เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ ระหว่างไทย-มาเลย์ : การค้าการลงทุน (ต่อ)

จรัญ มะลูลีม
แฟ้มภาพ

ผู้ลงทุนมาเลเซียมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการค้าและการลงทุนกับประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic – AEC) ในปี 2015 ที่ผ่านมา

แม้ว่าในประเทศไทยจะมีบริษัทมาเลเซีย 50 บริษัทตั้งอยู่ แต่บริษัทใหญ่ๆ ของไทยก็ขยายตัวอยู่ในมาเลเซียเช่นกันอย่างเช่นบริษัทอาหารเจริญโภคภัณฑ์ (Chareon Pokphond Foods) กลุ่มสยามซีเมนต์ (Siam Cement Group) ล็อกซเล่ย์ (Loxley) และเครือข่ายโรงพยาบาลที่เข้ามาลงทุนและขยายตัวในมาเลเซีย

การลงทุนร่วมในกิจการอาหารฮาล้าลและการบริการ จะนำเอาโอกาสใหม่ๆ ในการส่งออกผลผลิตและการบริการไปยังตะวันออกกลาง

ในขณะที่ในภาคบริการ เช่น การเงิน การธนาคาร และการท่องเที่ยวจะมุ่งไปที่ประเทศ ASEAN โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมียนมา ซึ่งเวลานี้เปิดให้นักลงทุนเข้าไป

สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “วิสัยทัศน์ 2020” (Vision 2020) อันเป็นโครงการที่จะขับเคลื่อนมาเลเซียให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2020

 

ความคิดในเรื่องมหากัวลาลัมเปอร์ (Greater Kaula Lumpur) ก็เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทของไทยเข้าไปลงทุนในด้านการบริการทางการเงิน การบริการทางธุรกิจน้ำมันและก๊าซ การดูแลสุขภาพ ไฟฟ้าและกิจการไฟฟ้า (E&E) การค้าปลีกและค้าส่ง โครงการการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย

สำหรับการค้าที่ผ่านมายังช่องแคบมะละกา (The Straits of Malacca) นั้นประเทศไทยควรให้ความสำคัญด้วยเช่นกันเพราะช่องแคบแห่งนี้ เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และความสำคัญทางยุทธศาสตร์

ช่องแคบมะละกาเป็นช่องแคบที่เชื่อมต่อกับมหาสมุทรอินเดียไปยังประเทศต่างๆ ของเอเชียที่มีพลังทางเศรษฐกิจมากที่สุด รวมทั้งประเทศที่มีอิทธิพลทางการค้าอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และรัสเซีย

ช่องแคบมะละกาประกอบไปด้วยเส้นทางน้ำที่แคบแต่มีความยาวที่ขยายออกไปมากกว่า 500 ไมล์จากทางตะวันออกของทะเลอันดามัน (Andaman Sea) ไปทางทะเลจีนใต้ (South China Sea) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอยู่ตรงกลางของเส้นทางทางทะเลระหว่างหมู่เกาะสุมาตราของอินโดนีเซียกับคาบสมุทรไทย-มาเลย์และเมืองเล็กๆ ของสิงคโปร์

ประเทศไทยก็สามารถใช้เส้นทางนี้เพื่อจุดมุ่งหมายทางการค้าและการเชื่อมต่อกับโลกส่วนอื่นๆ

และด้วยแนวทางเช่นนี้ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมาเลเซียไปพร้อมๆ กัน (http://browse.feedreader.com/c/The Fund for Peace FFP/191498253)

 

การพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือ ซึ่งนำโดยคณะกรรมการไทย-มาเลเซียที่จะพัฒนามาตรฐานการครองชีพที่ดีกว่าของประชาชนในห้าจังหวัดของประเทศไทย (สงขลา ยะลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส) และสี่รัฐของมาเลเซีย (เปอร์ลิส เกดะฮ์ กลันตัน และบางส่วนของเปรัก) นั้นเป็นความพยายามที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนของทั้งสองประเทศ

การสร้างสะพาน อย่างเช่นที่ บูกิต บุงอ (Bukiit Bunga) กับบูเก๊ะตา (Buketa) ซึ่งเชื่อมโยงกับอำเภอแว้ง (Waeng district) จังหวัดนราธิวาสและอำเภอเจลี (Jeli district) ของรัฐกลันตันนั้น ความจริงแล้วเป็นขั้นตอนที่เป็นไปในทางบวก

ผู้ลงทุนชาวมาเลเซียมุ่งหวังที่จะเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของพวกเขาเพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์ก่อนที่จะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2015

ตัวแทนทางการค้าของมาเลเซียนำโดยเอกอัครราชทูต นาซิเราะฮ์ ฮุสเซ็น (Nazirah Hussain) ได้พบกับอดีตรองนายกรัฐมนตรี กิตติรัตน์ ณ ระนอง เพื่อรับทราบนโยบายของรัฐบาลไทย พร้อมกันนี้ตัวแทนทางการค้าของมาเลเซียยังได้พบกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หอการค้าไทย สหพันธ์อุตสาหกรรมไทยและสมาคมนักการธนาคารของไทยและนักบริหารเอกชน 30 คน

(http://www.bangkokpost.com/business/economics/257391/malaysians-tighten-ties-with-thais)

 

บริษัทของมาเลเซียในประเทศไทยมีมากขึ้นและตื่นตัวมากขึ้น พวกเขามุ่งหวังที่จะเริ่มธุรกิจหรือไม่ก็หาตลาดการผลิตและการบริการในประเทศไทย หลายๆ บริษัทของมาเลเซียให้ความสนใจที่จะขยายการทำงานในประเทศไทย ตามรายงานของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าบริษัทมาเลเซีย 157 บริษัทได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วยเงินจำนวน 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (5.5 พันล้านริงกิต)

จากข้อมูลของรัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม นักธุรกิจมาเลเซียได้ลงทุนในประเทศไทย 482.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในขณะที่นักธุรกิจไทยลงทุนในมาเลเซีย 76.2 พ้นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 228 ล้านริงกิต)

ทั้งสองประเทศยังได้มีความเห็นร่วมกันที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกความสัมพันธ์ทวิภาคี ด้วยโครงการต่างๆ ที่ได้จัดตั้งร่วมกันมาแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการร่วมเพื่อความสัมพันธ์ทวิภาคี (Join Commission for Bilateral Cooperation-JC) ยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมในบริเวณชายแดน (Joint Development Strategy for Border Areas (JDS) คณะกรรมการชายแดน (General Border Committee-GBC)

ตลอดไปจนถึงการปรึกษาร่วมระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชนของสองประเทศและส่งเสริมการเชื่อมโยงกันตามชายแดน

ตัวอย่างเช่น ในเวลานี้มีข้อเสนออยู่สองข้อในการสร้างสะพานแห่งที่สองที่จะเชื่อมโยง รันตู ปันญัง (Rantau Panjang) กับสุไหงโก-ลก (Sungai Golok) และเป็งกะลัน กุโบร์ (Pengkalan Kubor) กับตากใบ รวมทั้งการพัฒนาในเรื่องการจัดตั้งศูนย์ CIQ ซึ่งได้แก่ การศุลกากร การเข้าเมืองและการกักกันโรค (cutoms immigration and quarantine) ขึ้นในเมืองกายู ฮิตัม (Kayu Hitam) กับอำเภอสะเดา

ทั้งสองประเทศยังได้กล่าวถึงปัญหาพลเมืองสองสัญชาติและตกลงกันว่าสองฝ่ายควรเปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐานเพื่อที่จะหาทางออกให้กับปัญหานี้

 

ในขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างมาเลเซียและประเทศไทย

รวมถึงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะทำให้ความสัมพันธ์มีความเข้มแข็งขึ้น และร่วมมือกันบนพื้นฐานความสัมพันธ์ทวิภาคีในด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน

ความร่วมมือด้านการพัฒนาสินค้าฮาล้าลและการลงทุนร่วมกันกับประเทศที่สามเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศมีความตื่นตัวมากขึ้น

รวมถึงการพัฒนากิจการเศรษฐกิจทั้งที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ สิ่งนี้มิได้เป็นการส่งเสริมความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจสำหรับประชาชนตามชายแดนเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงติดต่อกับภูมิภาคด้วย นายกฯ ของไทยกล่าว

นายกรัฐมนตรี ดะโต๊ะ ซรี นาญิบ ตุน รอซัค (Datuk Seri Najib Tun Razak) กล่าวว่า มาเลเซียและไทยได้ยืนยันถึงดินแดน 6 แห่งที่สามารถส่งเสริมความร่วมมือต่อกันได้ การส่งเสริมความร่วมมือเหล่านี้จะเน้นไปที่ อุตสาหกรรมรถยนต์ การจัดการด้านยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชายแดน ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ และการท่องเที่ยว ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกับว่าควรจะมีการพัฒนาต่อไป นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวถึงเรื่องนี้เมื่อมีการแถลงข่าวร่วมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ในขณะที่นายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือนมาเลเซียเมื่อปี 2012

ดังได้กล่าวมาแล้วในปัจจุบันมาเลเซียเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของไทยใน ASEAN โดยมีความเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 13 ในระหว่างปี 2010-2011 และมีบริษัทของมาเลเซียอยู่ราว 500 บริษัทที่ลงทุนในประเทศไทย