ผี พราหมณ์ พุทธ l อะไรคือพระสูตร? : วิเคราะห์ ตีความ และเข้าใจพระสูตรมหายาน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

อะไรคือพระสูตร?

: วิเคราะห์ ตีความ และเข้าใจพระสูตรมหายาน

 

ช่วงนี้ผมเขียนเรื่องพระสูตรในฝ่ายมหายานบ่อยหน่อยนะครับ ด้วยเหตุว่ากำลัง “อิน” เนื่องจากผมมีชั้นเรียนออนไลน์ “วิมลเกียรตินิทเทสสูตร” กับวิจักขณ์ พานิช จัดโดยวัชรสิทธาต่อเนื่องยาวนานทั้งเดือน

ดังภาษิตในฝ่ายวัชรยานกล่าวไว้ว่า พระขรรค์หรือดาบแห่งปัญญาอันเป็นอาวุธของพระมัญชุศรี โพธิสัตว์แห่งปัญญา ย่อมมีสองคม เมื่อตัดทะลวงความไม่รู้แล้ว คมหนึ่งก็ตัดอวิชชาของศิษย์ ในขณะที่อีกคมก็ตัดอวิชชาของครูด้วย

ดังนั้น คนสอนเองก็ได้รับประโยชน์จากการสอนเสมอ หากเราตั้งตนไว้ว่าเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ไปกับเขาด้วย ผมเองได้รับประโยชน์จากห้องเรียนนี้มาก โดยเฉพาะจากผู้ร่วมสอนและนักเรียน จึงอยากนำมาแบ่งปัน

ก่อนอื่นอยากทำความเข้าใจว่า ในที่นี้ผมจะขอให้คำว่าเถรวาทและสาวกยานปนๆ กันไปนะครับ

 

เรื่องที่ถูกพูดซ้ำจนกลายเป็นอคติอันหนึ่ง เวลาที่ชาวพุทธบ้านเราหรือฝ่ายเถรวาทที่เคร่งๆ มองไปยังฝ่ายมหายาน คือฝ่ายนั้นแต่งพระสูตรเอง แต่งอย่างบิดเบือนแล้วจับยัดเข้า “โอษฐ์” พระพุทธะ

มหายานถึงมีพระสูตรนอกพระบาลีหรือไตรปิฎกของเราเยอะแยะไปหมด ที่ดังๆ ก็อาทิ วัชรปรัชญาปารมิตา, วิมลเกียรตินิทเทส, ปรัชญาปารมิตาหฤทัย, สัทธรรมปุณฑริก, อวตังสกะ, ลังการวตาร สุขาวดีวยูหะ ฯลฯ

ที่น่าสนใจคือ แม้พระไตรปิฎกเถรวาทจะไม่มีพระสูตรฝ่ายมหายาน แต่ฝ่ายมหายานเขามีของเราครบถ้วนทุกคัมภีร์นะครับ พระไตรปิฎกฉบับไทโชของญี่ปุ่นนั้นมีพระไตรปิฎกครบถ้วนบริบูรณ์ทุกปกรณ์ทุกนิกาย พูดง่ายๆ ว่าเขาไม่ได้ตั้งแง่รังเกียจคัมภีร์ของคณาจารย์ฝ่ายเราเลย เรากลับไปรังเกียจเขา

กระนั้น ในพระสูตรมหายานหลายสูตรก็วิจารณ์ “อุดมการณ์” และ “แนวคิด” ฝ่ายสาวกยานไว้อย่างถึงรากถึงโคนนะครับ

เขาไม่ได้โจมตี “นิกาย” ในความหมายที่เรายึดถือ แต่เขาโจมตีแนวคิดมากกว่า

ดังมีผู้ค้นคว้าไว้ว่า ในช่วงศตวรรษแรกๆ ของพุทธศาสนานั้น ยังไม่มีการแยกนิกายเถรวาทและมหายาน อยู่ที่ว่าพระจะเลือกอุดมการณ์แบบใด ตอนพระถังซัมจั๋งไปอินเดีย ท่านก็พบว่า ทั้งสถวีรวาทหรือเถรวาทและมหายานก็ปนๆ กันอยู่ในวัดเดียวกันนั่นเอง

เรามักตอกย้ำกันว่ามหายานเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ห้า อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดอคติอีกอย่าง เพราะคิดว่ามหายานเกิดขึ้นภายหลังพุทธกาลหลายร้อยปี จึงเป็นของปลอม ไม่เก่าแก่เที่ยงแท้เท่าเถรวาท

ที่จริงวิจักขณ์ให้ความเห็นที่น่าสนใจครับ เขาบอกว่า แนวคิดมหายานคงมีเค้ามาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว ในช่วงเวลานับจากตรัสรู้ พระพุทธะมีอายุได้สามสิบห้าปี กว่าจะปรินิพพานก็ตั้งแปดสิบปี เวลายาวนานนั้น อาจเป็นไปได้ที่พระพุทธองค์จะได้พูดคุยสนทนากับคนหลายกลุ่มมากกว่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎกฝ่ายเรา เพียงแต่ไม่ถูกจดจำหรืออาจถูกเลือกที่จะไม่จดจำ

ดังนั้น พุทธศตวรรษที่ห้า จึงไม่ใช่ช่วงเวลาของการ “เกิดขึ้น” แห่งมหายานหรอก แต่เป็นช่วงเวลาที่มหายาน “ปรากฏชัดแจ้ง” เป็นกระแสสังคมและเป็น “ขบวนการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์” ที่สำคัญในเวลานั้นแล้วต่างหาก

 

ในบริบทสังคมสมัยพุทธกาล แนวคิดทางปรัชญาเน้น “ทวิลักษณ์” (Duality) หรือภาวะคู่ อันเป็นกระแสความคิดทั่วไปช่วงนั้น

ตัวอย่างเช่น คำสอนเรื่องปุรุษะ-ประกฤติ ของสำนักสางขยะ (สันนิษฐานว่าอาฬารดาบสและอุทกดาบสสังกัดสำนักนี้) แม้พุทธธรรมในระดับโลกุตระจะมุ่งเน้นการข้ามพ้นทวิลักษณ์ แต่คำสอนโดยรวมของพุทธศาสนาที่ปรากฏในฝ่ายสาวกยานก็มีลักษณะทวิลักษณ์ไม่น้อย (เช่น โอวาทปาฏิโมกข์สอนว่าละชั่ว ทำดีเป็นคำสอนหลักของพุทธศาสนา) กล่าวคือ ยังมีลักษณะของการแบ่งแยกดี-ชั่วอยู่มาก

เมื่อเวลาผ่านไป กระแสทางความคิดของสังคมก็เปลี่ยนไปด้วย บทบาทของฆราวาสมีมากขึ้น แนวคิดเรื่องการกระทำเพื่อสังคมมีมากขึ้น การแบ่งแยกดี-ชั่วแบบขาวกับดำไม่ใช่สิ่งที่จะถูกเน้นย้ำอีกต่อไป เพราะโพธิสัตว์ต้องเกลือกกลั้วอยู่ในสังสารวัฏ มโนทัศน์สำคัญในพระสูตรมหายานจึงเน้นการทำลายทวิลักษณ์เป็นหลัก

ทว่าแนวคิดนี้ก็ยากที่จะเข้าใจโดยง่าย เพราะมันเป็นการกลับด้านกันของสามัญสำนึกเลยทีเดียว ต้องทิ้งตรรกะเดิมๆ “รูปคือความว่าง ความว่างคือรูป, ไม่มีนิพพาน ไม่มีสังสารวัฏ” หรือ “อนึ่ง พระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงตนเองประหนึ่งว่าเสวยเบญจพิธกามคุณ ในยามเดียวกันก็สำแดงตนว่าบำเพ็ญฌานสมาบัติ ยังจิตของมารให้งวยงง”

ไม่ใช่แค่มารที่งวยงง พวกเราไม่น้อยก็งวยงงกันด้วย (ฮา)

 

มหายานมองเงื่อนไขของเวลาว่าทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจังเช่นเดียวกับเถรวาท ทว่ากลับมีท่าทีต่างกันออกไป ฝ่ายเถรวาทมักมองว่า ในเมื่อความเสื่อมจะเกิดขึ้น ทำอย่างไรที่จะรักษาปกป้องคำสอนเดิมหรือคำสอนแท้จริงเอาไว้ให้นานที่สุด

ในขณะที่ฝ่ายมหายานกลับมองว่า ความเปลี่ยนแปลงทำให้คำสอนที่ยังไม่เหมาะกับยุคก่อนหน้าได้มีโอกาสแพร่หลายในอีกยุคหนึ่ง จึงมักมีตำนานคำสอนที่ถูกรักษาไว้เพื่ออนาคต เช่น พญานาคได้พิทักษ์คำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องวัชรปรัชญาปารมิตาสูตรไว้เพื่อให้ท่านนาคารชุนมาพบในภายหลัง เป็นต้น

ความคิดเรื่องพระพุทธะก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มหายานและเถรวาทมีมุมมองต่อพระสูตรที่แตกต่างกัน ในบริบทเถรวาท พระพุทธะโคตมะเป็นเอกบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่หาได้ยาก นานๆ จะเกิดมีขึ้นสักครั้ง ในเมื่อพระองค์เป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ คำสอนของพระองค์ก็จบสิ้นลงเมื่อพระชนม์ชีพจบสิ้นไป พระสูตรก็ต้องจบลงแค่นั้นเช่นกัน

ในขณะที่ฝ่ายมหายานคิดว่า “พระศากยมุนี” เป็นพระพุทธะองค์หนึ่งในบรรดาพุทธะอันมากมายดุจทรายในแม่น้ำคงคา พุทธะจึงเป็นทั้งสภาวะและกระแสธารอันต่อเนื่อง แม้พระศากยมุนีจะไม่ได้ตรัสบางพระสูตร แต่พระพุทธะหรือพระโพธิสัตว์องค์อื่นก็แสดงธรรมได้มาต่อเนื่อง

คุณค่าของ “พระวจนะ” เหล่านี้จึงแทบไม่แตกต่างกันเลย เพราะล้วนออกมาจากจิตแห่งพระพุทธะเช่นเดียวกัน

อีกทั้งการหมุนกงล้อแห่งธรรม ในทัศนะของมหายานมิได้เกิดขึ้นครั้งเดียว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กับปัญจวัคคีย์เท่านั้น

แต่ยังเกิดขึ้นอีกสองครั้ง เพราะมหายานมองด้วยความหวังดีว่า จริตและอินทรีย์ของสรรพสัตว์มีอ่อนแก่ไม่เท่ากัน พระพุทธจึงให้คำสอนตามแต่จริตและอินทรีย์ของสัตว์นั้นๆ ในเวลาที่สัตว์มีจริตไปในทางสาวกยาน จึงสอนตามแนวทางสาวกยาน

เมื่อสรรพสัตว์มีจริตในทางมหายาน จึงได้สอนในแนวทางมหายาน

 

พระสูตรฝ่ายมหายานยังมีลักษณะที่น่าสนใจอื่นอีก กล่าวคือ

หนึ่ง แม้จะขึ้นต้นเรื่องตามโครงสร้างพระสูตรทั่วไป “ข้าพเจ้า (พระอานนท์) ได้สดับมาว่า…” แต่เมื่อถึงตอนแสดงธรรม ผู้แสดงธรรมกลับมีหลากหลาย ทั้งพระพุทธะศากยมุนี พระพุทธะองค์อื่น พระโพธิสัตว์ พระสาวก ฆราวาส สตรี เด็ก ฯลฯ

สอง ภาพลักษณ์ของการฟังธรรม มักเป็นการรวมกลุ่มอย่างมโหฬาร (Great gathering) ไม่ได้มีเพียงแต่พระสาวกที่เป็นพระภิกษุเป็นหลัก แต่ประกอบด้วยผู้ฟังหลากหลาย ทั้งเหล่าโพธิสัตว์ ชาวบ้านชาวเมือง เทวดา พรหม อมนุษย์ในประเภทต่างๆ เพราะคำสอนของมหายานมิได้เจาะจงมุ่งหมายเฉพาะพระสาวกเท่านั้น แต่มุ่งจะสอนแก่คนทุกหมู่เหล่าในวงกว้าง

สาม บางครั้งพระพุทธะก็แสดง “สภาวะ” ให้ปรากฏมากกว่าจะแสดงธรรมด้วยตัวอักษร เช่น เข้าสมาธิในระหว่างที่ผู้อื่นเทศนา หรือเปล่งพุทธรัศมีโอภาสต่างๆ

สี่ มีมิติทางอารมณ์ความรู้สึกสูง มีภาพลักษณ์เชิงกวี หรือบทร้อยกรองที่ไพเราะแทรกอยู่ หลายพระสูตรให้ความรู้สึกซาบซึ้ง ปลุกปลอบ ปลุกศรัทธา กระตุ้นเตือน กระตุกใจ ฯลฯ เพราะมหายานให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก (เช่น มหากรุณา)

ห้า มีภาพฉากมหัศจรรย์เกินจินตนาการ หรืออิทธิปาฏิหาริย์มากมาย เพื่อตอกย้ำพุทธานุภาพหรือธรรมานุภาพ สร้างจินตนาการที่ลึกล้ำแก่ผู้ศึกษา เป็นการแสดงถึงความรุ่มรวยแห่งจิตแบบมหายาน ที่หากขจัดทวิลักษณ์ออกไป ก็อาจแลเห็นพุทธเกษตรในทุกสิ่งได้ อาจฉุดช่วยสรรพสัตว์ได้อย่างมากมาย ปณิธานใหญ่ก็ช่วยได้มาก และยังสร้างศรัทธาอันนำไปสู่การเปิดออกของธรรมทวารอันยิ่งใหญ่

หก สอดแทรก “พระธารณี” หรือมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเหมือนบทภาวนาให้กับผู้ศึกษาพระสูตรนั้นๆ ได้เพ่งพินิจความหมายที่อยู่นอกเหนือตัวอักษร (เช่น คะเต คะเต ฯ หรือ โอม มณีปัทเม หุม)

 

ที่จริงยังมีนักวิชาการที่พยายามจะให้นิยามของ “อะไรคือพระสูตร” แต่เนื้อที่หมดเสียแล้ว ผมคงต้องยกไปในคราวต่อๆ ไป กระนั้น จากที่เขียนมาหวังใจว่า ท่านผู้อ่านคงเกิดความรู้สึกอยากลองศึกษาพระสูตรฝ่ายมหายานดู

ลองอ่านดูเถิดครับ ไม่มีอะไรเสียหาย อาจเจอสิ่งที่ดีกว่าที่ผมสรุปเสียอีก

ดังคำพระท่านว่า เอหิปัสสิโก

ท่านจงมาดู (เอง) เถิด