ฉัตรสุมาลย์ : UN วิสาขะที่ศรีลังกา (1)

ต้องขอบคุณศรีลังกาที่เป็นตัวแทนชาวพุทธเสนอให้งานวิสาขะเป็นงานที่สหประชาชาติยอมรับ

UN วิสาขะจัดที่ประเทศไทยภายใต้การจัดการของมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยท่านเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิต จัดต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี เราก็เฝ้ามองอย่างคนนอกมาโดยตลอด

ด้วยความรู้สึกว่าเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น

ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสโดยตรงจึงพูดอะไรไม่ได้

คราวนี้ จดหมายนิมนต์ท่านภิกษุณีธัมมนันทาครั้งแรก โดยผู้ลงนามจดหมายเชิญทางฝ่ายไทยเป็นท่านเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิต ประธานผู้จัดงาน วิสาขะโลก ท่านใส่หมวกหลายใบ มีหลายตำแหน่ง

สำหรับที่ประเทศไทยเราจะคุ้นว่าท่านเป็นอธิการบดีของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นพระนักวิชาการที่เป็นหลักให้คณะสงฆ์ไทยในแวดวงนักวิชาการนานาชาติ

และที่ลงนามคู่กันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพุทธศาสนาของศรีลังกา

จดหมายเชิญมาวันที่ 24 เมษายน และหมดกำหนดรับวันที่ 25 เมษายน ทุกอย่างต้องลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตทั้งสิ้น จดหมายเชิญจะมีเลขที่กำกับ ของท่านธัมมนันทา หมายเลข B266-00

เพราะไม่เคยได้รับเชิญมาก่อนตั้งแต่เป็นภิกษุณี ท่านธัมมนันทามีความตั้งใจที่จะไปร่วมงานนี้มาก ทั้งที่ไม่มีหน้าที่อื่น ไม่ได้เสนอบทความ ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินรายการ

เรียกว่าไปสบายๆ จริงๆ

 

ตอนที่ออกเดินทางจากประเทศไทย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปพักที่ไหน เพราะขาดข้อมูล

เมื่อไปถึงสนามบินที่โคลอมโบ ก็เดินตามพระคุณเจ้า ที่เป็นพระอาจารย์จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไป ถูกแยกตัวออกไปรวมพลอยู่ด้านหนึ่ง และเพราะเป็นแขกของรัฐบาล ไม่ต้องผ่านด่านตรวจกระเป๋า

ตรงนี้ เรานั่งรออยู่สักชั่วโมงได้ เข้าใจว่า เขาตรวจสอบว่า ใครจะไปโรงแรมอะไร แขกชั้นหนึ่ง ก็ไปโรงแรมฮิลตัน แขกชั้นรอง ก็ไปโรงแรมซินนามอน

แขกที่เพิ่งมา เช่นท่านธัมมนันทาไม่รู้ว่าจะไปไหน พระไทยมีคนดูแลของ มจร ท่านธัมมนันทาเอาพาสปอร์ตเข้าไปยื่น เขาว่า เขาดูแลเฉพาะพระของ มจร ก็เลยกลับไปนั่งรอต่อ

จนเขาขึ้นรถกันหมดแล้ว ก็ยังไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง ก็เลยเดินตามกลุ่มพระไทยไปขึ้นรถบัส คราวนี้ เขาไปจอดที่หน้าโรงแรมใหม่ซิงๆ ชื่อมูเวนพิก (สวิตเซอร์แลนด์) ทุกคนรู้ว่าอยู่โรงแรมนั้น พระไทยลงหมด เราก็ลงไปยืนเก้ๆ กังๆ

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพุทธศาสนาก็โทรศัพท์ตามหาลิสต์รายชื่อ ที่อยู่ที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ให้เช็กดูว่า ชื่อท่านธัมมนันทานั้นเขาให้พักที่ไหน

ยืนตากแดดอยู่ครึ่งชั่วโมง เป็นอันว่า เข้าไปถามที่โรงแรมมูเวนพิกนั่นแหละ

การประสานงานไม่ดีค่ะ ไม่มีใครมีรายชื่อของแขกที่เข้ามาพักเลย เอาไปถือไว้ที่คนเดียว ท่านธัมมนันทาหันไปกำชับลูกศิษย์ของท่านว่า ระวังว่า เวลาที่เราจัดงานเอง เราจะให้อาสาสมัครทุกคนมีรายชื่อของแขกที่เข้ามาทุกท่านสามารถเช็กได้ทันที

ในท้ายที่สุดก็อยู่โรงแรมสัญชาติสวิส เป็นโรงแรมใหม่ 4 ดาว เพิ่งเปิดมาได้ 8 เดือน ห้องเตียงเดี่ยวสองเตียง การจัดวางแปลนในห้องต้องบอกว่าได้ 5 ดาว ที่ยังถูกจัดระดับ 4 ดาว อาจจะเป็นพื้นที่ชั้นล่างน้อยไป

เราอยู่ชั้น 15 มองออกไปเห็นแสงสีเสียงชัดเจน เพราะเป็นโรงแรมที่อยู่ใกล้วัดคงคารามที่เป็นศูนย์รวมกิจกรรมฉลองวันวิสาขะ

 

วันงานจริงๆ เริ่มวันที่ 12 พฤษภาคม จัดงานที่หอประชุมแห่งชาติ บันดราไนยเก ที่จีนมาลงทุนให้ เรียกเต็มๆ ว่า Bandaranayake Memorium International Convention Hall (BMICH)

เนื่องจากนักการเมืองระดับชาติและแขกเมืองจะมาเป็นประธาน เพราะฉะนั้น ทางการจึงเข้มงวดเรื่องความปลอดภัย ผู้ที่มาในงานที่ไม่มีหน้าที่ ถูกกันขึ้นไปชั้นบน

ท่านธัมมนันทาก็ไม่มีหน้าที่อะไร ก็ขึ้นไปสถิตชั้นบนเหมือนกัน ที่นั่งที่เตรียมให้พระภิกษุฝ่ายเถรวาทจะเห็นชัดว่า มีผ้าขาวคลุม ท่านธัมมนันทาถูกนำไปนั่งที่เก้าอี้ที่ไม่มีผ้าขาวคลุม ร่วมกับพระอื่นๆ เช่น พระจีน และแม้พระเถรวาทต่างชาติ

ที่นั่งชั้นล่าง เป็น 5 บล๊อก บล๊อกละ 6 ที่นั่ง บล๊อกตรงกลางเตรียมสำหรับนักการเมือง สองบล๊อกถัดออกมาเป็นพระภิกษุสงฆ์ สองบล๊อกถัดออกไปเป็นฆราวาส

เรานั่งรอนานมาก อาศัยดูความเคลื่อนไหวด้านหน้าอาคารจากการถ่ายทอดสดบนจอขนาดใหญ่ ที่อยู่บนเวที นายกรัฐมนตรีของศรีลังกามาถึง ตามมาด้วยประธานาธิบดีของศรีลังกา และแขกผู้มีเกียรติ

ที่สำคัญที่สุดในงาน คือท่านนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ นเรนทร โมดี ที่ผู้เขียนตั้งตารอ

อย่าว่าอะไรเลยนะคะ คนอยู่อินเดียนานก็ย่อมเชียร์คนอินเดียเป็นธรรมดา แต่ท่านนายกฯ ท่านนี้ ท่านมีผลงานเข้าตาผู้เขียนจริงๆ จากที่ได้ติดตามพัฒนาการของประเทศอินเดียต่อเนื่องกันมา 50 ปี

ช่วงที่ท่านปกครองประเทศ เราเห็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมที่สุด

 

ท่านนายกรัฐมนตรีศรีลังกาพูดภาษาอังกฤษ ท่านประธานาธิบดีพูดสิงหล แล้วไม่มีแปล เลยหลับกันหลายคน แล้วมาตื่นอีกทีตอนท่านนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ โมดีพูด เช่นเคยไม่ผิดหวังค่ะ ที่ได้ยินเสียงปรบมือ ก็ตอนที่ท่านให้ข้อมูลว่า เปิดเส้นทางการบินระหว่างโคลอมโบกับพาราณสี

ตอนที่ท่านประธานาธิบดีศรีลังกาไปเปิดมหาวิทยาลัยสาญจีที่อินเดีย ก็มีการประกาศแบบเดียวกัน คราวนั้น เปิดเส้นทางการบินระหว่างโคลอมโบกับสาญจีค่ะ ในภาคปฏิบัติไม่ทราบว่าเป็นจริงแค่ไหน เมื่อเปิดเส้นทางแล้ว ถ้าไม่มีลูกค้า สายการบินก็อยู่ไม่ได้เหมือนกันนะ

บนเวทีมีการเปิดตัวหนังสือ ที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิตเป็นเจ้าของเรื่อง น่าจะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยนะ เรียกว่า Common Buddhist Text คัมภีร์ร่วมทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ฟังแว่วว่า เป็นการรวบรวม 240 พระสูตรของทั้งสามนิกายค่ะ ญาปู่ที่มหาสารคามลุ้นให้ท่านธัมมนันทาแปลเป็นไทยเพื่อพระไทยจะได้อ่านได้

คิดว่า ถ้าเรารู้พระสูตรเหล่านั้น เราก็น่าจะอ่านตามได้ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยที่เรามีอยู่แล้ว

 

มีช็อตเล็กๆ ที่อยากเล่า เป็นตอนที่ฉันเพลค่ะ

ห้องที่เตรียมไว้ให้พระอยู่ในอาคารเดียวกัน เป็นโต๊ะกลม แต่ละโต๊ะ 8 ที่นั่ง อาหารแบบศรีลังกาอย่างดี

ท่านธัมมนันทาไปนั่งโต๊ะกับพระจีนที่ท่านรู้จักมาก่อน โต๊ะนั้นมีหลายชาติ มีทั้งญี่ปุ่น จีน ศรีลังกา มีถ้วยสแตนเลสสำหรับล้างมือ (finger bowl) วางอยู่ด้านขวา รู้ตัวเลยว่าต้องฉันด้วยมือ สบายมาก สงสารก็แต่พระจีนกับพระญี่ปุ่นนั่นแหละ

วันที่สอง เจ้าภาพแก้ไข มีช้อนส้อมเตรียมให้ค่ะ แต่วันแรกตัวใครตัวมัน อย่าไปมองท่านก็แล้วกัน

ตอนบ่าย กลับมาที่ห้องประชุมแห่งเดิม คราวนี้ นั่งตรงไหนก็ได้ ไม่จำกัด คนหายไปเกือบครึ่ง ท่านธัมมนันทาลงมานั่งข้างล่าง ที่ดีคือ ไม่ต้องปีนบันไดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งเท่านั้นเอง

รายการตอนบ่าย ก็ได้พักผ่อนอีก พระสงฆ์ชั้นผู้นำของประเทศ 9 ประเทศ กล่าวคำปราศรัย ฟังออกบ้างไม่ออกบ้างก็ไม่ว่ากัน

ท่านเจ้าคุณชาวไทยอ่านสาส์นจากสมเด็จพระสังฆราชจากประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษ สังฆราชลาวพูดภาษาลาว ไม่มีแปล สังฆราชบังกลาเทศเก่ง พูดเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีคนรู้เรื่องว่าท่านพูดอะไร แม้ท่านธรรมรัตนะ (ศรีลังกา) ที่เป็นพิธีกร ก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง

ดีที่สุดของวันนั้น คือ ปาฐกถานำ (keynote address) ของศาสตราจารย์แลงคาสเตอร์ เรียกว่า คุ้มค่าที่นั่งรอจริงๆ นอกเหนือจากเนื้อหาที่กินใจแล้ว อาจารย์แลงคาสเตอร์มีทีท่าที่สุขุมลุ่มลึก สมกับที่เป็นชาวพุทธที่ได้ปฏิบัติมาจนธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าไปในจิตใจของท่าน และเปล่งประกายออกมาทั้งท่าทางและคำพูด

และแน่นอน ความคิดประเสริฐสุด

 

เรามีเวลากลับไปโรงแรมเพื่อพักผ่อนเล็กน้อย ก่อนที่จะเป็นเวลาที่เจ้าภาพพาเราไปสัมผัสบรรยากาศวิสาขะในเมือง

รถบัสที่บริการคณะพระสงฆ์ไทยและเขมร เลขที่ 1011 จำไว้เพื่อจะได้ไม่ขึ้นรถผิดคัน ท่านธัมมนันทาถือคติเดินตามหลังพระภิกษุปลอดภัยที่สุด ปรากฏว่า บ่ายวันที่สองท่านไม่ค่อยมากัน เลยต้องไปเดินตามหลังพระภิกษุเขมร

เราประชุมพลกันอีกทีตอนพลบค่ำที่ล็อบบี้ของโรงแรม ทั้งนี้เพราะการแสดงแสงสีเสียงในช่วงที่ชาวศรีลังกาฉลองวันวิสาขะนี้เริ่มต้นในช่วงกลางคืน

คราวนี้ เราจะไปชมแสงสีเสียงการแสดงที่บริเวณรอบๆ รัฐสภา

โคลอมโบ เมืองหลวงที่อังกฤษย้ายมาจากแคนดีนั้น บัดนี้เริ่มแออัดและคับแคบ รัฐบาลจึงเริ่มขยับขยาย ย้ายเอากระทรวงทบวงกรมต่างๆ ออกไปที่เมืองคอตเต ซึ่งอยู่ทางใต้ของโคลอมโบ ตัวอาคารรัฐสภาเองก็เช่นกัน ตั้งอยู่กลางแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่โดยรอบเป็นพื้นที่ที่ทางการให้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงแสงสีเสียงเพื่อฉลองงานวิสาขะ งานวิสาขะน่าจะเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีของโคลอมโบ

งานใหญ่อีกงานหนึ่งของศรีลังกา คือ ขบวนฉลองพระเขี้ยวแก้ว แต่งานนั้น อยู่ที่เมืองแคนดีค่ะ

ทันทีที่รถเลี้ยวเข้าไปจอด นอกจากไฟที่ประดับจากการแสดงในงานแล้ว ไม่มีไฟถนน ผู้ที่ลงไปชมงานนิทรรศการ เจ้าหน้าที่เตือนว่าให้เดินเกาะกลุ่มกันไปในความมืด ท่านธัมมนันทาเห็นสถานการณ์แล้ว เลือกที่จะรออยู่บนรถ

เป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะไม่ช้าฝนเริ่มโปรยลงมา ไม่มีใครเตรียมร่มมา พักใหญ่หลวงพี่ท่านเริ่มทยอยกลับมาที่รถ เปียกพอพรมน้ำมนต์ ร้านรวงที่มาร่วมนั้น จะมีเต็นท์อาหารเครื่องดื่มไว้ต้อนรับ เรียกว่า ทานศาล หรือทานศาลา พอเดินดูไฟเหนื่อยแล้วก็หลบเข้าไปหาเครื่องดื่ม และอาหารได้ ไม่เลือกยากดีมีจน เพราะไม่มีอาหารขายค่ะ มีแต่อาหารฟรี

น่าจะมาจัดที่เมืองไทยนะ

คนที่มาตั้งโรงทานก็หวังเอาบุญอย่างเดียว เห็นเต็นท์ที่อยู่ข้างโรงแรมแจกไอศกรีมโคน แน่นมากทุกเย็น

งานแสดงแสงสีเสียง เล่าเรื่องพุทธประวัติ และชาดก บางแห่งอยู่ตรงสี่แยก จะเล่าชาดกด้วย ภาพและไฟสวยงามมาก เรื่องราวในชาดก จะหมุนเลื่อนไปได้เป็นวงกลม ทำให้เด็กๆ ติดตามเรื่องราวได้อย่างดี

ยังไม่จบค่ะ ขอต่ออาทิตย์หน้านะคะ