เผยแพร่ |
---|
“เจ้าคุณธรรวัตร” นำทำพิธีบวงสรวงฤกษ์และเทวดาอารักษ์ครูช่าง เพื่อเริ่มสร้างเสาหงส์ และตุงหลวง วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ทดแทนของโบราณ เพื่อเป็นพุทธบูชา
วันที่ 14 มีนาคม 2568 (ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4) เวลา 09.49 น. พระราชนันทวัชรบัณฑิต, รศ.ดร. รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง เป็นประธานพิธีบวงสรวงฤกษ์และเทวดาอารักษ์ครูช่าง (พระวิษณุกรม) เพื่อเริ่มสร้างเสาหงส์ และตุงหลวง วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง อ.ภูเพียง จ.น่าน โดยมี คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน ร่วมประกอบพิธี
พระราชนันทวัชรบัณฑิต, รศ.ดร. เผยว่า คณะสงฆ์จังหวัดน่าน และวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ได้มีดำริในการสร้างเสาหงส์และตุงหลวง ขึ้นมา ทดแทนของโบราณที่สูญสลายหายไป ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จากโยม ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ และโยมสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 40 บริจาคเงินการสร้างเสาหงส์และตุง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นแหล่งเรียนรู้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยว ผู้เดินทางมาเยือนเมืองน่าน
พระราชนันทวัชรบัณฑิต, รศ.ดร. กล่าวว่า วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง เป็นที่ประดิษฐานองค์พระพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง อันเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของเมืองน่าน เป็นที่เคารพนับถือสักการะบูชาของพระพุทธศาสนิกชนมาแต่โบราณ และยังมีปูชนียสถานที่สำคัญ เช่น พระวิหารหลวง พระเจ้าอุ่นเมือง พระเจ้าล้านทอง วิหารพระนอน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เจ้าผู้ครองนครน่าน และสาธุชนบรรพบุรุษในอดีตได้สร้างเป็นอนุสรณ์แสดงความศรัทธาปสาทะต่อพระพุทธศาสนา และองค์พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง และยังแสดงถึงคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม อันเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบทอดให้เป็นสมบัติของชาติต่อไป
พระราชนันทวัชรบัณฑิต, รศ.ดร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตุง เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องหมายของบุญกุศลที่พุทธศาสนิกชนชาวล้านนานิยมสร้างถวายเป็นพุทธบูชา มีหลายขนาดและหลายรูปแบบ โดยตุงประเภทหนึ่งที่เป็นของหาได้ยาก และมักจะพบในวัดหรือศาสนสถานที่สำคัญ คือ “ตุงหลวง” ซึ่งทำจากวัสดุที่มีมีค่า และมีขนาดใหญ่ มักจะทำคู่กันกับเสาหงส์ ตั้งประดับถวายเป็นพุทธบูชาหน้าศาสนสถาน ซึ่งจากหลักฐานภาพถ่ายโบราณ ปรากฏ ตุงหลวงเสาหงส์ จำนวน 1 คู่ หน้าทางขึ้นวัดพระธาตุแช่แห้ง บริเวณด้านท้ายขดหางพญานาคราช มีลักษณะเป็นเสาสูง ด้านบนประดับด้วยหงส์และฉัตร เป็นสัญลักษณ์แสดงคุณค่าต่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวล้านนาที่มีต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง