เผยแพร่ |
---|
“อนุทิน” ชื่นชมการทำงาน “ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย” หลังผลสำรวจนิด้าโพลเผยประชาชนให้ความเชื่อมั่นสูงสุดเป็นหน่วยงานช่วยเหลือเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม เผยผลงานปี 67 ยุติเรื่องได้ถึง 99.43%
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่ “นิด้าโพล” ได้จัดทำและเผยแพร่ผลสำรวจเรื่อง “ทนายความจิตอาสาจริง ๆ” ซึ่งเป็นการสำรวจความไว้วางใจของประชาชนต่อบุคคลหรือหน่วยงานในการขอความช่วยเหลือเมื่อไม่ได้ความยุติธรรมจากคดีความต่างๆ ซึ่งปรากฏว่า “ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย” เป็นหน่วยงานที่ได้รับคะแนนความไว้วางใจเป็นอันดับหนึ่งที่ 42.06% ซึ่งนับเป็นผลสะท้อนความมุ่งมั่นการทำงานหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ที่เน้นย้ำในเรื่องเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกรณีประชาชนต้องการความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์ดำรงธรรม เป็นส่วนงานที่ให้การสนับสนุนภารกิจการบริการประชาชนทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้เป็นกลไกในการสนับสนุนหลายนโยบายสำคัญของรัฐบาล อาทิ ปัญหาหนี้นอกระบบ การจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพล การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) การแก้ไขปัญหาความยากจน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในปี 2567 ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย ได้ให้บริการประชาชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 293,531 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการจนได้ข้อยุติ จำนวน 291,841 เรื่อง คิดเป็น 99.43% และเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายของหลายหน่วยงาน จำนวน 1,690 เรื่อง คิดเป็น 0.57% นอกจากนี้ ได้มีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย พบว่า ในปี 2567 ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย คิดเป็น 94.30%
“นายอนุทิน ชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคนตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ลงมือทำงานหนักจนได้รับความไว้วางใจดังผลสะท้อนออกมาที่โพลซึ่งจัดทำโดยสถาบันที่น่าเชื่อถือ พร้อมมอบกำลังใจขอให้ทุกคนทำหน้าที่เร่งบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชนทุกพื้นที่ของประเทศ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย มีโครงสร้างการบริหารงาน 2 ระดับ ได้แก่ 1. ส่วนกลาง คือ ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย ศูนย์ดำรงธรรมกรม และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด และ 2. ส่วนภูมิภาค คือ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ รวมถึงศูนย์ดำรงธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ตลอด 24 ชั่วโมง แล้วนำข้อมูลที่ได้รับทำการวิเคราะห์ ติดตาม ประสาน และประเมินผลการทำงาน พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้าของเรื่องที่ได้รับแจ้งกับผู้แจ้งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่เป็นเรื่องเดือดร้อนเร่งด่วน จะมีชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วลงในการพื้นที่ ตามนโยบายทันโลก ทันสมัย ทันท่วงทีของนายอนุทิน
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งร้องเรียนร้องทุกได้ในหลายช่องทาง ทั้ง สายด่วน 1567 เว็บไซต์ https://damrongdham.moi.go.th/ ตลอดจนการเดินทางมารับบริการด้วยตนเอง (Walk in) ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ