คนของโลก : นีล กอร์ซัช ผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ของสหรัฐ

นีล กอร์ซัช (ซ้าย) กับโดนัลด์ ทรัมป์ / REUTERS/Kevin Lamarque

“นีล กอร์ซัช” สาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา กลายเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนที่ 9 ที่จะถ่วงดุลให้แนวคิดขวาจัดในบรรดาผู้พิพากษา 9 คน มีน้ำหนักมากขึ้น

“กอร์ซัช” ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ เข้านั่งแทนที่ในตำแหน่งของ “แอนโทนิน สกาเลีย” ผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ทำให้เวลานี้ผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมจะมีมากกว่าที่ 5 คนต่อ 4 คน

กอร์ซัช ในวัย 49 ปี เข้ารับตำแหน่งที่จะต้องอยู่ไป “ตลอดชีวิต” ด้วยการสร้างสถิติเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 25 ปี

กอร์ซัช ผู้ที่หลายคนรู้จักกันว่ามีความสุภาพอ่อนน้อม เป็นผู้พิพากษาที่ตีความตามตัวบทกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายโดยไม่มีแนวคิดสมัยใหม่มาเกี่ยวข้อง เป็นผู้ที่ปกป้องบทบาทของศาสนาในสังคมอเมริกัน

และมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

AFP PHOTO / Brendan SMIALOWSKI

ชายผู้มีบ้านเกิดในรัฐโคโลราโด จบการศึกษาจากบรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำใน “ไอวีลีก” อย่างโคลัมเบีย และฮาร์วาร์ด เป็นผู้พิพากษาประสบการณ์สูงจากศาลอุทธรณ์เขต 10 ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด

แม้ว่ากอร์ซัชจะยืนยันกับวุฒิสภาสหรัฐระหว่างการพิจารณาเพื่อรับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐว่า ตนต่อต้านอิทธิพลทางการเมืองทุกรูปแบบ และยืนยันด้วยว่า จะไม่ลังเลที่จะตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับ “ทรัมป์” เองก็ตาม

ทว่า แนวคิดในมุมมองเอียงขวาของ “กอร์ซัช” นั้นก็เป็นที่รับรู้กันดี โดยเฉพาะในกลุ่มอนุรักษนิยม หนึ่งในนั้นคือกลุ่ม “สมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ” ที่ยอมใช้เงินถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐไปโฆษณาล็อบบี้ให้กับ “กอร์ซัช”

นอกจากนี้ กอร์ซัชยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเอียงขวาต่างๆ เช่น กลุ่ม “เฟเดอรัลลิสต์โซไซตี” และกลุ่ม “เฮอริเทจฟาวน์เดชั่น” ที่สนับสนุนวิวัฒนาการกฎหมายสหรัฐให้เป็นไปในทางอนุรักษนิยม

 

ผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ ยังมีผลงาน “หนังสือ” ที่มีเนื้อหาโต้แย้งการทำการุณยฆาตทั้งในทางจริยธรรมและในทางตัวบทกฎหมาย และให้การสนับสนุนบริษัทที่ปฏิเสธที่จะให้สวัสดิการคุมกำเนิดกับพนักงาน ตามนโยบาย “ปฏิรูประบบประกันสุขภาพ” ของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ด้วย

ประวัติส่วนตัวของกอร์ซัช เป็นที่ชัดเจนว่าจะได้รับการยอมรับจากผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งในจำนวนนั้นเปรียบเทียบกอร์ซัชเป็นเหมือนกับ “สกาเลีย” ผู้พิพากษาผู้ล่วงลับ อดีตเจ้าของเก้าอี้ที่ “กอร์ซัช” กำลังจะไปแทนที่

อย่างไรก็ตาม ด้านสมาชิกพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ประวัติการตัดสินคดีความของ “กอร์ซัช” ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์กับฝั่งที่มีอิทธิพลมากกว่า

อย่างที่เกิดขึ้นในปี 2009 กอร์ซัชตัดสินคดีเข้าข้างเจ้าของบริษัทที่ไล่ลูกจ้างออก เหตุเพราะทิ้งสิ่งของบรรทุกท่ามกลางอุณหภูมิติดลบกลางทาง โดยพนักงานคนดังกล่าวตัดสินใจปลดรถบรรทุกพ่วงออกและขับหัวรถบรรทุกไปหาที่พักบรรเทาความหนาวหลังรอความช่วยเหลืออยู่นานหลายชั่วโมง

กอร์ซัชระบุว่า ตนยังคงกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดอย่างรัฐโคโลราโดอยู่บ่อยๆ ที่ซึ่งตน ภรรยา และลูกสาวสองคนเลี้ยงม้า ไก่และห่าน และเป็นที่ที่กอร์ซัชชอบที่จะกลับไปตกปลาอยู่บ่อยๆ

การเสนอชื่อ “กอร์ซัช” ของทรัมป์นั้นนับเป็นการส่งข้อความถึงประชาชนใน “ฟลายโอเวอร์สเตต” ที่ทรัมป์หาเสียงไว้ว่าจะต้องไม่ถูกลืม เหตุเพราะเป็นรัฐตอนกลางของสหรัฐที่ไม่ได้เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวอย่างในชายฝั่งตะวันตกและตะวันออก และกอร์ซัชก็กลายเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดเพียงคนเดียวที่มาจากรัฐในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม กอร์ซัช ผู้ที่เกิดในครอบครัวร่ำรวย ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับรัฐทางตะวันออก เพราะกอร์ซัชย้ายมาอยู่รัฐวอชิงตันตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น หลังแม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการ “สำนักงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี “โรนัลด์ เรแกน”

กอร์ซัชจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในมหานครนิวยอร์ก และได้รับปริญญาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนจะข้ามไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

กอร์ซัชรู้จักอาคารศาลสูงสุดสหรัฐเป็นอย่างดี เหตุเพราะเคยทำงานเป็นพนักงานศาลให้กับอดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดอย่าง “ไบรอน ไวต์” ผู้ล่วงลับ และผู้พิพากษาศาลสูงสุดอย่าง “แอนโทนี เคนเนดี้” วัย 80 ปีที่ปัจจุบันจะกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานของกอร์ซัชด้วย

หลังงานพนักงานศาล กอร์ซัชได้งานเป็นทนายความที่บริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งในรัฐวอชิงตัน ก่อนได้งานในกระทรวงยุติธรรมสหรัฐในยุคประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และก็เป็นประธานาธิบดีบุชเองที่เสนอชื่อกอร์ซัชนั่งเป็นผู้พิพากษาในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ก่อนได้รับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดในปัจจุบัน