เผยแพร่ |
---|
“โคกหินแห่” ทางรอดของคนทำจริง
เผยความสำเร็จต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ “โคกหินแห่” โคก หนอง นา แห่งชีวิตของ “กำนันม่อน” บัญชา ราษีมิน – ภรรยา และ “ทีมครูพาทำ” ในพื้นที่ 33 ไร่ ณ อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร ตอกย้ำพื้นฐานความเข้าใจตามภูมิสังคม หลักการพึ่งพาตนเองแบบพอเพียง สู่การมี “ความสุข” และ “ยั่งยืน”
วันนี้ (18 ก.ย. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนและน้อมนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชนบท ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดทฤษฎีใหม่เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งมั่น ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการน้อมนำเอาหลักทฤษฎีใหม่มากกว่า 40 ทฤษฎี และศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา อารยเกษตร” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนและขยายผลไปสู่ผู้คนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายคือทำให้ประชาชนพออยู่พอกินพอใช้และพอร่มเย็น ซึ่งเป็นแนวทางในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้ยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตัวอย่างความสำเร็จหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา อารยเกษตร” ที่เกิดผลและเป็นรูปธรรม คือ ศูนย์เรียนรู้ “โคกหินแห่” เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ของคุณกาญจนี ละศรีจันทร์ ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ มีนายบัญชา ราษีมิน “กำนันม่อน” เป็นที่ปรึกษาศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งทั้งสองคนเป็นสามีภรรยา อดีตนักธุรกิจที่หันมาทำโคก หนอง นา เพราะมีใจรักและอยากทำเป็นตัวอย่างให้กับชุมชน ซึ่งทั้งสองยังตั้งทีม “ครูพาทำ” เดินสายอบรมให้ความรู้ “ศาสตร์ของพระราชา” รูปแบบการทำโคก หนอง นา ให้ประสบความสำเร็จภายใต้สโลแกน “คิดถึง น้อมนำ ทำตาม” ในรูปแบบการมีส่วนร่วม ได้เรียนรู้ ได้ลงมือทำด้วยตนเอง ทำให้พื้นที่โคก หนอง นา ที่เคยเป็นดินลูกรัง บนเนื้อที่รวม 33 ไร่ กลายเป็นป่าผสมผสาน ซึ่งเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และความสุขทั้งเจ้าของพื้นที่ รวมถึงผู้ที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้เยี่ยมชมพื้นที่แห่งนี้
ด้าน นายบัญชา ราษีมิน หรือ “กำนันม่อน” ที่ปรึกษาศูนย์เรียนรู้ฯ กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ “โคกหินแห่” เริ่มมาจากการที่ได้ไปอบรมครูจิตอาสาพัฒนาชุมชนรุ่นที่ 1 ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 ทำให้ตนได้ฉุกคิดว่า “แม้ว่าเรามีเงินเพียงพอ แต่เงินของเราไม่สามารถซื้อของกินได้” ซึ่งเป็นความทุกข์ที่เราเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ ผัก ก็ถูกกว้านแย่งกันซื้อ ทุกคนอาจจะเคยเห็นว่าในห้างสรรพสินค้ามีป้ายให้ซื้อไข่ได้ครั้งละไม่เกิน 1 แผง ทำให้ตระหนักว่าในยามวิกฤติแม้ว่าเราจะมีเงินมากมายแต่ก็ไม่สามารถซื้ออาหารดำรงชีวิตได้ ทั้งที่มนุษย์เราเกิดมาต้องกินอาหาร ซึ่งเรากินพืชผักเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงสิ่งมีชีวิต และเราก็กินสัตว์ที่เป็นโปรตีนอีกทีเป็นวงจรตามธรรมชาติ ดังนั้น เราจึงคิดว่าอันดับแรกเราจะทำอย่างไรให้พืชที่เป็นอาหารมีเพียงพอ และพืชจะเกิดได้ดินก็จะต้องดีก่อน ก็จะต้องเรียนรู้การปรับปรุงดิน เมื่อดินมีก็ทำให้ต้นไม้เกิดพืชเกิด อาหารของมนุษย์และสัตว์ก็จะเกิดขึ้น เป็นที่มาของคำว่า “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข” และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่หันมาทำ “โคก หนอง นา อารยเกษตร”
““โคกหินแห่” มาจากคำว่า “โคก” คือที่สูง และ “หินแห่” คือดินหินลูกรัง มารวมกันเป็น “พื้นที่สูงที่เป็นหินลูกรัง” ซึ่งทุกคนก็จะรู้ว่าดินแบบนี้นั้นปลูกพืชผลอะไรก็จะไม่งาม จึงมีแนวคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้พื้นที่ของเราปลูกพืชได้ ผมจึงไปได้ไปศึกษาเรียนรู้หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ โดยมีวิทยากรเป็น “อาจารย์โก้” ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล และ “อาจารย์หน่า” รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย รวมถึงหลักสูตรการออกแบบพื้นที่ เนื่องจากก่อนที่จะทำอะไรเราต้องรู้จักการออกแบบ “ตามภูมิสังคม” จึงได้นำองค์ความรู้ที่ได้เหล่านั้นมาทดลองทำในพื้นที่ของตนเอง ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2563 เริ่มขุดโคก หนอง นา โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะวิศวกรรม มหาลัยวิทยาลัยขอนแก่น มาช่วยดูและออกแบบพื้นที่ จำนวน 28 ไร่ ซึ่งจากที่ได้เริ่มทำในตอนนั้น ผ่านไปเพียงแค่ 3-4 เดือน ก็สามารถมองเห็นได้ชัด เริ่มมีผลผลิต ทำให้เราคิดว่าโคกที่เป็นหินลูกรัง แท้จริงแล้วมันสามารถปลูกอะไรก็ได้ เพียงแค่เราเข้าใจพื้นที่และปรับสภาพให้สอดคล้องเป็นไปตามธรรมชาติ อีกทั้งจากความร่วมมือกันทำเป็นกลุ่ม โดยใช้ผู้มีองค์ความรู้ในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายมาร่วมทำงาน ทั้งนักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงผู้นำภาคศาสนา ช่วยกันพัฒนาพื้นที่ หลังจากนั้นได้รับเชิญไปร่วมเป็นทีมวิทยากรในการอบรมวิทยากรโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา และอารยเกษตร” ให้กับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย” นายบัญชา กล่าว
นายบัญชา กล่าวต่อไปอีกว่า ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ได้นำผู้เข้าร่วมการอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา อารยเกษตร” จำนวน 2 รุ่น รวม 181 คน มาเข้าศึกษาเรียนรู้และอบรม โดยใช้ศูนย์เรียนรู้ “โคกหินแห่” เป็นพื้นที่ในการฝึกอบรม ต่อมาได้ขยายผลอบรมไปอีกหลายรุ่นในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ และได้ถอดบทเรียนจากการผู้ที่เข้ารับการอบรมและนำไปทำโคก หนอง นา ซึ่งก็ได้พบกับคำถามจากผู้เข้ารับการอบรมคนหนึ่งว่า “ที่ครูสอน เคยทำในพื้นที่ตัวเองแล้วหรือยัง ?” ซึ่งเป็นคำถามที่ทำให้ตนเกิดความคิดว่า แม้ว่าตนเคยทำ โคก หนอง นา ในพื้นที่ 28 ไร่มาแล้ว แต่โครงการของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นั้นมีพื้นที่แค่ 1 ไร่ กับ 3 ไร่ เป็นพื้นที่ที่จำกัด ทำให้ตนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ของกรมการพัฒนาชุมชน ในปี พ.ศ. 2565 จำนวนพื้นที่ 3 ไร่ ทำให้เราพบเจอความอุดมสมบูรณ์ ที่ตอบโจทย์ว่าแบบโคก หนอง นา ดังกล่าว เป็นแบบที่ดีที่สุด เป็นการทำเกษตรแบบปราณีต ทำให้คนมี “พออยู่ พอกิน” สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้จริง เป็น โคก หนอง นา “ทางรอดของคนที่ทำจริง” จากการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่มาสู่การดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบเพียง 3 ไร่ ซึ่งผลิตผลที่ได้จาก โคก หนอง นา เช่น ผักสวนครัว “เราปลูกตรงนั้นขายตรงนั้น ไม่มีค่าขนส่ง” และที่สำคัญมีกรรมวิธีการทำปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี ปลอดสารพิษ “ตัดแล้วกินได้เลย” นอกจากนี้ยังมีไข่ไก่ ซึ่งเป็นไข่สดไข่ไก่ที่เลี้ยงโดยธรรมชาติ ใช้อาหารที่เป็นวัตถุดิบมาจากโคกหนองนาที่ไม่มีต้นทุน อาทิ รำข้าว หยวกกล้วย และแม้ว่าจะเป็นไก่บ้านที่ออกไข่ลูกเล็ก แต่สามารถขายได้เท่ากับไข่ไก่ใบใหญ่ในราคาตลาด ซึ่งเราเหลือกินแล้วก็นำไปจำหน่าย ปัจจุบันมีออเดอร์มากเกินกว่าที่เราผลิตได้ จึงสะท้อนให้เห็นว่า “หากเราทำโคก หนอง นา แบบพึ่งพาตนเอง โดยไม่เอาเงินเป็นตัวตั้งเราสามารถพออยู่พอกินได้” และที่สำคัญ “ต้องทำโดยไม่คิดว่าทำแล้วรวย แต่เราทำแล้วมีความสุข” เพราะของกินของใช้อยู่ในพื้นที่แล้ว โคก หนอง นา จึงเปรียบเสมือน “ตู้เย็นของบ้านเรา” ดังนั้น ความเข้าใจ โคก หนอง นา จึงมีความสำคัญ ถ้าเรารู้ว่าพื้นที่เหล่านี้เคยมีน้ำท่วม เราก็ต้องทำโคกให้สูงกว่าน้ำ ปลูกบ้าน ทำปศุสัตว์ ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 ได้ เราก็จะไม่เดือดร้อน ซึ่งความเข้าใจต้องครอบคลุมรวมไปถึงเรื่องการออกแบบ หากมีความรู้และเข้าใจ สามารถนำไปปฏิบัติจริงบนพื้นฐาน สิ่งสำคัญคือ “ความพอเพียง” และเราทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องทำร่วมกับภาคีเครือข่ายด้วย
“ปัจจุบันนี้เราขยายผล จากการทำ “โคกหินแห่” ไปสู่พื้นที่ข้างเคียง ใครที่สนใจอยากเรียนรู้สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ฟรีกับเรา อีกทั้งยังพัฒนาในรูปแบบ “ศูนย์การเรียนรู้พุทธอารยเกษตร” ซึ่งเราทำงานร่วมกับผู้นำภาคศาสนา นำไปต่อยอดขยายผลที่วัด ชุมชน พื้นที่สาธารณะของชุมชน โดยการเชิญชวนให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกผัก ปลูกไม้ 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกพืชตามฤดูหรือภูมิสังคม ซึ่งเราได้ “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” ทำให้ที่อำเภอเจริญศิลป์ มีแปลงโคกหนองนา รวม 21 แปลง และแปลงขยายผลพื้นที่พุทธอารยเกษตรอีก 1 แปลง ที่เราได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชน แล้วขยายไปพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเราตั้งมั่นตั้งใจเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันทำเพื่อประโยชน์ชุมชนโดยแท้จริง โดยเป้าหมายสูงสุดของการทำ โคก หนอง นา คือ “ความสุข” ทุกคนก็ทำได้หากทำโดยความเข้าใจ ซึ่งที่แห่งนี้ไม่ต้องรดน้ำต้นไม้ ไม่ต้องดูแล แต่พื้นที่จะดูแลตัวมันเอง เราจึงมีความภูมิใจอย่างยิ่งการถอดแบบการพัฒนาพื้นที่ จากตัวอย่างพื้นที่ 28 ไร่ มาทำในพื้นที่ 3 ไร่ ซึ่งทำด้วยองค์ความรู้และความเข้าใจ” นายบัญชา กล่าวเพิ่มเติม
นายบัญชา กล่าวเน้นย้ำว่า ศูนย์เรียนรู้ “โคกหินแห่” นอกจากจะเป็นพื้นที่ โคก หนอง นา และการปลูกพืชแบบผสมผสานแล้ว ในปัจจุบันเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ซึ่งมีตั้งแต่เด็กเตรียมอนุบาล ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) มาเรียนรู้กับเรา พร้อมทั้งมีคณะผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ซึ่งเราจะสอนไปด้วยกันและจะนำไปถ่ายทอด เริ่มตั้งแต่พาไปเรียนรู้พื้นที่โคก หนอง นา เพื่อสร้างความเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ “มีการสอนสาธิตในรูปแบบการถอดบทเรียนค่อย ๆ เติมเต็ม ทำให้คนที่มาเยี่ยมชมรู้จักสิ่งที่อยู่ในพื้นที่” นอกจากนี้ ยังมีฐานกิจกรรมการเรียนรู้ของลูกเสือ เป็นฐานแม่ธรณี อาทิ การปลูกป่า การบำรุงดิน ฐานคนรักน้ำ ฐานคนรักป่า การปลูกป่า การทำฟืน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดรวมกันเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ของคนในพื้นที่ “ในอนาคตเราจะพัฒนาต่อยอดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ร่วมกับภาครัฐและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และเป้าหมายขั้นกว่านั้นอีกคือ เราจะทำเป็น “บ้านครู” คือการให้คนได้มาใช้ชีวิต แบ่งเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ในพื้นที่ 5-10 หลัง ให้คนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ความยั่งยืน ภายใต้การใช้ชีวิตแบบกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวในบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก เน้นการพึ่งพาตนเองแบบธรรมชาติ โดยหาของกินของอยู่ในพื้นที่มาทำอยู่ทำกิน และมาใช้ชีวิตร่วมกับครู มาศึกษาเอาองค์ความรู้จากกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งในแต่ละช่วงฤดูก็มีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป สามารถดึงดูดให้คนที่มีความสนใจอยากมาท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“การทำโคก หนอง นา “เราไม่ได้มุ่งหวังคำว่ารวย แต่เราต้องหาคำว่าพอให้เจอ” หากอยากจะมีความสุขก็ต้องทำให้เราอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ซึ่งการทำโคก หนอง นา เรา “ทำแล้วไม่รวยแต่มีความสุข” เพราะ “เงินที่ได้ไม่ได้มาจากการเพิ่มรายได้ แต่มันคือการลดรายจ่าย” ทั้งในครัวเรือนและการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์รายได้ของเราเพิ่มมากขึ้น ภายใต้พื้นฐานของความเข้าใจว่า “หัวใจของโคก หนอง นา คือ ทำให้เราอยู่ได้” แม้ไม่มีมากมาย ไม่รวย แต่จะมีความสุข และหากเราอยู่ได้คนในพื้นที่โดยรอบก็ต้องอยู่ได้ ดังนั้น การที่กระทรวงมหาดไทย นำโคกหนองนาให้กับประชาชน นอกจากให้ประชาชนมีอาหารที่มั่นคงแล้ว ยังถือว่าเป็นการรื้อฟื้นการเกื้อกูล ความรู้รักสามัคคี วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนไทย ซึ่งผลที่ตามมาของการทำแล้วมีความสุข นั่นคือ “ความสุขอย่างยั่งยืน”” นายบัญชา กล่าวในช่วงท้าย