พระพุทธศาสนา กับการแก้ไขปัญหาการทุจริต = “สันโดษ” ?

ในวัยเด็กผู้เขียนโชคดีมากที่ได้เข้าไปเป็น “เด็กวัด” มีโอกาสได้ใกล้ชิดพระสงฆ์ผู้ทรงศีลทั้งพระที่เคร่งครัดการปฏิบัติและพระที่รอบรู้ในปริยัติ

เด็กวัดอย่างผู้เขียนพลอยได้ศึกษาธรรมะอันเป็นคำสอนวิเศษขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลกไปด้วย

ผู้เขียนเป็นเด็กวัดจนเรียนจบชั้น ป.6 หลังจากนั้นก็บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อเรียนนักธรรมซึ่งครูผู้สอนก็คือพระอาจารย์ทั้งหลายที่อยู่ในวัดนั่นเอง

การได้ศึกษาธรรมะจากพระในวัด ทำให้ผู้เขียนจดจำหลักธรรมต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก

หลักธรรมที่ผู้เขียนจดจำได้ส่วนใหญ่มาจากหนังสือนวโกวาท (หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)

หนังสือนวโกวาทจัดเป็นหนังสือประเภทตำราทางวิชาการ เพราะผู้นิพนธ์ได้บอกที่มาของคำสอนแทรกไว้ในเนื้อหาตลอดทุกเรื่อง มีการบอกอักษรย่อชื่อคัมภีร์เพื่ออ้างอิงว่ามาจากคัมภีร์อะไรบ้าง พร้อมทั้งบอกเลขเล่มและเลขหน้าของคัมภีร์ไว้ด้วย

ผู้ใคร่ในการศึกษาสามารถไปเปิดคัมภีร์เหล่านั้นศึกษาค้นคว้าต่อไปได้อย่างสะดวก

เนื้อหาของหนังสือนวโกวาท แบ่งออกเป็น 3 หมวดได้แก่

1) วินัยบัญญัติ ว่าด้วยศีล คือ วินัยของภิกษุเริ่มตั้งแต่อนุศาสน์ 8 อย่าง ไปจนถึงอธิกรณสมถะ 7 ในหมวดแรกนี้เมื่อได้ศึกษาแล้ว ผู้อ่านจะได้ทราบว่ามีสิกขาบทอะไรบ้างที่มาในพระปาฏิโมกข์ ซึ่งสิกขาบทของภิกษุที่มาในพระปาฏิโมกข์นั้นท่านกล่าวไว้จำนวน 227 ข้อ มีปาราชิก 4 เป็นต้น

2) ธรรมวิภาค ว่าด้วยหลักธรรมต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการเป็นชาวพุทธที่ดี เริ่มจากทุกะ หมวด 2, ติกะ หมวด 3, จตุกกะ หมวด 4 ไปจนถึงปกิณกะอันเป็นหมวดเบ็ดเตล็ด

3) คิหิปฏิบัติ เริ่มจากกรรมกิเลส 4 ไปจนถึงโทษของอบายมุข 6 ซึ่งกล่าวถึงโทษของเกียจคร้านทำการงานเป็นลำดับสุดท้าย

หนังสือนวโกวาทเล่มนี้เป็นดวงประทีปที่ถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

เป็นหนังสือที่มีความสำคัญมากต่อวงการศึกษาไทยทั้งการศึกษาของพระภิกษุสามเณรและการศึกษาของฆราวาสญาติโยมที่ไม่ได้บวชเรียน

กล่าวคือ เราทั้งหลายต้องเข้าใจว่าหัวข้อธรรมะที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียนศีลธรรมที่ท่านมหาบาเรียนเขียนขึ้นในสมัยก่อนและหัวข้อธรรมะที่ปรากฏในหนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมฯ หรือรายวิชาพระพุทธศาสนาทุกระดับชั้นที่เด็กและเยาวชนไทยเรียนกันอยู่ในทุกวันนี้ ล้วนแต่เป็นหลักธรรมที่นำมาจากหนังสือนวโกวาททั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าคนไทยทุกคนที่ได้ผ่านหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ของหนังสือนวโกวาทเหมือนกันหมดทั้งหญิงและชาย

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่องพุทธกับไสย ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมปีที่ 12 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2534 หน้า 104-116 ว่า

“หนังสือนวโกวาทนั้นเป็นหนังสือที่มีความสำคัญต่อความคิดสมัยใหม่ของคนไทยในเรื่อง “พระศาสนา” อย่างยากจะหาหนังสือใดมาเทียบเทียมได้ ไม่แต่เพียงว่านวโกวาทเป็นหนังสือบังคับให้เรียนในหลักสูตรการศึกษาของพระสงฆ์ไทยเท่านั้น แต่เนื้อความและความคิดจากหนังสือนี้ถูกแปลงไปอยู่ในแบบเรียนหนังสือศีลธรรมจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงธรรมการ (ในสมัยอดีต) และกระทรวงศึกษาฯ บังคับให้เด็กไทยเรียนสืบมาจนปัจจุบัน…”

ในฐานะที่ผู้เขียนเคยบวชเรียนมาหลายปี เรียนจบนักธรรมชั้นเอกและสอบบาลีได้เปรียญ 1-2 ถ้ามีใครสักคนหนึ่งมาตั้งคำถามว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าที่รัฐบาลควรนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการทุจริต น่าจะได้แก่ธรรมะข้อใด

ผู้เขียนจะตอบว่าได้แก่ “สันโดษ”

ถ้าเราเปิดหนังสือนวโกวาท เราจะพบ “สันโดษ” อยู่ในนาถกรณธรรม คือ ธรรมทำที่พึ่ง 10 อย่างซึ่งอยู่ในข้อ 8 นั่นเอง

จากการติดตามข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ ข่าวทางโทรทัศน์และข่าวทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีปัญหาการเรียกรับสินบน ปัญหาคอร์รัปชั่น และปัญหาการทุจริตแทบไม่ขาดตอนเลย

ดังปัญหากรณีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในโรงเรียน 1,104 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตามโครงการเซฟโซนสคูล (ดู มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2560 ปีที่ 40 ฉบับที่ 14263 หน้า 8 และมติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2560 ปีที่ 40 ฉบับที่ 14264 หน้า 5 กับ หน้า 12)

อาจพูดได้ว่างบประมาณแผ่นดินจัดสรรไปถึงที่ไหน การทุจริตคอร์รัปชั่นก็ไปถึงที่นั่นไม่มากก็น้อย

ถ้ามีการตรวจสอบกันอย่างจริงจังย่อมได้พบความไม่โปร่งใสอย่างแน่นอน

ในวงการพระสงฆ์หรือวงการศาสนาก็ดุจเดียวกัน เชื่อเถอะถ้ามีการตรวจสอบกันอย่างรอบคอบถ้วนถี่ก็จะพบว่าเงินที่ประชาชนร่วมบริจาคทำบุญในงานทอดผ้าป่าและกฐินของวัดก็ยังมีการทุจริตกันอย่างแยบยลทีเดียว

ปัญหาการทุจริตในวงการเมือง วงราชการ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในวงการวัดวาอารามต่างๆ เกิดจากจิตใจที่ไร้สันโดษนั่นเอง “สนฺตุฏฺฐี” หรือ “สันโดษ” จึงควรเป็นธรรมะที่รัฐบาลควรนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในวงราชการทุกหน่วยงาน

และควรกำหนดให้เป็นค่านิยมหลักของสังคมไทยด้วย

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. ควรรับไปดำเนินการส่งเสริมหลักธรรมเรื่องสันโดษอย่างจริงจังและทำต่อเนื่องตลอดไป

เพราะสังคมไทยในฝันนั้นควรเป็นสังคมแห่งความสันโดษเท่านั้น

พระสงฆ์ทั้งหลายควรเทศนาอบรมประชาชนด้วยธรรมเรื่องสันโดษเป็นหลัก

ถึงเวลาแล้วที่พระสงฆ์ทั้งหลายต้องหยุดประจบคฤหัสถ์

และถึงเวลาแล้วที่เจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกรูปต้องหยุดเทศนาเพื่อหาเงินสร้างวัดอย่างใหญ่โตหรูหรา

แต่ให้ท่านหันไปมุ่งเน้นการแสดงธรรมเพื่อสร้างคนเป็นเรื่องหลัก

ดังบทบาทของท่านอาจารย์พุทธทาส อินฺทปญฺโญ บทบาทของหลวงปู่ชา สุภทฺโท และบทบาทของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น

ในทุกกาลสมัย ผู้เขียนเข้าใจว่า “ศาสนบุคคล” นั้นย่อมมีความสำคัญมากกว่า “ศาสนวัตถุ” หรือท่านจะว่ามิใช่?

เราใกล้เกลือกินด่างมานานมากแล้ว เพราะไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาก็จะส่องแสงแต่งสังคมไทยให้แจ่มใสสวยงามอย่างหาที่สุดไม่ได้เลย

เมื่อพูดถึงหลักธรรมเรื่องสันโดษเราจะต้องไม่ลืมว่าสันโดษที่ถูกต้องนั้น หมายถึงสันโดษในวัตถุสิ่งเสพทุกชนิด

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พุทธบริษัท 4 ถือสันโดษ คือ ไม่หลงปรนเปรอสนองกิเลสตัณหาของตัวเองจนเกินความพอดี เกินความจำเป็น

แต่ตรัสสอนให้เราไม่สันโดษในการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม (อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ)

และตรัสสอนให้ไม่ระย่อท้อถอยในการมุ่งมั่นทำการงานต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่อันสุจริต (อปฺปฏิวาณิตา ปธานสฺมึ)

ถ้าจะสรุปใจความเพียงสั้นๆ ก็คือพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้เราเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่แสวงหาสิ่งต่างๆ มาบำรุงบำเรอตัวเองจนตกเป็นทาสของความโลภอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แต่อย่าหยุดกอปรกิจอันเป็นกุศลธรรมทั้งหลาย

สันโดษนี้แลที่จะเป็นพหุการธรรม เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาการทุจริตและจะเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองสมตามความมุ่งมาดปรารถนาของเราทุกคนสืบไป