ผี พราหมณ์ พุทธ : เสื้อผ้าอาภรณ์กับศาสนา (จบ) / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

เสื้อผ้าอาภรณ์กับศาสนา (จบ)

 

คราวที่แล้วผมได้กล่าวถึงเกาปีนะของนักบวชฮินดูและการเกิดขึ้นของจีวรสามผืนในพุทธศาสนาที่แลกมาด้วยความลำบากของพระศาสดา

วันนี้อยากจะพูดถึงจีวรอีกสักหน่อย เพราะคิดว่ายังมีอะไรที่น่าสนใจอยู่ครับ

นอกจากจีวรของนักบวชแล้ว พุทธศาสนายังมีจีวรสำหรับฆราวาสมุนี หรือสำหรับฆราวาสใส่เป็นครั้งคราว ธรรมเนียมนี้คงมีมาตั้งแต่อินเดียโบราณ

ในวรรณกรรมพุทธศาสนามีการกล่าวถึงฆราวาสผู้ถืออุโบสถศีล ท่านเหล่านี้มักไม่ได้สวมเสื้อผ้าตามปกติ เช่น เปลี่ยนไปใส่ผ้าย้อมฝาด หรือนุ่งคล้ายพระภิกษุ เช่น มีผ้าพาดอย่างสังฆาฏิ

ครั้นพุทธศาสนาแผ่ไปยังจีนแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการนุ่งห่มเนื่องจากดินฟ้าอากาศและประเพณีที่ต่างกัน พระจึงสวมเสื้อตัวยาวแบบสมัยฮั่น แต่ยังคงมีการพาดผ้าเหมือนจีวรที่เรียกว่า ม่านอี้ (manyi) ในภาษาจีนกลาง ดังที่เราเห็นในภาพยนตร์จีน

ได้มีการอนุญาตให้ฆราวาสสวมชุดยาวแบบพระและพาดผ้าม่านอี้ด้วยเช่นกัน เช่น ในเวลารับศีล รับไตรสรณคมน์ หรือเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆ แต่การตัดเย็บมีความแตกต่างกับของพระ เพราะของพระจะทำเป็นรูปคันนาเช่นเดียวกันกับที่เราเห็นในจีวรปกติ ส่วนม่านอี้ของฆราวาสจะเป็นผ้าเรียบๆ

ธรรมเนียมนี้ได้แพร่ไปยังประเทศต่างๆ ที่วัฒนธรรมพุทธศาสนาของจีนแพร่ไปด้วย เช่น เกาหลีและญี่ปุ่น

 

ส่วนมหายานในบ้านเรานั้น หากเป็นสายของจีนนิกายก็มีชุดเฉพาะที่เรียกกันว่าชุดอ้อ ตัดเย็บด้วยผ้าบางสีขาวสำหรับใช้ในเวลาสวดมนต์หรือรับศีล แต่ไม่ได้พาดผ้าอย่างของจีนแผ่นดินใหญ่หรือไต้หวัน

มีภาพเก่าๆ ของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ท่านก็สวมชุดฆราวาสมุนีแบบจีนนี่แหละครับ น่าสนใจมากว่าท่านนำชุดมาจากไหนและสวมใส่ในโอกาสอะไรบ้าง

อาจารย์เสถียร โพธินันทะ

ส่วนเถรวาทในบ้านเรา แม้จะไม่ได้มีจีวรฆราวาสอย่างฝ่ายมหายาน แต่ก็มีชุดสำหรับถือศีลอุโบสถซึ่งมีลักษณะ “บวชชั่วคราว” อยู่ด้วย เช่น มักนิยมสวมชุดขาวไม่ว่าชายหรือหญิงและมักมีผ้าพาดไหล่อย่างพระ เพียงแต่ไม่ได้กำหนดลงไปว่าต้องใช้ผ้าแบบไหน

มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์เก่าของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงศีลอุโบสถ น่าจะถ่ายในราว พ.ศ.2410 สิ่งที่น่าสนใจคือ ทรงฉลองพระองค์สีขาว แต่มีการลดแขนข้างขวาของฉลองพระองค์ลงแล้วพาดเฉวียงบ่า จึงดูคล้ายการสวมผ้าจีวรของพระภิกษุ

การนุ่งห่มแบบนี้ นอกจากในราชสำนักแล้ว ปัจจุบันพราหมณ์สยามยังคงปฏิบัติกันอยู่ หากเป็นพิธีในเทวสถานเมื่อถือพรตกระทำอาตมศุทธิ พระมหาราชครูจะสวมเสื้อขาวตัวยาวในลักษณะนี้ หากเป็นการพระราชพิธีทั่วๆ ไป ก็จะลดไหล่ขวาของครุยที่สวมด้านนอก แล้วเฉวียงบ่าเช่นเดียวกัน ซึ่งอันนี้จะใช้เมื่อ “กระทำพิธีทั้งปวง”

ที่น่าสนใจ ผมเพิ่งทราบว่าชาวบ้านในทิเบตก็มีธรรมเนียมแบบนี้เช่นกัน ปกติชาวทิเบตจะใส่เสื้อหลายชั้น และมีเสื้อคลุมตัวหนาแขนยาวไว้ภายนอกเพราะอากาศหนาวเย็นมาก แต่เมื่อจะไปฟังธรรมหรือไปวัดก็จะลดแขนขวาแล้วพาดไหล่

การลดไหล่ลงข้างหนึ่งเป็นธรรมเนียมการแสดงความเคารพในอินเดียมาแต่โบราณ การลดไหล่เพื่อแสดงความเคารพถูกกล่าวถึงในพระสูตรและพระวินัยของพุทธศาสนา แต่ผมยังหาที่มาจากแหล่งอื่นและความหมายมากกว่านี้ไม่ได้

 

ในฝ่ายวัชรยาน ฆราวาสจะสวมจีวรและผ้าหลากหลายโดยเฉพาะคุรุอาจารย์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายพระภิกษุมากๆ มักทำให้เกิดความสับสนได้ดังที่เคยกล่าวไว้แล้ว

การนุ่งห่มด้วยผ้าผืนสีขาวดังที่เราเรียกว่า ชีปะขาว อันนี้ก็น่าสนใจครับ เพราะธรรมเนียมนี้มีแทบทุกนิกายของพุทธศาสนา ดังมหาโยคีมิลาเลปะผู้มีชื่อเสียงของทิเบตก็นุ่งห่มแบบนี้

มหาโยคีมิลาเลปะ

การสวมใส่จีวรแม้จะไม่ใช่นักบวช ผมคิดว่าช่วยสร้าง “มโนสำนึก” ต่อตัวเองอีกแบบ คือช่วยบอกว่าเราเปลี่ยนสภาพไปเป็นนักบวชได้ แม้จะชั่วคราวก็ตาม คือเสื้อผ้านี่มันมีผลต่อจิตใจของเราพอสมควรครับ มันเป็นของที่เราบอกต่อตัวเราเองว่าเราคือใคร

เสื้อผ้ามันบอกเราว่า ฉันเป็นคนสบายๆ ฉันเข้มงวด ฉันขบถ ฉันอนุรักษ์ ฉันเรียบร้อย ฉันทันสมัย ฯลฯ เสื้อผ้ามันช่วยตอกย้ำหรือสร้างสำนึกพวกนี้ขึ้นในใจเราโดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ฝ่ายวัชรยานจึงมีเสื้อผ้าอาภรณ์พิเศษเฉพาะที่จะสวมในพิธีกรรมบางอย่างทาง “ตันตระ” เช่น การสวมมงกุฎใบไม้ห้าเฉก (ซึ่งพระฝ่ายจีนนิกายและอนัมนิกายก็รับมาใช้) การสวมเสื้อผ้าและเครื่องประดับเหล่านี้ จำลองมาจากอาภรณ์ของพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ในระดับสัมโภคกาย

 

ดังนั้น เสื้อผ้าในพิธีกรรมข้างต้นจึงเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการทำสมาธิ ที่ผู้สวมได้แปรเปลี่ยนตนเองไปสู่สภาวะที่สูงส่งกว่าเดิม เช่น สามารถที่จะมองเห็นตนเองเป็นพระพุทธะซึ่งเป็นสภาวะที่มีอยู่แล้วในตนเองได้

นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมพิธีในฐานะศิษย์ สามารถแปรเปลี่ยนสำนึกที่มีต่อคุรุ โดยมองเห็นคุรุเป็นดั่งพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ที่ตนกำลังจะรับการอภิเษกหรือรับพร

อันนี้เป็นลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาในฝ่ายวัชรยานนะครับ ที่ทำให้เครื่องแต่งกายของนักบวชมีบทบาทในทางศาสนามากกว่าเดิมไปอีกชั้นหนึ่ง

 

ผมคิดว่าเรื่องเสื้อผ้ากับการเปลี่ยนสำนึกนี้ ช่วยสะท้อนให้เห็นความพยายามของคนสองรุ่นในบ้านเรา ฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะรักษาเครื่องแบบต่างๆ เช่นชุดนักเรียนเอาไว้ เพราะลึกๆ ก็ทราบว่าเครื่องแบบมันใช้สร้างอุดมการณ์และตอกย้ำอุดมการณ์เหล่านั้นยังไงบ้าง

ส่วนคนอีกรุ่นหนึ่งก็เห็นแล้วว่า เพราะเครื่องแบบมันพยายามจะไปกำหนดหรือสร้างอุดมการณ์อะไรบางอย่างที่มันไปไม่ได้กับโลกสมัยใหม่แล้ว การต่อสู้เรื่องยกเลิกเครื่องแบบจึงเท่ากับปลดแอกสำนึกที่เขาจะมีต่อตัวเองผ่านเครื่องแบบเหล่านั้นด้วย

จีวรพระก็เช่นกันครับ ผ่านกาลเวลามายาวนาน จากผ้าที่ไร้ค่าที่เขาทิ้ง กลายเป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศทางโลก ซึ่งจีวรดั้งเดิมพยายามที่จะหลีกหนีมาก่อน

เกียรติทางโลกและทางธรรมนี่สวนทางกันครับ อันไหนเป็นเกียรติทางโลกมักไม่ค่อยเป็นเกียรติทางธรรม เช่น ความยากจน ความสละละทิ้งเป็นเกียรติทางธรรม แต่ไม่เป็นเกียรติยศอะไรทางโลก

จีวรก็เช่นกัน เพราะมันเป็นผ้าไร้ค่า ใส่แล้วก็บอกสำนึกว่าเราเป็นใคร ต่ำต้อยแค่ไหน อะไรที่ว่าสวยว่าดีทางโลกเราไม่เอาแล้ว จึงกลายเป็น “ธงชัยของพระอรหันต์” ได้

แต่หากเป็นจีวรผ้าแพรเนื้อดีสีพระราชนิยม แต่งแล้วเหมือนๆ ยังกะเครื่องแบบอย่างที่ชาวโลกเขาว่าสวย ว่าเรียบร้อย จีวรจะยังเป็นธงชัยของพระอรหันต์ไหม ผมก็ไม่รู้

 

สุดท้ายผมอยากจะนำเอาบทสวดมนต์เมื่อสวมจีวรของพุทธศาสนาฝ่ายเซนมาปิดท้าย ท่านพระอาจารย์โดเก็น ปรมาจารย์เซนสายโซโตของญี่ปุ่นเดินทางไปเมืองจีนและเห็นว่าจะพระหรือฆราวาสเขาเคารพจีวรมาก เมื่อจะสวมต้องยกขึ้นมาจบศีรษะและสวดมนต์ทุกครั้ง ท่านจึงนำธรรมเนียมนี้กลับมายังญี่ปุ่น

บทพิจารณาจีวรนี้ แม้จะไม่เหมือนที่ฝ่ายเราสวดเมื่อต้องพิจารณา ก็น่าสนใจและงดงามครับ

“ผ้าจีวรอันยิ่งใหญ่แห่งความหลุดพ้น

เป็นนาบุญเหนือกว่ารูปหรือความว่าง

ข้าจักสวมใส่คำสอนของพระตถาคต

และปฏิญาณจะฉุดช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลาย”