นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนตำบลนาคูณใหญ่ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลนาคูณใหญ่

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เวลา 11.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนตำบลนาคูณใหญ่ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลนาคูณใหญ่ จากนั้น ในเวลา 14.30 น. ตรวจติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนงานนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมมอบนโยบายการทำงานให้แก่ หัวหน้าส่วนราชการ ท้องถิ่นจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอ และผู้บริหารองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ณ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม และในเวลา 17.00 น. ตรวจเยี่ยมจุดฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ณ เทศบาลเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม

นายสุทธิพงษ์ ได้ฝากถึงหัวหน้าส่วนราชการ ท้องถิ่นจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอ และผู้บริหารองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นว่า เกี่ยวกับการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ที่มีหน้าที่ในการสำรวจและลงทะเบียนรับเรื่องขอความช่วยเหลือของประชาชน มีช่องทางรับเรื่องขอความช่วยเหลือของประชาชนในรูปแบบที่หลากหลาย มีฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (หน่วยเคลื่อนที่เร็ว) ที่สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีและรวดเร็ว รวมถึงรวบรวมข้อมูลของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือเดือดร้อนมาเป็นเวลานาน มานำเสนอต่อคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำหรับศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สถานที่กลาง) ก็จะเป็นการทำงาน ในลักษณะของหน่วยบูรณาการการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาพรวม โดยเชื่อมต่อกับจังหวัดและส่วนกลาง เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการช่วยเหลือประชาชนและเป็นการเพิ่มช่องทางในการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้มีที่พึ่งพิงสามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือได้อีกช่องทางหนึ่ง

ทางด้านการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า แนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ถือได้ว่าเป็นมาตรการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องประชาชน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเงินสะสมไปใช้จ่ายได้ตามอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริการชุมชนและสังคม กิจการที่เพิ่มพูนรายได้ หรือเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน ให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือในเวลาที่รวดเร็ว เศรษฐกิจในจังหวัดก็จะมีการขยายตัวเพิ่มอีกด้วย

สำหรับนโยบายที่ถือได้ว่าเป็นวาระแห่งชาติ นั่นคือด้านการบริหารจัดการขยะ เพราะปัญหาขยะมีความรุนแรงและเรื้อรังมาเป็นเวลานาน จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อน ช่วยกัน Change For Good เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่ดี ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือส่งผลต่อสภาวะอากาศ (ปรากฏการก๊าซเรือนกระจก) ซึ่งกรมฯ หวังว่า อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ในทุกๆพื้นที่ จะสามารถเป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในครอบครัว ชุมชน ตำบล และหมู่บ้าน ในการมีส่วนร่วมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเริ่มจากการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในวัยเด็ก ให้มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รวมถึงเรื่องระเบียบของอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ที่กำลังอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ ก็จะส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดำเนินการในด้านการสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ในเรื่องของการบริหารจัดการขยะ ก็ต้องขอขอบคุณ ท่าน ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ช่วยขับเคลื่อนวาระของชาติในเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมมาก

ยิ่งขึ้น นั่นคือด้านการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง คือ ครัวเรือน โดยการคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ซึ่งท่านได้เชิญชวนให้กรรมการแม่บ้านมหาดไทย 17 จังหวัดภาคเหนือ ช่วยจัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน” เพื่อหมักเป็นปุ๋ยภายในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด และนำหลักการ 3Rs หรือ 3ช : Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะต้นทาง และเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น กรมฯ ก็ได้ขอความกรุณาผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดพิจารณาดำเนินการขอความร่วมมือข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ มาร่วมกันจัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน” ในครัวเรือนของตนด้วย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือน ร่วมมือกันจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน โดยใช้จุดพื้นที่ที่ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชนได้จัดทำไว้ นำไปเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์และขยะเปียก

ในด้านการประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วาระผู้บริหารท้องถิ่น หรือหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่างกฎหมายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนเมษายนนี้ และนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาอนุมัติในหลักการและตรวจร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในช่วงเดือนกรกฎาคมต่อไป

และในตอนท้าย นายสุทธิพงษ์ได้กล่าวถึง การดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าว่า กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายฉบับได้กำหนดอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและระงับโรคติดต่อ หรืออำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุขไว้อย่างชัดเจน องค์กร

ปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคติดต่อตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และยังได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยบรรจุหรือปรับแผนพัฒนาท้องถิ่นสี่ปี ให้มีโครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และตั้งงบประมาณการดำเนินงานโครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าไว้ในหมวดค่าใช้สอย ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์จรจัดและสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์นั้น หมายรวมถึงสัตว์ที่สามารถเป็นพาหะของเชื้อพิษสุนัขบ้าทุกชนิด ทั้งแมว และสุนัข กรณีได้รับเงินอุดหนุนตามโครงการฯ ไม่เพียงพอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังสามารถใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองได้ด้วย