“ฉัตรสุมาลย์” พา ไปดูพิพิธภัณฑ์หยกที่ย่างกุ้ง

ย่างกุ้งเป็นชื่อเดิมของเมืองนี้ อังกฤษมาปกครอง เลยเพี้ยนไปเป็นร่างกุ้ง คนไทยก็มาเพี้ยนเป็นย่างกุ้ง จริงๆ แล้วเขาออกเสียงว่า ยังกอน แปลว่า ไม่มีศัตรูค่ะ

กษัตริย์พม่าราชวงศ์สุดท้ายก่อนที่จะถูกอังกฤษส่งตัวออกไปอยู่อินเดีย อยู่ที่มัณฑะเลย์ ซึ่งต้องถือเป็นเมืองหลวงของสมัยนั้น

ย่างกุ้งเป็นเมืองท่า ที่มีความเป็นพม่าน้อยกว่าเมืองอื่น เป็นเมืองที่อังกฤษใช้เป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นเมืองท่า การเดินทางส่งสินค้าสะดวกกว่า

ย่างกุ้งจึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญขึ้นมาหลังจากที่อังกฤษเข้ามาปกครอง มีทั้งอังกฤษ แขก (อินเดีย) และจีน

แต่ที่เด่นมากก็เป็นชเวดากองนั่นแหละ ที่เป็นทั้งพม่า และพุทธ อย่างปฏิเสธไม่ได้

ทางขึ้นชเวดากองมีทั้งสี่ทิศเลยค่ะ ชาวต่างประเทศนิยมขึ้นทางทิศใต้ เพราะเป็นจุดที่ใกล้ลิฟต์มากที่สุด

เนื่องจากท่านธัมมนันทามากับกลุ่มชาวคริสต์ คนที่เป็นไกด์ก็เป็นชาวพม่าที่ถือคริสต์ ชื่อนายซอ อายุมากแล้ว ผมขาวโพลนเลย เมื่อขึ้นไปถึงก็ต้องเสียค่าเข้าชม 8 เหรียญ

ท่านธัมมนันทาก็บอกนายซอว่า ท่านไม่ต้องเสียนะ เพราะท่านเป็นภิกษุณี

นายซอก็ยืนยันว่า ต่างชาติต้องเสียทั้งนั้น แต่พอไปถามเจ้าหน้าที่ ก็พบว่า ท่านไม่ต้องเสียจริงๆ เพราะเป็นภิกษุณี

พม่าให้ความเคารพพระมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณี แต่นายซอไม่รู้ เพราะตัวเองเป็นคริสต์ นี่ไงตัวปัญหา คือไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

ท่านธัมมนันทาเคยมาแล้ว จึงไม่ได้ไปเดินรอบพระเจดีย์ แต่จุดที่น่าดูคือ จุดที่ประกายเพชรที่อยู่บนยอดเจดีย์ ตกลงมากระทบพื้น เป็นสีสเปคตรัม 7 สี จะเห็นความงามตรงนี้ ต้องไปให้ถูกเวลา และเดินไปให้ถูกจุดด้วยค่ะ

ช่างภาพพยายามขายบริการ โดยจะถ่ายภาพให้ เมื่อเราปฏิเสธ นึกว่าเขาจะตามตื๊อ ปรากฏว่า เขาน่ารักมาก พาเราไปจุดที่จะถ่ายรูปได้สวยที่สุด

มิหนำซ้ำถ่ายรูปจากกล้องของเราให้ด้วย รู้สึกขอบคุณอย่างยิ่ง

 

ขณะที่ก็เลยนั่งรอคณะ ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะลอบมองสาวๆ ชาวเวียดนามสองนางกำลังถ่ายรูปด้วยเซลฟี่ ทำท่าต่างๆ ชะมดชะม้อยกับกล้องโดยไม่กระดากอาย เหลือเชื่อจริงๆ มีลูกชายวัย 8 เดือน ตัวอ้วนขาวน่ารัก ปรากฏว่า พ่อของเด็กเป็นเกาหลี แต่แม่ก็ไม่ดูลูกดอก ปล่อยไว้กับสาวพม่าที่น่าจะจ้างมาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ขอโทษค่ะ นอกเรื่องไปไกล

ผู้เขียนถอนหายใจเฮือก

เงยหน้ามองพระเจดีย์ ที่กำลังได้แดดยามบ่ายจัด ส่องประกายงาม พระเจดีย์ชเวดากอง งามที่สัดส่วน ฐานที่ผายกว้างนั้น ทำให้องค์พระเจดีย์มั่นคงมาก แผ่นทองคำที่ตรึงไว้กับพระเจดีย์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากอยุธยา อันนี้ ยืนยันจากประวัติศาสตร์ เพราะช่วงนั้นกษัตริย์ของเขาอธิษฐานถวายทองคำหนักเท่ากับน้ำหนักตัวของพระองค์

เราลงไปรอคณะที่ข้างล่าง ขากลับ พอเลี้ยวออกมาก็ถึงพิพิธภัณฑ์เพชรพลอย ตอนแรกนึกในใจว่า เรามาประชุมเรื่องชาวคริสต์กับชาวพุทธ มันจะเกี่ยวอะไรกับเพชรพลอยนะ

อ้อ พอเข้าไปดู เสียค่าผ่านประตูอีก ตรงนี้น่าจะ 5 เหรียญ ที่ใช้คำว่าน่าจะ เพราะไม่แน่ใจ คือเจ้าภาพจ่าย เราต้องส่งกล้องและโทรศัพท์ที่ติดตัวมาให้ รปภ. หมดเลยค่ะ

ตกลงไม่ได้รูปอะไรมาฝากนอกจากรูปที่มีอยู่บนแผ่นพับที่ไม่ค่อยได้เรื่อง

 

โดยภูมิประเทศ พม่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยมากค่ะ เขามีทรัพยากรใต้ดินมหาศาล ที่เราเรียกว่าหยกราคาแพงที่ไปจากจีนนั้น แท้ที่จริงแล้วก็มาขุดจากพม่า

หยกที่เราเห็นในพิพิธภัณฑ์นี้ ก้อนหนึ่งหนัก 485 ก.ก. ราคาเป็นล้านเหรียญ ถึงบางอ้อว่า ทำไมเจ้าภาพพามาดูพิพิธภัณฑ์นี้ เพื่อให้เห็นความร่ำรวยทางธรรมชาติของประเทศเขานั่นเอง น่าชื่นชมจริงๆ

ตรงผนังชั้นบน ระหว่างประตูทางเข้าและทางออก มีภาพจิตรกรรมที่น่าสนใจ เป็นพ่อค้าพม่ากำลังอวดสินค้าของตนให้ต่างชาติเป็นฝรั่งสองคนดู

ตรงกลางของภาพที่เป็นจุดสนใจคือ พานที่ใส่ทับทิมเจียระไนหลังเบี้ย ก้อนโตประมาณผลส้ม

พวกเราที่ยืนเล็งภาพนี้ มีผู้เขียนและท่านอาชบิชอปทั้งจากดับลินและไนจีเรีย เราเห็นตรงกันว่า ท่าทางของพ่อค้าพม่านั่งขัดสมาธิแต่ขาเกยขึ้นมาบนตักแบบนั้น เป็นท่าของเจ้าของบ้านที่ยโสพอควร ก็มีของดีจะอวดประมาณนั้น

ในขณะที่ฝรั่งลูกค้ายื่นหน้าเข้ามาดูทับทิบทั้งด้วยความสนใจและประทับใจ ก็ไม่เคยเห็นมาก่อน

บ่งบอกเป็นนัยยะว่า พม่าถือไพ่เหนือกว่า ฝรั่งคนซื้อต้องก้มหัวให้

ทั้งหมดนี้อยู่ในจินตนาการของคนที่ยืนดูอยู่ทั้งสามคนที่มาจากต่างประเทศ ต่างทวีปกัน แต่เห็นพ้องกันว่ารูปนั้นให้ความรู้สึกประมาณนั้น

 

ตรงทางเข้า สำหรับผู้ที่จ่ายเงินในฐานะต่างชาติจึงจะได้แผ่นพับของพิพิธภัณฑ์ ลูกศิษย์คนหนึ่งที่ตามท่านธัมมนันทามาโดนดุ เพราะเขานึกว่าเป็นชาวพม่า จะไล่ไปเข้าประตูคนท้องถิ่น

เมื่อเข้ามาในห้องที่จัดแสดง ของที่มีค่าทุกอย่างอยู่ในตู้กระจก ความสูงประมาณ 80 ซ.ม. พอให้ชมได้ชัดเจน มีเจ้าพนักงานผู้หญิงคนหนึ่งมาประกบท่านธัมมนันทา อธิบายแต่ละตู้ให้ฟัง ละลานตามาก

ถามเธอว่า ตู้ไหนที่เธอคิดว่าน่าประทับใจที่สุด เธอพาไปดูหยกสีขาวใส มีลายสีดำ เหมือนลายผักชี แกะสลักเป็นถ้วยและจานรอง ทั้งชุด 4 ใบ

ตอนแรกผู้เขียนก็นึกติในใจว่า น่าจะแกะเป็นพระพุทธรูปนะ แล้วมานึกอีกทีว่า เขาอาจจะต้องการให้เห็นความใสของเนื้อหยก การแกะเป็นถ้วยชามีหู และจานรอง ทำให้สามารถเห็นความใสของเนื้อหยกได้ชัดเจนกว่าถ้าแกะเป็นองค์พระ ชุดนี้ราคาเป็นล้านเหรียญเหมือนกัน

หยกที่ผ่าครึ่งแล้ว แม้กระนั้นก็มีขนาดกว้างกว่าเมตร เจ้าพนักงานชี้ให้ดูว่า เปลือกด้านนอกอายุน้อยกว่า ราคาถูกกว่า ใช้เป็นของใช้ ยิ่งเข้าไปใกล้ตรงกลางก้อน ราคาสูงขึ้น สีสันก็เปลี่ยนไป ในก้อนเดียวกันอาจจะมีทั้งสีขาว สีเทา สีเหลือง และสีเขียวอ่อน ไปจนถึงเขียวขจี

หยกแกะสลักที่อยู่ในความทรงจำของผู้เขียนมาจนทุกวันนี้ คือที่เห็นในพิพิธภัณฑ์ที่ไต้หวัน ออกมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ แกะสลักเป็นหัวผักกาดขาว ความยาวประมาณ 10 นิ้ว

ตรงก้านเป็นสีขาว แต่ตรงส่วนใบสีเขียว และมีจิ้งหรีดเกาะ ช่างแกะสลักต้องฝีมือดี และมีจินตนาการ เลือกสีของหยกได้อย่างจับวาง เหมือนของจริงมาก

ท่านผู้อ่านหลายท่านที่เคยเห็นมาแล้วคงเห็นด้วยนะคะ

 

เราได้เห็นหยกหลายตู้มาก เพชรนิลจินดา มีตั้งแต่ เพชรดี มณีแดง (ทับทิม) เหลืองใสแสง (บุษราคัม) มรกต โกเมน ทับทิมขาว ตั้งแต่สีขาว เทา ไปจนฟ้าอ่อน ที่ชาวบ้านเรียกว่า นิหล่า จริงๆ แล้วคือสีนิล หมายถึงฟ้าแก่ นิหล่า อาจจะเนื้อหยาบหน่อย ราคาก็จะย่อมเยาลงมา

อีกตู้หนึ่ง น่าสนใจมาก น่าจะยาวถึง 2.5 เมตร เป็นแผนที่ประเทศพม่า ทำให้เห็นความสูงต่ำของภูเขาในแต่ละเมือง เดินไฟกะพริบ เมื่อต้องการดูว่าเขตใดมีพลอยชนิดใด ก็กดปุ่มที่ชื่อพลอย ไฟจะกะพริบบอกว่าพลอยชนิดนั้นอยู่ที่ใดมาก

หยกส่วนใหญ่มาจากทางเหนือ ซึ่งเป็นเขตของคะฉิ่น ติดต่อกับจีน ทับทิมมาจากมะละแหม่ง ตรงที่ใกล้ไทยที่สุด คือแถบฝั่งพม่าใกล้บางสะพานของไทย เป็นแหล่งทองคำ

จากแผนที่ที่ทำเป็นสามมิติให้ภูมิทัศน์โดยรวมของพม่า ทำให้เราได้ตระหนักว่า พม่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรใต้ดินจริงๆ

วิธีการจัดแสดงก็ให้ความรู้มาก เมื่อบอกว่าพลอยชนิดนี้พบที่ใดมากแล้ว ก็มาให้ดูตั้งแต่ยังเป็นก้อน เรามีอยู่หลังบ้าน ถ้าดูไม่เป็น เราก็คงโยนทิ้งไป มันก็เหมือนก้อนหินธรรมดาๆ

แล้วเขาก็ผ่าหน้าตัดให้ดู ให้เห็นเนื้อตามธรรมชาติของพลอยชนิดนั้น แล้วก็ตามไปดูที่เขาเจียระไนสำเร็จรูป

เป็นองค์ความรู้ที่ครบวงจร และจะครบวงจรมากขึ้นก็หาซื้อมาเป็นที่ระลึกให้ใจระทึก เพราะต้องเฝ้าระวังต่อไปอีก (ล้อเล่น)

 

ได้เห็นหินสีฟ้าน้ำเงินที่เรียกว่า ลาปิส ลาสุลีด้วย เป็นฟ้าทึบค่ะ จะแพงก็ตอนที่มีแร่ทองคำเดินผ่าน บางทีเป็นเหมือนกับผงทองคำกระจายในเนื้อหิน บางทีเดินเป็นสายเลยค่ะ ถ้าเดินเป็นสายอย่างนั้น ก็ต้องจ่ายค่าทองคำ ราคาจะแพงขึ้น ที่พม่าไม่สวยค่ะ แต่เคยเห็นสวยมากที่ลาดัค (ในอินเดียเหนือ) และในทิเบต

เมื่อพูดถึงลาปิส ลาสุลี ขออนุญาตเล่าต่อถึงพระไภษัชยคุรุฯ พระพุทธเจ้าหมอยา ที่มีทั้งในเขมร ไทย แต่กลับรู้จักกันผ่านธิเบตเสียเป็นส่วนใหญ่ พระไภษัชยฯ นิยมทำเป็นสีน้ำเงิน ก็มาจากหินลาปิสลาสุลีนี้แหละค่ะ เพราะชาวทิเบตพื้นบ้านนิยมเอาหินชนิดนี้มาฝนใช้เป็นยารักษาโรคด้วย พอจะพูดถึงพระพุทธเจ้าที่มีคุณสมบัติในการเยียวยารักษาก็เลยนิยมทำเป็นสีฟ้า

ได้ความรู้จริงๆ แนะนำคนที่ไปไหว้ชเวดากองออกมาทางประตูนี้ แล้วอย่าลืมแวะที่พิพิธภัณฑ์เพชรพลอย เขาเรียก Gem Museum ค่ะ ข้างล่างมีร้านขายหลากหลายตามคุณภาพและกระเป๋าของผู้ซื้อค่ะ ถูกแพงไม่ว่ากัน

หินธรรมชาติของแท้ ไม่มีคนอื่นเหมือน ก็มีความสุขใจเล็กๆ แบบชาวโลกล่ะค่ะ