เผยแพร่ |
---|
วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างความเสียหายและความสูญเสียในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในความท้าทายที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจ คือการวางแนวทางการปรับตัวของเมืองต่างๆ ให้พร้อมรองรับต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
เพื่อสร้างเมืองที่สวยงามและสมบูรณ์แบบอย่างยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันผังเมืองโลก เรื่อง “Urban Solution for Climate Crisis : เมืองเพื่อการรองรับวิกฤตภูมิอากาศ” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพมหานคร โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนแนวคิด เพื่อเป็นเวทีการขับเคลื่อนงานด้านการผังเมือง และเปิดมุมมองใหม่ๆ ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาเมืองไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนและผันผวนอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ประเทศสเปน ที่เผชิญวิกฤต DANA หรือประเทศไทย ที่เจอกับวิกฤตน้ำหลากในจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของไฟป่า ซึ่งส่งผลให้พี่น้องประชาชนต้องเผชิญกับหมอกควันจากฝุ่นละออง PM 2.5 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง แต่ยังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“วันนี้เรามาร่วมกันออกแบบเมืองที่น่าอยู่ให้กับพี่น้องประชาชน เป็นโอกาสดีที่เราได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ ร่วมกัน กรมโยธาธิการและผังเมืองเริ่มมีความตื่นตัวในการวางผังเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มปอดให้กับคนเมือง ขับเคลื่อนภารกิจของกรมฯ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ฉะนั้น การวางผังเมืองจึงมีความสำคัญมาก เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่มีความสุข แต่ต้องมีความปลอดภัย เพราะผลกระทบไม่ใช่แค่ต่อชีวิตความเป็นอยู่ แต่เป็นภาพรวมในเรื่องระบบเศรษฐกิจต่างๆ
“ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะมาร่วมกันออกแบบเมืองที่มีคุณภาพ มีความยั่งยืนทางระบบนิเวศ เพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ เหล่านี้ไปสู่อีกเจเนอเรชัน ให้เขามองย้อนกลับมาและรู้สึกขอบคุณพวกเราที่อยู่ตรงนี้ที่ช่วยกันออกแบบผังเมืองดีๆ ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี” รมช.มท. กล่าว
ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เผยว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการจัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันผังเมืองโลก อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผังเมือง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการผังเมือง โดยมุ่งเน้นการพัฒนางานผังเมืองให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย
สำหรับการจัดงานในวันนี้กำหนดจัดขึ้นในหัวข้อ Urban Solution for Climate Crisis : เมืองเพื่อการรองรับวิกฤตภูมิอากาศ เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้เผชิญภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเกิดจากความผันแปรตามธรรมชาติหรือกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเมืองที่ประชาชนอาศัยอยู่
“การสัมมนาในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการวางแผนและออกแบบเมือง โดยเป็นการเพิ่มศักยภาพของชุมชนเมืองและสร้างความเข้มแข็งด้านการรับมือของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การพัฒนาเมืองที่มีความเท่าเทียมครอบคลุมคนทุกระดับ”
ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยา กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้บรรยายในหัวข้อ ‘วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis)’ โดยให้ข้อมูลว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นนับตั้งแต่ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยประมาณปี 1950 พบว่าแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ยืนยันว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิดจาก ‘คาร์บอนไดออกไซด์’ มาจากการศึกษาข้อมูลแกนน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ โดยดูปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศและตกสะสมในน้ำแข็ง พบว่า 8 แสนปีที่ผ่านมา วัฏจักรของคาร์บอนไดออกไซด์มีการเพิ่มขึ้นและลดลงทุกแสนปี แต่หลังจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม คาร์บอนไดออกไซด์มีการเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 8 แสนปีที่ผ่านมา
“อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นเพิ่มผลกระทบอะไรกับโลกใบนี้บ้าง สิ่งหนึ่งที่กระทบตรงไปตรงมาคือ ชั้นบรรยากาศ พื้นดิน และมหาสมุทร มีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น ชั้นบรรยากาศมีความปั่นป่วนมากขึ้น รูปแบบของการเกิดฤดูกาลที่ผิดเพี้ยนไป ทั้งเรื่องของสภาพอากาศที่สุดขั้ว วัฏจักรน้ำ ซึ่งหากเราเข้าใจมัน เราสามารถที่จะปรับตัวอยู่กับมัน หรือแม้กระทั่งรับมือกับมันได้” ดร.ชลัมภ์ กล่าว
รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ ‘การผังเมืองเพื่อรองรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ’ อธิบายว่า การจะทำให้ผังเมืองรองรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ สิ่งสำคัญคือ กระบวนการวางแผนผัง โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1) การระบุภัย (Hazard identification) 2) การประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) 3) การประเมินความเปราะบาง (Vulnerability assessment) และ 4) การออกแบบมาตรการ (Measure design)
“ผังเมืองที่จะรองรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ต้องมีการประเมินความเสี่ยงเข้าไปในกระบวนการวางผัง เพื่อที่เราจะออกแบบมาตรการที่หลากหลายมากพอ และเหมาะสมกับพื้นที่ เราเรียกมันว่า Robustness เมื่อหันมามองย้อนดูของเรา พบว่า กลไกทางผังเมืองมีช่องทางบูรณาการวางแผนเพื่อรองรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อาทิ ผังนโยบาย ผังเมืองรวม เกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องกำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยการบูรณาการข้ามภาคส่วนหรือหน่วยงานเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งด้านข้อมูล พื้นที่ และกระบวนการทำงาน” รศ.ดร.วิจิตรบุษบา ทิ้งท้าย •