ผี พราหมณ์ พุทธ : การกลับมาของความสนใจ ‘ไสยศาสตร์’ ในคนรุ่นใหม่

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
กลุ่มลำพูนปลดแอกจัดกิจกรรม #ลำพูนมูเตลู พลังโยนีปราบมาร / ขอบคุณภาพประกอบจาก ประชาไท

 

 

การกลับมาของความสนใจ ‘ไสยศาสตร์’

ในคนรุ่นใหม่

 

ช่วงนี้ประเด็นไสยศาสตร์กลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง

ซึ่งมีทั้งเรื่องที่เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ

บางเรื่องก็ไม่ใหม่แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้

บางเรื่องก็มีส่วนเสริมเติมแต่งออกไปในแนวทางแฟนตาซีกรุ่นกลิ่นนิยายเอามากๆ โดยเฉพาะเรื่องไสยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก กลายเป็นกระแสความสนใจใหญ่โต

กระนั้นก็เข้าใจได้ครับว่า ในสังคมที่เราไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงหรือถกเถียงได้ทุกเรื่อง อะไรที่มีการปกปิดซ่อนเร้น ต้องห้าม การนินทาและเรื่องเล่าซุบซิบก็จะเกิดมากเป็นพิเศษ

ในแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องมือในการลดทอนอำนาจหรือท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ให้คนคนนั้นดูกลายเป็นคนมีด้านมืดหรือตัวร้าย แม้อาจจะไม่ได้ตั้งอยู่บนความจริงทั้งหมด (หรืออาจเกินกว่าครึ่ง) แต่ก็เป็นเครื่องมือไม่กี่อย่างที่ชนชั้นล่างหรือคนที่ถูกกดขี่เลือกหยิบมาใช้

ในอีกแง่หนึ่ง คนชั้นบนก็อาจปล่อยให้มันลือๆ กันไปก็ได้ในบางเรื่อง เพราะความจริงเองนี่ก็สามารถทำลายความลึกลับศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นอำนาจอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน หากปล่อยให้ลึกลับดำมืดต่อไปอาจดีกว่า

เอาเข้าจริงสังคมแบบนี้ก็น่ากลัวครับ สังคมที่ความจริงหายากกว่าทอง แล้วอุดมไปด้วยความไม่จริงจากหลายฝ่าย

เมื่อรัฐยิ่งใช้กลไกของกฎหมายหรือกลไกรัฐอะไรต่างๆ เข้ามากำกับควบคุมการรู้ความจริงซ้ำเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่ก็โกหกหลอกลวงอยู่เสมอ สุดท้ายรัฐและชนชั้นนำก็อาจพังพินาศแล้วพาสังคมลงห้วยลงเหวไปด้วย

ครานี้ พอโลกโซเชียลพูดถึงอะไรที่ไม่ชัดเจน ลึกลับ ไม่รู้อะไรจริงอะไรมโนในทางความเชื่อ เขาก็อยากได้ความเห็นจากนักวิชาการและวิชาเกินอย่างผมบ้าง ผมจึงมักถูกชักชวนจากมิตรสหายให้ไปพูดคุยในเรื่องไสยศาสตร์อะไรต่างๆ อยู่บ่อยๆ ทั้งที่ก็ออกตัวว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญไสยเวทวิทยาอะไรแม้จะเขียนเรื่อง “ผี พราหมณ์ พุทธ” หลายปีแล้วก็ตาม

ชะรอยหน้าตาจะดูเหมือนหมอผีกระมัง หรืออาจต้องตั้งสโลแกนว่า “นึกถึงผี พราหมณ์ พุทธ นึกถึงคมกฤช” (ฮา)

 

วันที่เขียนบทความนี้ ผมเพิ่งเข้าวงคุยเรื่องประเทศเราเคยมีกระทรวงเวทมนตร์ หรือ “กรมแพทยา” ที่เขาตื่นเต้นกัน มีคุณศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คอลัมนิสต์ข้างๆ กันนี้ และวิจักขณ์ พานิช มาร่วมคุยด้วย

ที่จริง ตั้งแต่ประเด็นว่าพระสยามเทวาธิราชเป็นผีรึป่าวเรื่อยมาจนถึงประเด็นกรมแพทยา ผมหวังและมองในแง่ดีว่า ความ “ตื่นเต้น” ของคนฟังหรือคนใคร่รู้จำนวนมาก หากกลายเป็นความ “ตื่นตัว” ที่จะเข้าใจรากเหง้าของเราเอง เข้าใจความสัมพันธ์ของ “ศาสนาไทย” ซึ่งมีศาสนาผีเป็นพื้น ก็จะเป็นความงอกงามของปัญญา

ดังนั้น สิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าทำเอาไว้ในทางวิชาการ ไม่ว่าจะอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ คุณไมเคิล ไรท์ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เรื่อยมาจนถึงคนรุ่นผม หากจะได้เริ่มออกดอกออกผลเป็นความเข้าใจผลิบานในสังคมนี้ เรียกว่าทำงานมาคุ้มค่า

พลอยตื่นเต้นไปด้วยเลยครับ

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังจะได้เห็นมิติทางสังคมการเมืองของไสยศาสตร์ ว่าที่จริงแล้ว ศาสนาและความเชื่อต่างๆ ไม่ได้ดำรงอยู่ลอยๆ โดยไม่สัมพันธ์กับสิ่งอื่น โดยเฉพาะการเมืองและรัฐ ไม่ว่าจะใกล้ชิดหรือห่างไกล โดยเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็ตาม

 

ประเด็นที่น่าสนใจสองสามประเด็น ที่ถูกถามขึ้นในวงคุยวันนั้น อย่างแรกคือเหตุใดคนรุ่นใหม่ถึงกลับมาสนใจเรื่องไสยศาสตร์ ประเด็นถัดมา คือตอนนี้สังคมไทยอยู่ตรงไหนระหว่างความเป็นสมัยใหม่ที่ถูกนิยามด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับโลกโบราณที่เน้นความเชื่อ และสุดท้าย สังคมเราจะไปทางไหน แบบไหนดี

อย่างแรก ผมคิดว่าที่คนรุ่นใหม่เขาหันกลับมาสนใจไสยศาสตร์และความเชื่อ เพราะเขาเห็นแล้วว่า ไสยศาสตร์สัมพันธ์กับอำนาจอย่างไรบ้าง ชนชั้นนำใช้ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือในการปกครอง ผ่าน “ความศักดิ์สิทธิ์” แบบใด

เรามักคุ้นเคยด้วยภาพข่าวว่า ไสยศาสตร์เป็นเรื่องของคนไม่มีการศึกษา ของชาวบ้าน ไหว้ผีไหว้ต้นไม้ งมงายไร้สาระ

แต่เอาเข้าจริง ไสยศาสตร์อยู่กับชนชั้นนำมาโดยตลอดเช่นกัน แต่ความเชื่อเช่นนี้ ถูกความงดงามของ “โบราณราชประเพณี” และทองระยิบระยับบดบังจนเราลืมไปว่า นี่ก็เป็นความเชื่อแบบเดียวกับชาวบ้านนั่นแหละ

มีเพจหนึ่งนำรูปการที่ชาวบ้านกราบไหว้ท่อนไม้มาเทียบกับภาพศาลหลักเมืองใน กทม. แล้วลงข้อความอย่างแสบสันว่า ไหว้ท่อนไม้เหมือนกัน อันหนึ่งบอกว่าชาวบ้านงมงาย อีกอันบอกว่างดงามเป็นโบราณประเพณี อันนี้สุดๆ เลยครับ อธิบายทุกอย่างไว้เลยในภาพเดียว

นอกจากนี้ ยังมีบทความวิชาการของคุณพสิษฐ์ อิทธิปรัชญาบุญ เรื่อง “ตำราไสยศาสตร์ในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์” ให้ข้อมูลว่า ชั้นนำและราชวงศ์ตั้งแต่สมัยอยุธยาต่างถือว่าวิชาไสยศาสตร์เป็นวิชาความรู้สำคัญของพวกตน ถึงกับต้องมีตำรับตำราไว้เรียน

แต่หลังคบค้าฝรั่ง ด้านหนึ่งชนชั้นนำของเราจึงต้องแสดงให้เห็นความก้าวหน้าไม่ด้อยกว่าฝรั่ง แต่ในอีกด้านก็ยังรักษาเรื่องพวกนี้ไว้

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ความรู้ทางไสยศาสตร์ยังคงมีความสำคัญต่อชนชั้นนำเรื่อยมา เช่น ในหลวงรัชกาลที่ห้ายังเคยเรียนขี่ช้างหรือวิชาคชกรรม รัชกาลที่หกทรงเป็น “ครูใหญ่” ในพิธีไหว้ครูโขนละคร

ภายหลังมีพระราชวงศ์บางพระองค์ถึงกับเป็นที่นับถือกันว่ามีความรู้ไสยศาสตร์เป็นเลิศ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งท่าน “จบนอก” นะครับ

ไสยศาสตร์ทำให้คนคนนั้นมีคุณวิเศษขึ้นมา และเมื่อมีคุณวิเศษก็มีอำนาจด้วย

ในทางกลับกัน ชนชั้นนำจึงไม่ไว้ใจคนอื่นที่มีวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์เพราะถือเป็นเรื่องอันตราย ดังมีการบัญญัติโทษของการทำกฤตยาคุณต่างๆ ในพระอัยการเบ็ดเสร็จ หรือกรณีการประหารเจ้าจอมบางองค์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ในข้อหากระทำคุณไสยหรือเสน่ห์ยาแฝด

เหตุนี้เอง คนรุ่นใหม่เขาถึงหันกลับมามองไสยศาสตร์ว่ามันเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมือง

ตัวเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั่นเป็นอีกเรื่อง แน่นอนว่ามีบางคนที่ยังเชื่อ และแม้ในปัจจุบันไสยศาสตร์ก็ยังทำงานของมันอยู่ นอกจากจะเป็นการทำความเข้าใจ “mindset” ชนชั้นนำที่ไม่ได้อยู่ในฝักฝ่ายประชาธิปไตยให้ลึกซึ้ง เขายังพยายามหาแนวรบทางวัฒนธรรมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย คือเอาไสยศาสตร์มาใช้ “โต้กลับ” ทั้งในทางสัญลักษณ์ หรือยียวนกวนประสาท เป็นสงครามจิตวิทยา อีกทั้งอาจสามารถหาแนวร่วมจากกลุ่มคนที่เขามีความเชื่อขยายวงออกไปด้วย

ผมคิดว่า คนรุ่นนี้เขาสนใจว่าอะไรที่ทำให้เรามาถึงจุดที่สังคมของเราไร้ความหวังและชีวิตของพวกเขาถูกทำให้ไร้ความหมาย ถูกกดทับจาก “ผู้ใหญ่” ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่ผู้ใหญ่เชื่อ เขาก็อยากจะรู้ให้หมด

 

ส่วนประเด็นที่สอง ตอนนี้สังคมไทยอยู่ตรงไหน

ผมคิดว่าเราอาจยังไม่ได้ไปถึงยุค “โมเดิร์น” ในอดีตแบบฝรั่ง ที่ใช้วิทยาศาสตร์อธิบายสิ่งต่างๆ

แม้เราจะมีความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีมากก็ตาม คือเรายังยืนก้ำกึ่งๆ ระหว่างเป็นสมัยใหม่ในทางความคิด กับมีบางคนที่อยากฉุดรั้งเราให้อยู่ในสมัย “พรีโมเดิร์น” นะครับ

เอาเข้าจริงฝรั่งเองเมื่อผ่านยุคโมเดิร์นมาแล้ว วิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่จะให้คำอธิบายแก่ทุกอย่างได้เสมอไป เกิดกระแสของการกลับไปหา “ภูมิปัญญา” อื่นๆ ที่เคยถูกมองว่าล้าหลังหรืองมงาย เช่น วิชาแม่มด (witchcraft) ซึ่งเป็นไสยศาสตร์เก่าแก่ของฝรั่ง ใครใคร่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็ใช้ไป ใครอยากจะไปทางความเชื่อก็ไป แต่หาพื้นที่ที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ ไม่ละเมิดกัน แต่ก็ถกเถียงกันได้ด้วย

ที่สำคัญ รัฐไม่เข้ามาก้าวก่ายสิทธิที่จะเชื่อของประชาชน ดังนั้น ใครจะเชื่อแบบไหนจึงเป็นเรื่องของเอกชน

แต่แน่นอนครับว่าเรื่องนี้มีรายละเอียดอีก เช่นกรณีปัญหาของการไม่ยอมรับวิทยาศาสตร์พื้นฐานเอาเลยหรือกรณีการไม่ยอมรับบริการทางการแพทย์จากรัฐ ซึ่งคงต้องถกเถียงกันต่อว่า เวลาเราพูดถึงสิทธิที่จะเชื่อของประชาชน ขอบเขตของรัฐในการดูแลรับผิดชอบต่อพลเมืองมีแค่ไหน รวมทั้งความรับผิดชอบที่พลเมืองจะมีต่อตนเองมีขอบเขตแค่ไหนเช่นกัน

 

ซึ่งเมื่อมาถึงตรงนี้ จึงมาสู่ประเด็นที่สามว่า แล้วเราควรจะไปทางไหนต่อ

สำหรับผมเอง สมมุติวันหนึ่งฝ่ายประชาธิปไตยได้ออกแบบประเทศ (วันนั้นต้องมาถึงแน่นอน ผมเชื่อ!) แล้วใช้อำนาจขจัดไสยศาสตร์และความเชื่อออกไป (เพราะมันเคยถูกใช้ผิดๆ และเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำมาก่อน) ผมคิดว่าไม่น่าจะเวิร์ก ผมคิดว่ารัฐควรหาพื้นที่สำหรับทุกๆ ความเชื่อที่ไม่ผิดจริยธรรมและไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน

ที่สำคัญประชาชนเองก็น่าจะยอมรับความแตกต่างหลากหลายอันนี้ให้ได้ด้วย

ใครใคร่จะเชื่อไสยศาสตร์ก็เชื่อไป

ใครใคร่จะเชื่อพุทธแบบผสมผีพราหมณ์ก็เชื่อไป

ใครอยากมีพุทธแท้ของตัวเองก็มีไป

แต่สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่กลายเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจของรัฐหรือชนชั้นนำอีก

ดังนั้น การสร้างประชาธิปไตยทั้งในทางการเมืองและในทางจิตสำนึก เอาเข้าจริงก็คือการปลดปล่อยศาสนา ไสยศาสตร์และความเชื่อออกจากอำนาจที่ใช้มันอย่างฉ้อฉลไปด้วย