เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ ระหว่างไทย-มาเลย์ : แรงงานและท่องเที่ยว

จรัญ มะลูลีม

ความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน (ต่อ)

มูลค่าการค้าไทย-มาเลเซีย แต่เดิมจะอยู่ที่ 400-500 พันล้านบาทและคาดกันว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 600 พันล้านบาทในไม่ช้า

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มุ่งหวังให้มูลค่าการค้าไทย-มาเลเซียเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2012

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยให้การต้อนรับและสนับสนุนนโยบาย การขับเคลื่อนโลกของผู้ยึดสายกลาง (Global Movement of Moderates) ซึ่งนำเสนอโดยนายกรัฐมนตรี นาญิบตุน รอซัก ในฐานะที่เป็นเครื่องมือการต่อสู้กับความสุดโต่ง และกล่าวเพิ่มเติมว่าประเทศไทยมีความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า ความเป็นสายกลางนั้นเป็นกุญแจสู่สันติภาพ

(http://1malaysia.com.my/news_archive/malaysia-thailand-identify-six-areas-to-enhance-cooperation/)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “ในฐานะสมาชิกของ ASEAN ไทยเห็นว่าความร่วมมือกับมาเลเซียเป็นกุญแจไปสู่การสร้างชุมชน ASEAN เป็นการเชื่อมโยงภูมิภาคด้วยสันติภาพและความรุ่งเรือง โดยมาเลเซียมีกำหนดการที่จะเป็นประธานของ ASEAN ในปี 2018

“ประเทศไทยมีความมั่นใจว่าการเปิดประชาคม ASEAN จะดำเนินไปด้วยดี ไทยมองไปข้างหน้าให้ ASEAN เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่กว้างขวางต่อไป” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติม

(http://1malaysia.com.my/news_archive/malaysia-thailand-identify-six-areas-to-enhance-cooperation/)

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

ภายใต้แผนการท่องเที่ยว ทั้งสองประเทศจึงมีแผนการที่จะเปิดจุดผ่านแดนที่เบตง (Betong) ในจังหวัดยะลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้ความสะดวกสบายด้านการท่องเที่ยวแก่สองประเทศ

ชาวมาเลเซียมากกว่าหนึ่งล้านคนได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยในแต่ละปีมากกว่าการไปเยือนประเทศอื่นใด (ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่ไปเยือนมาเลเซียในปี 1999 มีอยู่ 498,578 คน และในระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2000 มีจำนวน 751,412 คน)

ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศมุ่งกระชับความสัมพันธ์ในด้านนี้ด้วยการพิมพ์สื่อโฆษณาในประเทศของตนเป็นสองภาษา

ความร่วมมือของประชาชนต่อประชาชน

ในด้านเศรษฐกิจ

แรงงานไทยในมาเลเซีย

อําเภอเบตงอยู่ห่างจากตัวเมืองยะลา ซึ่งอยู่ภาคใต้ตอนล่างของไทย 150 กิโลเมตร โดยอยู่ติดกับเมืองเป็งกาลันฮูลู ของรัฐเปรักและอำเภอบาลิง (Baling) ของรัฐเกดะฮ์ของมาเลเซีย

มีชาวมุสลิมมาเลย์อยู่ร้อยละ 50 โดยร้อยละ 30 เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทั้งนี้ ร้อยละ 20 เป็นชาวไทยพุทธ

ในอดีตเมืองเป็งกาลันฮูลู แห่งรัฐเปรักและอำเภอบาลิงของมาเลเซียในทางภูมิภาคศาสตร์นั้นอยู่ในดินแดนของประเทศไทย ในสมัยการปกครองของอังกฤษ อำเภอบาลิง และกิ่งอำเภอเป็งกาลันฮูลู ก็ยังคงอยู่ในเขตแดนของประเทศไทยเช่นกัน

แต่ต่อมาได้กลายเป็นดินแดนของมาเลเซียตามการจัดการของเจ้าอาณานิคม

ประชาชนของสองอำเภอนี้ แม้ว่าจะอยู่ในดินแดนที่แตกต่างกัน แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขาก็คล้ายคลึงกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศจะมีความสนิทสนมกันมาก

ทั้งนี้ จารีตและประเพณีของมาเลเซียนั้นมีความคล้ายคลึงกับภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย รูปแบบแห่งความมีมิตรไมตรีต่อกัน ส่งเสริมให้พวกเขาไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ

ประชาชนส่วนใหญ่จากประเทศไทยและมาเลเซียต่างก็ใช้เอกสารผ่านแดน (border pass) มาตั้งแต่สมัยที่มาเลเซียยังถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคม

โดยปกติเจ้าหน้าที่ของไทยได้ทำความตกลงกับเจ้าหน้าที่มาเลเซียให้ประชาชนของทั้งสองประเทศเยี่ยมเยียนกันได้ในดินแดนที่มีจังหวัดติดต่อกัน โดยมีเอกสารผ่านแดนเป็นดั่งเอกสารการเดินทาง

ภายใต้ข้อตกลงนี้ประชาชนที่อยู่ชายแดนจะไปเยี่ยมญาติพี่น้องของพวกเขาทั้งที่เป็นชาวมุสลิมและชาวพุทธ และได้พัฒนามาเป็นการเดินทางเพื่อไปทำงานในมาเลเซีย จากการเรียกร้องของญาติพี่น้องของพวกเขามีแรงงานไทยที่เดินทางไปมาเลเซียโดยใช้เอกสารผ่านแดน

แต่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลมาเลเซียให้อาศัยอยู่ได้เป็นเวลานานแต่อนุญาตให้ไปทำงานกับญาติเป็นระยะเวลาสั้นๆ

การปฏิบัติเยี่ยงนี้โดยปกติแล้วกระทำโดยประชาชนของทั้งสองประเทศ

แรงงานไทยซึ่งทำงานกับชาวมาเลเซีย จะอยู่กับนายจ้างหรือเช่าบ้านญาติอยู่เป็นรายเดือน แรงงานไทยจะเข้าไปทำงานที่เกี่ยวกับการขายอาหารหน้าภัตตาคารต่างๆ หรือไม่ก็เข้าไปทำงานเป็นหัวหน้า เช่น หัวหน้าผู้ประกอบอาหาร งานเกษตรกรรม งานด้านการขนส่งเช่นขับรถให้เช่าจากเบตงไปยังเมืองเป็งกาลันฮูลู หรือไม่ก็ขับมอเตอร์ไซค์จากชายแดนเบตงไปยังเมืองบูกิดาเบอร์ราเบ็ตของเมืองเป็งกาลันฮูลู เป็นต้น

จะไม่มีปัญหาใดๆ จากเจ้าหน้าที่ศุลกากรสำหรับผู้ที่ทำงานไป-กลับทุกวันในสองประเทศ แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีวีซ่าทำงานในมาเลเซียก็ตาม

การทำงานเช่นนี้เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปสำหรับประชาชนแถบชายแดน

อย่างไรก็ตาม แรงงานเหล่านี้จะต้องมีเอกสารที่ถูกกฎหมายที่เข้าไปในชายแดนของแต่ละฝ่าย

แรงงานมาเลเซียในอำเภอเบตง

ประชาชนของสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเบตงของจังหวัดยะลาและเมืองเป็งกาลันฮูลู ของเปรัก ยังคงเป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง อันเนื่องมาจากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ มีศาสนาเดียวกันคือศาสนาอิสลาม รวมทั้งจารีตประเพณีที่คล้ายคลึงกัน

ชาวมาเลเซียจำนวนมากแต่งงานกับชาวไทยในเบตงและมีรายได้มาจากการมีภัตตาคาร และงานบริการสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย

แรงงานมาเลเซียเข้าออกเบตงทุกวันเพื่อทำงานที่ภัตตาคาร และบางครั้งก็พักอาศัยอยู่ถึง 15 วัน

ทั้งนี้ แรงงานของมาเลเซียสามารถใช้ภาษามาเลย์เพื่อให้การบริการที่ดีกว่ากับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย

(สัมภาษณ์ อรุณ ชูนุกูล อดีตเจ้าหน้าที่ไทยในด่านอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ณ ห้อง Rusamilae Ballroom, โรงแรม C.S. ปัตตานี, 8 กุมภาพันธ์, 2014)