ผี พราหมณ์ พุทธ : รู้จัก’โมรารีบาปู’ คุณพ่อผู้ใจดีของ sex worker และ transgender ในอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

รู้จัก ‘โมรารีบาปู’

คุณพ่อผู้ใจดี

ของ sex worker และ transgender ในอินเดีย

 

ราวเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2554 ผมได้รับโทรศัพท์จากครูพราหมณ์ของผมคือท่านอาจารย์บัณฑิตลลิต โมหัน วยาส ท่านบอกให้ผมมาทำหน้าที่รับรองแขกผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจากอินเดียที่มายังกรุงเทพฯ

โดยแขกท่านนั้นจะไปวัดพระแก้ว เพราะท่านสนใจเรื่องรามเกียรติ์

ท่านเห็นว่าผมพอรู้เรื่องไทยๆ แขกๆ บ้างจึงควรไปนำชม

ผมปฏิเสธท่านไปในครั้งแรกเพราะตรงกับเวลาสอนหนังสือพอดี

แต่ครูท่านยืนยันหนักแน่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ว่านี่เป็นโอกาสที่หาได้ยาก เพราะแขกท่านนี้เป็นนักบุญที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง คือท่านโมรารีบาปู (Morari Bapu)

ผมได้ยินอย่างนั้น แม้ว่าจะไม่รู้จักบุคคลดังกล่าวเลย แต่ก็รับปากทันทีเพราะรู้สึกประหลาดใจในการยืนยันหนักแน่นของครู

 

ถึงวันนัดหมาย คุณสถิตย์ กุมาร กรรมการสมาคมฮินดูสมาชไปรอรับบาปูที่หน้าวัดพระแก้วกับผม ไม่นานนักชายสูงวัย ผมสีดอกเลาเกรียนสั้น สวมชุดขาวนุ่งโจงอย่างคนอินเดีย พาดผ้าดำ ลงจากรถตู้พร้อมผู้ติดตามกลุ่มหนึ่ง

คุณสถิตย์ก้มกราบ ผมจึงก้มกราบสัมผัสเท้าท่านตามประเพณีอินเดีย

เมื่อแนะนำตัวกันแล้ว ท่านจึงเข้าไปชมระเบียงคดรอบวัดพระแก้ว ผมก็ได้อธิบายงูๆ ปลาๆ ไปตามประสา

เมื่อสมควรแก่เวลา ท่านต้องเดินทางไปเทศน์ยังวัดเทพมณเฑียรต่อ จำได้ว่ามีการเปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถผูกผ้าประดับพร้อมรถตามขบวนอีกมาก ทำเอาผมตกใจเล็กๆ ทว่าท่านก็ยังเมตตาเปิดกระจกรถมาถามผมว่า “คุณหริทาส (ชื่ออินเดียของผม) ไปเทพมณเฑียรด้วยใช่ไหม”

ผมแอบปลื้มใจที่ท่านจำชื่อผมได้แม้จะเจอกันแป๊บเดียว และบอกท่านว่าจะไปเองด้วยรถแท็กซี่

 

เมื่อถึงเทพมณเฑียร ภาพที่ผมไม่เคยเห็น ทำให้ผมยิ่งตกใจเข้าไปอีก

ท่านอาจารย์ลลิตซึ่งฮินดูชนในประเทศนี้ต่างเคารพ ยืนเท้าเปล่ารออยู่บนลานจอดรถ เมื่อโมรารีบาปูมาถึง ท่านอาจารย์ก้มลงไปกราบแทบเท้าบนพื้นลานสกปรกนั่นทันที โดยไม่รอให้โมรารีบาปูขึ้นไปบนอาคารก่อน

วันนั้นเทพมณเฑียรคึกคักผิดหูผิดตา ผู้คนมารอฟังเทศน์กันมากแม้จะเป็นวันธรรมดา

โมรารีบาปูเทศน์เสร็จก็ลงจากแท่นแล้วเดินทางต่อไปยังเชียงใหม่ทันที

ภาพชวนทึ่งก็เกิดขึ้นอีกครั้ง บรรดาผู้คนที่มาชุมนุม แม้ไม่ได้ก้มลงสัมผัสเท้าโมรารีบาปู เพราะท่านออกไปแล้ว (และผู้ดูแลคงต้องระวังเรื่องความปลอดภัย) ก็กรูกันเข้าไปใช้มือสัมผัสอาสนะที่ท่านเพิ่งนั่งไปหมาดๆ แล้วยกขึ้นลูบศีรษะ

ใบหน้าปีติเหมือนได้กราบเท้าของท่านเองอย่างนั้น

ผมจึงต้องกลับมาค้นหาว่า โมรารีบาปูเป็นใครมาจากไหน ทำไมครูของผมและผู้คนถึงได้เคารพกันถึงปานนี้ อาจารย์ลลิตถึงกับออกชื่อท่านว่าเป็น “นักบุญ” (saint) ด้วยซ้ำ แต่ผมนี่กลับไม่รู้อะไรเลย

รูปถ่ายสักใบก็ไม่ได้ถ่ายไว้

 

ถึงจะเล่าประสบการณ์ตัวเองอย่างออกจะอวดโอ่อยู่สักหน่อย ขอท่านผู้อ่านอย่าได้หมั่นไส้ สมัยนั้นผมเป็นเพียงจวักไม่รู้รสแกง กว่าจะรู้ว่าท่านทำสิ่งใดเป็นใครก็ล่วงมาหลายปี กระนั้นก็ยังแอบภูมิใจลึกๆ ว่าได้เคยเจอบุคคลสำคัญคนหนึ่ง

นอกจากนั้นแล้ว ที่เกริ่นมายืดยาวก็เพื่อจะขอโอกาสแนะนำโมรารีบาปูกับท่านผู้อ่านครับ

เพราะความน่าสนใจไม่ใช่เพียงชื่อเสียงหรือความศักดิ์สิทธิ์

ท่านเป็นฆราวาสธรรมดาๆ เป็นคุณพ่อของลูกชายหนึ่งคนและลูกสาวสามคน เคยมีอาชีพครู ปัจจุบันเป็น “กถากร” (นักเล่ากถาหรือรามายณะ)

ทว่าท่านทำในสิ่งที่พิเศษ เช่น การให้ความสำคัญกับแรงงานทางเพศ (sex worker) และคนข้ามเพศ (transgender) ในอินเดีย

โมรารีบาปู หรือคุณพ่อโมรารี (บาปูในภาษาฮินดีแปลว่าคุณพ่อ) เป็นชาวคุชราต เกิดในปี 2489

“โมรารี” เป็นนามหนึ่งของพระกฤษณะ ชื่อเต็มๆ ของท่านคือ โมรารีทาส ปรภูทาส หริยานี (Moraridas Prabhudas Hariyani)

ในประเพณีของครอบครัวที่นับถือไวษณพนิกายฝ่ายนิมพารกะ เด็กชายจะถูกเรียกว่าคุณพ่อหรือบาปูตั้งแต่อายุน้อย

วัยเด็กท่านถูกเลี้ยงดูโดยคุณย่า เมื่อมีผู้ถามว่าทำไมท่านมักพาดผ้าสีดำ ท่านตอบว่ามันไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษ เพียงแต่เป็นสีของส่าหรีที่คุณย่าชอบสวมใส่ และท่านก็มักนอนหลับบนตักของคุณย่าเสมอ

คุณปู่ของโมรารีบาปูเป็นนักเทศน์รามายณะที่มีชื่อเสียงและเป็นคุรุคนแรกของท่าน ได้ฝึกฝนให้โมรารีบาปูท่องจำคัมภีร์รามายณะฉบับของท่านตุลสีทาส (รามจริตมานัส) ระหว่างเดินไปโรงเรียน

จนท่านสามารถจดจำได้ทั้งเล่มตั้งแต่อายุสิบสองปี

 

เมื่อเรียนจบ ท่านทำอาชีพครู แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นนักเทศน์รามายณะในพิธีต่างๆ ตั้งแต่อายุได้ยี่สิบปี

การเทศน์สอนรามายณะของอินเดียนั้น ไม่เพียงแต่ต้องจำเนื้อเรื่อง แต่ต้องตีความ อธิบาย รวมทั้งต้องมีความสามารถในการร้องเล่น เพื่อให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ

นอกจากนี้ ยังต้องมีลีลาและกลเม็ดต่างๆ อีกมากเพื่อให้เกิดความสนุกสนานชวนติดตาม

การเทศน์รามายณะครั้งหนึ่งใช้เวลานานหลายวัน ท่านเองเดินทางไปเทศน์รามายณะทั่วโลกซึ่งจัดโดยชุมชนชาวอินเดียมากว่าห้าสิบปี

โมรารีบาปูมีหลักคิดว่า ท่านเองควรเทศน์รามายณะเพื่อสร้างความสุข ให้กำลังใจและคติธรรมแก่คนชายขอบทั้งหลายของสังคม

เช่นเดียวกันกับที่พระรามมักให้ความสำคัญกับคนชายขอบอย่างนางศพรีหรือนิษาท (คนป่า)

การเทศน์รามายะของโมรารีบาปู มักมีการตั้ง “ธีม” ในรอบการเทศน์นั้นๆ เพื่อแสดงจุดเน้นของคำสอน แสดงความสำคัญของสถานที่หรือกลุ่มผู้ฟัง

เช่น “มานัส มหาตมา” ซึ่งเทศน์ที่เมืองทานทิอันเป็นที่แรกที่มหาตมะ คานธีเริ่มต้นประท้วงกฎหมายเกลือ, “มานัส ชานกี” เน้นความสำคัญของสีดา เป็นต้น

มานัสในที่นี้หมายถึงรามจริตมานัส หรือ “ทะเลสาบ” แห่งเรื่องราวของพระราม

คติของโมรารีบาปูคือ “สัตยัม เปรม กรุณา” หมายถึง “ความจริง ความรักและความกรุณา” ท่านคิดว่า การเทศน์สอนหรือกถาควรจะต้องสื่อถึงสามสิ่งนี้

 

แม้จะเป็นผู้นำทางศาสนา แต่โมรารีบาปูก็ทำงานด้านการสังคมสงเคราะห์ด้วย เช่น การจัดตั้งกองทุนสำหรับเด็กและสตรี การช่วยเหลือเมื่อเกิดทุพภิกขภัย การยกระดับชีวิตผู้คนในมิติต่างๆ ลักษณะความคิดที่ก้าวหน้าทำให้ผู้นำทางศาสนาฝ่ายอนุรักษนิยมหรือชาตินิยมไม่ค่อยชอบโมรารีบาปูสักเท่าใด

ความคิดก้าวหน้าบางเรื่องเป็นอะไรเล็กๆ แต่น่าสนใจ เช่น การปลดอาวุธของเทวรูปพระรามในอาศรมของท่านดังที่ผมได้เคยเล่าไว้ในสัปดาห์ก่อนไงครับ

ในเดือนธันวาคม ปี 2561 โมรารีบาปูสร้างความฮือฮาในประเทศอินเดีย โดยเป็นผู้นำทางศาสนาคนแรกที่ไปยัง “กามติปุระ” ย่านค้าบริการทางเพศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองมุมไบ เพื่อเยี่ยมครอบครัวของแรงงานทางเพศ (sex worker) และเชิญชวนให้พวกเขาเดินทางไปยังเมืองอโยธยา

โดยโมรารีบาปูจะจัดเทศน์สำหรับคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษและออกค่าใช้จ่ายให้ ใช้ธีมว่า “มานัส คณิกา” ในปลายเดือนนั้นเอง

ท่านให้สัมภาษณ์ว่า รามจริตมานัสกล่าวถึงคนกลุ่มนี้ โดยมีตำนานเล่าว่า โคสวามีตุลสีทาสผู้ประพันธ์รามจริตมานัสได้รับการร้องขอจากนางคณิกาผู้หนึ่งให้มาเทศน์รามายณะในบ้านของนาง ซึ่งคนอื่นรังเกียจ โคสวามีก็ไปโดยยินดี ท่านจึงควรดำเนินรอยตาม

อีกทั้งการจัดงานเพื่อให้คนเหล่านี้ไปยัง “เมืองศักดิ์สิทธิ์” เพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ว่าใครก็เข้าถึงเมืองของพระเจ้าได้ทั้งนั้น และทุกคนมีศักดิ์ศรี ทุกคนเท่ากันต่อหน้าพระเจ้า แม้ว่าแต่เดิมคนเหล่านี้จะถูกตีตราว่าทำผิดศีลธรรม โดยเฉพาะจากฝ่ายศาสนา

 

ก่อนหน้านั้น ในปี 2559 ท่านได้จัดเทศน์รามายณะเพื่อคนข้ามเพศโดยเฉพาะ มีธีมว่า “มานัส กินนร”

คำว่ากินนรในความหมายของบ้านเราแปลว่า อมนุษย์ประเภทหนึ่งในป่าหิมพานต์

แต่คำนี้ยังแปลตามตัวในภาษาสันสกฤตด้วยว่า “นี่คนอะไร?” (กิน – อะไร, นร – คน) อันอาจหมายถึง บุคคลที่มีความน่าพิศวงน่าประหลาดใจ

ในบริบทของอินเดียมักใช้เรียกคนข้ามเพศด้วยคำนี้ครับหากไม่ต้องการเรียกด้วยคำภาษาอื่นๆ เช่น ฮิจรา และเพื่อสร้างความหมายใหม่ในทางศาสนาว่า สิ่งนี้มีมานานแล้ว ไม่ใช่ของประหลาดผิดแปลก

งานในครั้งนั้น ท่านลักษมีนารายณ์ ตริปาทิ คุรุทางจิตวิญญาณผู้เป็นบุคคลข้ามเพศและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศของอินเดียได้เข้าร่วม

และกล่าวว่า ไม่มีผู้นำทางศาสนาคนไหนที่จะจัดกิจกรรมเพื่อชุมชนแบบนี้แล้ว และขอแสดงความซาบซึ้งต่อโมรารีบาปู

ต้องบอกว่า สถานภาพของคนข้ามเพศและแรงงานทางเพศในอินเดียค่อนข้างแย่ และประเด็นเหล่านี้ผู้นำทางศาสนามักไม่ค่อยอยากกล่าวถึง การที่โมรารีบาปู ซึ่งเป็นคุรุตามประเพณีให้ความสนใจจึงเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมอินเดีย

 

ปัจจุบันโมรารีบาปูยังคงเทศน์สอนรามจริตมานัสอยู่แม้จะอายุมากแล้ว

ที่จริงมีบางประเด็นที่เราอาจตั้งคำถามกับโมรารีบาปู เช่น การสนับสนุนการสร้างเทวสถานของพระรามใหม่ในเมืองอโยธยาหรือการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีโมที

กระนั้น ผมคิดว่าอันนั้นก็เป็นอีกส่วนที่เราคงต้องพิจารณาอย่างละเอียดต่อไป

แต่คุณูปการของโมรารีบาปูโดยเฉพาะส่วนการให้พื้นที่กับคนชายขอบทั้งหลายก็เป็นเรื่องควรยกย่อง

อย่างน้อยที่สุด โมรารีบาปูก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นำทางศาสนาควรที่จะสนใจประเด็นของสังคม การเมือง เพศ ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ

กล่าวคือ ความทุกข์ของสังคมที่ตัวเองอาศัยอยู่

หากมิสนใจสิ่งเหล่านี้

ก็อาจสอนแต่สิ่งพ้นสมัย