ผี พราหมณ์ พุทธ : เสื้อผ้าอาภรณ์กับศาสนา / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ขอบคุณภาพจาก ฺฺBBC NEWS ไทย

 

เสื้อผ้าอาภรณ์กับศาสนา

 

ในคัมภีร์ปฐมกาลหรือเยเนซิสของชาวยิว ซึ่งชาวคริสต์และชาวมุสลิมรับไปด้วยนั้น นอกจากการสรรค์สร้างโลกของพระเจ้าแล้ว ผมสนใจแนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์คู่แรกมากๆ

พระเจ้าสร้างมนุษย์จาก “ฉายา” ของพระองค์ มนุษย์ชาย-หญิงคู่แรกเปลือยกาย เล่นสนุกในสวนอีเดนเพราะยังไม่รู้จักความละอาย กระทั่งไปกิน “ผลไม้แห่งความรอบรู้” ขึ้นมา

สิ่งแรกที่พวกเขาทำคือการหาใบไม้มาปกปิดเครื่องเพศ และเมื่อพระเจ้าตามหาก็พบว่าสองคนนี้หลบอยู่ จึงได้ทราบว่าพวกเขาละเมิดคำสั่งของพระองค์ ที่สำคัญคือ “พวกเขาก็ได้เป็นอย่างพระเจ้า” คือมีปัญญารู้คิด แต่ในเมื่อทำผิดก็ต้องถูกไล่ออกไปจากสวนสวรรค์ “เพื่อทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ มีลูก-หลานแพร่ไปในแผ่นดิน” และ “ไปสู่ความตาย”

จากตำนานนี้ ปัญญารอบรู้แรกของมนุษย์คือศีลธรรม ศีลธรรมแรกของมนุษยชาติคือความละอายเรื่องเพศ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมแรกของมนุษยชาติเพื่อสอดรับกับศีลธรรมนั้น คือการหาเครื่องนุ่งห่มมาปิดกาย

ดังนั้น จากตำนานในคัมภีร์ปฐมกาล มนุษย์กลายเป็นมนุษย์ได้ก็เพราะสวมเสื้อผ้านี่เอง การสวมเสื้อผ้าทำให้มนุษย์หลุดออกจาก “สภาวะธรรมชาติ” อย่างสัตว์ชนิดอื่นๆ

ที่จริงสัตว์บางชนิดก็อาจนำเอาวัสดุตามธรรมชาติมาตกแต่งร่างกาย แต่มันมักทำไปโดยสัญชาตญาณเพื่อการสืบพันธุ์ ต่างกับมนุษย์ที่ใช้ความคิดกับเรื่องศีลธรรม

ผมเคยอ่านมาจากสักที่ซึ่งเลือนไปเสียแล้ว มีนักมานุษยวิทยากล่าวในทำนองว่า เมื่อบรรพบุรุษยุคแรกของเราเริ่มเดินด้วยสองขา ทำให้อวัยวะเพศออกมาอยู่ด้านหน้าซึ่งเปิดเผยกว่าการเดินขนานไปกับพื้น อวัยวะเพศก็อาจเกิดอันตรายได้ง่าย จึงมีการนำเอาสิ่งต่างๆ มาปกปิดไว้ ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นเสื้อผ้าในภายหลัง

นอกจากนี้ ยังนึกถึงวัฒนธรรม “ผี” ต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับเสื้อผ้ามากๆ เช่น ในวัฒนธรรมมอญ หีบผีบรรพชนของเขาภายในบรรจุเสื้อผ้าของปู่-ย่า ตา-ยายเอาไว้ ส่วนในวัฒนธรรมจีน เวลาทำกงเต็กเขาก็เอาเสื้อผ้าผู้ตายสวมในโคมว่ามีวิญญาณผู้ตายมาสิงอยู่ บางครั้งมีการถวายเสื้อผ้ากระดาษหรือเผ้าแก่วิญญาณหรือเทพเจ้า นัยว่าให้คุณพิเศษมากกว่าการเผากระดาษเงินกระดาษทองทั่วๆ ไป

เสื้อผ้าจึงไม่ได้มีมิติแค่ประโยชน์ใช้สอยหรือมิติด้านสุนทรียะเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับศาสนาและจิตวิญญาณด้วย

 

ที่เล่ามาข้างต้น ที่จริงผมมาคิดต่อจากการที่ศูนย์สยามทรรศน์ศึกษาของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งชวนไปเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “พัสตราเล่าศรัทธาในศาสนา” ซึ่งผมยังสนุกและกลับมาคิดอะไรต่อได้อีก

อันที่จริงแล้วการเปลือยกายซึ่งสะท้อนสภาวะตามธรรมชาติ และเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าสะท้อนสภาวะวัฒนธรรมนั้น ไม่ได้จบสิ้นแค่ในตำนานของฝ่ายยิว ในศาสนาฝ่ายอินเดียเรื่องนี้สนุกมากๆ เพราะยังปรากฏอยู่ในสัญลักษณ์ทางศาสนารวมถึงเครื่องแต่งกายของนักบวชด้วย

เทพเจ้าฮินดูที่เปลือยกาย เช่นเจ้าแม่กาลีและพระไภรวะนั้น เป็นสิ่งสะท้อนว่า พระองค์คือสภาวะของธรรมชาติที่ยังไม่ถูกนำเข้ามาในสังคมมนุษย์ (กาลีบูชาในชายป่า เคารีบูชาในบ้าน) จึงมีความดุร้ายเหมือนธรรมชาติที่ให้คุณให้โทษได้ไม่อาจคาดเดา และทรงพลังอำนาจมากมายมหาศาล

ต่อเมื่อถูกนำมาขัดสีฉวีวรรณ จับมัดผมและแต่งตัวแล้ว กาลีจึงกลายเป็นเคารี เป็นแม่ผู้นำอาหารและความสุขมาให้ ไภรวะจึงกลายเป็นศิวะ ผู้เป็นมงคล เป็น “คฤหปติ” ผู้เป็นเจ้าแห่งครอบครัวได้

เทวทัตต์ ปัตตาไนยกะ นักเทวตำนานบอกว่า ในวัฒนธรรมอินเดีย เมื่อคุณไปสักการะเจ้าแม่ประเภท “ครามเทวี” หรือเจ้าแม่ท้องถิ่นตามหมู่บ้าน จึงต้องเอาเสื้อผ้าและห่วงจมูกไปถวายเจ้าแม่ด้วย มิใช่เพราะเป็นสิ่งที่ผู้หญิงชอบเท่านั้น แต่เพื่อเป็นการทำให้ธรรมชาติยอมละทิ้งสภาวะเดิมของตนแล้วเข้าสู่บ้านหรือสังคมมนุษย์

เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากธรรมชาตินั้นยังคงรักษาความดิบเถื่อนเอาไว้ มนุษย์ก็ไม่อาจคาดเดาหรือได้รับประโยชน์จากธรรมชาติได้เท่าที่ควร

ครามเทวีตามหมู่บ้าน บางทีก็แค่เป็นก้อนหิน จอมปลวกหรือต้นไม้ครับ แต่เขาจะแสดงสัญลักษณ์ให้รู้โดยการเจิมผงเจิมสีต่างๆ ไว้ ที่สำคัญมักติด “ดวงตา” ทำด้วยโลหะ ก็เพื่อเปิดช่องทางสำหรับการรับรู้และติดต่อสื่อสาร (ในความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์)

และที่สำคัญ ถ้าเป็นเทวี ก็มักจะติด “ห่วงจมูก” ให้รู้ว่านี่เป็นเจ้าแม่นะ

 

เมื่อศาสนาฮินดูมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นตามความซับซ้อนของสังคม เสื้อผ้าของเทพเจ้าและมนุษย์ก็ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก มันกลายเป็นเครื่องบอกลำดับชั้นไม่ว่าเทพหรือมนุษย์

เทพเจ้ามีศักดิ์ต่างกันสะท้อนผ่านเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ เช่น มงกุฎที่มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ส่วนมนุษย์ ในแต่ละวรรณะต่างมีข้อกำหนดของสีเสื้อผ้าและชนิดของผ้าที่ใช้ เช่น วรรณะสูงมักสวมผ้าไหมหรือผ้าเนื้อดีอื่นๆ พราหมณ์สวมสีขาว กษัตริย์สีแดง แพศย์สีเหลือง และศูทรสีดำ

สีเหล่านี้สัมพันธ์กับสภาวะที่สีเกี่ยวข้องด้วย รวมถึงกิจกรรมในชีวิตของแต่ละชนชั้น ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก ผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงในที่นี้

แม้ในปัจจุบันคนฮินดูส่วนมากจะสวมเสื้อผ้าอย่างตะวันตก แต่เมื่อต้องเข้าพิธีสำคัญ ก็ยังมีข้อกำหนดของ “เครื่องนุ่งห่ม” ซึ่งมีชิ้นนุ่งและชิ้นห่มตามประเพณีเช่นเดิม

ศาสนามักมุ่งจัดการกับร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ การควบคุมร่างกายเป็นวิถีหนึ่งของควบคุมทางศีลธรรมในศาสนา ซึ่งภายหลังรัฐและสถาบันการศึกษาจะพยายามเข้าไปควบคุมแทน โดยใช้ศีลธรรมจากศาสนานั่นเอง

 

ไม่ว่าเราจะสวมใส่อะไร ไม่ว่าจะเกี่ยวกับศาสนาหรือไม่ ผมคิดว่ามีความคิดและอุดมการณ์ซ่อนอยู่ภายใน นอกเหนือจากความสวยงามและหน้าที่ของมัน

ความลึกของเรื่องนี้คือ ดูเหมือนเราจะบอกตัวเราเอง (และคนอื่น) ว่าเราเป็นใครผ่านการสวมใส่ของเรา ซึ่งดูเหมือนเรา “เลือก” เสื้อผ้า แต่ในขณะเดียวกันเสื้อผ้าก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะถูกกำหนดจากคนอื่นว่าเราเป็นใครด้วย

การสวมเสื้อผ้าเป็นการ “ตอกย้ำ” มโนสำนึกของเราว่าเราคือใคร

ในโลกสมัยใหม่ การที่เรามีอิสระในการเลือกใส่เสื้อผ้ามากน้อยแค่ไหนจึงสำคัญ เพราะการถูกกำหนดให้ใส่เสื้อผ้าเป็นการบ่มเพาะความคิด ความเชื่อและอุดมการณ์ที่เรามีต่อตัวเองและความสัมพันธ์กับคนอื่น

ดังนั้น จึงมียุคสมัยของการขบถผ่านการแต่งกาย เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ซึ่งทุนนิยมมักทำให้การขบถทางการแต่งกายกลายเป็นแฟชั่นที่มีราคา เพราะกลิ่นอายของการขบถนั้นเชื้อเชิญคนหนุ่ม-สาวให้เข้ามาใกล้

 

ผมคิดว่าศาสนาก็เข้าใจเรื่องนี้อย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ดูเหมือนศาสนาจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องเสื้อผ้ามากที่สุด โดยเฉพาะกับนักบวช ซึ่งผมคิดว่าเราอาจแบ่งนักบวชเหล่านี้ออกเป็นสองพวก พวกแรกคือพวกสละโลกกับพวกนักบวชประเภทศาสนบริกรหรือพระที่ดูแลชุมชนความเชื่อ

พวกแรกนั้น เครื่องแต่งกายนักบวชต้องสะท้อนสภาวะสละโลก ซึ่งที่จริงก็คือการ “ขบถ” ต่อค่านิยมของสังคมผ่านเสื้อผ้านั่นเอง มันจึงต้องมีลักษณะ “เรียบง่าย ยากจน หม่นหมอง” เช่น จีวรพระ หรือจีวรของพวกสันยาสี นอกจากจะหม่นหมองแล้ว ต้องมีน้อยชิ้นด้วย

นักบวชฮินดูแต่โบราณมีเสื้อผ้าชิ้นเดียว เรียกว่า “เกาปินะ” หรือผ้าเตี่ยวเท่านั้น ต่อมาก็อนุโลมให้ใช้ผ้านุ่งต่างๆ แต่ก็ยังถือว่าเกาปินะคือเครื่องแบบที่แท้จริงของสันยาสี

บางท่านก็เปลือยกาย คือปฏิเสธทั้งค่านิยมทางโลกและแสดงให้เห็นว่า ปราศจากทรัพย์สมบัติใดๆ สละสิ้นอย่างที่สุด

อันที่จริงนักบวชในพุทธศาสนากลับปฏิเสธการสวมเกาปินะ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนนักบวชประเภทศาสนบริกร เครื่องแต่งกายมักเป็นการสะท้อนให้ชุมชนเห็นสถานะพิเศษของตน หรือแสดงให้เห็นการควบคุมตนเอง ส่วนศาสนาที่มีพระเจ้านั้น เครื่องแต่งกายนักบวชในพิธีกรรมจะต้องแสดงให้เห็นความสง่าและความรุ่งเรืองของพระเจ้า จึงมักมีความสวยงามอลังการเป็นพิเศษ

เรื่องเครื่องแต่งกายกับศาสนายังมีต่อครับ เพราะชวนให้คิดอะไรได้อีก

โปรดติดตาม