กฎแห่งกรรม – กรรมตามหน้าที่ที่ให้ผล – กรรมตามเวลาให้ผล

กรรมตามหน้าที่ที่ให้ผล

ทีนี้ กรรมที่แบ่งตามหน้าที่ที่มันให้ผล กรรมบางอย่างทำหน้าที่ให้เกิด เรียกว่า ชนกกรรม นำไปเกิดเท่านั้น ทำหน้าที่พาไปเกิดแล้วก็หมดหน้าที่ คล้ายกับพ่อแม่พาลูกไปโรงเรียน เอาใส่รถเข้าไปถึงประตูโรงเรียนแล้วก็หมดหน้าที่ของพ่อแม่แล้ว พ่อแม่ก็กลับบ้าน จากนั้นเป็นหน้าที่ของครู นี่กรรมประเภทที่หนึ่ง

ประเภทที่สองคือ อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่เกื้อหนุน มันมีกรรมบางอย่างที่คอยสนับสนุนให้ดีขึ้น กรรมทำหน้าที่ให้เกิดแล้วก็มีกรรมอีกชนิดคอยสนับสนุนให้ดีขึ้น

ประเภทที่สามเรียกว่า อุปฆาตกรรม กรรมที่คอยตัดรอน อยู่ๆ ก็มีกรรมมาตัดรอน บางคนกำลังเจริญรุ่งเรือง อายุก็ไม่มาก ได้เลื่อนฐานะเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นมา เป็นที่ยอมรับในสังคม มีชื่อเสียงกำลังไปดีอยู่พอดี ตายซะนี่ ตัวทำให้ตายเรียกว่ากรรมตัดรอน

สุดท้ายคือ อุปปีฬกรรม กรรมบีบคั้นหรือกรรมที่เบี่ยงเบนทิศทางหรือทุเลาลง เช่น กรรมเดิมทำไว้หนัก แต่มีกรรมอีกอย่างหนึ่งช่วยให้ผ่อนเบาลง เป็นต้น

กรรมตามเวลาให้ผล

หมวดสุดท้าย กรรมที่แบ่งตามเวลาที่ให้ผล

กรรมบางอย่างให้ผลทันทีทันใด เขาเรียก ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม หรือกรรมทันตาเห็น

กรรมบางอย่างให้ผลในคราวต่อไป หรือในภพต่อไป ในชาติหน้าหรือคราวหน้า เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม

บางอย่างให้ผลในภพต่อๆ ไปที่ยาวนานไกล เรียก อปราปรเวทนียกรรม

และกรรมอีกอย่างหนึ่งเรียกอโหสิกรรม กรรมที่ให้ผลแล้วหรือกรรมที่ไม่มีโอกาสที่จะให้ผลได้ ก็กลายเป็นอโหสิกรรมไป มันมีกรรมบางประเภทไม่สามารถให้ผลได้ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ธรรมเนียมชาวพุทธจึงพยายามขออโหสิกรรมกัน ถ้าเผื่อเราทำพลาด ทำผิดต่อคนอื่น ถ้าเขาให้อภัยเรา กรรมนั้นก็อาจจะเลิกแล้วต่อกันไป ก็เกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นมา

เพราะฉะนั้น กรรมในความหมายของพระอรรถกถาจารย์นี่ ท่านแบ่งเป็นสิบสอง แล้วจัดเป็นหมวดสามหมวด หมวดละสี่ เป็นสิบสองข้อใหญ่ๆ

กฎแห่งกรรม

ทีนี้เรามาถึงประเด็นที่สอง พูดถึงกฎแห่งกรรม

ภาษาพระท่านเรียกว่ากรรมนิยาม

กฎแห่งกรรมนี้เป็นหลักการกว้างๆ ซึ่งเราจะต้องจำไว้ว่า หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว นี่คือกฎแห่งกรรม เป็นหลักการกว้างๆ ซึ่งบอกว่า คนเราหว่านพืชชนิดใดก็ได้พืชชนิดนั้น

เอาเมล็ดมะม่วงลงไปเพาะดินมันก็ไม่เกิดเป็นมะปรางหรอก มันเป็นมะม่วง

ต้นมะม่วงมันโตมาแล้วมันก็ให้ผลมะม่วง มันไม่ให้ผลเป็นมะยม

นี่คือกฎของธรรมชาติ หว่านพืชชนิดใด ย่อมได้ผลชนิดนั้นเป็นอุปมา

ทำดี “ย่อม” ได้ดี ทำชั่ว “ย่อม” ได้ชั่ว

เราทำกรรมชนิดใดเราก็ได้ผลของกรรมชนิดนั้น ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว นี่คือกฎของกรรม

ทีนี้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องผลของกรรมอยากจะฝากไว้เป็นข้อสังเกตว่า ที่ว่าทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่วนั้นไม่ใช่กฎตายตัว ฟังดีๆ นะครับ เดี๋ยวจะเข้าใจผิด ไม่ใช่กฎตายตัว เป็นเพียงแนวโน้ม ส่วนใหญ่ที่จะเป็นไปอย่างนั้นมากที่สุด

แต่บางครั้งอาจไม่เป็นไปตามนั้นอย่างเต็มที่ หรือไม่ให้ผลเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ฟังดีๆ นะครับ เดี๋ยวจะเกิดการเข้าใจผิดใหญ่ คือหมายความว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ท่านใช้คำว่า “ย่อม” ท่านไม่ได้บอกว่า ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ท่านใช้คำว่า “ย่อม”

ก็หมายความว่ามันเป็นแนวโน้ม 99.99% ที่เป็นไปตามนี้

เงื่อนไขของกรรม

แต่ยังมีโอกาสให้เงื่อนไขอื่นเข้ามาแทรกแซง เข้ามาเกี่ยวข้องที่ทำให้เบนทิศทางไป แทนที่จะให้ผลหนักกลับกลายเป็นผลเบา แทนที่จะให้ผลเบากลับกลายเป็นอโหสิกรรม ไม่ให้ผลไปเลยก็ได้

ผมยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่าย ผมมาที่วัดบวรฯ การมาถึงวัดบวรฯ เป็นผลของการมาของผม ผมตั้งใจจะมาวัดบวรฯ ผมขับรถมา แนวโน้มของผมนี้ 99.99% จะต้องถึงวัดบวรฯ แต่ว่ามันไม่แน่เสมอไปใช่ไหม ถ้าเผื่อว่าผมขี้เกียจไม่มาล่ะ ผมก็กลับรถไปซะ แทนที่จะมาถึงก็มาไม่ถึง

หรือไม่ก็เกิดอุบัติเหตุอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วผมก็ไม่สามารถจะมาถึงที่นี่ได้ โอกาสอย่างนั้นย่อมจะเกิดขึ้นได้แต่ว่ามันเล็กน้อย

ในเรื่องของกรรมก็เหมือนกัน ที่ว่า “ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว” นี้เป็นกฎ เป็นแนวโน้ม 99.99%

แต่ยังมีช่องให้เงื่อนไขอย่างอื่นเข้ามาเบนทิศทาง เข้ามาเปลี่ยนทิศทางได้เหมือนกัน

อันนี้ต้องเข้าใจประเด็นนี้ด้วย

ระดับของผลของกรรม

พูดถึงดี ถึงชั่ว ที่บอกว่าเป็นผลของกรรม มีอยู่ 3 ระดับ ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มีอยู่สามระดับ

ระดับสังคม

ระดับที่หนึ่งคือ ดีชั่วในระดับสังคม หมายความว่า สิ่งที่สังคมเขาคิดว่าดี เช่น ในสังคมไทย สิ่งที่สังคมคิดว่าดี เช่น ความร่ำรวย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นี่เราถือว่าดี คนทั่วๆ ไปของสังคมถือว่าดี ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ความยากจน อย่างนี้สังคมถือว่าไม่ดี ดีชั่วนี้เป็นดีชั่วระดับสังคม

ดีชั่วระดับสังคม เราไม่ถือว่าเป็นผลของกรรมอย่างแท้ ถ้าจะเรียกก็เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ ทำดีนั้นเราอาจจะได้เลื่อนยศ มันไม่ได้หมายความว่า การได้เลื่อนยศเป็นผลของการทำดี มันเป็นผลพลอยได้เท่านั้น

หรือเราทำดีเราอาจจะรวย ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรวยอย่างเดียว ทำชั่วก็รวยได้ โกงเขารวยเร็วกว่าด้วยซ้ำไป อันนี้เป็นผลพลอยได้เท่านั้นเอง

ระดับบุคลิกภาพ

ดีชั่วระดับที่สองคือ ดีชั่วระดับบุคลิกภาพ หมายความว่า กรรมที่เรากระทำลงไปนั้น มันจะสร้างเสริมบุคลิกภาพของเรา คอยฟอร์มเป็นบุคลิกลักษณะของเราเป็นอุปนิสัยของเรา ในด้านดี เช่น ความเมตตาอารี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความไม่อิจฉาริษยา ความไม่อาฆาตพยาบาท อะไรก็ตามที่มันดีๆ นั่นน่ะเราอย่าไปถือว่ามันเกิดขึ้นเองนะครับ

บางคนนิสัยเรียบร้อย พูดจาไพเราะ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

แต่บางคนนี่ตรงกันข้าม เห็นแก่ตัว อิจฉาริษยาก็ปานนั้น เห็นเพื่อนได้ดีก็ตาเขียว ตาลุกเป็นไฟ กัดฟันพูด “ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ”

ท่านคิดไหมว่า อยู่ๆ มันเกิดขึ้นมาเองหรือ ไม่หรอกครับ เป็นผลของการกระทำที่เราสร้างสมอยู่ตลอดเวลา

อย่างคนพูดเท็จหรือพูดคำหยาบ เจอหน้าก็ไอ้เห… ไอ้ห่า… คุยกันนี่สัตว์เดรัจฉานวิ่งกันยั้วเยี้ยไปหมด นั่นแหละ คนที่มีบุคลิกอย่างนั้นมีอุปนิสัยอย่างนั้น เพราะกรรมเขากระทำ เขาสะสมมาอย่างต่อเนื่อง พูดคำหยาบบ่อยๆ ผลสุดท้ายก็กลายเป็นคนพูดคำหยาบ

ชอบนินทาบ่อยๆ ชอบว่าคนอื่นบ่อยๆ ผลที่สุดก็กลายเป็นคนขี้นินทา นั่งก้นยังไม่ทันร้อนเลยก็นินทาฉอดๆ ไม่ได้พูด ไม่ได้นินทาใครรู้สึกมันจะกินข้าวไม่ลง อันนี้เป็นผลของกรรมละครับ กรรมคือการกระทำ เราสะสมมาทีละน้อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นบุคลิกลักษณะของเรา

เพราะฉะนั้น ผลในระดับนี้เรียกว่าระดับบุคลิกภาพ มองเห็นได้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มองเห็นได้ชัด

ระดับพื้นของจิต

ระดับที่ละเอียดที่สุด ระดับสุดท้าย คือ ระดับพื้นของจิต ระดับที่เป็นคุณภาพของจิต กรรมแต่ละอย่างที่เรากระทำลงไปมันสั่งสม มันประทับลงในจิตของเรา สั่งสมเป็นคุณภาพของจิต เป็นคุณภาพของจิตทั้งฝ่ายดีทั้งฝ่ายชั่ว

ถ้าเราทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าดีจิตของเรานี้จะละเอียด สะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น ถ้าเราทำอะไรบ่อยๆ ในด้านไม่ดีจิตของเราก็จะหยาบขึ้นสกปรกขึ้น อันนี้เรามองไม่เห็น แต่ถ้าพิจารณาดีๆ เราสามารถเห็นได้

ยกตัวอย่างเช่น แก้วน้ำ ถ้าเป็นน้ำใสๆ เราเอาหมึกสีดำหยดลงไปสักหยดหนึ่งน้ำนี้ก็จะกลายเป็นสีดำ ถ้าน้ำใสๆ เราเอาหมึกแดงหยดลงไปน้ำจะกลายเป็นสีแดง พื้นของจิตเราเดิมก็ใสสะอาด ท่านเรียกว่าจิตปกติใสสะอาดเหมือนผ้าขาว แต่ผ้าขาวจริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสะอาด จริงๆ มันก็สกปรก จิตที่เหมือนผ้าขาวไม่ได้หมายความว่า จิตที่ปราศจากกิเลส มันมีอยู่ แต่มันมีไม่มากนัก

ถ้าเราทำอะไรลงไป ถ้าเป็นฝ่ายดีมันก็จะประทับลงในพื้นของจิต ถ้าเป็นฝ่ายชั่วมันก็จะประทับลงพื้นของจิต จิตจะสะอาดหรือสกปรก ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราที่เราทำแต่ละครั้งๆ พอนานๆ เข้ามันก็จะออกมาเป็นบุคลิก เป็นนิสัยของเรา

อันนี้ถ้าเรามองไม่ดีอาจไม่เห็น

จน-รวยเป็นเพียงผลพลอยได้ของกรรม

ทําดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริงๆ แล้วพระพุทธศาสนานั้นท่านหมายเอาระดับพื้นของจิตกับระดับบุคลิกภาพเท่านั้นเอง ส่วนที่เป็นระดับสังคมถือว่าเป็นเพียงผลพลอยได้ของการทำดีทำชั่วเท่านั้นเอง ไม่ถือว่าเป็นผลที่แท้จริงของกรรม

อันนี้ต้องเข้าใจนะ เพราะคนส่วนมากเดี๋ยวนี้มักเข้าใจผิดๆ ว่าทำดีทำไมไม่เห็นได้ดี ทำดีแทบตายแต่ไอ้คนนั้นมันทำชั่ว มันรวยเอาๆ ไอ้ความรวยไม่ได้เป็นผลโดยตรง ทำดีก็รวยได้

เช่น รักษาศีล 5 พ่อค้าที่รักษาศีลข้อ 4 ไม่พูดปดเลย รวยได้เหมือนกันในระยะยาว เพราะคนเขาเชื่อถือ

แม่ค้าขายผลไม้สมมุติว่าหลอกเขาอยู่เรื่อยๆ เขาก็บอกใครต่อใครว่าอย่าไปซื้อเจ้านั้น มันโกง ซื้อแล้วก็เอาผลไม้เน่าๆ ใส่ไว้ข้างล่าง ผลที่สุดคนนั้นก็ไม่เจริญ

แต่ถ้าบอกตรงๆ ว่า สินค้าอันนี้ซื้อมา 10 บาท ขอกำไรสักหนึ่งบาทเถอะคุณ ต้นทุนมันสิบบาทแล้ว ก็ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ลูกค้าก็ไว้ใจ เจอใครก็แนะนำให้ไปซื้อเจ้านั้น

เพราะฉะนั้น คนที่มีศีลมีสัตย์ มีศีลข้อ 4 ค้าขายก็เจริญ ร่ำรวยได้

คนที่มีศีลบริบูรณ์ ศีลทั้ง 5 ข้อ ทำมาค้าขึ้นก็รวยได้เหมือนกัน คนที่โกงก็รวยได้เหมือนกัน รวยเร็วด้วย เพราะฉะนั้น ความรวยความจนไม่ถือว่าเป็นผลโดยตรงของกรรม ทำดีได้ดี หมายถึงทำดีได้ความดี ไม่ใช่ทำดีได้ของดี

ต้องแยก ความ กับ ของ ให้ออก