เผยแพร่ |
---|
มูลนิธิคุณและ Ppc ร่วมรณรงค์ให้ความรู้การแยกขยะ “Young Guardian of the Environment”ในงานฉลองรับปริญญาศิลปินรักษ์โลก ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน
ในวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน ได้มีการจัดกิจกรรมงาน “Phuwin Graduation Day” ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเหล่าบรรดาแฟนคลับกว่า 2,000 คนมาร่วมแสดงความยินดีมอบความรักและสร้างความประทับใจให้กับว่าที่บัณฑิตคนเก่ง “ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน” ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในงานยังมีการถ่ายทอดสดภาพและเสียงผ่านระบบไลฟ์สตรีมมิ่ง (Live Streaming)
ในงานคุณปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต ประธานมูลนิธิคุณ (KHUN Foundation) ได้ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Ppc) จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและให้ความรู้แก่เหล่าแฟนคลับในการแยกขยะให้ถูกต้อง
ภูวินทร์จบปริญญาตรี เกียรตินิยม อันดับ 2 เกรดเฉลี่ยสะสม GPAX 3.32 จากคณะวิศวะกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีความสามารถพิเศษในการเล่นเปียโน โดยได้เรียนจบหลักสูตรของสถาบัน Trinity College London ในระดับ Advanced เกรด 8 อีกทั้งยังพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก
ภูวินทร์และกลุ่มแฟนคลับที่มาร่วมงานวันนี้กว่า 2,000 คน และที่ร่วมระบบไลฟ์สตรีมมิ่งทั่วโลกที่เปิดใจรับความรู้ในกิจกรรมของมูลนิธิคุณและ Ppc จะเป็น “Young Guardian of the Environment” ซึ่งถ้าให้พูดง่ายๆ พวกเค้าคือผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์ สิ่งที่พวกเค้าเหล่านี้จะทำต่อโลกของเรานั้นมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่มากต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก
คุณปรางค์ทิพย์ กล่าวว่ามูลนิธิคุณและ Ppc เป็นกลุ่มพันธมิตรที่ร่วมกิจกรรมมาหลายปี ที่ผ่านมาทั้งสององค์กรได้ร่วมมือกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดเสวนาให้กับบุคลากรของจุฬา และยังจัดกิจกรรมให้นักเรียนตามโรงเรียน รวมถึงในกิจกรรมวันเด็กติดต่อมา 3 ปีแล้ว ผ่านการแสดงหุ่นเชิด Puppet Show เรื่อง “วาฬน้อยท้องผูก” ที่มีปลาวาฬดูดู (DoDo) เป็นตัวละครหลัก และมีเพื่อน ๆ หุ่นเชิดอีกหลายตัว เช่น หมาจร (KhunKhun) ลุงนกฮูก (Boppa) มาร่วมสร้างความสนุกสนานผ่านการเชิดหุ่นและผ่านวิดีโอ Clip ที่ทำขึ้นมาเป็นเรื่องราวสอนเด็ก ๆ ในตอนต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ในแต่ละตอน และที่สำคัญมีดารา ศิลปินมาร่วมให้ความรู้บนเวทีเสวนาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พี่ก้อง สหรัถ และน้องภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน ที่มาช่วยหลายครั้งแล้ว
ผศ.ดร.มานิตย์ นิธิธนากุลแห่ง Ppc อธิบายว่าทาง Ppc ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและหาทางออกให้หน่วยงานรัฐ รวมถึงองค์กรเอกชนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแหล่งพลังงานและพลังงานทางเลือก รวมถึงนวัตกรรมของการใช้ขยะ
ในขณะที่ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน ที่คอยช่วยกิจกรรมรักษ์โลกกับมูลนิธิคุณมาโดยตลอด กล่าวเสริมว่า “อยากให้หน่วยงานรัฐและเอกชนตั้งใจจริงจังกับการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง เป็นแผนงานที่จริงจัง เพราะขยะไม่ใช่เรื่องขยะอีกต่อไป และกล่าวว่าตนในฐานะศิลปินที่มีแฟนคลับและพี่น้องสื่อมวลชนคอยให้การสนับสนุนกิจกรรมที่ตนเองร่วมช่วยกิจกรรมของมูลนิธิคุณมาโดยตลอด พร้อมที่จะเป็นตัวแทนของทุกคนในการร่วมรณรงค์ให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะผ่านเสียงเพลง หรือการเสวนาที่พร้อมจะทำไปตลอดกับมูลนิธิคุณ”
ในฐานะที่ตนเป็นศิลปินรุ่นใหม่และตอนนี้อายุ 21 ปี ที่จะต้องอาศัยอยู่ในโลกใบนี้อีกนาน ก็คงต้องแบกรับปัญหาต่าง ๆ ที่เริ่มสะสมมานานและสร้างความเสียหายหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือผลกระทบต่อสุขภาพที่ต้องสูดดมอากาศที่เต็มไปด้วยมลภาวะต่าง ๆ ไปจนถึงระบบนิเวศและเศรษฐกิจของโลก ภูวินทร์เล่าให้ฟังต่อว่า “คงยังไม่สายเกินไปที่คนทุกรุ่นจะมาร่วมช่วยกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผมเห็นว่าหากพวกเราช่วยกันลงมือทำตอนนี้ พวกเราจะช่วยสร้างโลกที่ยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต การลงมือที่ง่าย ๆ ของพวกเราที่มางานในวันนี้ ก็คงเริ่มจากการแยกขยะที่ถูกต้อง เพราะขยะแต่ละประเภทสามารถนำไปรีไซเคิลให้เป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตของต่าง ๆ ได้เช่น เหล็ก แก้ว และพลาสติกครับ”
คุณจิ๋ว ปรางค์ทิพย์กล่าวต่อว่า การแยกขยะที่บ้านหรือที่ทำงานจะช่วยให้มีการบริหารจัดการขยะที่ดีขึ้น และขยะที่แยกอย่างถูกต้องจะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีค่าในเชิงเศรษฐกิจ ลดภาระของการจัดการของภาครัฐหากจะต้องไปจัดการขยะที่ทิ้งอย่างไม่ถูกต้องที่หลุมฝังกลบ “เพราะการจัดการขยะที่ไม่ถูกหลักทางมาตรฐานอาจก่อให้เกิดสารที่เป็นอันตรายและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ”
คุณปรางค์ทิพย์เล่าให้ฟังต่อว่า “พี่เองที่จริงจังกับการแยกขยะไม่ได้รู้สึกว่าเหนื่อยหรือเป็นภาระเลย และไม่ได้หวังผลหรือได้ประโยชน์อะไรจากการแยกขยะเพราะพี่ไม่ใช่ภาครัฐ หรือเอกชนที่จะได้ประโยชน์ในมูลค่าจากการแยกขยะ” คำถามที่คนหลายคนถามพี่เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่าพี่แยกขยะไปเพื่ออะไร เพราะเมื่อ 20 ปีก่อนคนยังไม่ได้เห็นปัญหาจากการแยกขยะที่ไม่ถูกต้อง คำตอบง่าย ๆ เลยคือ เราเป็นแค่คนธรรมดาหนึ่งคน เรื่องง่าย ๆ ที่สุดที่จะช่วยโลกได้คือเรื่องใกล้ตัว เช่น การประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ การไม่ทำให้เกิดเศษขยะอาหารโดยไม่จำเป็น และการแยกขยะให้ถูกต้อง พอเวลาผ่านไป เรื่องพวกนี้กลับกลายมาเป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์หนักมาก เพราะมีผลกระทบต่อสังคมโลกแล้ว แต่ตัวเราเองชิลชิลมากกับเรื่องนี้ เพราะเห็นนิสัยส่วนตัวที่ทำมาตลอด
มูลนิธิคุณเพิ่งได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อผลิตสื่อการเรียนการสอนเรื่อง “โรงงานแยกขยะในกระเพาะวาฬ (ไม่แยกข้างนอกก็แยกข้างใน)” โดยทำเป็น Storybook ประกอบคู่มือการสอนเรื่อง “ก ถึง ฮ ของขยะที่ถูกลืม” และ Shot Animation จำนวน 6 ตอนเกี่ยวกับการ์ตูนสัตว์ทะเลที่น่ารักๆ ประกอบวาฬน้อยดูดู้และผองเพื่อน DoDoAndFriends เป็นตัวชูโรง โดยมีตัวละครต่างๆ เช่นม้าน้ำ ปลาทะเลสวยๆ ที่ผลิตขึ้นมาภายใต้ “โครงการการจัดการขยะในงานเทศกาลไทยเทศ โดยทีมดูดู้และผองเพื่อน (Festival Waste Management)” ไปเผยแพร่ให้เด็กๆ ในวงกว้าง โดยการ scan qr code แต่ละหน้า ทำเสร็จแล้วจะพยายามกระจายพื้นที่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำและทะเล เพราะเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบที่มาจากขยะบกที่หลุดลอยไปตามแม่น้ำไหลไปสู่ทะเล เจาะคนพื้นที่ให้มากที่สุด ส่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เคยร่วมทำกิจกรรม เพื่อให้เห็นความต่อเนื่องของโครงการ
อาจารย์มานิตย์เล่าให้ฟังว่า Ppc ทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงพยาบาลเพื่อนำขยะที่เกิดจากการใช้งานในโรงพยาบาลมาใช้เป็นวัตถุดิบทางเลือกในการผลิตของใช้ ขยะจากวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเมื่อใช้งานแล้วจะถูกทิ้งเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่มีบางส่วนเป็นขยะไม่ติดเชื้อเนื่องจากไม่ได้สัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือปนเปื้อนเชื้อโรค จึงควรสามารถนำส่วนที่ไม่ปนเปื้อนมารีไซเคิลได้ จึงได้มีแนวคิดในการนำวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซีส่วนที่ไม่ติดเชื้อมารีไซเคิลและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยกระบวนการการใช้แนวคิดการเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ด้วยกระบวนการรีไซเคิล (recycle) เพื่อเพิ่มมูลค่ากับวัสดุหลังการใช้งานเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า เช่น ม่านกั้นห้องผู้ป่วย ถุงห่อศพ เสื้อกันฝน ผ้ากันเปื้อน ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น
ภูวินทร์กล่าวเสริมว่าสิ่งที่คนมักจะเข้าผิดกันตลอดคือ การจัดการขยะเป็นเรื่องของรัฐบาลหรือองค์กรเอกชนใหญ่ๆ ที่อาจจะได้ประโยชน์เป็นตัวเงินจากขยะที่พวกเขาจัดการเป็นระบบ แต่ในความเป็นจริงหากพวกเราไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่แต่ละคนร่วมมือกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ว่าจะแยกขยะให้ถูกต้องด้วยตัวเอง หรือขอให้คนใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นเพื่อน แฟน หรือคนในครอบครัวให้ช่วยกันแยกขยะ หรือลดการใช้ หรือการใช้ซ้ำพวกพลาสติก ขยะหลาย ๆ อย่างก็จะลดน้อยลงไป และจะมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน
ผศ.ดร.มานิตย์ บอกว่า Ppc และมูลนิธิคุณร่วมมือกันมานานหลายปีแล้วในการจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนักด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้ด้านการจัดการขยะ ชื่อคุณปรางค์ทิพย์แห่งมูลนิธิคุณมุ่งมั่นที่จะให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ผ่านเครื่องมือและสื่อที่สร้างสรรค์ เช่นการใช้หุ่นเชิด คลิปประกอบความรู้ การ์ตูน หนังสือประกอบ QR Code แจกจ่ายให้แก่เด็ก ๆ ตามโรงเรียน ในขณะที่ Ppc ร่วมจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้ใหญ่ รวมถึงในสถาบันการศึกษาที่ทำงานใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนและขยะล้นเมือง
ในท้ายที่สุด ภูวินทร์ฝากเพื่อนๆ ทุกคนว่าให้ร่วมช่วยกัน “ปีนี้ผมและทุกคนเห็นข่าวอากาศร้อน ข่าวฝุ่น PM. 2.5 และล่าสุดคือข่าวพายุ ฝนตกหนัก น้ำท่วมที่เชียงรายและจังหวัดต่างๆ ผมเชื่อว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่ยังแก้ไขทัน วันนี้ผมดีใจที่พี่จิ๋วแห่งมูลนิธิคุณ และ Ppc มาร่วมช่วยกันให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกว่าหากแต่ละคนช่วยแยกขยะให้ถูกต้องแล้ว จะมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของเราเพื่ออนาคตของพวกเราเอง และสุดท้ายผมขอขอบคุณกลุ่มแฟนคลับจาก “Phuwin Official Fans” ที่เป็นผู้จัดงานในวันนี้ให้ผมด้วยครับ”
ภูวินทร์ เริ่มเข้าวงการจากการถ่ายโฆษณาตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยมีผลงานการแสดงเรื่องแรก อรุณสวัสดิ์ ในปี 2557 หลังจากนั้นได้ร่วมแสดงละครมากมาย เช่น เลือดมังกร หนึ่งในทรวง และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากผลงานซีรีส์เรื่อง อาตี๋ของผม ในบทของ หมอน และได้แสดงนำเรื่องแรกในซีรีส์เรื่อง ปลาบนฟ้า ในบทของ ปี ปฐวี ปัจจุบันเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงในสังกัด จีเอ็มเอ็มทีวี
ผมว่าการเปลี่ยนความคิดและการใช้ชีวิตเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ เช่นการแยกขยะให้ถูกต้องด้วยตัวเราเอง จะส่งผลที่เห็นได้ชัดแน่นอน และจะทำให้โลกเราอยู่รอดได้ด้วยตัวพวกเราเองครับ ตรงกับแนวคิดของการจัดกิจกรรมของมูลนิธิคุณและ Ppc ในวันนี้ที่ทำให้พวกเราทุกคนเป็นผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม “Young Guardian of the Environment” ครับ