ผี พราหมณ์ พุทธ : เมื่อเผด็จการลากทึ้งดึงจีวรพระ / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

เมื่อเผด็จการลากทึ้งดึงจีวรพระ

 

“ถึงแม้ว่าจะมีผู้ใดใจโหดร้ายทารุณแย่งชิงผ้ากาสาวพัสตร์ของกระผมไป กระผมก็จะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ชุดอื่นแทน ซึ่งกระผมมีสิทธิ์ตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย จึงขอให้ท่านเจ้าคณะหรือผู้อื่นซึ่งเห็นเป็นพยานอยู่ ณ ที่นี้โปรดทราบและเป็นสักขีพยานให้แก่กระผมตามคำปฏิญาณนี้ด้วย”

นี่เป็นบันทึกเขียนด้วยลายมือ ลงนามพระประนมกร ปราณีต (พระพุทธิเชฏโฐ ภิกขุ) กับพระวิรัช แซ่คู หลังจากพระทั้งสองถูกจับพร้อมด้วยประชาชนที่ทำกิจกรรมใน “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ข้างทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

บันทึกดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับบันทึกของพระพิมลธรรม (อาจ อาจสภะ ภายหลังเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์) ในขณะที่ท่านถูกพรากจีวรออกไปจากร่างกายในปี พ.ศ.2505 สมัยรัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และได้กลายเป็นเรื่องราวที่อื้อฉาวที่สุดเรื่องหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย

พระทั้งสองรูปนี้เดินทาง “ธุดงค์” มากับขบวนเดินทะลุฟ้าที่นำโดยไผ่ ดาวดิน

ท่านเดินมาอย่างสงบสันติ ไม่ได้ปราศรัยหรือทำกิจกรรมอะไรมากนัก เน้นการรับฟังและอยู่ร่วมกับประชาชน

พระประนมกรให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าพระเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงไม่ควรนิ่งเฉย ศาสนาพุทธสอนคนให้ยุติธรรม มันจึงเป็นหน้าที่ของพระที่จะต้องออกมาติ ออกมาเตือน เมื่อเห็นสิ่งไม่ดีไม่งามในสังคม

 

เช้าวันสลายการชุมนุม พระสามรูปถูกจับไปยังวัดเบญจมบพิตรฯ สองรูปข้างต้นถูกบังคับให้สึกแม้ว่าจะบวชมาอย่างถูกต้อง เลขานุการเจ้าคณะแขวงดุสิตแจ้งกับสื่อว่า เนื่องจากพระไม่มีสังกัดแล้ว (เพราะวัดต้นสังกัดเดิมได้ปฏิเสธที่จะรับ) จึงเท่ากับเป็นพระเร่ร่อน และกล่าวว่าพระสองรูปนี้เต็มใจสึกเอง

ภายหลังทราบกันว่า พระทั้งสองรูปไม่ได้เต็มใจสึกแต่อย่างใด พระที่มาให้ข่าวจึงเท่ากับทำมุสาวาทไปแล้ว

ในบ้านเมืองเรา พระแค่เร่ร่อนไม่มีสังกัดก็ผิดกฎหมายและโดนจับสึกได้ครับ ทั้งที่ในพุทธศาสนาแต่เดิมนั้นพระล้วนเร่ร่อนจาริกไปอย่างไม่มีหลักแหล่ง ไม่มีสังกัด

พุทธวินัยกำหนดว่า หากเป็นนวกะหรือพระใหม่ ให้อยู่กับครูบาอาจารย์จนได้ห้าพรรษาก่อน จึงสามารถแยกตัวออกไป แต่ก็มิได้หมายความว่าพระเหล่านี้จะไม่เดินทางเร่ร่อนกันนะครับ เพียงแต่เดินทางเป็นหมู่คณะโดยมีครูอาจารย์ดูแล

เมื่อพ้นการเป็นนวกะ ก็ย่อมเดินทางตัวคนเดียวอย่างเป็นอิสระได้เลย เพราะพระวินัยอนุญาตไว้แล้ว

 

แม้ภายหลังมีระบบอารามเกิดขึ้นในพุทธศาสนา แต่ก็ยังมีการออกรุกขมูล มีช่วงเวลาของการออกเดินทางไกลอยู่ดี ยังไม่นับธรรมเนียมพระที่ถือธุดงควัตรว่าจะไม่พักละแวกบ้านหรืออาศัยอยู่โคนป่าเป็นนิตย์ นี่ก็ชีวิตเร่ร่อนแบบหนึ่ง

มีพุทธพจน์ตรัสไว้เองเลยนะครับว่า ชีวิตพระควรเป็นดั่งนกที่โบยบินไปอย่างเสรี “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันทีเหมือนนกบินไป ณ ที่ใดๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ”

แต่หากกฎหมายไทยกำหนดไว้ว่าพระต้องมีสังกัดถึงจะไม่โดนจับสึก นึกเล่นๆ ว่า ถ้าหากพระพุทธและอริยสาวกทั้งหมดยังอยู่ในสมัยนี้ แล้วมาอยู่ในบ้านเรา มิต้องโดนจับสึกกันหมดหรือครับ

เพราะพระพุทธะและอริยสาวกล้วนไม่มีสังกัด และท่านเหล่านั้นก็เดินทางเร่ร่อนอยู่ตลอด

 

ที่พูดนี้มิได้จะบอกว่าพระทุกรูปควรต้องเร่ร่อนนะครับ แต่กำลังจะบอกว่า การเร่ร่อนเป็นจิตวิญญาณเดิมของพระ มันไม่ควรจะผิดกฎหมายหรือต้องโดนจับสึก

ส่วนประเด็นการสึกนั้น ในพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องความสมัครใจของเจ้าตัว เว้นแต่เจ้าตัวได้กระทำความผิดถึงขั้นปาราชิก ความเป็นพระก็หมดไปโดยอัตโนมัติ ส่วนในเชิงพิธีกรรมต้องมีการเปล่งวาจาลาสิกขาต่อพยานจึงจะถือว่าการสึกสมบูรณ์

ดังนั้น การที่พระสังฆาธิการไม่ตั้งอธิกรณ์สอบสวนข้อผิดวินัยโดยธรรมเสียก่อน แต่ใช้กฎหมายบ้านเมืองมาจับสึกทันที จึงเท่ากับไม่เคารพพระธรรมวินัย จะอ้างว่าอนุโลมตามกฎหมายบ้านเมืองก็ฟังไม่ขึ้น เพราะการอนุโลมนั้นต้องไม่ขัดกับพระธรรมวินัยจึงจะพอพิจารณาได้

การบังคับเอาจีวรออกจากตัวจึงไม่ใช่การสึกที่แท้จริง เป็นแต่การใช้อำนาจบังคับเอาเครื่องแบบพระออกไปเท่านั้น

 

ผู้ปกครองรัฐพุทธตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันใช้การสึกพระเป็นเครื่องมือควบคุมนักบวชให้อยู่ในอำนาจของตัว แล้วอ้างว่าเป็นการชำระพระศาสนา เช่น เหตุการณ์สึกพระในสมัยพระเจ้าอโศก ในสมัยกรุงธนบุรี ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ฯลฯ มีทั้งสึกแบบทีละมากๆ กับสึกเป็นรายคน

ด้วยเหตุนี้ จึงมักมีผู้เข้าใจไปว่าการสึกพระนั้นเป็นเรื่องบุญกุศลที่อาณาจักรหรือพระราชาสามารถทำให้กับคณะสงฆ์ได้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้จริงๆ เป็นกิจการภายในของคณะสงฆ์เอง ไม่เกี่ยวกับฝ่ายบ้านเมืองเลย

หากพระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองก็เป็นเรื่องที่ต้องจัดการสึกโดยคณะสงฆ์เป็นการภายในตามข้อพิจารณาของพระธรรมวินัยก่อน แล้วค่อยดำเนินการตามวิธีการของบ้านเมืองภายหลัง

แต่ในกฎหมายไทยได้ฝากอำนาจในการสึกไว้กับพระสังฆาธิการตามลำดับปกครอง และยังฝากไว้ที่เจ้าพนักงานที่เป็นฆราวาสในบางกรณี

ไม่ได้มอบอำนาจให้ “สงฆ์” ซึ่งหมายถึง “ชุมชน” อันควรมีสิทธิจะพิจารณาร่วมกันตามพุทธเจตนารมณ์

 

กรณีพระพิมลธรรม ซึ่งน่าเกลียดน่าทุเรศมาก เพราะเผยโฉมความเลวร้ายภายในของคณะสงฆ์ไทยไว้ชัดเจน พระระดับบนๆ กลั่นแกล้งกันชนิดที่โยมอาย แล้วยืมมือเอาฝ่ายบ้านเมืองไปจัดการอีกชั้น แม้ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าวจะล้มหายตายจากไปเกือบหมด บางคนก็ตายอย่างสยดสยอง ว่ากันว่าก็เพราะบาปกรรมที่ไปกลั่นแกล้งพระที่ไม่ได้ทำผิด เรื่องนี้ผมไม่อาจยืนยันได้เพราะเหนือวิสัย

แต่ใครเป็นศาสนิกหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่ชอบเข้าวัดทำบุญก็น่าจะสำเหนียกไว้บ้าง ในเมื่อเชื่อเรื่องอะไรพวกนี้อยู่แล้ว

น่าเศร้าที่สถานการณ์ของคณะสงฆ์ไทยทุกวันนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปจากสมัยพระพิมลธรรมนัก

ปัจจุบันองค์กรสงฆ์อย่างมหาเถรสมาคมกลายเป็นตราประทับ เพื่อจะจัดการกับพระที่ต่อต้านแข็งข้อ โดยมีเครื่องมือคือตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย เช่น กฎหมายว่าด้วยการแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ กฎมหาเถรสมาคมที่ห้ามพระยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น

 

ผมอยากจะเล่าเรื่องใกล้ตัวไว้นิดหนึ่งว่า อาจารย์ของคุณพ่อของผมคือท่านพระครูปัญญาวิมล (โชติ วิมโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมเจริญธรรม (วัดป่าช้า) ที่ระนอง ด้วยความรักในการศึกษา ท่านจึงสร้างสำนักเรียนให้พระ-เณรและเด็กๆ ขึ้นในวัด คุณพ่อผมก็ได้เข้าไปเป็นเด็กวัดเรียนหนังสือกับเขาด้วย

ทว่าจากเหตุนั้นเอง ท่านจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างไร้เหตุผล แม้ท่านจะไม่ต้องถูกบังคับจับสึกอย่างพระพิมลธรรม แต่สุดท้ายก็ต้องปิดสำนักเรียนนั้นไปอย่างน่าเสียดาย

ผมคิดว่า นอกจากการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ผมเห็นว่าบรรดากฎหมายที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์หลายมาตราก็ควรถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงด้วย กฎหมายเหล่านี้ส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงรัฐเผด็จการ ซึ่งสะท้อนความพยายามที่จะเข้ามาควบคุมศาสนาอย่างใกล้ชิด

เผด็จการอยู่ได้ด้วยเสาค้ำยันหลายต้น ต้นหนึ่งคือองค์กรศาสนาซึ่งมีอำนาจทางวัฒนธรรมสูง จึงไม่แปลกที่เผด็จการจะพยายามแสดงตนว่าพิทักษ์รักษาพุทธศาสนา หรืออย่างน้อยต้องตระเวนไปกราบพระผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง โดยพระเหล่านั้นก็ไม่ได้รังเกียจแต่กลับแสดงอาการต้อนรับอย่างหน้าชื่นตาบาน ในขณะเดียวกันเผด็จการก็จะพยายามกำจัดพระที่เป็นเสี้ยนหนามไปด้วย

ที่เมียนมาเพื่อนบ้านของเราก็มีเหตุการณ์เช่นนี้ เมื่อเผด็จการจับกุมกลุ่มพระมหาเถระที่ออกหนังสือประณามรัฐบาล แต่ตัวผู้นำกลับออกเดินสายทำบุญกับพระที่สนับสนุนตัวเอง เชิดชูยกย่องให้สมณศักดิ์

ชาวพุทธเห็นแล้วควรบอยคอตพระพวกนี้นะครับ พวกพระเลียเผด็จการ พวกพระอำนาจนิยม อย่าไปใส่บาตร อย่าไปทำบุญ พระด้วยกันเองก็ควรทำด้วย อย่างน้อยๆ ก็หลีกไปให้ห่าง อย่าไปสมาคมหรือกราบไหว้

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า พระพุทธะไม่ได้ฝากศาสนาไว้กับมหาเถรสมาคม พระเถระ หรือผู้มีอำนาจคนไหน

แต่ฝากไว้กับพุทธบริษัท

คือชาวพุทธทุกคน