ผี พราหมณ์ พุทธ : ‘เอหิปัสสิโก’ ชวนดูหนังสารคดี พิเคราะห์ธรรมกายและสังคมไทย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

‘เอหิปัสสิโก’

ชวนดูหนังสารคดี

พิเคราะห์ธรรมกายและสังคมไทย

 

ผมหวังใจว่าวันที่บทความนี้ออกสู่บรรณพิภพหรือออนไลน์พิภพแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง “เอหิปัสสิโก” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “come and see” (ซึ่งก็แปลมาจากเอหิปัสสิโกนั่นแหละ) จะยังไม่ลาโรง หรือถ้าลาโรงแล้วก็หวังใจว่าจะมีให้ชมในช่องทางต่างๆ

หนังเรื่องนี้กำกับฯ โดยณฐพล บุญประกอบ (ไก่) ผู้เคยนำสารคดี “2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” สารคดีเกี่ยวกับการออกวิ่งของตูน บอดี้สแลม ออกฉาย สร้างความตื่นตัวในการชมสารคดีซึ่งมีที่ทางน้อยนิดในโรงภาพยนตร์ไทย

ผมผู้มีความคิดเห็นแตกต่างกับผู้ชื่นชมกิจกรรมของพี่ตูน เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนั้นก็ยังคิดว่า แม้เราจะมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรก็ตาม แต่การได้มีสารคดีไปปรากฏในโรงภาพยนตร์บ้างก็เป็นสิ่งที่ดีจริงๆ

อันนี้อาจเพราะผมชื่นชอบสารคดีอยู่แล้วเป็นทุนเดิมด้วย

มาคราวนี้ไก่พาไปสู่ประเด็นที่สังคมไทยกลัวหนักหนาคือเรื่อง “ศาสนา” ที่ผูกโยงเข้ากับการเมือง และยังเข้าไปสำรวจสำนักที่เป็นประเด็นถกเถียงมากที่สุดสำนักหนึ่ง คือสำนักวัดพระธรรมกาย

ผมได้ชมหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อนานมาแล้ว สมัยที่ผู้กำกับฯ ยังตระเวนไปฉายยังที่ต่างๆ เหมือนหนังแก้บน ผมออกอุทานว่า หนังเรื่องนี้ควรฉายในโรงภาพยนตร์ จะเป็นประโยชน์

และที่สำคัญ สังคมไทยไม่ได้มีสารคดีศาสนาเชิงวิเคราะห์วิพากษ์เลย ส่วนมากถ้าไม่อวยก็แสดงแต่ข้อมูลพื้นๆ การมีหนังแบบนี้เกิดขึ้นนับว่าดีงาม

พูดแบบไม่ได้สรรเสริญเกินจริงนะครับ ในฐานะคนสอนด้านศาสนาและปรัชญาที่เพียรหาหนังอะไรมาให้นักศึกษาดู หนังเรื่องนี้จะช่วยยกระดับสารคดีศาสนาในสังคมไทยไปอีกขั้น ไปสู่ความเปิดกว้างต่อการทำความเข้าใจความคิดความเชื่อที่ต่างกัน และเปิดพื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์ด้วย

 

ผมสังเกตว่า สิ่งที่ผู้ชมมักบอกต่อกันเมื่อชมแล้วคือ รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้พยายามที่จะให้ข้อมูลทั้งสองด้าน จากฝั่งธรรมกายเอง ที่ให้เขาได้นำเสนอตัวเขาแบบที่เขาอยากเสนอ และจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ได้พูดอย่างเต็มที่เช่นกัน

ตัวผู้กำกับฯ ไม่ได้วางบทบาทให้ตัวเองตัดสินว่าฝั่งไหนถูกต้อง ฝั่งไหนผิด แม้จะมีกลิ่นอายของสารคดีแนวสืบสวนอยู่นิดๆ แต่ก็ไม่ได้พยายามเข้าไปขุดคุ้ยเปิดโปง มีส่วนผสมที่พอเหมาะพอดีระหว่างความบันเทิงในทางภาพยนตร์ การให้ข้อมูล ลำดับเหตุการณ์และความคิดเห็นจากนักวิชาการ

แม้จะมีผู้วิจารณ์ว่าเนื้อหายังไม่ลึกพอ แต่ผมกลับคิดว่า “หนังไก่” เรื่องนี้ มีอะไรซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเยอะมาก ทั้งมากและลึก

สิ่งเหล่านี้อยู่ในภาพบางภาพที่อาจผ่านมาเพียงแวบๆ หรือซ่อนอยู่ในคำพูดของใครบางคน

สิ่งที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นมิติใดก็ตาม คือสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่าสังคมไทยถูกหล่อหลอมและถูกผลักดันโดยพลังอำนาจและความคิดแบบใด

เราไม่เคยมีหนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา หรือแม้แต่วิพากษ์ไปถึงองค์กรทางศาสนา ทั้งนี้เพราะเรามักลดทอนเรื่องราวของศาสนาให้กลายเป็นเพียงเรื่องราวของปัจเจกเท่านั้น ภาพยนตร์ทางศาสนาทั้งหมดในบ้านเรา โดยมากก็วนเวียนอยู่กับประเด็นเหล่านี้ พระดี พระชั่ว พระแอบชั่ว ชั่วตรงๆ ชั่วซับซ้อน ฯลฯ

ดังนั้น การแสดงให้เห็นว่ารัฐกับศาสนามีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้างจึงเป็นคุณูปการของสารคดีเรื่องนี้ประการหนึ่ง

 

ผมเคยเขียนถึงธรรมกายไว้หลายครั้ง คงไม่นำประเด็นวิพากษ์เหล่านั้นกลับมาพูดในที่นี้มากนัก

แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่ดูแปลกประหลาดที่สุดเวลาผมนึกถึงธรรมกายคือ ธรรมกายโดนอำนาจรัฐพยายามเข้าไปปราบปราม (สิ่งนี้จะปรากฏในสารคดีด้วย)

แต่ในขณะเดียวกันธรรมกายก็พยายามจะเข้าไปมีบทบาทในรัฐ เช่น เข้าไปเป็นผู้จัดโครงการอบรมทางศีลธรรมในหน่วยงานของรัฐ หรือความพยายามจะมีอำนาจในคณะสงฆ์ไทย ซึ่งส่วนนี้สารคดีอาจไม่พูดถึงมากนัก

การต่อสู้ของธรรมกายกับอำนาจรัฐจึงไม่เหมือนกับสำนักอื่นเช่นสันติอโศกเคยโดนมาก่อน คือสุดท้ายสันติอโศกก็ต้องแยกตัวออกไปจากคณะสงฆ์ไทยเพื่อยืนยันแนวทางของตัวเอง

แต่ธรรมกายยังอิงแอบกับคณะสงฆ์ไทยและรัฐไทย ยังชื่นชมระบบสมณศักดิ์ ยังมีแนวคิดที่พยายามจะให้พุทธศาสนาแบบไทยกลับมายิ่งใหญ่ที่สุด แพร่ไปในระดับสากลให้มากที่สุด

ที่ธรรมกายไม่แยกตัวออกไป ผมคิดว่าเพราะเขายังเห็นตัวเองไม่ได้แตกต่างจากพระไทยทั่วไปในแง่แนวคิดและระบบการปกครอง

แม้จะมีผู้บอกว่า ความเชื่อเรื่องนิพพานของเขาต่างจากแนวคิดในพระไตรปิฎกเถรวาท แต่นั่นก็เป็นรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ผิดกับสันติอโศกที่ไม่เพียงแต่แนวคิดหลักแต่ยังมีวัตรปฏิบัติที่ต่างออกไปด้วย

นอกจากนี้ การอยู่ในคณะสงฆ์ไทยของวัดพระธรรมกายก็คงมีประโยชน์อีกหลายอย่างต่อธรรมกายเอง เช่นเครือข่ายอุปภัมภ์

 

กระนั้น อย่างที่ผมเคยพูดไว้แล้วครับ วัดอื่นๆ ก็แสวงหาผลประโยชน์เช่นเดียวกับวัดพระธรรมกาย เพียงแต่วัดพระธรรมกายทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า เด่นชัดกว่า

การจัดการอย่างเยี่ยมยอดของธรรมกาย สะท้อนความใฝ่ฝันถึงวัดและพุทธศาสนาของชนชั้นกลางไทย วัดที่สะอาดสะอ้านมีระเบียบเรียบร้อย พระสวมใส่จีวรอย่างสวยงาม มีสมณสารูปที่น่าศรัทธา ผู้คนยิ้มแย้ม พูดจาไพเราะอ่อนหวาน แม้แต่เสียงสวดมนต์ที่นุ่มนวลชวนฝัน งานวัดที่ยิ่งใหญ่อลังการ

ภาพเหล่านี้ถูกถ่ายทอดลงในสารคดี มันช่างเมลืองมลังน่าตื่นตา แต่ในขณะเดียวกัน แม้เราหลายคนจะฝันถึงสิ่งเหล่านี้ ธรรมกายก็ทำให้มันชัดเจนเสียจนความใฝ่ฝันของเราดูน่ากระอักกระอ่วน

ความเป็นไทย หรือ Thai dream ที่เมื่อขยายใหญ่แล้วกลับดูแปร่งแปลก จะว่างามยิ่งใหญ่ก็ใช่ จะว่าดูประหลาดก็ประหลาด โดยเฉพาะคนที่อยู่นอกความคุ้นเคยวัฒนธรรมของธรรมกาย

ความสวยงาม ความยิ่งใหญ่ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ศาสนาซึ่งเราโหยหา ธรรมกายช่วยบันดาลให้เป็นจริงขึ้นมา แต่นั่นก็ทำให้เรากลับยิ่งสับสนมากขึ้น

คำถามคือ ตกลงแล้วความใฝ่ฝันของเราเองหรือไม่ที่มันประหลาดอยู่แล้วตั้งแต่แรก และธรรมกายเพียงขับเน้นขึ้นมาเท่านั้น หรือธรรมกายก็ประหลาดเองด้วยกันแน่

 

ผมอยากชวนไปหาคำตอบในสารคดีครับ และสารคดีเรื่องนี้ยังมีอะไรอีกมากที่ชวนคิดพินิจพิจารณา ต้องลองไปดูเอาเอง (เอหิปัสสิโก) เถิด

เมื่อผมกลับมาย้อนถามตัวเองว่า เหตุใดสังคมไทยจึงแห้งแล้งงานสารคดีแบบนี้นัก เหตุใดหนังในบ้านเราวนเวียนอยู่กับหนังตลก ผี รัก อยู่สามแบบเท่านั้นเอง

คำตอบที่ผมคิดออกตอนนี้คือ ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐจะพยายามให้เราหุบปาก เซ็นเซอร์ทุกสิ่ง ไม่พูดประเด็นที่อาจทำให้เราตั้งคำถามกับรัฐ กับอำนาจหรือสภาพสังคมที่เป็นอยู่

ภาพยนตร์ในสังคมไทยจึงถูกลดทอนให้เหลือเพียงสามแบบดังกล่าวเท่านั้น ให้เราเพลินๆ ลืมๆ กับปัญหาไป ผู้กำกับฯ แม้อยากสร้างหนังที่ลึกซึ้ง แต่ใครจะกล้าให้ทุนทำ เพราะทำแล้วจะฉายได้ไหมไม่มีใครรับประกัน

การมีหนังสารคดีทางศาสนาเชิงวิเคราะห์ มาฉายในโรงเช่นนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นโอกาสที่หาได้ยาก ควรสนับสนุน

ใครศรัทธาธรรมกายก็ควรดู

ใครเฉยๆ ก็ควรดู

ใครไม่ชอบ ยิ่งควรดู