สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา : การเกิดนิกายครั้งแรก สงฆ์แตกเป็น2ฝ่าย เมื่อ พ.ศ.100

อาทิตย์ที่แล้วเล่าเรื่องพระเมืองโกสัมพีทะเลาะกันครั้งแรกและครั้งยิ่งใหญ่ จนแทบจะเอาไม่อยู่ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามี “ควันหลง” คือไม่มีการแตกแยกนิกาย

ความขัดแย้งกันทางความคิด ก่อรูปก่อร่างขึ้นอีกสมัยสังคายนาครั้งที่ 1 คือ เมื่อพระมหากัสสปะรวบรวมพระอรหันต์สาวก 500 รูป ประชุมทำการสังคายนาครั้งที่หนึ่งนั้น พระอานนท์ผู้ใกล้ชิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สุด และโดยเสด็จมาตลอดในวาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ได้เล่าเรื่องต่างๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสกับท่านให้พระสงฆ์ฟัง

หนึ่งในหลายเรื่องที่เล่าคือพระพุทธองค์ตรัสว่า “ต่อไปภายหน้าถ้าสงฆ์ปรารถนาจะยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้”

ที่ประชุมสงฆ์ซักถามพระอานนท์ว่า สิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใดพระพุทธองค์ตรัสบอกไหม พระอานนท์ตอบว่า มิได้บอก ที่ประชุมซักอีกว่า แล้วทำไมท่านไม่ทูลถาม พระอานนท์กล่าวว่าตอนนั้นมัวแต่กังวลใจว่าพระพุทธองค์จะจากเราไปแล้ว จะทำอย่างไร เลยไม่มีกะจิตกะใจจะซักถามเรื่องต่างๆ

ที่ประชุมสงฆ์เลยตำหนิว่าพระอานนท์ไม่รอบคอบ ไม่ตำหนิเปล่าถึงขั้นปรับอาบัติทุกกฎแน่ะครับ

เมื่อไม่ได้ความกระจ่าง พระสงฆ์ก็เลยแสดงความคิดเห็นแตกต่างกัน แบ่งเป็นกลุ่มได้ 2 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่งเห็นว่า ยกเว้นปาราชิก 4 และสังฆาทิเสส 13 นอกนั้นนับเป็นสิกขาบทเกี่ยวกับมรรยาทต่างๆ เท่านั้น เป็นสิกขาบทเล็กน้อย

เมื่อความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน พระมหากัสสปะประธานที่ประชุมจึงขอมติที่ประชุมว่าจะยกเลิกหรือไม่ เสียงข้างมากบอกว่าไม่ยกเลิก มติเสียงข้างมากนี้เรียกว่า “เถรวาท” (วาทะ หรือข้อตกลงของพระเถระทั้งหลายในที่ประชุมนั้น) ต่อมาคำนี้กลายมาเป็นชื่อนิกายหนึ่ง หลังจากมีนิกายแล้ว

เมื่อเสียงข้างมากออกมาอย่างนี้ ฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ต้องยอมรับไม่มีปฏิกิริยาอะไร

แต่ก็มี “ควันหลง” จนได้

 

ควันหลงนี้มิได้มาจากพระเถระที่เข้าประชุม มาจากพระผู้เฒ่ารูปหนึ่งนามว่า พระปุราณะ

พระปุราณะมิได้ถูกเลือกให้เข้าประชุมกับเขา ได้รับทราบมติที่ประชุมดังนั้นก็กล่าวว่า ในส่วนของตัวท่านเห็นว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธาธิบาย (คือมีพุทธประสงค์) เช่นนี้ ก็ต้องยกเลิกได้สิ

ดังเช่นสมัยพุทธกาลเมื่อเกิดข้าวยากมากแพงขึ้น พระพุทธองค์ยังทรงยกเลิกสิกขาบทบางข้อ เช่น อนุญาตให้พระสะสมอาหาร หรือหุงต้มฉันเองได้

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังมาจากพระพุทธองค์อย่างไร ก็จะยึดถือตามนั้น ไม่เชื่อมติที่ประชุม ว่าอย่างนั้นเถอะ

แต่ก็ยังไม่เกิดนิกาย มีเพียง “เค้า” ว่าจะเกิดเท่านั้น เวลาผ่านไป 100 ปี มีกลุ่มพระวัชชีบุตรเสนอให้แก้ไขสิกขาบท 10 ข้อ อันเรียกว่า

“วัตถุ 10 ประการ” คือ

1. ตะวันบ่ายคล้อยไปประมาณ 2 องคุลี ฉันอาหารได้ (เทียบประมาณบ่าย 2 โมง)

2. เก็บเกลือไว้แล้วนำมาผสมกับอาหารอื่นฉันได้

3. ฉันอาหารในวัดแล้วเข้าบ้าน เขาถวายอีกฉันอีกได้

4. วัดใหญ่มีพระสงฆ์มาก จะแยกกันทำอุโบสถก็ได้

5. เวลาทำอุโบสถ แม้ยังไม่นำฉันทะของพระรูปที่ไม่เข้าประชุมมา สงฆ์จะทำอุโบสถก่อนก็ได้

6. ข้อปฏิบัติที่อุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติปฏิบัติมา แม้จะผิดก็ควรทำตาม

7. ฉันนมสดที่ยังไม่แปรเป็นนมส้มได้

8. ฉันสุราอ่อนๆ ได้

9. ผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง) ไม่มีชายใช้ได้

10. รับเงินและทองได้

พระสงฆ์จำนวน 100 รูป ได้ประชุมสังคายนา นำเสนอข้อทั้ง 10 ประการนั้นเข้าวินิจฉัย มติส่วนมากไม่ยอมรับ แต่กลุ่มภิกษุวัชชีบุตรไม่ยอมรับมติที่ประชุม คือแพ้แต่ไม่ยอมแพ้ จะให้มีการแก้ไขสิกขาบทตามที่พวกตนเสนอให้ได้ จึงแยกตัวออกไป แสวงหาสมัครพรรคพวกได้จำนวนมากกว่าเดิมอีก ตั้งนิกายใหม่ชื่อว่า “มหาสังฆิกะ” มีจุดยืนว่า สิกขาบทใดๆ ที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

เมื่อเกิดมีนิกายมหาสังฆิกะ พระสงฆ์ดั้งเดิม ก็กลายเป็นนิกายหนึ่งนามว่า “เถรวาท” มีจุดยืนว่าสิกขาบทใดๆ ที่ตราไว้โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องไม่แก้ไข ต้องรักษาไว้ตามเดิม

พระสงฆ์ที่เคยสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่แตกก๊กแตกเหล่า ก็ได้แยกออกเป็นสองนิกาย คือนิกายมหาสังฆิกะ และนิกายเถรวาท ด้วยประการฉะนี้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.100 ถ้านับแบบพม่าและลังกาก็เป็น พ.ศ.101 ครับ