ผี พราหมณ์ พุทธ : ว่าด้วยเรื่อง ‘ประคำ’ ในวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ว่าด้วยเรื่อง ‘ประคำ’

ในวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ (1)

 

เรามักเห็นคนทิเบตโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติธรรมไม่ว่าชาวบ้านไปจนถึงครูบาอาจารย์ คล้องประคำไว้ที่ข้อมือซ้ายพกติดตัวกันอยู่เสมอ ว่างคราใดก็เอาออกมาใช้สวดมนต์ พึมๆ พำๆ ไม่ขาดปาก

ใช่แต่กับคนฝั่งมหายานเขานะครับ ตอนผมไปเที่ยวเมียนมาซึ่งเป็นแดนชาวพุทธเถรวาทจัดๆ เมื่อหลายปีก่อน ไปวัดไหนตรงหน้าพระประธานหรือตามซุ้มพระเจดีย์ เขาจะมีราวเล็กๆ แขวนประคำไว้มากมาย ถามดูก็ได้ทราบว่า เอาไว้ให้คนที่มาวัดยืมไปสวดมนต์ภาวนาตรงนั้น คือนั่งตรงหน้าพระนั่นแหละ ใช้เสร็จก็แขวนคืนไว้ตามเดิม

ปรากฏว่าที่ระนองบ้านผมซึ่งเป็นจังหวัดชายแดน บางวัดที่มีโยมพม่าเขาไปสร้างถาวรวัตถุไว้ ก็มีราวแขวนประคำอย่างที่เคยเห็นปรากฏอยู่ เขามาวัดก็มาหยิบใช้กันจริงๆ จังๆ อย่างน่าสนใจ

 

บ้านเรานี่ ดูเหมือนประคำหรือลูกประคำในฐานะเครื่องมือในการสวดมนต์ภาวนาจะลดความสำคัญไปแล้ว กลายเป็นเพียง “วัตถุมงคล” ชนิดหนึ่งไป เว้นแต่ยังเห็นบ้างในกลุ่มพระล้านนาที่ท่านเห็นว่าเป็นจารีตของพระแต่เก่าก่อนจึงเอามาสวมใส่ และนอกจากนี้ ประคำยังกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของจอมขมังเวทย์หรืออะไรแบบนั้นเพราะการนำเสนอของละครและภาพยนตร์

สมัยไปเรียนเรื่องพราหมณ์กับครูชาวอินเดีย การใช้ประคำเป็นหัวข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ครับเพราะมีรายละเอียดมาก นอกจากนี้ เพื่อนชาวคริสต์และมุสลิมของผมต่างก็บอกว่าในศาสนาของเขาก็มีประคำใช้กันทั้งนั้น แม้จะมีรายละเอียดต่างกันบ้าง

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ประคำเป็นวัฒนธรรมทางศาสนาที่มีกันโดยทั่วไปแทบทุกศาสนาเลยครับ ซึ่งที่จริงแล้วมีผู้ให้ข้อมูลว่า มาจากความจำเป็นคือเป็นเครื่องมือ “นับจำนวน” การสวดภาวนาของชาวบ้านนั่นเอง

ในวิถีแห่งมนต์ จำนวนการสวดเป็นเรื่องของการฝึกฝนอบรม เพราะเป็นการทำงานกับการท่องบ่นคำซ้ำๆ ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะบางอย่างในจิตใจ แต่ครั้นมีจำนวนรอบมากนับไปสวดไปก็ไม่ไหว จึงใช้เครื่องมือช่วยจะง่ายกว่า ชาวบ้านก็เอาเมล็ดพืชหรือหินมาร้อยเข้าด้วยกัน ใช้นับไประหว่างสวด จึงไม่ต้องมานั่งจำว่าสวดไปกี่รอบ

ผมจะขอกล่าวถึง การใช้ประคำในวิถีพุทธ-พราหมณ์โดยเฉพาะ เพราะเคยได้ชวนให้ผู้อ่านสวดมนต์ (ไปพร้อมกับด่าผู้บริหารประเทศ) ไปแล้ว จึงอยากจะแนะนำเครื่องมือสำหรับการสวดมนต์ด้วยครับ

 

ประคำเรียกในภาษาสันสกฤตว่า “มาลา” ที่จริงคำนี้หมายถึงอะไรก็ได้ที่มีลักษณะเป็นวงรอบ ใช้กับพวงมาลัยก็ได้ สร้อยต่างๆ ก็ได้ หรือบทกวีนิพนธ์ที่มีการร้อยเรียงกันก็ได้ คำนี้ใช้ตรงกันทั้งพุทธและพราหมณ์

อย่างที่ผมบอกไปแล้วครับว่า เดิมประคำหรือมาลาเป็นเครื่องมือในการนับจำนวนรอบการสวดของชาวบ้าน แต่ในอีกทางหนึ่ง มันก็ถูกใช้เป็นเครื่องประดับหรือเครื่องรางติดตัวไปด้วยเช่นกัน เพราะอะไรที่เกี่ยวกับมนต์คาถาก็ย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นธรรมดา

ผมไม่ทราบว่าวัฒนธรรมมาลาของพุทธหรือพราหมณ์ อันใดเก่าแก่กว่ากัน แต่พวกนี้น่าจะมาจากวัฒนธรรมชาวบ้านมากกว่าวัฒนธรรมหลวง เพราะเทพเจ้าที่มักสวมมาลาของฮินดูมักเกี่ยวข้องกับชาวบ้านอย่างพระศิวะ หรือเทพที่มีลักษณะอย่างนักบวชถือพรต

พระศิวะถูกบรรยายไว้ว่าสวมมาลาอยู่สองชนิด อย่างแรกคือ “มุณฑมาลา” หมายถึงมาลาหัวกะโหลกศีรษะของมนุษย์ กับ “อักษะมาลา” คือเมล็ดของพืชชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “รุทรากษะ” เมล็ดมีสีฟ้า เมล็ดในที่ใช้ทำประคำมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ คล้ายลูกพระเจ้าห้าองค์ ชาวฮินดูที่นับถือพระศิวะนิยมสวมใส่

การสวมกะโหลกศีรษะของพระศิวะ ทำให้มีการนำเอากระดูกมนุษย์หรือสัตว์มาแกะสลักเป็นรูปหัวกะโหลกเล็กๆ ใช้เป็นลูกประคำ แต่ประคำชนิดนี้มักใช้กันในกลุ่มนักบวชที่พยายามประพฤติตนอย่างพระศิวะ เช่น พวกอโฆรี กปาลิกะ ฯลฯ เพราะโดยปกติ สิ่งซึ่งมาจากซากศพถือกันว่าเป็นของอัปมงคลคฤหัสถ์ไม่ควรเกี่ยวข้อง

พราหมณ์-ฮินดูมีความเชื่อว่า วัสดุที่ใช้ทำลูกประคำมีคุณสมบัติต่างๆ กัน และใช้ภาวนากับมนต์สำหรับเทพเจ้าได้ไม่เหมือนกัน ประคำที่ทำจากต้นกะเพราแห้ง (ตุลสีมาลา) ใช้กับการภาวนาถึงพระวิษณุ พระราม พระกฤษณะ หรือเทพที่เกี่ยวกับพระวิษณุ เพราะพระองค์ทรงโปรดต้นกะเพรา และเชื่อกันว่ากะเพราชำระบาปมลทินโทษได้

นอกจากนี้ ยังมีประคำที่ทำจากเม็ดบัว เหง้าขมิ้นแห้ง ซึ่งใช้กับพระเทวีบางองค์ (พราหมณ์เคยเล่าให้ฟังว่า ประคำขมิ้นแห้ง ผู้ใช้ต้องสวมชุดเหลืองและไล้ทาจุณเจิมด้วยขมิ้น เป็นพรตพิธีพิเศษบางอย่าง แต่ผมเลือนไปเสียแล้วว่าเทวีองค์ใด) ยังมีวัสดุอื่นๆ อีก เช่น ปะการัง ไข่มุก ฯลฯ

แต่ที่นิยมมากๆ อีกอย่างคือ ควอตซ์ใส (จุยเจีย) ภาษาสันกฤตเรียกว่าสผาฏิกะ นิยมนับถือว่าเป็นมาลาของพระสุรัสวดี เป็นของสูงค่ามีราคา ใช้ภาวนามนต์พระเทวีและช่วยทำให้ปัญญาแจ่มใส

มาลาชนิดนี้พราหมณ์สยามนิยมสวมใส่ เรียกว่า “ประคำแก้ว” มักสวมในพิธีกรรมต่างๆ บางครั้งก็มีการนำแก้วมาหลอมดูคล้ายควอตใสก็มี

 

พอพูดถึงพราหมณ์พื้นเมืองของเรา ยังมีพราหมณ์อีกพวกที่สวมมาลาไม่เหมือนในอินเดีย คือ พราหมณ์พัทลุง ถ้าผมจำไม่ผิด ท่านว่าประคำซึ่งได้รับตอนบวชเป็นประคำที่กลึงจากเขาวัว

วัสดุที่ชาวฮินดูถือว่าเป็นยอดประคำ คือ เมล็ดรุทรากษะ คำนี้แปลว่า ดวงตาพระศิวะ หรือมักเรียกกันว่า เมล็ดน้ำตาพระศิวะ (รุทระ เป็นอีกนามของพระศิวะ อักษะแปลว่าดวงตา) เป็นพืชยืนต้น เมล็ดในขรุขระคล้ายเม็ดบ๊วย ตามปกติจะมีห้าพู ซึ่งสะท้อนพักตร์ทั้งห้าของพระศิวะ แต่บางครั้งพืชชนิดนี้จะออกลูกผิดปกติ เช่น มีรูปร่างไม่กลม หรือมีจำนวนพูตั้งแต่หนึ่งไปจนถึงหลายพู คนถือกันว่าเป็นของ “ทนสิทธิ์” คือวิเศษอัศจรรย์ ให้คุณต่างๆ กัน ถึงกับมีตำราว่าด้วยเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ และเขาก็เล่นหากันนะครับ คนไทยเราก็เล่นกับเขาอยู่พักหนึ่ง ราคาตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักล้านก็มี

รุทรากษะนี้มีปลูกกันทั้งในอินเดีย เนปาล และอินโดนีเซีย ปลูกไว้ทำมาลาโดยเฉพาะ ถือเป็นของที่ต้องสวมหากนับถือพระศิวะ คู่กับการเจิม “ภัสมะ” หรือขี้เถ้าศักดิ์สิทธิ์

แม้ว่ามาลาชนิดนี้จะใช้ภาวนามนต์พระศิวะเป็นหลัก แต่ครูเคยบอกว่า ที่จริงใช้ภาวนามนต์ได้กว้างขวาง ใช้กับมนต์ของเทพต่างๆ ได้เกือบทุกมนต์

นอกจากสวมที่คอแล้ว ในไศวะนิกาย มีการสวมรุทรากษะยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย หรือหากไม่มีเป็นมาลา ก็สามารถสวมเพียงเม็ดเดียวก็ได้ แต่นี่นิยมนับถือไปทางความศักดิ์สิทธิ์พอๆ กับการใช้สวด

 

มาลาของฮินดูมี 108 เม็ดเหมือนกับพุทธศาสนา เว้นแต่เป็นมาลาคล้องมือก็จะมีจำนวนลดลงไป ประกอบด้วยตัวเม็ดประคำขนาดเท่าๆ กัน และมีเม็ดยอดที่เรียกว่า “เมรุ” หรือ “คุรุ” เม็ดนี้เป็นตัวจบมาลา เพื่อให้เราทราบว่าสวดครบรอบแล้ว แต่ถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนเป็นภูเขา (เมรุ) หรือครู (คุรุ) จึงมีกฎว่าห้ามนับข้ามเม็ดนี้ เมื่อวนถึงเม็ดยอดก็จะพลิกมือไล่กลับไปใหม่ย้อนทางที่มา สวดหลายรอบก็วนไปวนมาเช่นนี้

ชาวฮินดูใช้มือขวาเท่านั้นในการนับประคำ โดยไม่ใช้นิ้วชี้ในการจับ เพราะเป็นนิ้วที่มักโกรธ (คือชี้ด่าทอ) แต่ใช้นิ้วโป้ง ช่วยนับกับนิ้วกลางหรือบางคนก็ใช้นิ้วนาง นอกจากนี้ เมื่อจะภาวนาประคำจะต้องชำระประคำก่อน หากเป็นการใช้ครั้งแรกก็มักสระสรงด้วยเบญจคัพย์หรือของจากโคทั้งห้า มีเสกเป่าต่างๆ และทุกครั้งที่ใช้จะมีมนต์สำหรับบูชาประคำก่อนเสมอ

การใช้ประคำของชาวฮินดูจะมีถุงผ้าสวมมือไว้ในขณะภาวนา ซ่อนมือที่นับไว้ในถุงผ้านั้น หากไม่มีก็อาจใช้ผ้ามาคลุมหรือยกชายเสื้อขึ้นมาปิด ท่านว่าไม่ให้ผู้อื่นเห็น แต่อีกทางหนึ่งก็ช่วยปกป้องมิให้ลูกประคำหลุดหายหากขาด และใช้ถุงนั้นเก็บประคำไว้

การภาวนาประคำ ใช้กันเป็นประจำวัน หากเป็นพวกทวิชา (สามวรรณะแรก) จะใช้ในพิธีสันธยาหรือการภาวนาคายตรีมนต์ในสามเวลา โดยมีขั้นตอนต่างๆ มากมาย เช่น มีมุทราก่อนและหลังการภาวนา เป็นต้น

มักถือกันว่า หนึ่งรอบประคำเป็นจำนวนที่ควรภาวนาให้ถึง จะดีมากหากทำได้วันละสิบหรือสิบเอ็ดรอบประคำ แต่บางครั้งด้วยเวลาจำกัด ก็มีการภาวนาเพียงสิบเอ็ดหรือสิบสองจบก็มี และหากไม่มีประคำก็สามารถใช้ “กรมาลา” (มาลามือ) หรือการนับนิ้วตามวิธีเฉพาะแทนประคำได้

นี่ยังไม่ได้เล่าของฝั่งพุทธศาสนาเลยครับ โดยเฉพาะวัชรยานนั้นน่าสนใจมาก แต่เนื้อที่หมดเสียแล้ว คงต้องยกไปตอนหน้า

รอติดตามนะครับ