อน

เราต้องไม่ลืมว่า การสละละวาง มิได้เป็นเพียงรูปแบบภายนอก แต่คือคุณลักษณะของจิตใจด้วยนะครับ

 

อีกอย่าง ผมคิดว่า ศิลปะของชีวิตพระคือการหาความสมดุลระหว่างการละวางและปลีกเร้นภาวนา กับการทำประโยชน์แก่ชุมชนและเพื่อนมนุษย์ กระนั้น ที่สุดแล้วหัวใจของชีวิตพระคือการภาวนานั่นแหละครับ ชีวิตที่ถูกออกแบบมาให้พึ่งพาคนอื่นเลี้ยงชีพก็มีเพื่อเป้าหมายนี้ หากพระไม่ละทิ้งการภาวนาหรือแสวงหาชีวิตด้านใน เข้าใจศีลพรตอย่างถูกต้อง จะทำอะไรอื่นๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมเลย

หากไม่มีการภาวนา ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเข้านั่งสมาธิกรรมฐานเท่านั้น แต่คือกระบวนการเรียนรู้ชีวิตด้านในทุกรูปแบบ พระก็จะกลายเป็นเพียงอาชีพอันหนึ่งเท่านั้น ที่ออกจะได้รับอภิสิทธิ์ในทางวัฒนธรรมอยู่มากเสียด้วย

ที่พูดมานี้ ผมไม่ได้พยายามทำให้พระกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงส่งหรือต้องมีความเคร่งครัดตามอุดมคติอะไรเลยนะครับ พระก็คน ก็ลูกชาวบ้านนี่แหละ และเรากับพระควรจะเป็นเพื่อนกันได้ พระควรจะบอกตัวเองเช่นนี้เพื่อจะลดท่าทีของการทำตัวเหนือกว่าชาวบ้านทั้งๆ ที่ชาวบ้านคือผู้เลี้ยงดูพระ ส่วนชาวบ้านก็ไม่ควรคิดว่าตนนั้นด้อยกว่าพระในทุกทาง เราก็มีสิทธิ์จะตักเตือนหรือชี้แนะพระได้ด้วย

ทำไมเราเห็นพระฝ่ายมหายานหรือวัชรยานทำกิจกรรมบางอย่างคล้ายฆราวาส เช่น ทำครัว ขับรถ เล่นดนตรี ร้องเพลง แต่ศาสนิกทางนั้นเขาไม่รู้สึกเดือดร้อน ผมคิดว่า คำตอบที่ผมพูดไปแล้วคือท่านเหล่านี้ไม่ได้ละทิ้งชีวิตของการภาวนาและทำประโยชน์ รวมทั้งเหล่าศาสนิกเองก็มุ่งพิจารณาคุณลักษณะทางจิตใจของท่านมากกว่ารูปแบบภายนอกนั่นเอง

เหตุไฉน ในบ้านเรา คนมักสนใจความเคร่งครัดของพระ โดยเฉพาะที่ปรากฏอย่างเป็นรูปแบบภายนอก เช่น ความสำรวม ท่วงท่าวาจา มากกว่าตัวคุณลักษณะของจิตใจ หรือที่จริงมันมาจากมุมมองที่เรามีต่อพุทธศาสนาและมุมมองที่มีต่อพระซึ่งเราถูกหล่อหลอม ตอกย้ำ ผลิตซ้ำกันในปัจจุบัน

 

มีคนเคยพูดว่า เราอาจนับถือคนละ “พุทธศาสนา” กับบรรพชนของเราในดินแดนนี้ เพราะการปฏิรูปทางศาสนาที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่ การวางรากฐานการศึกษาของคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ห้า ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรืออิทธิพลของการศึกษาจากส่วนกลางที่ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นแบบเดียวและเป็นแบบที่เรารู้จัก

แม้หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า เราน่าจะนับถือทั้งมหายานและวัชรยานมาก่อนเถรวาทลังกาวงศ์ แต่ไม่ต้องย้อนไปถึงเพียงนั้นก็ได้ แค่ประมาณร้อยปีมานี้ ก่อนหน้าที่พุทธศาสนาจากกรุงเทพฯ จะกลายเป็นพุทธศาสนากระแสหลัก เรามีพุทธศาสนาที่หลากหลายในท้องถิ่นต่างๆ มีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันในหมู่พระสงฆ์องค์เจ้า รวมทั้งเรายังมีมุมมองต่อพุทธศาสนาและพระอย่างหลากหลายเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในปัจจุบัน คนจำนวนมากจึงเห็นว่าพุทธศาสนาของไทยน่าจะมี “มาตรฐาน” อะไรบางอย่าง และควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งมุมมองที่มีต่อพระและวัตรปฏิบัติของท่านด้วย

ทว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่ได้เติบโตมากับการกล่อมเกลาทางศาสนาดังเช่นคนรุ่นก่อน หรืออย่างน้อยๆ ก็สมาทานค่านิยมที่ไม่เหมือนกัน มีมุมมองเกี่ยวกับพุทธศาสนาและพระต่างออกไป ซึ่งนำมาสู่ข้อถกเถียงในพื้นที่ออนไลน์ในเวลานี้

 

กรณี “พ.ส.” หรือ “พระสงฆ์” (ตามคำที่ท่านเรียกตัวเอง) สองรูป ได้แก่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ได้จัดสนทนา (ที่ท่านเรียกคำว่า แบตเทิล) ผ่านไลฟ์ทางสื่อออนไลน์ด้วยความตลกขบขัน สร้างเสียงหัวเราะให้คนดูเป็นอย่างมาก กลายเป็นกระแสที่สื่อให้ความสนใจ นอกจากเสียงชื่นชมโดยเฉพาะจากวัยรุ่นแล้ว ยังมีกระแสติติงว่า ไม่เหมาะสม ทำไมพระมาเล่นตลก ไม่สำรวม ไม่สมกับ “สมณสารูป” ควบคู่ไปด้วย

ผมกำลังสนใจเรื่องนี้ เพราะที่จริง “การเทศน์ตลก” ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย กว่าเราจะเทศนาแบบปาฐกถาหรือเรียบเรียงคำเทศน์อย่างบรรยายเช่นที่คุ้นกัน ก็ล่วงมาถึงกลางๆ รัตนโกสินทร์แล้ว และมาแพร่หลายในยุคท่านปัญญานันทะและท่านพุทธทาสแล้ว กว่าเราจะมีคตินิยมเทศนาธรรมะขั้นโลกุตระตรงๆ เนื้อหาการเทศน์แต่เก่าก่อน ผมเข้าใจว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เราคุ้นกัน

แต่เนื้อที่หมดแล้ว เราจะทบทวนเรื่องการเทศน์และสมณสารูปที่เชื่อมโยงกับกรณีข้อถกเถียงนี้

ในคราวหน้าครับ