ฉัตรสุมาลย์ : กระจกสองบาน

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา (2559) มีคณะมังสวิรัตินานาชาติมาเยี่ยมที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ค่อนข้างเป็นเหตุการณ์ปกติ กลุ่มนี้จะจัดลูกทัวร์มาเมืองไทยเป็นประจำในช่วงเทศกาลกินเจ ได้แวะเข้ามาหลายปีติดต่อกัน

หลังจากชมวัตรแล้ว ก็จะขอเวลาพูดคุยกับภิกษุณีธัมมนันทาสัก 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการถวายสังฆทาน แล้วจึงลากลับ

บางปีการพูดคุยก็สนุก บางปีก็ งั้น งั้น เพราะเป็นการสนทนาแบบเปิดให้ถามคำถาม เป็นสิ่งที่เขารู้เห็นมาในเมืองไทย ที่ไม่มีใครอธิบายให้เขาฟังได้

คำถามหนึ่งที่สตรีชาวอังกฤษถาม คือ ท่านคิดอย่างไรจึงออกบวช

ตรงนี้ ผู้เขียนก็คิดว่าน่าสนใจที่จะนำมาถ่ายทอด เพราะท่านก็ตอบมาหลายครั้งเต็มที แต่คราวนี้ มีการเชื่อมโยงเรื่องกระจกสองบานที่ผู้เขียน ที่ทำหน้าที่บันทึกงานของท่านไปด้วยในตัว รู้สึกว่า มีแง่มุมการมองใหม่มากขึ้น

ท่านยืนยันว่าท่านไม่ได้คิดจะบวช ตอนที่มารดาของท่าน ซึ่งเป็นภิกษุณีชาวไทยรูปแรกที่ออกบวชมาตั้งแต่ พ.ศ.2514 เมื่อมารดาของท่านเริ่มมีอายุมากขึ้น ผู้คนรอบข้างก็ตั้งคำถามว่า ใครจะรับงานสืบต่อจากท่าน ทุกคนก็ชี้มือมาที่ ดร.ฉัตรสุมาลย์ ซึ่งเป็นธิดาของท่านว่าจะรับช่วงงานนี้

ท่านอธิบายว่า การจะใช้ชีวิตนักบวชนั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องการอุทิศชีวิตทั้งชีวิต ตัวเองจะต้องเลือกเอง ตัวเองต้องมีความพอใจเอง จะทำเพียงเพราะคนอื่นๆ เห็นว่าเหมาะว่าดี ไม่น่าจะใช่

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2543 ปีนั้น ตรงกับปี ค.ศ.2000 จำง่ายดีค่ะ ในโลกของข่าวสารเราก็จะได้ยินคำว่า millennium หรือ สหัสวรรษ ทั้งสองภาษาล้วนเป็นคำใหม่ ที่เราไม่เคยใช้ จะใช้ต่อเมื่อเปลี่ยนพันปีใหม่ ไม่ใช่ว่าจะมาถึงได้บ่อยๆ เมื่อไหร่

ท่านคิดว่าน่าจะทำอะไรที่มีนัยยะสำคัญกับชีวิตในปีนี้แหละ ท่านก็ออกไปรับศีลโพธิสัตว์ที่ไต้หวันเดือนเมษายน

ในช่วงกลางปีนั้นเอง ที่มีเรื่องที่ผกผันชีวิต

เริ่มต้นในห้องน้ำ ขณะที่กำลังแต่งหน้าอยู่ เมื่อแต่งหน้าเสร็จ ท่านเล่าว่า เหมือนกับท่านถามคนในกระจก หรืออีกนัยหนึ่ง ภาพสะท้อนของตัวท่านเองในกระจกว่า How long do I have to do this?” ฉันจะต้องทำอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไร

นั่นเป็นเรื่องของกระจกบานแรก

พอมีคำถามเช่นนั้นเกิดขึ้น ท่านบอกว่า รู้เลยว่า เป็นจุดที่ต้องวางจากวิถีทางโลกย์ นับแต่การแต่งหน้านั่นทีเดียว

ช่วงนั้น ท่านยังทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนปรัชญาศาสนาในระดับปริญญาตรี และสอนพุทธศาสตร์ศึกษาในระดับปริญญาโท นอกจากนั้น ยังมีงานบริหารที่ท่านเป็นประธานศูนย์อินเดียศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ด้วย

ปีนั้น ศูนย์อินเดียศึกษาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติรามายณะ เสร็จวันที่ 8 ธันวาคม 2543 ท่านสนุกกับการจัดงานครั้งนั้น ในวันสุดท้ายก็ได้บอกลาแขกที่มาร่วมงาน ยังความประหลาดใจไปตามๆ กัน ว่าท่านจะออกไปบวช

วันที่ 9 ธันวาคม เมื่อพ้นภาระงานประชุมแล้วท่านยังมาทำงาน แต่วิรัติตนเอง ถือศีล 8 ทันที แปลว่าไม่แต่งหน้าทาปากอีกต่อไป ท่านมาทำงานที่ธรรมศาสตร์จนสิ้นปี แล้วจึงลาออก

อาจารย์ต่างคณะพอเห็นเดินมา บางคนเลี่ยงไปคนละทางเลย เพราะไม่รู้ว่าท่านเพี้ยนไปหรือเปล่า

ช่วงต้นปี 2544 เป็นช่วงของการตัดสินใจว่าจะบวชในสายไหน ตอนนั้น ปี 2544 มีการบวชสามเณรี ในสามนิกาย คือมหายาน ไปบวชที่ไต้หวัน ในสายมูลสรวาสติวาท คือสายวัชรยาน ซึ่งก็จะสะดวกเพราะมีความคุ้นเคยกับสายวัชรยานมาก องค์ทะไลลามะท่านก็รู้จักดี แต่สายวัชรยานนี้ จะไปตันตรงที่มีการบวชสามเณรีแต่ไม่มีการอุปสมบทเป็นภิกษุณี ถ้าบวชสามเณรีกลับมาใส่จีวรสีเปลือกมังคุด เดี๋ยวอีกสองปี กลับไปบวชในสายเถรวาท กลับไปใส่จีวรสีน้ำตาล พอดีคนไทยที่ยังสับสนงุนงงอยู่แล้ว ยิ่งสับสนงุนงงหนักขึ้น

ในที่สุด สายสุดท้าย คือสายเถรวาทที่เพิ่งเริ่มบวชกันในศรีลังกาตั้งแต่ พ.ศ.2541 เป็นทางเลือกที่ลงตัวที่สุด

คุณพิมพ์พัณธุ์ เป็นผู้ที่ถวายจีวรผืนแรก สีน้ำตาลแดง เป็นสีที่หลวงปู่ธัมมโลก ซึ่งเป็นผู้ที่จัดการบรรพชาให้ใส่

จัดการบรรพชาที่วัตโปทานรามยะ อยู่ใกล้ เม้านต์ลาวิเนีย ในกรุงโคลัมโบ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544

จริงๆ แล้วท่านตั้งใจไปบวชให้ตรงกับวันมาฆบูชา ปีนั้น ตรงกับวันที่ 9 แต่วันมาฆบูชานิมนต์พระยาก เพราะทุกรูปก็จะมีภาระที่วัดของตัวเอง ตกลงต้องขยับขึ้นมาเป็นวันที่ 7 กุมภาพันธ์

คุณรันชนี เดอ ซิลวา ชาวศรีลังกาที่รู้จักกับท่านตั้งแต่ พ.ศ.2534 เป็นคนดูแลจัดการเตรียมของในการบวชทั้งหมดให้

ท่านผู้อ่านจะแปลกใจไหมว่าท่านไปบวชทั้งที ท่านเดินทางไปคนเดียว ทำไมจะสิ้นไร้ไม้ตอกถึงขนาดนั้น ถามท่าน ท่านทำหน้างงอยู่ ท่านว่า ก็เราจะบวชแล้วจะไปเป็นภาระให้คนอื่นทำไม

เออ นี่ก็เป็นวิธีคิดนะคะ

ท่านปลงผมที่ศากยะธิดา ศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ท่านเองไปช่วยจัดงานประชุมศากยะธิดาตั้งแต่หลายปีก่อนหน้านั้น

ท่านปลงผมที่ใต้ต้นบุนนาค หลวงปู่ธัมมโลก ท่านก็เรียกแล้วเรียกอีกว่า ต้นโพธิ์

มันจะเป็นต้นโพธิ์ได้ยังไง ก็มันต้นบุนนาคชัดๆ ถ่ายรูปมายังมีดอกบุนนาคเลย

เมื่อถามท่าน หมายถึงหลวงปู่ ท่านอธิบายว่า ไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นนั้น แล้วท่านตรัสรู้ เรียกว่า ต้นโพธิ์ทั้งสิ้น หมายถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ตั้ง 28 พระองค์โน่น

เราจึงได้ถึงบางอ้อ ผู้น้อยขออภัย สมจริงแล้วที่ว่า ความโง่มาก่อนความฉลาด

ตอนปลงผมก็มีเรื่องตื่นเต้น ท่านสัทธา สุมนา ที่เป็นพระอาจารย์ฝ่ายภิกษุณีให้นั้น ก็เพิ่งรู้จักกันวันนั้นนั่นแหละ ท่านเอากรรไกรตัดผม กรรไกรก็แสนทื่อ ตัดเอาหนังศีรษะแหว่งจนได้เลือด ภิกษุณีที่ช่วยปลงผมรีบเอายามาอุดสมานแผล คือ ยาสีฟันค่ะ

ท่านก็นั่งนิ่ง คงได้ปลงว่า มารเขาก็มาตามทวงจนถึงที่สุดเลยนะ ไม่ว่ากัน

ก่อนจะเข้าโบสถ์เพื่อทำพิธีบวช หลวงปู่ธัมมโลก ท่านเรียกให้ออกไปชักธง แสนงง เพราะไม่เคยได้ยินว่า งานบรรพชาจะมีการชักธง หลวงปู่ว่าท่านธัมมนันทากำลังทำหน้าที่แบบเดียวกับพระนางสังฆมิตตาที่นำพระศาสนาจากอินเดียไปศรีลังกา คราวนี้ ท่านธัมมนันทาจะนำการบวชของภิกษุณีจากศรีลังกากลับไปประเทศไทย ได้ชักธงชาวพุทธที่เป็นฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้าคราวนี้เอง

ท่านมีภิกษุมหาเถรนิกายสยามวงศ์บวชให้ 5 รูป มีประกาศนียบัตร ชัดเจนว่าได้รับบรรพชาเป็นสามเณรี

คุณรันชนี เป็นโยมถวายบาตร เป็นบาตรพม่าค่ะ

หลังจากบวชแล้ว ก็งงอยู่ แล้วแต่คุณรันชนีจะแนะนำให้ไปทางไหน วันนั้น ต้องเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระทั้งวัด

แล้วก็ต้องไปต่อแถวภิกษุณีนั่งเป็นคนสุดท้าย ฉันอาหารที่เขามาถวายในบาตรอย่างงงๆ

เสร็จแล้ว ถ่ายรูปหมู่กับพระอาจารย์ทั้งหมดที่มาบวชให้

รูปนี้สำคัญต้องเอากลับมาพิสูจน์กับทางไทยด้วย

ตอนบ่ายกลับไปนอนที่ศูนย์ศากยะธิดา

ท่านเล่าว่าหลับสนิทแบบลืมภพลืมชาติ

ตอนตื่นขึ้นมาประมาณบ่าย 4 โมง เข้าห้องน้ำ ที่อยู่ติดกับห้องนอน เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นหน้าตัวเองที่กระจกเหนืออ่างล้างมือ

แทนที่จะรู้สึกประหลาดใจกับหัวตุ๊งเหน่งที่เพิ่งปลงผมเมื่อเช้า ท่านพูดกับภาพสะท้อนของคนที่ท่านเห็นในกระจกว่า I know you ฉันรู้จักเธอนะ

แปลกไหมคะ

ท่านเชื่อเลยว่า ท่านต้องเคยบวชมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณี ท่านมีความคุ้นเคยกับสภาพของนักบวชมาก

ชีวิตทางโลกที่ทะเยอทะยานไขว่คว้า มาถึงจุดที่อิ่มตัว ท่านว่า ใช่เลย นี่เป็นสิ่งที่ท่านแสวงหา นี่เป็นชีวิตที่ท่านต้องการที่จะเดินบนเส้นทางสายนี้

เรื่องราวของกระจกสองบาน มีประมาณนี้

ถ้ามีบานที่สาม จะนำมาเล่าให้ฟังอีกค่ะ