ผี พราหมณ์ พุทธ : นรกภูมิบนแผ่นดินโลก / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

นรกภูมิบนแผ่นดินโลก

 

สมัยหนึ่งผมเคยเดินทางไปยังแคว้นอันธรประเทศในอินเดีย ไปไหว้พระ “เวงกเฏศ” หรือที่เรามักเรียกกันอย่างลำลองว่าพาลชี (อ่านว่าบาละยี) เป็นเทวสถานของพระวิษณุบนเขาติรุมาลาหรือศรีบรรพตที่มีผู้ศรัทธานับถือมากที่สุดในอินเดีย

ด้วยความวิจิตรอลังการของตัวอาคารและความศรัทธาของผู้คนต่อองค์เทพ ถึงกับมีการเรียกเทวสถานนั้นว่า “ภูโลกไวกูณฑ์” หรือสวรรค์ของพระวิษณุ (ไวกูณฑ์) บนแผ่นดินโลก (ภูโลก)

กระนั้น แม้เมื่อไปได้เยือนสวรรค์ของพระองค์ (ซึ่งมีคิวรอเข้ายาวมาก) ได้ไม่นานนัก เราก็ต้องกลับมายังโลกมนุษย์ขี้เหม็นกันอยู่ดี

ภาพราวกับอยู่ในฝันนั้นมลายหายไปพร้อมกับปัญหาสารพันที่เราเจอตามปกติ

บนนั้นถูกเรียกว่าสวรรค์ หากนิยามโดยความเชื่อ ศาสนิกก็เชื่อว่าเทวรูปพระวิษณุบนติรุมาลาเป็นพระเจ้าสำแดงลงมาเองไม่มีใครสร้าง การที่พระเป็นเจ้าอยู่บนนั้นก็ควรนับว่าเป็นสวรรค์ของพระองค์ได้

นอกนั้นยังมีสิ่งแสดงถึงภาพลักษณ์แห่งสวรรค์อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า พระวิมานทองคำ สระน้ำบารายอันงดงาม กลิ่นหอมหวนของธูปเทียน เสียงดนตรีประโคมอันไพเราะ ฯลฯ

ทว่าทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น เพื่อจะสอดรับกับภาพสวรรค์หรือพระนิเวศของพระเจ้าในใจของตนเอง

 

ในกรณีอื่นๆ ความพยายามสร้างสวรรค์บนแผ่นดิน อาจมีทั้งแง่มุมที่งดงาม หากสวรรค์อันนั้นคือการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกในจินตนาการที่มีเมตตานำ แต่มันเองก็อาจเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย หากสวรรค์นั้นเป็นเพียงสวรรค์ของใครบางคนหรือบางกลุ่ม หรือเป็นสิ่งสำแดงความทะเยอทะยานผ่านวัตถุ แลกมาด้วยเลือดเนื้อแรงงาน มันก็จะกลายเป็นนรกของคนอีกมากมาย

ผมคิดว่าเราคงเคยได้ยินได้ฟังเรื่องนรก-สวรรค์กันมามากต่อมาก ทั้งจากนิทานปรัมปราหรือบทเทศน์ในศาสนา เรื่องนรก-สวรรค์ดูจะเป็นที่ถกเถียงและเสื่อมมนตร์ขลังลงเรื่อยๆ

หากไม่เชื่อลองเข้ากลุ่มเกี่ยวกับศาสนาในเฟซบุ๊กดูครับ เขาเถียงกันสนุกเชียว

นรก-สวรรค์เสื่อมความหมายเพราะนอกจากการท้าทายจากระบบคิดแบบวิทยาศาสตร์กายภาพแล้ว ดูเหมือนว่ามันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางศีลธรรมในการกำกับพฤติกรรมของผู้คนในสังคมมายาวนาน

แรงจูงใจเพื่อจะไปเกิดในสวรรค์และกลัวที่จะตกนรก ออกจะแปลกประหลาดในสายตาคนสมัยใหม่

เพราะนอกจากมันจะพิสูจน์ไม่ได้ทางประสาทสัมผัสแล้ว

สุดท้ายยังถูกนำไปใช้ขายบุญกุศล เอาสวรรค์มาล่อ หรือทำให้สยดสยองน่ากลัวเกินจริง

ทั้งๆ ที่ศาสนาควรจะชี้แจงว่า ศีลธรรมทางศาสนาที่เราควรยึดถือนั้น นำมาซึ่งประโยชน์อย่างไรต่อตนเองและผู้อื่นใน “ชาตินี้” ในสังคมนี้

แต่ในเมื่อมันยังเป็นคำสอนทางศาสนา นักการศาสนาหลายท่านจึงพยายามที่จะตีความคำสอนเรื่องนรก-สวรรค์เสียใหม่

เช่น ทำให้ไม่ได้เป็นเรื่องหลังความตายหรือเรื่องภพชาติหน้า แต่เป็นเรื่องของจิตใจในปัจจุบันชาติ

ที่ผมปรารภเรื่องนี้ ก็เพราะว่าได้มาสังเกตจิตใจและสภาพชีวิตอันปรากฏอยู่ ณ ปัจจุบันของตน จู่ๆ คำว่า “นรก” มันปรากฏขึ้นมาครับ ยิ่งได้เสพข่าวเสพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่ว่าการสลายการชุมนุม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน ข่าวการบริหารของรัฐบาล การแฉความไม่โปร่งใสต่างๆ รวมทั้งสภาพการณ์ของโลกออนไลน์ที่เชือดเฉือนกันอย่างรุนแรง

พุทธศาสนามีคำสอนไม่เพียงแค่เรื่องนรก-สวรรค์ แต่กล่าวถึง “หกภพภูมิแห่งสังสารวัฏ” ได้แก่ เทวภูมิ มนุษยภูมิ เปรตภูมิ อสุรกายภูมิ เดรัจฉานภูมิ และนรกภูมิ

แม้ว่าเทวภูมิจะดูดีมีความสุข ทว่ามันก็ยังอยู่ภายใต้สังสารวัฏ ความสุขบนสวรรค์แปรเปลี่ยนเป็นความโศกเศร้าใหญ่หลวงเมื่อต้องจากภูมินั้น

มนุษยภูมิดูเหมือนจะเป็นภูมิที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่สุด นอกจากนั้นล้วนเป็นภูมิที่มีความทุกข์ทรมานต่างๆ กันออกไป

 

มหาสิทธาเชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช ได้อธิบายแนวคิดเรื่องหกภพภูมิไว้อย่างน่าสนใจ ท่านตีความคำสอนนี้ใหม่ว่า ภพภูมิทั้งหกมิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังความตาย แต่เป็นสภาวะทางจิตใจของเราที่วนเวียนไปมาอยู่ตลอด และนั่นคือสภาพการณ์แห่งสังสารวัฏที่เราเจออยู่ในชีวิตประจำวัน

เทวภูมิเป็นสภาพของการประสบความสุขที่ไม่อาจคาดเดาได้ และสภาพจิตใจที่พยายามจะครอบครองความสุขนั้นไว้ตลอดไป แม้จะมีความรื่นรมย์แต่ก็เจือด้วยความวิตกกังวลที่จะสูญเสีย ไร้ซึ่งการปล่อยวาง

มนุษยภูมิมีพื้นฐานของการแสวงหา ความทะเยอทะยาน ความต้องการความบริบูรณ์และมั่งคั่ง ในแง่นี้มีความใกล้เคียงกับเปรตภูมิ มีอารมณ์ความรู้สึกหลากหลาย ทว่ามนุษยภูมิยังประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในระดับที่เอื้อต่อการเรียนรู้

เดรัจฉานภูมิถูกเหนี่ยวนำโดยสัญชาตญาณ เป็นสภาพจิตใจที่รู้จักสุขและทุกข์ ทว่าปราศจากอารมณ์ขัน จึงไม่รู้จักการยิ้มหัวหรือสรวลสันต์ มีสภาพที่ดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา และหวาดระแวงเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของตน

เปรตภูมิมีลักษณะของความหิวกระหายตลอดเวลา ภาพลักษณ์ของภูมินี้แสดงออกด้วยผีที่มีปากเล็กแต่ท้องป่อง แม้จะรู้สึกยากไร้แต่บางครั้งก็รู้สึกโอ่อ่าขัดแย้งกันเอง บางครั้งราวกับมีอาหารอยู่เต็มมือ แต่ก็ไม่อาจกินต่อไปได้อีก จึงมีภาพลวงของความเอร็ดอร่อย เหมือนบุคคลที่แม้อิ่มแล้วแต่ก็ยังอยากที่จะกินต่อไปอีก

อสูรภูมิเป็นแดนแห่งหมู่อสูรที่แม้จะมีสภาพชีวิตที่ดีกว่าเปรตแต่ก็ยังคงฝืดเคือง ดังนั้น ภูมินี้จึงเปี่ยมได้ด้วยความอิจฉาริษยา มีสภาพจิตใจของความอิจฉาริษยาครอบงำ

นรกภูมิ สัตว์นรกอยู่ในสภาพไร้ความบันเทิงใจ เต็มไปด้วยทัณฑ์ทรมาน ความตึงเครียด ปราศจากความเจริญและความแช่มชื่นเบิกบาน มีสภาพแห่งความกดดันบีบคั้น

คำสอนเรื่องหกภพภูมินี้ แม้จะดูคล้ายคำพูดที่ว่า “สวรรค์ในอก นรกในใจ” คือมองว่าสวรรค์และนรกคือสภาพของจิตใจที่มีความสุขหรือความทุกข์ (และมีนัยของการปฏิเสธสวรรค์-นรกภายนอกไปด้วย) แต่ก็มีความแตกต่างเพราะมีความซับซ้อนกว่านั้น และพยายามอธิบายจิตใจในหลากแง่มุมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ กระนั้นก็มิได้ปฏิเสธภพชาติที่มีอยู่จริงภายนอก

เมื่อกล่าวเช่นนี้ ในแต่ละวัน ชีวิตจิตใจของเราจึงวนเวียนไปตามภพต่างๆ ยามใดที่เราถูกครอบงำด้วยความอิจฉาริษยา เราก็ดำรงอยู่ในภพภูมิแห่งอสุรกาย ยามใดเรามีความหิวกระหายอย่างไม่สิ้นสุด เราก็เข้าสู่สภาวะของเปรต ฯลฯ

ผู้ปฏิบัติจึงถูกเรียกร้องให้ตระหนักถึงภพภูมิดังกล่าวนี้ เพื่อที่จะสามารถหลุดออกไปจากภพภูมิทั้งหกนี้ได้

 

ผมคิดว่า แม้จะบอกว่าภพภูมิทั้งหกเป็นเรื่องของสภาวะทางจิตใจ แต่มิได้หมายความว่า สภาพแห่งภพภูมิทั้งหกจะไม่ปรากฏออกมาในสิ่งแวดล้อมภายนอก เพราะแรงผลักดันในใจมนุษย์ทำให้มนุษย์สร้างสิ่งต่างๆ ตามสภาวะของจิตใจ

สวรรค์หรือดินแดนแห่งความสุขก็อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อมีผู้มีจิตใจเปี่ยมด้วยกุศลและความแช่มชื่นรวมตัวกันมากๆ แต่ท่านตรุงปะมีความฝันใฝ่และวิสัยทัศน์ที่ยิ่งไปกว่านั้น ท่านมิได้ต้องการสร้างสวรรค์บนแผ่นดิน แต่ท่านต้องการสร้างสังคมอริยะหรือ “ชัมบาลา” ดินแดนยูโทเปียในตำนานซึ่งที่จริงคือสังคมที่เปี่ยมไปด้วย “อริยบุคคล” อันหมายถึงผู้ตื่นรู้และตระหนักถึงคุณค่าร่วมกันของความเป็นมนุษย์

ผมคิดว่า สังคมไทยเราพยายามสร้างสวรรค์บนดินสำหรับคนบางกลุ่มบางคนมานานแสนนานแล้ว

แต่ทว่าสวรรค์ดังกล่าวเป็นเพียงมายาคติ เป็นเพียงความสุขของเทวดาบางพวก

ไม่ใช่สำหรับทุกคน

 

ในความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญ ผมว่าเราไม่ได้อยู่ในสวรรค์เลย (แม้ว่าเราจะมีเมืองหลวงชื่อ กรุงเทพฯ) เรากำลังอยู่ในภพภูมิของเปรต มีเปรตหลายพวกที่หิวโหยผลประโยชน์ เปรตพวกนี้กินไม่เลือกและยังหิวโหยอยู่ตลอดเวลา

เราอยู่ในเดรัจฉานภูมิ มีเดรัจฉานจำนวนมากที่พยายามเอาตัวรอด พยายามรักษาอำนาจของตนเองโดยไล่ทำลายคนอื่น มีสุนัขจำนวนมากที่มีกายเป็นคน ออกไล่ทำร้ายคนตามคำสั่งของนาย

ที่สำคัญ เราอยู่ในนรกภูมิ ดินแดนแห่งความหวาดกลัว การลงทัณฑ์ ความบีบคั้นกดดัน ความทุกข์ยาก ความโกรธแค้น การทำลายล้างประหัตประหาร

สรุปคือ เรากำลังอยู่ในทุคติภูมิ ที่ซึ่งมนุษย์จำนวนมากได้หลงลืมความเป็นมนุษย์ไปจนหมดสิ้น มีเพียงอำนาจและคำสั่ง มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่มีมโนธรรมสำนึก หากไร้สิ่งนี้เราคืออะไร? เราเห็นการทุจริตหน้าด้านๆ การละเมิดกฎหมายซ้ำๆ โดยลอยนวลพ้นผิด การทำร้ายกันอย่างไร้ขื่อแป และอะไรต่อมิอะไรอีกมากจาระไนไม่หมด แต่หลายคนก็ยังนิ่งเฉยหรือแม้แต่สะใจด้วยซ้ำ

เรากำลังทำให้นรกภูมิปรากฏขึ้นมาบนโลก โลกและสังคมที่เราอาศัยอยู่

กระนั้น ผมพูดอย่างคนนับถือศาสนานะครับ ในความสิ้นหวังและคับแค้นใจ ผมยังเชื่อว่า เราก็ยังมีด้านของพุทธะ เรามีความเป็นโพธิสัตว์ในใจที่เราอาจหลงลืมไป

ผมจึงอยากอาราธนาเหล่าโพธิสัตว์ทั้งหลายที่กำลังท่องอยู่ในนรกภูมินี้ ให้ออกมาช่วยกันพูดเรื่องความเป็นมนุษย์ พูดเรื่องมโนธรรม พูดเรื่องเมตตากรุณากันต่อไป ปลุกความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมา

เพื่อช่วยให้เราได้กลับมาอยู่ในมนุษยภูมิกันอีกครั้ง