ฉัตรสุมาลย์ : UN วิสาขะที่ศรีลังกา (2)

งานวันที่สอง ตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 ช่วงชั่วโมงครึ่งเช้าเป็นช่วงที่แบ่งกลุ่ม 4 กลุ่ม จัดเวลาเดียวกัน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ รักพี่เสียดายน้อง อยากฟังห้องนั้น แต่ห้องนี้ก็มีคนพูดที่เราอยากฟังด้วย วิ่งเข้าๆ ออกๆ ก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ทราบว่าคนที่เราสนใจจะฟังการนำเสนอนั้น จะอยู่ในลำดับใดของการนำเสนอ ตรงนี้ขาดข้อมูลค่ะ

หัวข้อเรื่องสันติภาพที่ยั่งยืนก็น่าสนใจ แต่บังเอิญได้พบท่าน ดร.อนิล ศากยะ ท่านเจ้าคุณศากยะวงศ์วิสุทธิ์ พวกเราจะคุ้นหน้าท่านเป็นอย่างดี เพราะท่านเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 (วัดบวรนิเวศฯ) มากที่สุดรูปหนึ่ง ท่านมาพูดเรื่องเศรษฐกิจแบบพุทธ และในห้องนั้นก็มีเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจ

ตกลงเลือกไปฟังท่านเจ้าคุณอนิล ศากยะ

หน้าห้องก็มีการลงทะเบียน ได้หนังสือเล่มโตน่าประทับใจมาก เป็นเรื่องพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ยังไม่ทันได้อ่านค่ะ แว้บหนึ่งเห็นบทความพุทธศาสนาในประเทศไทย เขียนโดยท่านเจ้าคุณศากยะวงศ์วิสุทธิ์ด้วยค่ะ

ท่านธรรมรัตนะ พระภิกษุชาวศรีลังกา แต่ไปอยู่ที่ฝรั่งเศส จบปริญญาเอกที่ฝรั่งเศส เป็นผู้ดำเนินรายการ บนเวทีใหญ่

ท่านเป็นทั้งผู้กำกับ พร้อมกับตอบคำถามตัดบทแบบเบ็ดเสร็จ จนสมาชิกในที่ประชุมหลายคนไม่กล้าถามต่อ

ในห้องนั้น มีผู้เสนอบทความ 6 ท่าน ได้มีเวลาพูดเพียง 10 นาที บางท่านตั้งใจเตรียมมาดีมาก แต่ความพยายามที่จะยัดเยียดข้อมูลที่เตรียมมา บางครั้งก็ทำให้เหนื่อยแทน

ท่านเจ้าคุณท่านนำเสนอเป็นรูปสุดท้าย ประเด็นที่ท่านนำเสนอ ผู้เขียนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่คอลัมน์นี้ จึงขอถ่ายทอดแก่ท่านผู้อ่าน

 

ท่านเล่าถึงบริบทที่ท่านได้รับนิมนต์ไปร่วมการประชุมกับประธานกรรมการของสหประชาชาติที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ในที่ประชุมล้วนแต่เป็นนักการธนาคาร นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกทั้งนั้น

พอถึงคราวท่าน ท่านบอกกับที่ประชุมว่าท่านน่าจะมาผิดเวที เพราะในเวทีนั้น เน้นการขจัดความยากจน และขจัดความเหลื่อมล้ำในประเทศต่างๆ ท่านประธานให้ข้อมูลว่า ประชากรในโลกนั้นมีเพียง 1% ที่มี 50% ของทรัพยากรโลก เงินที่พลเมืองโลก 99% หาได้ ไปอยู่ในมือของเศรษฐีเพียง 1%

ท่านเจ้าคุณท่านว่า ท่านน่าจะมาผิดงาน เพราะถ้าจุดประสงค์ของสหประชาชาติต้องการขจัดความยากจน ท่านเป็นพระที่ยึดแนวทางชีวิตที่ไม่มีสมบัติ ต้องถือว่ายากจนในความหมายของสหประชาชาติ ในความเข้าใจเรื่องความยากจนนั้น คือการขาดความสามารถที่จะทำให้บรรลุศักยภาพสูงสุด นอกจากขาดเงินแล้ว ที่สำคัญคือขาดทรัพย์ทางจิตวิญญาณ ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่คน 1% ใช้คนอีก 99% อย่างไร้มนุษยธรรม

ประเทศไทยผงาดขึ้นมาเป็นที่ห้าในประเทศเอเชียเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมานี้ และเพราะไทยหันกลับไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงนำทางให้เรา

ชาวไทยก็เลยมีสถิติของคนที่มีความสุขสูงเป็นที่น่าสะดุดใจ

 

เมื่อหันมาพูดถึงเศรษฐกิจ ท่านเจ้าคุณชี้ว่า คำว่าเศรษฐกิจที่ใช้ในภาษาอังกฤษนั้นมีรากมาจากภาษาละติน ในความหมายถึงการจัดการการใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่มาใช้ในเรื่องระบบการผลิตและการซื้อขาย การเสพทั้งในระดับหมู่บ้าน ภาค หรือประเทศ

ในศาสนาพุทธเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจใกล้เคียงกับการจัดการในครัวเรือน ซึ่งจะไปสอดคล้องกับสัมมาอาชีพในคำสอนของพุทธศาสนา

ซึ่งหมายถึงการดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นคนละความหมายกับเศรษฐกิจ

ในขณะที่ศาสนาพุทธสอนให้เราลดทอนความต้องการ เศรษฐศาสตร์ปัจจุบันต้องการให้เราเพิ่มความต้องการ เศรษฐศาสตร์แบบพุทธจึงขัดแย้งกับความหมายของเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในโลกตะวันตก

ที่คนไทยใช้คำว่าเศรษฐกิจนั้น ที่ถูกควรเป็นโภคกิจ คืองานที่เป็นไปเพื่อการเสพเสียมากกว่า

เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 มีรากมาจากคำสอนของพุทธศาสนา จึงหมายถึงความพึงพอใจกิจการของผู้เจริญ ซึ่งไปตรงกับคำบาลีที่ว่า สันตุฏฐี ปรัง ธนัง

จะเห็นว่า ความหมายในพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับความหมายเดิมที่มาในภาษากรีก ละตินเสียมากกว่า ดังนั้น เวลาที่เราใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ต้องเข้าใจรากของพุทธศาสนาที่มาในคำนั้นๆ

เศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงใช้เป็นเครื่องมือที่จะนำมาซึ่งความสุข และจะช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงโลกของเราเพื่อความยั่งยืน โดยมีหลัก 3 S

S ตัวแรก หมายถึง Sanity คือความเป็นปกติ ความสุขเป็นปกติของมนุษย์ เราจึงต้องใส่ใจในปัจจัยที่จะทำให้เราสูญเสียความสุข เราสามารถถอยกลับไปสู่ความสุขพื้นฐานโดยการรักษาวิถีชีวิตของเราให้เป็นปกติ ศาสนาพุทธเรียกว่า ศีล คือปกติ

S ตัวที่สอง คือ Spirituality หมายถึงความหมายทางจิตวิญญาณ โดยที่เราต้องมีความตระหนักรู้ว่าโลกทั้งใบนี้แสนจะเปราะบาง เป็นโลกแห่งความไม่เที่ยง เราจะมีความสุขในโลกใบนี้ได้หากเราจะพัฒนาความตระหนักรู้ในความจริงข้อนี้ และมีสติตื่นรู้กับตัวเราเองและความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน ศาสนาพุทธใช้คำนี้ว่า สมาธิ คือมีจิตตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่น เราก็จะสามารถพัฒนาสติที่จะรับมือกับอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้น

S ตัวที่สาม คือ Sustainable คือความยั่งยืน ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกมีเหตุปัจจัยของมันทั้งสิ้น เราจึงต้องพัฒนาปัญญาที่จะตามรู้เหตุปัจจัยทั้งหลาย เราจะสามารถเข้าใจถึงเหตุที่มาแห่งความสุข และเพิ่มพูนความสุขนี้ ในชีวิตของเรา

คำว่า sustain ในรากศัพท์แปลว่า ทรงไว้บนพื้น ในความหมายก็คือ ความสามารถที่จะก้าวไปข้างหน้า หรือหมุนไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็สามารถทรงตัวไว้ได้เพื่อไม่ให้มีผลเชิงลบอันจะทอนความสุขที่เป็นเป้าหมาย ในศาสนาพุทธ คำว่า ปัญญา หมายถึงความสามารถที่จะมีความรู้หลายด้านในเรื่องนั้นๆ นั่นคือ ความสามารถที่จะธำรงไว้ซึ่งความเข้าใจในสรรพสิ่งนั่นเอง

เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน คือ ทำอย่างไรที่จะให้เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธสร้างความสุขให้ชาวโลก ที่สหประชาชาติต้องการนั่นแหละ

เราตาสว่างเลยนะคะ

 

ท่านเจ้าคุณอธิบายความหมายของธรรมจักรโยงเข้ามาในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน่าทึ่ง

ท่านว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่อะไรอื่น คือธรรมจักรนั่นเอง แยกศัพท์ให้ดูนะคะ ธรรมะ รากศัพท์คือ ทรงไว้ ขณะที่ จักร แปลว่า หมุนไปข้างหน้า ขณะเดียวกันยังอยู่กับพื้นดิน คือยังได้สมดุล

เพราะฉะนั้น คำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นความหมายเดียวกับธรรมจักร นั่นเอง

ท่านเจ้าคุณท่านว่า เราบอกได้เลยว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกในโลกที่พูดถึงการพัฒนาที่ทรงตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ปวตนะ แปลว่า เป็นการกระทำ เพราะฉะนั้น ทั้งคำคือ ธัมมจักกัปวตนะ คือการพัฒนาที่ทรงตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้าได้นั้น ต้องลงมือทำ นำไปสู่ความเข้าใจอีกระดับหนึ่งว่า การพัฒนาที่ว่านี้ เราต้องทำให้เกิดเป็นจริงในชีวิต

เราไม่เคยได้ยินคำอธิบายเรื่องธัมมจักกัปวตนะ แบบนี้มาก่อนนะคะ นี่คือปัญญาของชาวพุทธรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้เพียงท่องจำ

แต่พยายามทำความเข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์ในบริบทสังคมใหม่

เราต้องฟังนะคะ ก็ขนาดที่ประชุมสหประชาติที่ทำเรื่องเศรษฐศาสตร์ก็ยังฟังท่านมาแล้ว

ดีใจค่ะ ที่ไปงานวิสาขะครั้งนี้ ได้ฟังแนวคิดที่ประเทืองปัญญา

 

หลังจากอาหารกลางวัน ท่านธัมมนันทาเข้าไปฉันในห้องของคณะสงฆ์ ท่านว่า วันนี้ท่านฉันโต๊ะเดียวกับพระนักศึกษาพม่าที่ดูแลท่านดี คอยส่งกับข้าวให้ท่านได้ตักทุกจาน

กลับเข้ามาในห้องประชุมใหญ่ เหลือคนฟังน้อยลงไปอีกค่ะ เป็นการถามคำถามจากที่แยกกลุ่มย่อยไป 4 กลุ่มในตอนเช้า เพราะเวลาไม่พอ ผู้ฟังไม่มีโอกาสได้ถามคำถาม ตอนนี้ก็ไม่สนุกนัก เพราะผู้ดำเนินรายการเป็นพระศรีลังกา นัยว่าท่านเป็นรองประธานของการจัดงานวิสาขะด้วย

ไม่ค่อยได้เนื้อหาสาระนัก ท่านเองเสนอเรื่องธนาคารชาวพุทธโลก มีเสียงสนับสนุน 2 เสียง แต่เสียงที่ไม่ได้พูดกลับบอกว่า เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ในประเทศไทยเองเราก็มีปัญหาเรื่องธนาคารของอิสลามที่รัฐต้องเข้ามาอุ้มชูอยู่ ผู้เขียนไม่มีความรู้ เลยเงียบเสียจะดีกว่า

ตามภาษิตว่า นิ่งเสียตำลึงทอง

 

วันที่สามของการประชุม คณะเดินทางโดยรถไฟที่จัดเฉพาะ ไปสักการะพระเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี กำหนดกลับ 4 ทุ่ม ท่านธัมมนันทาว่า ไม่ไหว ตกลงขออนุญาตว่า ไม่รายงานส่วนนี้นะคะ

รัฐบาลศรีลังกาก็จัดงานระดับชาติจริงๆ งานเปิด เชิญนายกรัฐมนตรีอินเดียมาเปิด งานปิด เชิญประธานาธิบดีของเนปาลมาปิดค่ะ

คืนนั้น รัฐบาลพาแขกเมือง คือพวกเรา ไปชมการแสดงที่โรงละครราชปักเษ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ท่านประธานาธิบดีศรีลังกาคนที่เพิ่งหมดวาระไป

ฉากนี้ ประทับใจมากค่ะ การแสดงอื่นๆ ขออนุญาตข้ามไปนะคะ การแสดงที่ประทับใจมากคือการเล่าเรื่องพุทธศาสนาในศรีลังกา 2,300 ปี เบ็ดเสร็จใน 1 ชั่วโมง

สุดประทับใจเลย

จับความตั้งแต่พระมหาโพธิสัตว์ เห็นเทวทูตทั้งสี่ ตัวละครที่เล่นเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นผู้ชาย ใช้จังหวะการเต้นแบบอินเดีย ตอนที่เห็นเทวทูตทั้งสี่ ก็มีคนแก่ยักแย่ยักยันเดินออกมาให้เห็น ฉากคนตาย ก็แบกคนที่ทำท่าตายจริงๆ ทำให้เราตามเรื่องได้ทุกช็อต

ตอนที่ท่านเกิดความเบื่อหน่าย ท่าร่ายรำ และดนตรี สื่อความได้อย่างดี ท่านปลดเปลื้องเครื่องประดับมอบให้นายฉันนะ แล้วทรงตัดพระเมาลี ไม่มีบทพากย์ค่ะ ดูเอาจากท่าที่ร่ายรำ เราตามเรื่องได้หมด

คนที่เป็นคนเล่าเรื่อง เป็นตัวละครสมัยใหม่ ทำเหมือนหลงเข้ามาในฉาก แล้วพากย์ดำเนินเรื่องด้วยภาษาอังกฤษที่ชัดถ้อยชัดคำ

ระบบเสียงเขาดีจัง

เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จมาศรีลังกา 3 ครั้ง ตามความเชื่อของชาวศรีลังกา ครั้งล่าสุด คือที่ประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนยอดเขานั่นเอง

จากนั้นก็มาถึงฉากพระนางสังฆมิตตาเสด็จพร้อมหน่อพระศรีมหาโพธิ์ คราวนี้เอาตัวละครจัดเป็นขบวนแห่จริง มีกลองนำเข้ามา เดินเข้ามาทางคนดู แล้วจึงจะขึ้นไปบนเวที คนดูตื่นเต้น ถ่ายรูปกันใหญ่ เพราะตัวละครเดินมาในระยะแค่เอื้อม ได้บรรยากาศมากเลยค่ะ

พระนางสังฆมิตตาเถรี ประคองต้นโพธิ์ในสุวรรณภาชนะ ตามรูปที่เราคุ้นตาจากจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกลนียะ มีคนกั้นฉัตรถวาย ให้รู้ว่า ตรงนี้เป็นบุคคลสำคัญ

ใน พ.ศ.450 มีการจารึกพระไตรปิฎกครั้งแรกที่วัดอาลุวิหาร ฉากหลังขึ้นรูปคัมภีร์ใบลาน ในขณะที่บนเวที มีตัวละครที่เล่นเป็นพระภิกษุหลายรูปออกมานั่งจารใบลานกัน ศรีลังกาเน้นตรงนี้ เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของฝ่ายเถรวาท

ต่อมาเป็นฉากที่พระอุบาลีเสด็จมาจากไทย มาสืบสายสยามวงศ์ ฉากข้างหลังฉายภาพสุโขทัย และภาพพระบรมมหาราชวัง มีนางรำราว 10 คน ใส่ชฎาร่ายรำ พยายามทำท่าให้คล้ายการร่ายรำของไทย ไม่เหมือนค่ะ เพราะมีท่ายักสะโพก รำไทยไม่เน้นการยักสะโพก และเวลายกเท้าขึ้น รำไทยจะหักข้อเท้าลง แต่ของศรีลังกา ทำเท้าตรงๆ เอาเป็นว่า พอเป็นหมายว่า เกี่ยวกับเมืองไทย พระอุบาลีมาจากไทย และเป็นการสืบสายการอุปสมบทจากไทยมาศรีลังกา

เสร็จแล้วก็มาสู่ฉากการฉลองวันวิสาขะ ตั้งแต่เด็กๆ ช่วยกันทำโคมไฟ แล้วมีการฉลองเป็นเทศกาลที่มีสีสันมากที่สุดในรอบปี

แล้วผู้ดำเนินเรื่องก็ชักชวนผู้ชมให้ออกไปสู่ทานศาลา ซึ่งเป็นประเพณีพื้นเมืองของชาวพุทธศรีลังกาที่จะเตรียมอาหารเครื่องดื่มไว้ต้อนรับแขกที่มาเยือน กลืนกับบรรยากาศจริง เพราะเป็นเวลาที่เชิญแขกที่มาในงานประชุมรับประทานอาหารพอดี

บรรดาพระภิกษุภิกษุณีก็ได้เวลาขึ้นรถกลับที่พัก

เรียกว่า เป็นงานประชุมทางวิชาการ ขณะเดียวกันก็มีประสบการณ์ตรงในการฉลองวิสาขะของศรีลังกา ซึ่งน่าจะเป็นประเทศเดียวที่มีการฉลองกันเต็มรูปแบบจริงๆ

โมทนาอย่างยิ่งค่ะ ปีหน้าเราไปวิสาขะที่ศรีลังกากันไหมคะ