ปลัด มท. ตรวจเยี่ยมโครงการอำเภออารยเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ณ วัดผานัง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ปลัด มท. ตรวจเยี่ยมโครงการอำเภออารยเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ณ วัดผานัง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ชื่นชมเป็นพื้นที่แห่งการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน พร้อมฝากนายอำเภอแม่แจ่มขยายผลให้ครอบคลุมทุกตำบลหมู่บ้าน เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทุกคนตลอดไป

วันนี้ (14 ก.ย. 67) เวลา 13.30 น. ที่วัดผานัง ม.2 ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนโครงการอำเภออารยเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยได้รับเมตตาจาก พระครูปราโมชรัตนชัย เจ้าคณะตำบลท่าผา เจ้าอาวาสวัดบ้านทัพ ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม พระพงศกร วชิรญาโณ เจ้าอาวาสวัดผานัง ร่วมให้การต้อนรับ

ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายนักปราชญ์ ไชยานนท์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ นางณัฐธยา โปริมา ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ นายดำรงค์ เมืองมูล ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม นายพิเศษ นันต๊ะหม่น พัฒนาการอำเภอแม่แจ่ม นายอนุวัฒน์ สอนสุภาพ เจ้าพนักงานที่ดินหัวหน้าส่วนแยกแม่แจ่ม พร้อมด้วยผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เข้าจุดธูปเทียนบูชาพระพระธานในพระอุโบสถ และเข้ากราบนมัสการพระครูปราโมชรัตนชัย เจ้าคณะตำบลท่าผา เจ้าอาวาสวัดบ้านทัพ ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม แล้วเยี่ยมชมนิทรรศการนำเสนอการขับเคลื่อนโครงการอำเภออารยเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ อาทิ ชาโบราณ (ชาพันปี) ที่ส่วนใหญ่เป็นชาสายพันธุ์อัสสัมที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในเขตป่าพื้นที่สูงบนดอย โดยหากพื้นที่ไหนมีต้นชาป่าเยอะเขาจะเรียกว่า “ป่าเหมี้ยงหรือป่าเมี่ยง” การเลี้ยง “ผึ้งโพรง” ผึ้งพื้นเมืองของประเทศไทยที่โดยธรรมชาติจะทำรังด้วยการสร้างรวงซ้อนกันเป็นขั้น ๆ อยู่ในโพรงไม้ โพรงดินใต้หลังคา หรือฝาบ้านที่มีปากทางเข้าออกค่อนข้างเล็ก พร้อมทั้งชมการแสดงกลองปูเจ่ เครื่องดนตรีไทยใหญ่ ที่บรรเลงร่วมกับ ฉาบ โหม่ง ด้วยจังหวะในการตีที่เร็วและเร้าใจ และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ OTOP ผ้าพื้นเมือง รวมถึงการสาน“ก๋วย” ซึ่งเป็นตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายชะลอม ใช้ในประเพณีตานก๋วยสลาก และได้ร่วมปลูกต้นกลอย (มันกลอย) ลักษณะลำต้นกลมมีหนามเล็กๆ กระจายทั่วไป และมีขนนุ่มๆ สีขาวปกคลุม มีรากเจริญเป็นหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน หัวใต้ดินส่วนมากกลมรี บางทีเป็นพู มีรากเล็กๆกระจายทั่วทั้งหัว มี 3-5 หัวต่อต้น เปลือกหัวบางสีน้ำตาลออกเหลือง มีสรรพคุณทางยา ใช้หัวใต้ดิน แก้เถาดาน (อาการแข็งเป็นลำในท้อง) หุงเป็นน้ำมันใส่แผล กัดฝ้า กัดหนอง  ราก บดผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใบยาสูบ ใบลำโพงหรือพริก ใช้ทาหรือพอกฆ่าหนอนในแผลสัตว์เลี้ยง หัว ตากแห้ง ปรุงเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ แก้ปวดตามข้อ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขออนุโมทนาในความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนชาวตำบลท่าผา ซึ่งมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูปราโมชรัตนชัย เจ้าคณะตำบลท่าผา และพระพงศกร วชิรญาโณ เจ้าอาวาสวัดผานัง เป็นหลักชัยในฐานะภาคีเครือข่ายผู้นำภาคศาสนาผู้เมตตาอุปการะค้ำจุนหนุนเสริมให้ผู้นำภาคราชการของพื้นที่ คือ นายอำเภอแม่แจ่ม ได้ร่วมกับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน ได้ร่วมกันทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ต้นแบบการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการที่ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีความสุข เป็น 2 สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลแยกออกจากกันไม่ได้ ด้วยการทำให้ประชาชนได้ “ลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง” ด้วยการประกอบสัมมาชีพจากภูมิปัญญาหรือภูมิรู้ของบรรพบุรุษที่ได้รับเป็นมรดกทางปัญญาตกทอดมาสู่คนรุ่นปัจจุบัน เพื่อทำให้ชีวิตมั่นคง มีกินมีใช้ มีรายได้ ดังผ้าซิ่นสวยสดงดงามจากฝีมือพี่น้องประชาชนก็เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์อันงดงามของพวกเรา รวมถึงพืชผักสมุนไพรในบริเวณสวนสมุนไพรที่หลากหลายไปด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเก็บต้นไหน หรือเก็บส่วนใดของต้น ก็ล้วนแต่เป็นยาบำรุง เป็นยารักษาโรค เป็นอาหารชั้นเลิศที่ปลอดสารพิษ มีนัยถึงคำว่า “ประโยชน์ทั่วทุกส่วน” อันเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทยไว้ว่า “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” โดยนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อ อันเป็นหลักการที่องค์การสหประชาชาติ ได้น้อมนำหลักการทรงงานและพระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาถอดบทเรียนจนกลายเป็น 17 ตัวชี้วัดดังกล่าว เพื่อทำให้พลเมืองทั่วทั้งโลกได้มีความสุขที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No One Left Behind)

“พื้นที่อำเภอแม่แจ่มเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ลูกหลานจะได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้เห็นต้นแบบพื้นที่แห่งความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ และประการที่สำคัญอันเป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายของพวกเราชาวมหาดไทย คือ การทำงานร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ตาม SDGs ข้อที่ 17 ด้วยการหนุนเสริมภาคีเครือข่าย ร่วมกันทำให้เกิด “อารยเกษตร” ด้วยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอารยเกษตรอย่างยั่งยืน” ทั้งเรื่องการทำมาหากิน การใช้ชีวิต ล้วนแต่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นผู้นำด้วยการที่พระองค์ท่านพระราชทานแนวพระราชดำริให้พวกเราน้อมนำมาทำโดยไม่ต้องอายที่ได้ทำ เพราะเป้าประสงค์ของพระองค์ท่านอยากเห็นพี่น้องคนไทยทุกคนมีความสุข ประเทศชาติมั่นคง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย เนื่องในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พวกเราชาวแม่แจ่มได้ร่วมกันทำในสิ่งที่เป็นการ “ปฏิบัติบูชา” ถวายพระองค์ท่าน ซึ่งขอให้พวกเราได้ทำตลอดทั้งปีและตลอดไป รวมทั้งขอให้ท่านนายอำเภอแม่แจ่มได้ช่วยกันเพิ่มเติมพื้นที่แห่งความยั่งยืนนี้ให้ครบทุกตำบลตามภูมิสังคม หากมีพื้นที่เยอะก็ทำเยอะ มีพื้นที่น้อยก็ทำน้อย ทำให้เป็นต้นแบบว่า ทำ 1 ได้มากกว่า 2 มากกว่า 3 ด้วยการบูรณาการองค์รวม ขยายผลโครงการให้ครบทุกพื้นที่ เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ดินแดนแผ่นดินไทยเป็นสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนตลอดไป