ฉัตรสุมาลย์ : วัดบวรนิเวศวรวิหารในความทรงจำ พ.ศ.2499-2500

กําลังรวบรวมประวัติเส้นทางการอุปสมบทของภิกษุณี เหตุการณ์ที่วัดบวรฯ ก็โผล่ขึ้นมาในความทรงจำ ที่คิดว่า ต้องเขียน

นอกจากจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์เส้นทางภิกษุณีแล้ว ยังเป็นการบันทึกประวัติเสี้ยวส่วนหนึ่งของวัดบวรฯ ด้วย

ชีวิตบนเส้นทางพระศาสนาของผู้เขียนเริ่มต้นที่นั่น

ทำไมต้องวัดบวรฯ

มารดาของผู้เขียน ตอนนั้น ท่านยังเป็นฆราวาส พระผู้ใหญ่จะเรียกท่านว่า “คุณครูวรมัย” (กบิลสิงห์) ท่านหันมาสนใจพระศาสนา และออกหนังสือธรรมะรายเดือน ชื่อ “วิปัสสนา บันเทิงสาร” (ฉบับแรก ตุลาคม พ.ศ.2498) เราใช้โรงพิมพ์ที่บางลำพู เจ้าของชื่อคุณนายจำรัส อ่องจริต

วัดที่ใกล้กับโรงพิมพ์ที่สุดก็เป็นวัดบวรนิเวศฯ นั่นเอง วันพระ มารดาผู้เขียนจะเดินข้ามไปรับศีลฟังธรรม พระอาจารย์ที่แสดงธรรมที่มารดาของผู้เขียนพอใจเข้าไปขอเป็นศิษย์ คือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี ชื่อตัวว่า ผิน ธรรมประทีป ฉายา สุวโจ ขณะนั้น ตำแหน่งทางการบริหารท่านเป็นรองเจ้าอาวาส

เจ้าอาวาสคือสมเด็จพระสังฆราช ม.ร.ว.ชื่น เป็นพระสังฆราชที่เป็นเจ้าองค์สุดท้าย

ในช่วง พ.ศ.ที่ผู้เขียนเล่านี้ สุขภาพท่านไม่ค่อยดีนัก งานส่วนใหญ่ก็จะอยู่กับท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี ซึ่งต่อมาท่านก็ได้เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.2501-2504 ท่านครองวัดเพียง 4 ปี

ก่อนที่จะมรณภาพด้วยวัยเพียง 67

 

ในบริบทของบางลำพูนี้เอง ที่มารดาของผู้เขียนเข้าไปรับศีลฟังธรรมจากท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี แล้วก็ออกมารับประทานอาหารกลางวันกันที่ตลาดบางลำพู

มารดาของผู้เขียนเกิดความคิดรังเกียจการรับประทานอาหารเนื้อสัตว์ ในบริบทนี้ เพราะท่านเล่าว่า เพิ่งรับศีล แล้วก็แผ่ส่วนกุศล “สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ขอให้ท่านจงเป็นสุขๆ เถิด…” ก็เพิ่งแผ่ส่วนกุศลให้กับสรรพสัตว์ไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง พอออกจากวัดมาก็สั่งอาหารที่มาจากเลือดเนื้อเขาทั้งสิ้น มันไม่น่าจะถูกต้อง

ท่านเลยตั้งใจงดการเสพอาหารเนื้อสัตว์ตั้งแต่บัดนั้น

ในปีรุ่งขึ้น พ.ศ.2499 ท่านจึงออกบวช โดยที่มีท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี เป็นอุปัชฌาย์

กุฏิของท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนีในคณะเหลืองรังษี ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของวัดรังษีสุทธาวาสนั้น (รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรฯ ใน พ.ศ.2458 แต่ยังคงใช้ชื่อรังษีเป็นที่ระลึก) เป็นกุฏิไม้หลังใหญ่ ถ้าหันหน้าเข้าหาตัวกุฏิ เราขึ้นบันไดทางขวา บันไดทางซ้ายนั้น นายสาย ซึ่งรับใช้ท่านเจ้าคุณฯ จะขึ้นมานั่งที่บันไดขั้นสุดท้ายโผล่หน้ามาเป็นเพื่อน และคอยรับใช้เผื่อพระเดชพระคุณท่านจะต้องการอะไร เราไปหลายครั้ง จนนายสายคุ้นหน้าพวกเรา และจะขึ้นมานั่งเป็นเพื่อนเสมอ เพื่ออาศัยฟังเรื่องราวที่ปกติพระเดชพระคุณไม่พูดคุยกับคนอื่น

เคยเห็นพระเดชพระคุณไม่พอใจนายสายเพียงครั้งเดียว ไม่ทราบว่าทำอะไรไม่ถูก ท่านปรามอย่างสุภาพว่า “สาย ระวังจะสายเกินไป”

ผู้เขียนในวัยเด็ก จำลักษณะกุฏิไม้หลังนี้ได้ดี นอกจากบันไดสองข้างที่ว่าแล้ว ยังมีระเบียงกว้างขวาง เวลาเราไปกราบพระเดชพระคุณ ท่านมักจะนั่งอยู่ส่วนใน ที่ยกพื้นขึ้นไปสัก 1 คืบ (20 ซ.ม.)

ด้านขวามือของท่าน มีตู้กระจกสูง ใส่โครงกระดูกห้อยต่องแต่งอยู่ มารดาของผู้เขียนอธิบายว่า ท่านไว้ใช้พิจารณาปลงสังขาร อืมมม กลัวค่ะ คอยลอบชำเลืองไปทางตู้นั้นอยู่บ่อยๆ

หากเราไปตรงเวลาที่ท่านฉันเพล นายสายจะเป็นผู้เตรียมสำรับถวาย และท่านจะออกมานั่งตรงระเบียง หากเราขึ้นมาจากบันไดทางขวา จุดที่นั่งฉันจะอยู่ทางซ้ายมือ

เวลาที่ท่านฉัน เราจะไปนั่งเงียบๆ ผู้เขียนพยายามทำตัวเรียบร้อยที่สุด แม้มารดาของผู้เขียนก็นั่งเงียบเช่นกัน แต่จะโต้ตอบเมื่อพระเดชพระคุณท่านพูดด้วย

ที่ยังจำได้ คือท่านฉันเงาะทั้งเมล็ดด้วย

 

ท่านเป็นคนที่พูดน้อย แต่เวลาพูดแต่ละครั้งเราจะตั้งใจฟัง

จำได้ว่าท่านเล่าถึงตอนที่ท่านเติบโตมาในครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์ ก็มีการล้อเลียนกัน ทั้งฝ่ายเด็กพุทธก็ล้อเลียนชาวคริสต์ และเด็กชาวคริสต์ก็มีการล้อเลียนพระภิกษุ แต่พระเดชพระคุณท่านเกิดมีความพึงพอใจที่จะหันมานับถือศาสนาพุทธเองตั้งแต่วัยรุ่น

ในการศึกษาพระไตรปิฎกนั้น ครั้งหนึ่งมีการพูดคุยถึงเรื่องพระเทวทัต ในพระสูตร โดยเฉพาะในชาดก คือส่วนที่เป็นอดีตชาติของพระมหาโพธิสัตว์ จะเห็นภาพพระเทวทัตว่าจะเป็นฝ่ายผู้ร้ายเสมอ ในประเด็นนี้ พระเดชพระคุณท่านพูดขึ้นมาคำหนึ่งว่า “คุณครู แต่นั่นเป็นฝ่ายเราเขียนนะ” “ฝ่ายเรา” ในความหมายของฝ่ายลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า

ผู้เขียนเมื่อเข้ามาสู่วงวิชาการพุทธศาสนา ก็ยังไม่เคยได้ยินใครพูดถึงประเด็นนี้ เป็นภาพสะท้อนในความลุ่มลึกของการพิจารณาประเด็นที่เราเรียนกันในพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

มารดาของผู้เขียน นางวรมัย กบิลสิงห์ ปลงผมและเข้ารับศีลกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนี ที่กุฏิไม้ ในคณะเหลืองรังษีนี้ วันที่ 2 พฤษภาคม 2499

ท่านออกสุทธิบรรณสงฆ์ให้เช่นเดียวกับพระเณรทั่วไป

นางวรมัย กบิลสิงห์ ในวันที่รับศีลนั้น ใส่ชุดขาว แต่ได้นำชุดสีเหลืองอ่อนที่เรียกว่า สีเหลืองดอกบวบไปให้พระอุปัชฌาย์ดูว่า จะใส่สีนี้

ด้วยเหตุผลว่า หากในภายภาคหน้าจะมีคนตำหนิ พระอุปัชฌาย์ก็จะพูดได้ว่า ตอนที่มาบวชนั้น เป็นชุดขาว ที่ทำเช่นนี้ เป็นวิธีการที่มารดาของผู้เขียนไม่ต้องการให้พระอุปัชฌาย์ต้องเดือดร้อนไปด้วย

เมื่อนายอำเภอที่จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นที่ตั้งวัตรเรียกมารดาไปตำหนิ และฟ้องร้องขึ้นมาถึงกรรมการมหาเถรสมาคมว่า การกระทำเช่นนั้น (คือใส่สีเหลืองดอกบวบ) อาจจะเป็นการเสียหายต่อคณะสงฆ์ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมพิจารณา

ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนีท่านเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย เมื่อเรื่องขึ้นมาสู่วาระการประชุม ท่านเรียนกรรมการมหาเถรสมาคมว่า “ผมบวชให้เขาเอง” และถามกรรมการท่านอื่นว่า “สีนี้ (หมายถึงสีเหลืองดอกบวบ) เราใช้ได้ไหม”

กรรมการทุกท่านปฏิเสธว่า “เราใช้ไม่ได้” คือผิดพระวินัย สีจีวรที่พระสงฆ์ใช้ได้ต้องเป็นสีเหลืองเจือแดง น้ำตาล เป็นต้น

ท่านจึงพูดเพียงว่า “แล้วเราจะหวงไว้ทำไม”

ด้วยการให้ข้อคิดที่ซื่อ และตรงเช่นนี้ กรรมการมหาเถรสมาคมในสมัยนั้น จึงแทงเรื่องลงมาว่า “ไม่เห็นเป็นการเสียหายต่อคณะสงฆ์”

ตรงนี้ เป็นประวัติที่ภิกษุณีที่เป็นลูกหลานสมัยต่อมาต้องชัดเจน

 

ในปีรุ่งขึ้น พ.ศ.2500 ประเทศไทยมีพิธีฉลองกึ่งพุทธกาล เป็นพิธีที่รัฐบาลและเอกชนจัดใหญ่โตมาก

มารดาคิดว่าเป็นโอกาสมงคลสำหรับผู้เขียนในวัย 13 ที่ควรจะได้บวชเรียน ผู้เขียนออกบวชในระหว่างปิดเทอมใหญ่ ปลงผม ครองสีเหลืองดอกบวบ ผ้าที่ครองไม่ได้เย็บอย่างจีวร แต่เป็นแบบผ้าสไบยาว ไปรับศีลกับท่านเจ้าคุณพรหมมุนี ที่กุฏิไม้ใต้ถุนสูง คณะเหลืองรังษี วันที่ 1 เมษายน และลาสึกวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2500 ได้เรียนรู้วิถีของนักบวชตั้งแต่สมัยนั้น

นี้คือจุดเริ่มต้นบนเส้นทางชีวิตที่มาเป็นภิกษุณีในอีกหลายสิบปีต่อมา

กุฏิไม้หลังใหญ่ ใต้ถุนโปร่ง ที่คานจะมีตัวหนังสือที่เป็นลายมือของพระเดชพระคุณพระพรหมมุนี เขียนด้วยชอล์ก เป็นพุทธภาษิตบ้าง คำกลอนบ้าง เมื่อเงยหน้าขึ้นไป มีอักษรเขียนอย่างเป็นระเบียบทุกพื้นที่

เสียดายว่า เมื่อมีการรื้อกุฏิไม้หลังนี้ออกใน พ.ศ.2517 เพื่อสร้างตึกนั้น จะมีใครที่จะเฉลียวใจเก็บรักษาตัวหนังสือเหล่านี้ไว้บ้างไหมหนอ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯ ร.9 เสด็จออกทรงผนวช ปลายปี 2499 นั้น ประทับที่ตึกเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร แห่งนี้

แม้พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี จะไม่ได้เป็นทั้งพระกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์ในพิธีอุปสมบท แต่เพราะพระภิกษุภูมิพโลนั้นเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศฯ หน้าที่การถวายความรู้ในด้านพระธรรมวินัยจึงตกอยู่กับท่านโดยสมบูรณ์ เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราช ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ด้วยนั้น มีปัญหาทางด้านสุขภาพ

จากภาพที่ปรากฏ ที่เราคุ้นเคยให้สื่อสมัยนั้น จึงเห็นรูปท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนีเป็นพระพี่เลี้ยงถวายความรู้และคอยถวายคำแนะนำอยู่อย่างใกล้ชิด

เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (ม.ร.ว.ชื่น) สิ้นพระชนม์ลง ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนีจึงขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวรวิหาร ในช่วง พ.ศ.2501-2504

เป็นช่วงชีวิตที่ผู้เขียนได้ตามมารดาเข้าไปกราบท่านอยู่บ่อยๆ เมื่อท่านปลงสังขารใน พ.ศ.2504 เป็นช่วงที่ผู้เขียนเดินทางออกไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียพอดี

แม้กระนั้น ก็ยังได้เข้าไปกราบสมเด็จพระสังฆราช องค์ถัดมาแม้ไม่บ่อยเหมือนเดิมนัก แต่ท่านก็รู้จักและเมื่อผู้เขียนรวบรวมหนังสือเรื่องพระพุทธศาสนามหายานในจีน ก็นำต้นฉบับไปถวายท่านเพื่อให้โรงพิมพ์มหามกุฏฯ พิจารณาจัดพิมพ์ ซึ่งก็ได้รับการจัดพิมพ์ด้วยดี

วัดบวรนิเวศฯ ในความทรงจำของผู้เขียนที่ควรบันทึกมีประมาณนี้ คณะเหลืองรังษียังอยู่ ที่ตั้งของกุฏิไม้ใต้ถุนสูงก็ยังอยู่ แต่กุฏิไม้ที่ทั้งมารดาและผู้เขียนออกบวชนั้น บัดนี้เปลี่ยนแปลงเป็นอาคารอื่นมาแทนที่ แต่ร่องรอยของประวัติศาสตร์หน้านี้ก็ยังอยู่

อดีตที่เป็นกุศลนั้นเพิ่มพูนทุกครั้งที่ระลึกถึง