พระสยามเทวาธิราช ไม่ควรอยู่บนอาคารรัฐสภา | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 05/03/2021

 

หากมีแคมเปญไหนที่ผมอยากรณรงค์ในช่วงนี้ ก็คงเป็นการรณรงค์ให้เปลี่ยนการประดิษฐานเทวรูปพระสยามเทวาธิราชบนซุ้มจตุรมุขยอดอาคารรัฐสภาเกียกกาย หรือ “สัปปายะสภาสถาน” ให้เป็นพานรัฐธรรมนูญแทน

ขอกล่าวถึงตัวอาคารก่อน อาคารรัฐสภาใหม่นั้นมองแต่ไกลก็นึกว่าเป็นเจติยสถานจนเกือบจะเผลอยกมือขึ้นไหว้ ยอดจตุรมุขสีทองอร่ามบนหลังคาสูงลิบนั้น ผู้ออกแบบตั้งใจจะให้ประดิษฐานเทวรูปพระสยามเทวาธิราชไว้ภายใน

ที่จริงอาคารนี้โดนวิพากษ์วิจารณ์มาก ผมคิดว่าข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจที่สุดเป็นของศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ที่ว่า “รัฐสภาหลังใหม่เป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่น่าผิดหวังที่สุด”

เนื่องด้วยการออกแบบที่มีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น การนำเอาแนวคิดทางศาสนาเข้าไปออกแบบ โดยเฉพาะหลักศีลธรรมทางศาสนาที่แฝงอยู่ในสถาปัตยกรรม

อาจารย์ท่านเห็นว่า อันนี้ทำลายแนวคิดรัฐโลกียวิสัย (secular state) และทำให้รัฐเข้าใกล้คำว่ารัฐศาสนาเข้าไปทุกที

 

ที่ว่าเป็นการออกแบบที่เอาศีลธรรมทางศาสนามาใช้ เพราะผู้ออกแบบจำลองเขาพระสุเมรุจากไตรภูมิ อันเป็นวรรณกรรมแสดงบาปบุญคุณโทษ มาเป็นอาคารรัฐสภานี่แหละครับ

การออกแบบเช่นนี้สะท้อนความสับสนทางความคิดหลายอย่าง

เรื่องแรก พวกเราส่วนหนึ่งและผู้มีอำนาจในรัฐมักสับสนระหว่างศีลธรรมทางศาสนากับจริยธรรมทางโลก

ศีลธรรมทางศาสนามีลักษณะเฉพาะในแต่ละศาสนา เช่น ชาวพุทธเห็นสุราเป็นของผิดศีลธรรม ในขณะที่ชาวคริสต์ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น

หรือการไม่นับถือพระเจ้าเป็นลักษณะของชาวพุทธ แต่ศาสนาอื่นๆ มองเห็นเป็นเรื่องร้ายแรงสุดทีเดียว ฯลฯ

ถ้าเอาอันหนึ่งมาบังคับใช้กับทุกคน ย่อมจะเป็นปัญหาแน่นอน

ดังนั้น จึงไม่ควรนำศีลธรรมทางศาสนามาบังคับใช้หรือกลายเป็นนโยบายของรัฐ

แต่ควรใช้จริยธรรมทางโลกซึ่งมีลักษณะสากล (อันเป็นสิ่งเน้นย้ำในระบอบประชาธิปไตย) เช่น การยึดมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลมาเป็นแนวทางมากกว่า

เรื่องนี้จึงเกี่ยวกับการออกแบบอาคารรัฐสภา เพราะการออกแบบอาคารที่เน้นกิจกรรมทางโลก (คือการบริหารรัฐและออกกฎหมาย) โดยเอาศีลธรรมหรือแนวคิดพุทธศาสนามาใช้ ย่อมไม่สอดคล้องกับคุณค่าสากลที่กิจกรรมในอาคารนั้นควรยึดถือมากกว่า

ซึ่งก็คือคุณค่าแบบประชาธิปไตยในข้างต้นนั่นแหละ

 

แถมในรัฐสภาควรสะท้อนการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เพราะมันเป็นสิ่งที่ประชาธิปไตยโอบอุ้มไว้

การออกแบบควรสะท้อนแนวคิดนี้ในการบริหารรัฐ

ฉะนั้น การชูพุทธศาสนาในทางรูปแบบและความคิดมาอยู่เหนือความเชื่ออื่นผ่านงานสถาปัตย์ ย่อมไม่ใช่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายแน่

เอาเข้าจริงการออกแบบนี้ยังสะท้อนความสับสนเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์-สาธารณ์, ความเป็นไทย-ความเป็นสากล, การเมือง-ไม่การเมือง ฯลฯ ในหัวของคนออกแบบ และของผู้มีอำนาจจ้างวาน (หรือบงการ) ด้วย

ความเป็นไทยถูกทำให้ง่ายๆ เพียงแค่อะไรก็ได้ที่เหมือนวัด มียอดสูงสีทองวิบวับและไม้สักเป็นพันๆ ต้นที่จะถูกตัดเอามาใช้ นี่คือความเป็นไทยที่เราอยากอวดชาวโลกกระนั้นหรือ

ที่สำคัญ การออกแบบนี้ยังก้าวไปไม่พ้นมโนสำนึกเรื่องนักการเมืองเลวที่ต้องขัดเกลาด้วยศีลธรรมทางพุทธศาสนา จึงจัดให้พวกนี้ซึบซับไตรภูมิเสียเลย จนกว่าจะกลายเป็น “เทวดา” อันควรค่าที่จะอยู่ในวิมานอันสัปปายะนั้น

นักการเมืองหรือใครก็ “คน” ทั้งนั้นครับ ไม่มีเทวดาที่ไหน

การเมืองแบบประชาธิปไตยไม่ได้ต้องการคนดีหรือเทวดามาปกครอง แต่มีระบบกลไกที่สามารถตรวจสอบติดตามนโยบายการบริหารและกิจกรรมทางการเมืองของนักการเมืองและรัฐบาลได้เสมอ

 

มาถึงเรื่อง “พระสยามเทวาธิราช” ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสุดของอาคารนี้ เทวดาองค์นี้เป็นเทวดาสร้างใหม่ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่สี่เท่านั้นเอง

สำหรับผมแล้ว พระสยามเทวาธิราชเป็นเทวดาทางการเมืองมาตั้งแต่ต้น

เป็น “ผี” ที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างไทย (ที่รับมาจากพราหมณ์) เหมือนรูปเคารพพระภูมิที่เราเห็นกัน แต่มีป้ายชื่ออย่างจีนอยู่ด้วย

พระสยามเทวาธิราชมีไว้บอกว่า ประเทศสยามและองค์พระมหากษัตริย์มีเทวดาคุ้มครองปกปักรักษาอยู่ ใครอย่าได้คิดไม่ซื่อหรือระรานเชียว

ซึ่งนี่คือเรื่องการเมืองนั่นแหละครับ

พระสยามเทวาธิราชมิได้มีองค์เดียว ในสมัยรัชกาลที่ห้ามีการสร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้นอีกองค์หนึ่ง มีลักษณะเทวดาอย่างองค์เดิม และมีพระป้ายเขียนพระนามแบบจีนเช่นกัน

แต่ที่สำคัญ พระสยามเทวาธิราชองค์นี้มีพระพักตร์เป็นรัชกาลที่สี่เลยทีเดียว ว่ากันว่ารัชกาลที่ห้าทรงบูชาอยู่เป็นประจำ

เรื่องนี้ทำให้ผมได้คำตอบที่เคยสงสัยว่า เหตุใดคนถึงบอกกันว่า พระสยามเทวาธิราชคือดวงวิญญาณของบูรพกษัตริย์หรือพระราชบรรพบุรุษในราชวงศ์จักรี

หลักฐานคือการที่พระสยามเทวาธิราชองค์ที่สองมีพระพักตร์เป็นรัชกาลที่สี่ และการมี “ป้ายจีน”

ผมคิดว่า ป้ายอันนี้คือธรรมเนียมเดียวกับ “ป้ายวิญญาณ” ของบรรพชน (ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกซินจู๊) ที่ชาวจีนส่วนใหญ่กราบไหว้นั่นแหละครับ

นั่งคิดตั้งนานว่า ทำไมเทวรูปอย่างไทยถึงต้องอยู่คู่กับป้ายภาษาจีนมาตลอด ที่แท้ก็น่าจะเป็นป้ายวิญญาณจีนที่เอามาผสมกับเทวรูปสถิตผีตามแบบไทยๆ นั่นเอง

 

ที่จริงการช่วงชิงความหมายของเทวดาองค์นี้ยังเกิดขึ้นในฝ่ายคณะราษฎรด้วยนะครับ

มีการใช้พระสยามเทวาธิราชในเหรียญปราบกบฏ (บวรเดช) สมัยคณะราษฎร ซึ่งก่อนหน้านี้ในเหรียญตราสมัยรัชกาลที่ห้าก็มีการใช้รูปพระสยามเทวาธิราชมาแล้วในวาระต่างๆ

ผมถึงเคยบอกไปว่า เทวดานั้นเลือกข้างได้ อยู่ที่เราจะช่วงชิงมาอยู่ฝ่ายไหน

แม้กระทั่งในปัจจุบันพระสยามเทวาธิราชมักถูกนำมาใช้ด่าแช่งฝ่ายนักศึกษาและประชาธิปไตยอยู่เนืองๆ

เวลาลุง-ป้าส่งรูปสวัสดีวันอังคารวันพุธนั่นแหละครับ หรือรูปที่พวกไอโอชอบเอาไปก๊อปวางในคอมเมนต์ บางทีก็มีพระสยามเทวาธิราชพร้อมข้อความด่าแช่งพวกชังชาติให้วิบัติฉิบหายอะไรทำนองนั้นเสมอ

เหตุใดจึงไม่ควรนำพระสยามเทวาธิราชไปไว้ในซุ้มบนยอดอาคารรัฐสภา

 

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ พระสยามเทวาธิราชเป็นเทวดาในความเชื่อเฉพาะ คืออยู่ในความเชื่อแบบผี พราหมณ์ พุทธ และยังมีความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณของบูรพกษัตริย์อีก จึงเป็นรูปเคารพ “ทางศาสนา” ไม่ใช่สัญลักษณ์คุณค่าสากลทางการเมืองหรือจริยธรรม

การนำรูปเคารพทางศาสนาไปอยู่บนสุดของอาคาร ซึ่งคืออยู่ “เหนือหัว” ของทุกๆ คนที่เข้ามาใช้อาคารนั้น ย่อมขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่ไม่ควรให้ความเชื่อทางศาสนาใดอยู่เหนือความเชื่ออื่นๆ

การนำพระสยามเทวาธิราชไปอยู่เหนือหัวทุกคน จึงทำลายคุณค่าของประชาธิปไตยไปอีกขั้นในทางสัญลักษณ์ (นอกจากที่ตัวอาคารเองทำไปแล้ว) รัฐไทยใช้ความเชื่อหนึ่งกดขี่ความเชื่ออื่นๆ มานานแล้ว ไม่ควรตอกย้ำอีก หากเราจะเป็นประเทศที่นานาชาติยอมรับ แล้วยิ่งหากจะอวดอาคารนี้แก่ต่างชาติ เราจะตอบคำถามแก่เขาถึงคุณค่าของอาคารนี้อย่างไร จะกล้าตอบไหมว่า พวกเราทุกคนในอาคารนี้อยู่ใต้ “ผี” และความเชื่อของราชสำนัก

หากจะเคารพเทวดาไหน ไม่ว่าจะพระสยามเทวาธิราชหรือพระภูมิเจ้าที่ ก็ทำศาลแยกไปเถอะครับ ยังพอรับได้มากกว่า

 

ข้อเสนออีกอย่างที่มีผู้เสนอไว้ก่อนแล้วคือ เมื่อไม่นำเทวรูปพระสยามเทวาธิราชขึ้นไปตั้งบนยอดอาคารแล้ว หากยังต้องการสิ่งที่จะประดิษฐานไว้เป็นสัญลักษณ์ สิ่งที่ควรประดิษฐานที่นั่น ก็อาจเป็น “พานรัฐธรรมนูญ” จะเหมาะสมกว่า

พานรัฐธรรมนูญถูกยกย่องเชิดชูมากในสมัยคณะราษฎรและถูกใช้แม้แต่ตามศาสนสถาน เป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิดขึ้นของการปกครองแบบประชาธิปไตย มีประวัติศาสตร์ความทรงจำของตัวเอง เป็นความศักดิ์สิทธิ์อีกแบบหนึ่งที่ต่างจากเดิม

ในทางอุดมการณ์ก็ไปกันได้กับระบอบประชาธิปไตยที่สะท้อนว่าทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายสูงสุด ทั้งยังสะท้อนความเป็นนิติรัฐ นิติธรรมอีกด้วย

ที่สำคัญ จะได้ตอกย้ำแก่ผู้ที่เข้ามาในอาคารรัฐสภา ไม่ว่าจะในเชิงพิธีการหรือในการใช้งานว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ทุกคนต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

จึงเหมาะควรที่จะไปอยู่บนยอดสูงสุดแห่งรัฐสภานั้น

ช่วยลดความน่าผิดหวังไปได้อีกหน่อย