คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความยุติธรรมที่ไม่ก้าวไปไหน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ช่วงนี้ผมนอนไม่ค่อยหลับ ท้องผูก อารมณ์เสียบ่อยครั้ง ขาดสุขภาวะทั้งทางธรรมารมณ์และกามารมณ์ และเพิ่งสังเกตว่า ผมหงอกเส้นแรกเริ่มออกมาทักทายรับขวัญปีใหม่ ซึ่งไม่เหมาะควรแก่วัยสามสิบห้าปีของผมเลย

มิตรสหายหลายท่านบอกว่า คงเพราะคิดมาก และสภาพบ้านเมืองที่ชวนให้ป่วยจิตอยู่เสมอๆ และย้ำว่าใครที่สนใจบ้านเมืองหรือเสพข่าวสารบ่อยๆ ก็ล้วนป่วยไข้กายไข้ใจกันทั้งนั้น

ผมคงไม่ใช่แค่คิดมาก แต่คิดไม่ออกเสียด้วย หลายประเด็นที่เขาถกเถียงกันบางครั้งกว่าจะคิดหามุมของตัวได้ จะไปถกเถียง ตลาดก็วายเสียแล้ว

อย่างทุกครั้งที่มีอาชญากรรมร้ายแรงในบ้านเรา เสียงเรียกร้องให้ “ประหารชีวิต” จะดังขึ้นพร้อมกันทันที โดยเฉพาะในโลกออนไลน์หรือทิพยโลกเสมือนของผู้คนในปัจจุบันกาล

หลายคนเห็นว่า การประหารให้ตายตกตามกันนั้น คือความยุติธรรมที่สุด หลายเสียงเรียกร้องให้เพิ่มทัณฑ์ทรมานให้สาสม และยิ่งหลายเสียงเรียกร้องให้เพิ่มโทษตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่ความผิดเหล่านั้นล้วนมีโทษสูงสุดอยู่แล้ว

เพื่อนๆ นักวิเคราะห์ออนไลน์ของผมเห็นว่า ทั้งอาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้น รุนแรงขึ้น รวมทั้งความโกรธเกรี้ยวที่ผู้คนแสดงออกอย่างมากมายนั้น เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ในห้วงขณะที่เศรษฐกิจไม่ได้ดีดังแถลงการณ์ (แต่รัฐบาลมีเงินมากพอที่จะซื้อรถถังจากจีนและยุทโธปกรณ์ ในขณะที่น้ำท่วมภาคใต้ต้องรอคนบริจาค) และความเก็บกดทางอารมณ์มีมากอย่างที่ไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร

เมื่อมีเหตุการณ์ชวนให้โกรธเกรี้ยวสลดใจเกิดขึ้น โทสะจำนวนมหาศาลจะพุ่งไปยังจุดนั้น แต่มันเป็นโทสะชนิดพิเศษ

พิเศษเพราะเป็นโทสะที่เกิดจาก “ความดี” ที่ผู้คนพยายามสวมใส่ให้กับตนเอง และมุ่งแสวงหาความชั่วที่ควรกำจัดให้สิ้นซากไม่ว่าจะด้วยวิธีหรือความรุนแรงอย่างไรก็ตาม

 

สังคมไทยก้าวมาสู่ความเป็นสังคมที่มีความรุนแรงทางอารมณ์และการแสดงออกถึงเพียงนี้แล้ว ครับ เรายังบอกตัวเองกันอยู่ว่าเราคือเมืองพุทธครับ

เพื่อนนักวิเคราะห์ ยังคิดต่อไปอีกว่า เหตุที่ทัณฑ์ทางสังคมที่ผู้คนพยายามตัดสินกันเองในห้วงนี้มีมาก ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมในระบบไม่ทำงาน หรือทำงานไม่ถูกจุด

ที่จริงความยุติธรรมเป็นความคิดทั่วๆ ไปของทุกสังคม มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยหลักคือ การบังคับใช้กฎหรือแบ่งปันทรัพยากรและผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

และเวลากล่าวถึงความยุติธรรม ก็จะมาพร้อมเรื่องการตัดสินและลงโทษด้วย การลงโทษที่ยุติธรรมคือการลงโทษนั้นจะต้องได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด

ทีนี้ “เท่าเทียม” และ “ได้สัดส่วน” นี่แหละคือปัญหา ว่าอย่างไหนจะเรียกว่าเท่าเทียมหรือได้สัดส่วน

นั่นทำให้ผมนึกถึงระบบยุติธรรมแบบโลกโบราณ ใครสนใจกฎหมายบ้างก็จะรู้ว่า การลงโทษแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” นั้นมีมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์ฮัมมูราบี และในศาสนาตะวันออกกลางเช่นยูดาย ก็ใช้ระบบแบบนี้สืบมา

จนพระเยซูเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนตาต่อตา ฟันต่อฟัน มาสู่ “หากเขาตบแก้มซ้ายท่านจงหันแก้มขวาให้เขา…”

เพราะพระเจ้าเป็นองค์แห่งความรัก

 

ย้อนไปยังอินเดีย แนวคิดเรื่องการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันนี้ มีปรากฏเช่นกันในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ซึ่งว่าด้วยกฎเกณฑ์ของบุคคลและการปกครอง

ผมอ่านบางข้อความแล้วถึงกับสะดุ้ง เพราะช่างคล้ายกับสิ่งที่ผู้คนในปัจจุบันคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมไม่มีผิด ท่านว่า

“บุคคลฆ่าคนชั่ว และฆ่าฆาตกรไม่ว่าจะส่วนตัวหรือส่วนรวม ไม่ถือว่าก่ออาชญากรรม เพราะฆ่าคนโกรธด้วยความโกรธ เหมือนความโกรธเชื่อมด้วยความโกรธ” (มนูฉบับแปลอ้างในหนังสือของสมาคมอารยสมาช ข้อ 351)

“พวกขโมยสิ่งของโดยวิธีใดก็ตามโดยใช้มือเท้า กษัตริย์ควรตัดมือเท้าเขาเสียหรือทุบตีแขนขาให้พิการ…” (ข้อ 334)

ในโลกโบราณ แนวคิดแบบนี้คือการลงโทษที่เป็นธรรม แม้หากเราพิจารณาจากโลกสมัยใหม่จะรู้สึกว่าโหดร้าย ผมเข้าใจว่าเพราะในโลกโบราณ ยังไม่มีแนวคิดเรื่องการลงโทษ เพื่อบำบัดหรือช่วยให้เกิดการพัฒนาตนเองแล้วกลับสู่สังคมเหมือนในปัจจุบัน

ดังนั้น ความคิดเรื่องการลงโทษจึงมีเพียงการชดใช้ความผิดให้สาสมเท่าที่จะ “รู้สึก” (ว่าสาสม)

อีกทั้งวิธีการมองผู้กระทำผิดก็ต่างออกไปด้วย

 

ในสมัยก่อน คนผิดย่อมเป็นความผิดของเขาแต่เพียงคนเดียว แต่สมัยนี้มีแนวคิดเรื่อง Moral agent อย่างใหม่ คือคิดว่า บุคคลย่อมอยู่ในความสัมพันธ์และบริบทของชีวิต การที่เขาจะเป็นอย่างไรนั้นคงไม่ใช่เพราะตัวเขาอย่างเดียว แต่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมด้วย จะลงโทษเพื่อให้สาสมอย่างเดียวคงไม่ได้ เรื่องนี้คงต้องถกเถียงกันต่อ

แง่หนึ่งที่น่าสนใจ ในคัมภีร์มนูฯ กล่าวถึงการลงโทษว่า แม้จะเป็นความผิดเดียวกัน แต่หากบุคคลมีสถานภาพต่างกัน ก็ให้ลงโทษต่างกันไปด้วย เช่น บุคคลที่มีวรรณะสูงเท่าไหร่ โทษจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และหากคนเหล่านั้นเป็นผู้ปกครองเช่นมนตรีหรือกษัตริย์ โทษอาจมากกว่าคนธรรมดาถึง 20 เท่า

ดูเผินๆ เหมือนจะดีนะครับ ทำนองว่ายิ่งมียศตำแหน่งสูงเท่าใด ความรับผิดชอบยิ่งต้องมากขึ้น แต่หากมองในมุมกลับกัน ความยุติธรรมในการลงโทษนี้ก็สอดคล้องกับความยุติธรรมอีกอย่างสำหรับการมีชนชั้นในโลกโบราณ คือความยุติธรรมในการแบ่งปันทรัพยากรและจัดสรรอำนาจ

นั่นหมายความว่า สำหรับโลกโบราณที่มีชนชั้น แต่ละชนชั้นย่อมมีการได้รับการปันทรัพยากรและอำนาจที่ไม่เท่ากัน แต่สำหรับมโนทัศน์เรื่องความยุติธรรมแบบโบราณ นี่ก็คือความยุติธรรมล่ะครับ

เป็นความยุติธรรมที่ตั้งอยู่บนความไม่เท่าเทียม

 

แต่นั่นคือโลกโบราณครับ ในโลกสมัยใหม่ที่ “คนเท่ากัน” แล้วนั้น ความยุติธรรมต้องไม่เป็นอย่างอดีต หมายความว่า ต้องแบ่งปันจัดสรรทรัพยากรอำนาจเท่ากัน และเมื่อมีการกระทำผิดย่อมต้องลงโทษอย่างเสมอกันและได้สัดส่วนกับความผิด

นี่คือความยุติธรรมในความหมายอย่างใหม่ คือยุติธรรมจริงๆ สำหรับทุกคนไม่มียกเว้น

มิตรสหายบางท่านยืนยันว่า โลกตะวันตกพัฒนาความยุติธรรมเช่นที่ว่านี้ได้ ก็โดยมีฐานจากศาสนาเทวนิยม เช่น คริสต์ศาสนา ที่ทุกคนย่อมเสมอหน้ากันต่อหน้าพระเจ้า ผิดกับศาสนาในตะวันออกที่มักจะมีสถานภาพพิเศษบางอย่างสำหรับชนชั้นนำโดยมีศาสนาช่วยค้ำชูสถานภาพนั้นไว้

ผมยังไม่ปักใจเชื่อคำอธิบายนี้ทั้งหมด แต่เห็นว่าน่าสนใจดี

นอกจากนี้ สมัยที่เรียนปรัชญา ในคลาสวิชาจริยศาสตร์ นักปรัชญาสมัยใหม่ (ในความหมายทางปรัชญา) ท่านว่า การพิจารณาปัญหาทางจริยศาสตร์ คือดีชั่วถูกผิดนั้น จะเอา “อารมณ์” เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ ไม่ว่าจะโกรธ เศร้าโศก หรืออะไรก็ตาม เพราะอาจทำให้เกิดความลำเอียงในการตัดสินพิจารณา

ดังนี้ อารมณ์จึงถูกแยกออกไป และไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมสำหรับโลกสมัยใหม่

 

และประเด็นสุดท้าย ผมเข้าใจเอาเองว่า ในแนวคิดโบราณ การจะลงทัณฑ์และตัดสินได้จะต้องอ้างอำนาจศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่เหนือขึ้นไป เช่น เทพเจ้าหรือพระเจ้า ไม่งั้นคุณจะเอาอะไรมาใช้เหนือมนุษย์คนอื่น

ด้วยเหตุนี้ในมนูฯ ถึงบอกว่า “ผู้ฉลาดถือกฎหมายหรือการลงโทษว่าเป็นธรรมะหรือศาสนา” และถือว่ากษัตริย์ทรงถืออำนาจในการลงทัณฑ์จากเทพและส่งต่อมายังผู้พิพากษาอรรถคดี

ถึงขนาดแสดงไว้ว่า ใครละเมิดความยุติธรรมย่อมจะได้รับผลกรรมต่างๆ และ “ความยุติธรรมเป็นเพื่อนที่ติดตามตัวเขาไปแม้ร่างกายจะดับลง”

แม้ในปัจจุบัน ศาลจึงเต็มไปด้วยพิธีกรรมมากมายและกฎเกณฑ์ที่จะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาลไว้ แต่นั่นเป็นความศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนาครับ ซึ่งควรจะเป็นคนละความศักดิ์สิทธิ์ของศาลในโลกสมัยใหม่

ความศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียวที่ศาลควรมีในโลกสมัยใหม่นี้คือความยุติธรรม อันบังคับใช้อย่างเสมอหน้ากัน และนั่นคือ “อำนาจ” ที่แท้จริงของศาลที่จะไม่มีใคร “ละเมิด” ได้

กรณีการจับกุมและยกคำร้องขอประกันตัว “ไผ่ ดาวดิน” นักกิจกรรมเยาวชน โดยข้อพิจารณาว่า เขากำลังพยายามละเมิดท้าทายอำนาจศาล เป็นตัวอย่างที่ชวนให้กังขาต่อความศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างยิ่ง

และทำให้ผมไม่แน่ใจนักว่ากระบวนการยุติธรรมหรือความยุติธรรมในบ้านเราเดินก้าวไปไหนหรือไม่ หรือยังคงเป็นศาลยุติธรรมในโลกโบราณอยู่

ผมขอจบด้วยถ้อยคำเล็กๆ ในมนูธรรมศาสตร์ที่ว่า

“คนทั้งหมดที่อยู่ในศาลเหมือนคนที่ตายแล้ว และไม่มีใครมีชีวิตอยู่ ในเมื่อความยุติธรรมถูกทำลายสิ้นแล้วโดยความลำเอียง” (มนู 14)