จุดต่าง 2 “นิพพาน” เถรวาท กับ “มหานิกาย” วิวาทะ 2 เส้นทาง

เป้าหมายที่ท่านพุทธทาสภิกขุพยายามเน้น ย้ำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้กระทั่งในเรื่องของ “นิพพาน” ก็คือ เป้าหมายและความต่างในการตีความ 2 ความ

1 ภาษาคน 1 ภาษาธรรม

ดังจะสัมผัสได้จากเมื่อท่านแสดงเทศนาธรรมในหัวข้อ “ภาษาคน-ภาษาธรรม ภัยพุทธศาสนา เทคนิคแห่งความเป็นมนุษย์”

“นิพพาน” ในภาษาธรรมนั้นหมายถึงความดับสิ้นสุดแห่งกิเลส และความทุกข์โดยประการทั้งปวงและอย่างแท้จริง เมื่อนั้นเป็น “นิพพาน” ตามมาก ตามน้อย ตามสถานะ ถ้าหมดจดสิ้นเชิงก็เป็น “นิพพพาน” ถึงที่สุด เป็นการดับเย็นแห่งความทุกข์ ความร้อนแห่งไฟ คือ กิเลสและความทุกข์นี้ “นิพพาน” ภาษาธรรม

“นิพพาน” ภาษาคนก็คือ เมืองแก้วสารพัดนึก

“นิพพาน” ภาษาธรรมก็คือ ความดับทุกข์สิ้นเชิง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ได้

และเมื่อบรรยายในหัวข้อ “วิธีแก้ปัญหาชีวิต”

คำว่า “นิพพาน” นี้แปลว่า ธรรมชาติเป็นที่ดับของสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงแบ่งเป็นนาม เป็นรูป แล้วก็นิพพานเป็นที่ดับ เป็นที่หยุดของสิ่งทั้งปวง

เช่นเดียวกับในหัวข้อ “ความสงบอย่างยิ่ง คือ การดำรงอยู่เหนือกาลเวลา”

“นิพพาน” หมายถึง ภาวะที่ปราศจากความอยากโดยประการทั้งปวง

อันเท่ากับหมายความว่า เมื่อไม่มี “ความอยาก” เสียแล้วทุกอย่างก็ดับ ก็เย็น ก็สงบ

ทั้งๆ ที่ย้ำในเรื่องภาษาคน ภาษาธรรมอย่างนั้น แต่ ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ก็ชี้ให้เห็นถึงข้อโต้แย้งอยู่อย่างเด่นชัด

ต้องอ่าน

 

นอกจากนี้ ท่านพุทธทาสยังยอมรับลักษณะอีก 2 อย่างของปรินิพพานตามที่ชาวพุทธเคยเชื่อกันมาแต่เดิม คือ “สอุปาทิเสสนิพพาน” และ “อนุปาทิเสสนิพพาน” ด้วย

โดยที่ท่านได้ให้ความหมายของศัพท์คำแรกเอาไว้ดังต่อไปนี้

“เมื่อขันธ์ 5 ที่หลุดพ้นจากอวิชชา (ความไม่รู้) ยังไม่แตกทำลาย และยังคงมีความยินดีในรสแห่งนิพพานอยู่ สถานะเช่นนั้นเรียก “สอุปาทิเสสนิพพาน”

“สอุปาทิเสสนิพพาน” ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กิเลสปรินิพพาน” (ความดับโดยรอบของกิเลส) หมายถึง

“นิพพานที่กองต่างๆ (ขันธ์ 5) ของนามรูปยังคงมีอยู่”

นั่นคือ “สอุปาทิเสสนิพพาน” เป็นภาวะความหลุดพ้นที่ยอมรับกันมาแต่ดั้งเดิมว่า คนเราอาจเข้าถึงได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ ยังมีขันธ์ 5 อันเป็นองค์ประกอบของชีวิตดำรงอยู่

ส่วน “อนุปาทิเสสนิพพาน” หมายถึง “นิพพานที่ไม่มีขันธ์ 5 ดำรงอยู่”

นิพพานในลักษณะนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ขันธปรินิพพาน” ซึ่งหมายถึง ความดับโดยรอบของขันธ์ 5 ที่ดำรงชีวิต

และถือกันมาแต่เดิมว่าเป็นภาวะความหลุดพ้นหลังจากผู้บรรลุเสียชีวิตไปแล้ว

 

จินดา จันทร์แก้ว ได้แสดงทัศนะแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยกล่าวถึง “สอุปาทิเสสนิพพาน” และ “อนุปาทิเสสนิพพาน”

ไว้ดังนี้

“ภาวะทั้ง 2 นี้ไม่ใช่ลักษณะ 2 อย่างที่แตกต่างกันของนิพพาน ที่จริงแล้วภาวะทั้ง 2 นี้หมายถึงนิพพานในลักษณะเดียวกัน แต่ที่เรียกชื่อต่างกันเป็น 2 อย่างก็เพื่อแสดงว่า เป็นภาวะหลุดพ้นที่บุคคลประสบก่อนตายหรือหลังตายนั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสปฏิเสธคติที่ว่า “ปรินิพพาน” เป็นภาวะที่บุคคลบรรลุได้หลังจากตายแล้ว โดยที่ท่านได้อ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจอันเป็นงานตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ภายหลังการตรัสรู้

ดังข้อความต่อไปนี้

“พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกรูปล้วนแต่หมดกิเลสตัณหา แต่ท่านก็ยังประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่างๆ อันเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าที่ใครๆ ในบรรดาพวกเราจะสามารถทำได้

“ถ้าพวกกิเลสที่เป็นสาเหตุของความอยากเป็นอยากได้อะไรต่างๆ ได้ถูกกำจัดหมดสิ้นไปแล้ว คำถามมีอยู่ว่า อะไรเป็นสิ่งจูงใจที่ส่งให้พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกรูปได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดนั้น

“คำตอบก็คือ พระองค์และพระอรหันตสาวกได้รับแรงจูงใจจากปัญญาแตกฉานในธรรมพร้อมด้วยเมตตาธรรมนั่นเอง”

 

มีความแตกต่างในการนิยามอย่างแน่นอน ระหว่างเส้นทางแห่งเถรวาท กับ เส้นทางแห่งมหายาน มิเช่นนั้นท่านพุทธทาสภิกขุจะถูกมองและสรุป

ว่าได้รับอิทธิพลจาก “มหายาน”

นั่นก็อาจจะเห็นได้จากประสบการณ์ธรรมในแบบฉับพลันของท่านเว่ยหล่าง นั่นก็อาจจะเห็นได้จากบทสรุปที่ว่าพุทธะดำรงอยู่ในทุกหนแห่ง

แท้จริงแล้วท่านพุทธทาสเป็นเช่นนั้นหรือไม่ จำเป็นต้องศึกษาต่อไป