ปลัด มท. พร้อมคณะที่ปรึกษา ลงพื้นที่ศูนย์สารภี จ.สตูล ติดตามการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปลัด มท. พร้อมคณะที่ปรึกษา ลงพื้นที่ศูนย์สารภี จ.สตูล ติดตามการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เน้นย้ำ น้อมนำพระบรมราโชวาท ร.9 “..เมื่อมีโอกาสและมีงานทำควรเต็มใจ ทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง..” แล้วเราจะมีความสุขที่ได้เห็นผลของงาน

วันนี้ (15 ก.ย. 67) เวลา 13.30 น. ที่ศูนย์สารภีสตูล อำเภอละงู จังหวัดสตูล นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ (อ.น้อยหน่า) ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล (อ.โก้) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอิทธิพงศ์  ตันมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสมาน  พั่วโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน ร่วมลงพื้นที่ด้วย โดยได้รับเมตตาจาก พระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าคณะอำเภอมะนัง เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม ร่วมให้การต้อนรับ โดยมี นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายธีระพงษ์ คุ่มเคี่ยม นายอำเภอละงู จ่าเอก ณภัทร หงส์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์สารภี กรมการพัฒนาชุมชน ข้าราชการ และภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดสตูล ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ รับฟังบรรยายสรุป และเยี่ยมชมพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริฯ อาทิ บ้านพอเพียงโมเดล 20 ตารางวา โคก หนอง นา (เดิม) คันนาทองคำ หลุมขนมครก สระน้ำแก้มลิง ธนาคารน้ำใต้ดิน พร้อมร่วมปลูก “ต้นรวงผึ้ง” ในบริเวณพื้นที่โครงการฯ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในวันนี้ตนมีความตั้งใจเดินทางมายังพื้นที่จังหวัดสตูล ด้วยเพราะเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งการหลอมรวมพลังความรู้รักสามัคคี ความมีจิตอาสาตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปรารถนาให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีพระเดชพระคุณพระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าคณะอำเภอมะนัง เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม (ผัง 7) ผู้นำภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนาเป็นหลักชัยและตนได้รับปากพระเดชพระคุณว่าครั้งหนึ่งที่เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยจะต้องเดินทางมายังพื้นที่แห่งนี้เพื่อถวายกำลังใจแด่พระเดชพระคุณท่าน เพราะท่านเป็นที่พึ่งของทุกศาสนิกชน ไม่ว่าจะเป็นพุทธ มุสลิม หรือศาสนาอื่น ๆ ด้วยความเมตตาให้ความรัก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการเป็นธุระแนะนำให้ความรู้ น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่โคก หนอง นา อารยเกษตร มีความรู้คู่คุณธรรม ความมีเหตุมีผลในการดูแลชีวิต ดูแลครอบครัวไม่ให้ไหลไปตามกระแสค่านิยมของทุนนิยม ด้วยการทำให้ตัวเรามีความมั่นคงจาก “การพึ่งพาตนเอง” สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ดูแลครอบครัวให้มีกิน มีใช้ ทั้งรายวัน รายเดือน รายปี ด้วยการมีแพะ มีไก่ มีวัว มีเป็ด มีควาย มีพืชสมุนไพร มีฟืน มีถ่าน ทำให้คนในบ้านรู้จักการหุงหาอาหารกิน

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอรรถาธิบายว่า “อารยเกษตร” อารยะ แปลว่า เจริญ เกษตร แปลว่า แผ่นดิน แผ่นดินเป็นที่มาของอาหารของทุกอย่าง ดังนั้น แผ่นดินที่เจริญรุ่งเรืองก็จะมีความสวยงาม มีคลองไส้ไก่ที่คดเคี้ยวเลี้ยวลด มีที่ดินสูงกลางต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เป็นเนิน เป็นโคก เป็นที่ราบ ที่ลุ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเราด้วยการปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงดิน ให้พื้นที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยน้ำ ต้นไม้ 5 ระดับหรือพืช 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง โดยเมื่อเราเข้ามานั่งอยู่ในพื้นที่โคก หนอง นา อารยเกษตรนี้ เราก็ร่มเย็นเป็นสุข เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นต้น พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น : พอกิน คือ มีพืช ผัก กบ ปลา ไว้รับประทาน พอใช้ คือ จำพวกไม้ฟืน ไม้ไผ่ ไม้อะไรต่าง ๆ เอามาทำข้าวของเครื่องใช้ได้ พออยู่ คือ เอาไม้มาสร้างบ้านได้ ตามแนวทาง Quick Win คือการปลูกไม้โตเร็ว เมื่อเราปลูกสักระยะเดียวเราก็สร้างบ้านได้ แต่ถ้าเราต้องการบ้านที่มั่นคงแข็งแรง ก็ใช้ ไม่จำพวก ไม้แดง ไม้สัก ไม้ประดู่ ช่วยหนุนเสริมความมั่นคงด้วยการช่วยกันปรับปรุงพื้นที่ของเราให้เป็นพื้นที่แห่งความมั่นคงของชีวิตและครอบครัว ใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เป็นประโยชน์ในการทำให้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งยาสมุนไพร ยารักษาโรค หรือเป็นที่ที่สร้างความร่มเย็นให้กับโลกใบเดียวนี้ของเรา ทั้งนี้ หลักการของ “อารยเกษตร” คือ นอกจากทำให้มีครบแล้ว ต้องทำให้สวยงามด้วย ด้วยการปลูกบานไม่รู้โรย เฟื่องฟ้า รวมถึงต้นไม้ที่เป็นอาหารพืชผักสวนครัว ซึ่งในพื้นที่ไม่จำเป็นต้องปลูกหญ้าอย่างเดียว แต่เราต้องนึกถึงว่า สิ่งที่เราทำก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น ปลูกผักชีแทนหญ้า รวมถึงปอเทือง ฯลฯ เป็นต้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า วันนี้พี่น้องชาวละงู มีสิ่งที่ดีอันเป็นต้นแบบที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ ประการที่ 1 เรามีต้นแบบ คือ พระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าคณะอำเภอมะนัง เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม ผู้มุ่งมั่นในการน้อมนำพระราชดำริ ธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้ ทำให้วัดผัง 7 เป็นพื้นที่ตัวอย่าง รวมถึงนายจำรัส ฮ่องสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงาน องค์กร ตลอดจนประชาชนผู้มาติดต่อราชการ ประการที่ 2 ขอให้พวกเราได้น้อมนำ พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความว่า …เมื่อมีโอกาสทำงาน… “การทำงาน…“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำควรเต็มใจ ทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริง ๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”… ไม่ต้องรีรอว่าพรุ่งนี้ทำ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่งานหลัก งานรอง ก็ขอให้เราช่วยกัน แล้วเราจะมีความสุขที่ได้เห็นผลของงาน ด้วยการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน อันเป็นหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานหลักการว่า “บวร” อันหมายถึง บ้าน วัด ราชการ ปราชญ์ชาวบ้าน ครูโนรา ครูทำเรือกอแล และทุกส่วน ต้องช่วยกัน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประการที่ 3 เราต้องทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ด้วยหลัก 4 ร. หรือ 4 ร่วม คือ “ร่วมพูดคุย” เพื่อให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคย สร้างความรักความสามัคคี ให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง “ร่วมคิด” ช่วยกันเสนอแนวทางแก้ไข เสนอความคิดเห็น อย่างต่อเนื่องยาวนาน “ร่วมทำ” เอามื้อสามัคคี ลงมือทำจนเป็นอาจิณ ไม่รีรอที่จะต้องรอแล้วรอเล่า ทำโดยไม่ต้องรอ และ “ร่วมรับประโยชน์” ทั้งประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม และประโยชน์ที่มีความสุขจากการที่ได้ทำ สุขใจที่ได้ทำความดีเพื่อส่วนรวม และประการที่ 4 ช่วยกันบริหารจัดการพื้นที่ 200 กว่าไร่ในของศูนย์สารภีสตูล อำเภอละงู จังหวัดสตูล แห่งนี้ ให้เป็นพื้นที่แห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ดังที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานหลักการพัฒนาคนในทุกด้าน ด้วยทรงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนคนไทย ที่ 1 ปีก็จะทำนาแค่หนเดียว แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรแล้ว จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้กับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ให้ช่วยเป็นธุระในการฝึกฝนอาชีพเพิ่มเติมให้กับชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เช่น สอนให้เลี้ยงไก่ เย็บผ้า ทำอาหารขาย รวมถึงการดูแลเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์เรียนรู้อารยเกษตร ที่จะทำให้ประชาชนได้เรียนรู้หลักการพึ่งพาตนเองที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

“ที่เรียกว่า “ศูนย์สารภี” บางคนอาจสงสัยว่าเป็นชื่ออำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดไปจากที่หลายคนคิด แต่ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่นั้น ถือเป็นปฐมบทของการเสด็จพระราชดำเนินทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาสัมมาชีพให้กับประชาชนของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นแห่งแรกของประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จึงถือเป็นมงคลนาม จึงได้กำหนดให้ศูนย์พัฒนาสัมมาชีพที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มีชื่อว่า “ศูนย์สารภี” ในหลายจังหวัด เพื่อจดจารจารึกประวัติศาสตร์แห่งพระมหากรุณาธิคุณ แต่ศูนย์สารภีของจังหวัดสตูล และทุกแห่งจะยั่งยืนได้ ต้องมีกระบวนการ 4 ร. และที่สำคัญ “ต้องมีผู้นำของจังหวัด” คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้มแข็ง หลอมรวมพลังภาคีเครือข่ายช่วยกันพัฒนามิติต่าง ๆ ให้เข้ากับสภาพภูมิสังคม สามารถนำองค์ความรู้มาประมวลรวมทั้งหมดไปทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยั่งยืนให้ได้ และประการต่อมา ต้องทำให้เกิด “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” มีระบบคุ้มบ้าน หย่อมบ้าน ที่มีการพูดคุยกันทุกอาทิตย์ในแต่ละกลุ่มบ้าน ต้องรักกัน ช่วยกัน ทำให้ระบบหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง และทุกสิ่งก็จะมีแต่คำว่า ยั่งยืน ในพื้นที่ของเรา”

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอฝากให้พวกเราทุกคนช่วยกันขยายผลสิ่งที่ดีเหล่านี้ให้ครอบคลุมที่พื้นที่จังหวัดสตูล และแผ่ขยายไปจังหวัดรอบข้าง และทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยของเราจะอยู่ได้เพราะคนไทย ประเทศไทยจะอยู่ได้เพราะพวกเรา ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าคนในสังคมไม่ช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด” อันประกอบไปด้วยพฤติกรรม ความเชื่อ ค่านิยม และการประกอบอาชีพที่ผิด และที่สำคัญที่สุด ต้องน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาใช้ ต้อง “อย่าสักแต่ท่อง” แต่ต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน “เริ่มต้นที่ตัวเรา” เพื่อจะได้ช่วยกันเป็นเสาหลักของแผ่นดิน เป็นจิตอาสาดูแลประเทศชาติของเราให้มั่นคง ดูแลชีวิตของประชาชนและพวกเราให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

นายศักระ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองน้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชดำริ “อารยเกษตร” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการนำที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่ดินของหน่วยงานภาครัฐมาดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริฯ ขับเคลื่อนตามพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งของประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่ง “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศูนย์สารภีสตูล อำเภอละงู จังหวัดสตูล” มีพื้นที่ 233 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา โดยแบ่งเป็นฐานเรียนรู้เกษตรแนวใหม่ 12 ไร่ คลังอาหาร 12 ไร่ เกษตรพื้นถิ่น 110 ไร่ ป่ามีชีวิต 37 ไร่ จุดรวมพล 8 ไร่ และพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 8 ไร่