ผี พราหมณ์ พุทธ l พระแม่ปารณศวรี : พระโพธิสัตว์ผู้บำบัดรักษาโรคระบาดในคติวัชรยาน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

พระแม่ปารณศวรี

: พระโพธิสัตว์ผู้บำบัดรักษาโรคระบาดในคติวัชรยาน

 

ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่สร้างความทุกข์ยากอย่างใหญ่หลวงแก่ผู้คน

ผมได้แต่ถอดถอนใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับสภาพรัฐที่เหมือนล่มสลาย

ทั้งๆ ที่กุญแจสำคัญคือวัคซีนที่จะช่วยให้ทุกอย่างดำเนินไปต่อ แต่การบริหารจัดการของรัฐก็อย่างที่เห็นครับ คงไม่ต้องพูดอะไรอีก

มิตรสหายบางท่านที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์บอกว่า ถ้าอยากช่วยพวกเขาในตอนนี้ ให้ทำสามอย่าง

หนึ่ง ให้ด่ารัฐบาลนี้ให้มากๆ น่าเศร้าที่สังคมนี้ขับเคลื่อนด้วยการด่าครับ หลายต่อหลายครั้งถ้าเสียงด่าไม่เกิดขึ้น เราคงไม่ได้รับสิ่งพึงได้ หรือคงไม่มีการปรับปรุงแก้ไขอะไรจากฝ่ายรัฐ

สอง ให้ช่วยดูแลสุขภาพกันให้ดี

และสาม แม้เราจะทราบว่า การดูแลทรัพยากรทางการแพทย์เป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรง แต่หากมันฉุกเฉินและช้าจริงๆ เราช่วยอะไรได้ก็ช่วยไปก่อน ท่านฝากมางี้ครับ

ที่จริงช่วงนี้ผมเองก็คิดอะไรไม่ออก ใจหนึ่งก็อยากชวนกันสวดมนต์ แต่คนก็จะหาว่าผมบ้าหรือเพี้ยนไปแล้ว แต่ก็นั่นแหละครับ เรื่องสวดมนต์มีอะไรไว้คุยกันยาวๆ ต่อเพราะมันมีอะไรที่ซับซ้อนอยู่

ที่สำคัญ ผมคิดว่าเราสวดมนต์ไปด้วยด่ารัฐบาลไปด้วยได้ครับ ไม่ขัดอะไรกัน

มาวันนี้เลยคิดว่าอยากชวนคุยเรื่องที่อาจช่วยชุบชูใจบ้าง เรื่องเทพๆ พระๆ เอาที่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ ใครมีศรัทธาก็จะได้ไปกราบไหว้ภาวนาถึง ใครเฉยๆ ก็เป็นเครื่องประดับความรู้

 

ในคติทางมหายานนั้น กล่าวถึงพระพุทธผู้เป็นนายแพทย์ใหญ่ ผู้บำบัดโรคภัยทั้งปวงของสรรพสัตว์คือพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาราชาพุทธะ พระพุทธองค์นี้ได้รับความนิยมนับถือในทุกประเทศที่มหายานแผ่ไปถึง ในบ้านเราเองก็ยังมีอโรคยศาลาและพระกริ่งไว้เป็นร่องรอยของการนับถือพระพุทธเจ้าองค์นี้

การกราบไหว้ขอให้พระพุทธคุณช่วยเหลือนั้น ผู้เคร่งมติแบบเถรวาทสมัยใหม่ก็อาจโต้แย้งว่าเป็นเรื่องศรัทธาที่ไม่ถูกต้อง เพราะพุทธศาสนานั้นไม่สอนให้วิงวอนร้องขอ

แต่หากมองจากมติฝ่ายมหายาน เราต้องไม่ลืมว่า พระพุทธมีมากมายและต่างมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ มีปณิธานที่อยากจะฉุดช่วยสรรพสัตว์ในด้านต่างๆ

บางองค์มีปณิธานที่จะช่วยในยามสรรพสัตว์สิ้นใจ

บางองค์ต้องการช่วยเรื่องความป่วยไข้

บางองค์ก็เรื่องความยากจน

ฉะนั้น การขอพึ่งเอาพุทธคุณเหล่านี้เป็นที่พึ่ง จึงเป็นความเชื่อมั่นในพระกรุณาธิคุณอย่างแท้จริง เรามีความมั่นใจในสิ่งนี้จริงๆ ไม่ใช่แค่สำนวน จึงไม่ได้เป็นความงมงายอะไร

 

ความป่วยไข้นับเป็นทุกข์ใหญ่หลวงเรื่องหนึ่งของสัตว์ทั้งหลาย

ฝ่ายมหายานจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

การเห็นพระพุทธะเป็นนายแพทย์นั้นก็เหมาะสมดี เพราะความป่วยไข้มีทั้งทางกายและทางใจ บางครั้งทางกายหายแต่ทางใจไม่หาย ก็มีเพียงธรรมโอสถที่จะช่วยบำบัดเยียวยาได้

นอกจากพระไภษัชยคุรุพุทธะอันเป็นที่รู้จักแล้ว ในฝ่ายวัชรยานยังมีพระพุทธะและพระโพธิสัตว์อีกหลายพระองค์ที่มีหน้าที่บำบัดเยียวยาความป่วยไข้ของสรรพสัตว์

เช่น พระวัชรสัตว์บำบัดในแง่การชำระล้างอกุศลกรรมให้บริสุทธิ์ พระแม่อารยะตาราผู้ขจัดความป่วยไข้และความกลัว พระอวโลกิเตศวรพระแห่งความกรุณาผู้ขจัดทุกข์ บางครั้งท่านก็ถูกนับอยู่ในหมู่บริวารโพธิสัตว์ของพระไภษัชยคุรุด้วย เป็นต้น

ในช่วงนี้คุรุอาจารย์หลายรูปทางทิเบตได้ทำพิธีอภิเษก คือมอบสิทธิและพรในการปฏิบัติ (แบบออนไลน์)

มอบบทปฏิบัติและคำสอน รวมทั้งเผยแพร่ให้ศิษย์ทั่วโลกปฏิบัติบูชาพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเกิดโรคระบาด เพราะถือว่าท่านมีคุณช่วยด้านนี้เป็นพิเศษ เพียงแต่บ้านเรายังไม่ค่อยรู้จักกัน

ก็คือ “พระแม่ปารณศวรี”

 

พระปารณศวรี (ปารฺณศฺวรี) พระนามมีความหมายว่า พระแม่เจ้าผู้นุ่งห่มใบไม้ (ปารณะ ภาษาไทยเขียนว่า บรรณ แปลว่าใบไม้)

พระองค์มีพระวรกายสีเหลืองทอง มีหกกร ถือลูกศร ขวาน คันธนู บ่วงบาศก์ วัชระ และต้นยาสมุนไพร มีสามพระพักตร์ แต่ละพระพักตร์มีสีต่างกัน มีพระเนตรที่สามบนหน้าผาก ใบหน้าอยู่ในลักษณะกึ่งพิโรธหรือแสยะยิ้ม นุ่งห่มด้วยใบไม้ ขาข้างหนึ่งอยู่ในท่าเหยียดออกคือพร้อมจะช่วยสรรพสัตว์ หรืออยู่ในท่าคุกเข่าข้างหนึ่ง

รูปเคารพพระแม่ปารณศวรีเริ่มมีปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์ปาละ ซึ่งเป็นช่วงเวลารุ่งเรืองของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน ในอินเดียมีการค้นพบรูปสำริดของพระองค์ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่สิบห้าถึงสิบเจ็ดอยู่หลายองค์

พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานถือว่าพระปารณศวรีเป็นภาคหนึ่งของพระโพธิสัตว์อารยะตารา พระโพธิสัตว์สตรีที่ได้รับการเคารพอย่างมากและแพร่หลายในดินแดนที่พุทธศาสนาวัชรยานแผ่ไปถึง

พระโพธิสัตว์ตาราเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา เคียงคู่กันกับพระอวโลกิเตศวร ทรงมีปณิธานช่วยขจัดความกลัวภัยต่างๆ ของสรรพสัตว์และยังมีชัยชนะเหนือความเจ็บป่วยทั้งหลาย

พระองค์จึงมีถึง 21 ปาง เพราะความเจ็บป่วยและความกลัวของสรรพสัตว์มีมากมายหลายรูปแบบนั่นเอง

 

นิกายญิงมาในสายคุรุจิกเม ลิงปะของทิเบตถือว่าพระปารณศวรีเป็นปางที่ยี่สิบของพระโพธิสัตว์ตารา ทรงช่วยขจัดโรคระบาด บางครั้งถูกเรียกว่า “ตารา ศพรี” มีความหมายถึง ตาราผู้ท่องไปในภูเขา หรือตาราผู้นุ่งห่มใบไม้ ตรงกับพระนามในภาษาทิเบตว่า ริโทรมา

ที่น่าสนใจคือมีการเรียกพระองค์ว่า “ปีศาจี” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งคือคำว่าปีศาจ (เพศหญิง) ที่เรารู้จัก คำนี้ยังปรากฏในมนต์ของพระองค์ด้วย ปีศาจมีความหมายถึงพลังของธรรมชาติที่อาจให้คุณหรือโทษก็ได้ตามขนบการบูชาของชาวบ้าน เช่นเดียวกับคำว่าฑากินี ยักษิณี ฯลฯ ซึ่งถูกลดค่าลงโดยวัฒนธรรมฮินดูแบบสันสกฤตหรือแบบทางการ แต่พุทธศาสนาวัชรยานรับไปพัฒนาต่อ

สอดคล้องกับรูปลักษณ์ที่นุ่งใบไม้เหมือนชาวป่าที่แสดงถึงความเป็นพื้นเมืองอย่างชัดเจน

แสดงร่องรอยว่าพระองค์อาจเป็นเทวีพื้นบ้านที่ถูกนำมารวมเข้าในพุทธศาสนาแล้วจัดให้อยู่ในกลุ่มพระแม่ตารา

เช่นเดียวกับที่ฮินดูนำเอาเทวีแห่งโรคระบาดพื้นบ้านอย่างมาริอัมมาหรือศีตลาเข้ามาในสารบบเทพทางการ ซึ่งทั้งพระปารณศวรีและศีตลาเทวีของฮินดูน่าจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน

แม้ในทางประวัติศาสตร์ พระองค์อาจพัฒนามาจากเทวีท้องถิ่นของอินเดีย แต่ในความเชื่อของฝ่ายวัชรยานของทิเบตนั้น พระองค์เป็นนิรมาณกายซึ่งเกิดจากความกรุณาแห่งพระพุทธะทั้งหลาย จึงมีคุณสมบัติอันผ่องแผ้วทุกประการและมีปณิธานฉุดช่วยสรรพสัตว์เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์พระองค์อื่นๆ

การปฏิบัติถึงพระปารณศวรีจึงนิยมแพร่หลายไปในทุกนิกายของทิเบต

 

เนื้อความในบทสวดสรรเสริญพระแม่ตาราทั้งยี่สิบเอ็ดปางชื่อ “ภควตีอารยะตารานมัสกาไรกวิมศติสโตตรัม” (ภควติอารฺยตารานมสฺกาไรกวึศติสฺโตตฺรมฺ) กล่าวถึงพระตาราองค์ที่ยี่สิบไว้ว่า (ผมขออนุญาตลงไว้ทั้งมนต์สันสกฤตและความหมายภาษาไทย เผื่อใครอยากนำไปสวดท่อง)

“นมศฺจนฺทฺรารฺกสํปูรฺณนยนทฺยุติภาสฺวเร หรทฺวิรุกฺตตุตฺตาเร วิษมชฺวรนาศินิ”

“ขอนอบน้อมแด่พระตาราผู้มีพระเนตรส่องสว่างดุจจันทร์เพ็ญและดวงสูรย์เจิดจ้า ทรงเป็นผู้ขจัดความป่วยไข้แรงร้าย (โรคระบาด) ยามเมื่อทรงบันลือเสียง ‘หร’ และ ‘ตุตฺตาเร'”

ส่วนมนต์แบบย่อที่เรียกว่าหฤทัยธารณีของพระปารณศวรีมีว่า “โอมฺ ปีศาจี ปารฺณศฺวรี สรฺวชฺวร ปฺรศมานเย สฺวาหา” แปลว่า “โอม พระปีศาจีปารณศวรี โปรดขจัด โรคทั้งหลาย สวาหา!” (อาจมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละนิกาย)

ด้วยคุณสมบัติและความเชื่อข้างต้น ยามเมื่อโควิดระบาดใหม่ๆ ครูบาอาจารย์ทางฝ่ายทิเบตจึงให้คำสอน มอบการอภิเษก (ทางออนไลน์) ให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายช่วยกันสวดมนต์พระปารณศวรีเพื่อคุ้มครองป้องกันจากโรคระบาดครั้งนี้อย่างแพร่หลาย

 

ใครจะเชื่อไม่เชื่ออันนี้ตามแต่อัธยาศัยครับ ผมก็ตั้งใจจะนำเสนอความรู้แก่ท่านผู้อ่านเหมือนอย่างทุกครั้ง และแสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนาพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงให้เห็นพระกรุณาธิคุณของพระพุทธะในแง่มุมต่างๆ

ที่สำคัญ ครูบาอาจารย์ท่านเน้นย้ำกันว่า มนต์ไม่ได้มีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์อย่างของวิเศษ แต่มนต์สำเร็จประโยชน์ได้ มีพลานุภาพได้ด้วยความตั้งใจที่อยู่เบื้องหลังการสวดมนต์นั้นด้วย

ความตั้งใจนั้นก็คือ ความมุ่งหมายให้เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์พ้นจากความทุกข์ของโรคระบาดครั้งนี้โดยทั่วกัน ไม่ใช่แค่ตัวเรารอดอยู่คนเดียว

หากตั้งจิตไว้เช่นนี้ได้จึงค่อยสวดมนต์ จะเป็นมนต์พระปารณศวรี หรือพระพุทธะพระโพธิสัตว์องค์ไหนก็ได้ หรือแค่ถามไถ่กันด้วยความรักความห่วงใย นั่นก็ย่อมมีผลที่ดีแน่นอน

เพราะความรักความกรุณา คือมนต์เยียวยาสูงสุด