ปลัด มท. และนายกสมาคมแม่บ้าน มท. เปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรมภาคใต้ พร้อมชื่นชมผ้าปักษ์ใต้มีการผสมผสานลวดลายสีและเทคนิคอย่างหลากหลาย เป็น “ซูเปอร์ความสำเร็จ”

ปลัด มท. และนายกสมาคมแม่บ้าน มท. เปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรมภาคใต้ พร้อมชื่นชมผ้าปักษ์ใต้มีการผสมผสานลวดลายสีและเทคนิคอย่างหลากหลาย เป็น “ซูเปอร์ความสำเร็จ” ที่เกิดจากพระกรุณาธิคุณเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พร้อมเน้นย้ำ “ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น” อย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (7 ก.ย. 67) เวลา 10.30 น. ที่โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา จ.สงขลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ภาคใต้ โดยมี นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางมณีรัตน์ พรหมเขียว ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา คณะผู้บริหารจังหวัดสงขลา คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี

การประกวดในครั้งนี้มี ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา เจ้าของแบรนด์ ISSUE ดร.กรกลด คำสุข และ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว. นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ ดร.นวัตกร อุมาสิน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย พร้อมคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวาระหนึ่งที่ตนมั่นใจว่าพวกเราชาวมหาดไทยตลอดจนถึงพี่น้องช่างทอผ้าและคนทำผ้าในพื้นที่ภาคใต้ทุกคนต่างมีความสุข เพราะว่าทุกคนที่มาในพื้นที่นี้ได้สนองงานตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในห้วงตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ “Sustainable Fashion” จนทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้จากหยาดเหงื่อแรงงานที่ได้ใช้ภูมิปัญญาที่ได้สืบสานและรักษานับเนื่องแต่ในรุ่นปู่ย่าตายายและบรรพบุรุษ มาสร้างโอกาสขยายผลต่อยอดโดยมีแนวพระดำริเป็นหลักชัยให้ประสบความสำเร็จ สอดคล้องกับที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศพันธกิจในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย เพื่อ “Change for Good” ให้เกิดขึ้น ดังตัวอย่างของจังหวัดกระบี่ คือ “อ่าวลึกบาติก” ที่เคยมีรายได้จากผ้าไทย ปีละ 600,000 บาท และหลังจากที่ได้น้อมนำพระดำริฯ ไปพัฒนาการผลิตผ้าบาติก ทำให้ปัจจุบันนี้มีรายได้พุ่งทะยานไปถึงปีละเกือบ 60 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่จังหวัดสงขลา จากเดิมขายได้หลาละ 380 บาท หลังจากน้อมนำพระดำริไปต่อยอด ปัจจุบันมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นหลาละ 2,500 บาท มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่เพิ่มพูนและมั่นคง

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระประสงค์ที่จะช่วยพสกนิกรคนไทย เพราะพระองค์มีหัวใจเหมือนกับพวกเราชาวมหาดไทยทุกคนที่มีเป้าหมายในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทำให้ประชาชนมีรายได้ในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ หัวใจในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งคนมหาดไทยได้น้อมนำพระราชปณิธานดังกล่าวด้วยการลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จนถึงวันนี้กว่า 132 ปี ที่เรายังคงมุ่งมั่นสานต่ออุดมการณ์ด้วยความตระหนักว่า ประชาชนทุกคนจะมีความสุขหากมีเงินมากขึ้น เพราะจะทำให้เขาได้มีกิน มีใช้ มีอาชีพ มีสุขภาพพลามัยร่างกายแข็งแรง มีบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง และครอบครัวเขาก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข คือ การที่พี่น้องชาวมหาดไทยช่วยทำงานสนองพระมหากรุณาธิคุณเพื่อพี่น้องประชาชน พระองค์ท่านก็จะทรงมีความสุข” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของคนมหาดไทยที่เรามีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมาเป็นแสงสว่างส่องนำทางให้พวกเราเดินได้อย่างถูกต้อง ทำให้การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ในปีนี้มีผู้ส่งผ้าเข้าประกวดมากกว่า 8,000 ชิ้น เพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่าน ๆ มาอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลมาจากพระดำริของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ที่ได้พระราชทานทั้งหลักการ ทฤษฎี และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ซึ่งพระองค์เปรียบเสมือนครูใหญ่ที่คอยดูแลพวกเรา โดยมีข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนเปรียบเสมือน “ผู้ช่วยครูใหญ่” ขับเคลื่อนน้อมนำเอาสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชน

“วันนี้ทุกคนมีความสุขใจที่ได้เห็นผ้าและงานหัตกรรมเป็นพัน ๆ ชิ้นของพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับการส่งเข้าประกวด ซึ่งทั้งหมดเกิดมาจากการที่เราทุกคนช่วยกันสนองงานอย่างแข็งขัน ซึ่งพระองค์ท่านได้นำเอาสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญา” มาให้พวกเรา ทั้งการพระราชทานผ้าลายพระราชทานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภาคใต้เป็นภาคที่ได้รับพระกรุณาคุณอย่างล้นเหลือ เพราะพระองค์ได้พระราชทานผ้าบาติกลายพระราชทานจำนวนมาก ทั้งลายปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ลายท้องทะเลไทย ลายป่าแดนใต้ ลายดอกรักราชกัญญา และชบาปัตตานี ทำให้มีแบบลวดลาย สี เทคนิค วิธีการ รวมทั้งการแปรรูปหรือออกแบบตัดเย็บ อีกทั้งพระองค์ท่านมีเมตตาเตือนสติให้เรารู้ว่า “ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นจะต้องมีการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น” โดยการให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดสู่เด็กและเยาวชน ทั้งการตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศ โดยให้เราชาวมหาดไทยเป็น “โซ่ข้อกลาง” ในการคุยกับคนในพื้นที่ ภายใต้องค์ความรู้ต่าง ๆ อันก่อให้เกิดรายได้ให้กับประชาชนทุกถิ่นที่อย่างมหาศาล” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังได้พระราชทานแนวพระดำริในการตลาด โดยการนำเสนอการบอกเล่าเรื่องราว มี Story telling เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับชุมชน หรือวิถีชีวิต ทำให้งานที่มาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นในความรู้สึกของผู้บริโภค สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนวโน้มของแฟชั่น รวมถึงการใช้สีธรรมชาติ ในหนังสือพระราชทาน “Thai Textiles Trend Book” เล่มต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ ด้วยพระองค์ได้พระราชทานพระกรุณาให้คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ช่วยในการขับเคลื่อนแนวทางการออกแบบตัดเย็บ การตลาด และการย้อมสีธรรมชาติอีกด้วย เป็น “มดงาน” ไปพูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้เกิดวงจรชีวิตของผืนผ้าไทยที่มีรายได้ มีความเข้มแข็ง อยู่ในทัศนคติและจิตวิญญาณของพี่น้องประชาชน ซึ่งแฟชั่นจะยั่งยืนต้องมีการต่อยอด การออกแบบตัดเย็บ ที่ทำให้คนเกิดแจงจูงใจในการสวมใส่ผ้าไทยในทุกวันและทุกโอกาส จากปัจเจกบุคคลขยายเป็นครอบครัว เป็นกลุ่ม และเป็น Episode ใหม่คือ “Sustainable Village” หรือหมู่บ้านยั่งยืน อันหมายถึง จากจุดเล็ก ๆ ขยายเป็นจุดใหญ่ และ “การทำงานเป็นทีม” ดังที่เห็นคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก และสิ่งที่พวกเราทำอยู่ ส่งผลอย่างชัดเจนให้พี่น้องประชาชนมีความสุข เมื่อคนไทยทุกคนมีความสุขแบบองค์รวม “ประเทศชาติก็มั่นคง ประชาชนก็มีความสุข”

“ขอแสดงความยินดีกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ตลอดจนพี่น้องประชาชนภาคใต้ ที่เรามีความชื่นใจที่ได้ช่วยกันทำให้เกิดความดีงามกับพี่น้องประชาชน จากการทำงานขับเคลื่อนสนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และขอให้สิ่งดี ๆ เหล่านี้เป็นพลังและกำลังใจให้พวกเราไม่หยุดยั้ง ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นข้าราชการผู้สนองงานสมเด็จฯ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ช่วยทำให้พี่น้องประชาชนได้รับสิ่งที่ดีในทุกโอกาส และขอให้การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรมของพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เกิดมรรคผล สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มพูนพ้นล้นทวีมากยิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

ดร.วันดี กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นเจ้าฟ้าผู้มีกตเวทิตาคุณอันสูงยิ่ง ด้วยพระหทัยที่ทรงปรารถนาจะร่วมกับพสกนิกรชาวไทยในการถวายพระพรชัยมงคลและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยการพระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เพื่อให้พี่น้องประชาชนช่างทอผ้าและผู้ผลิตผ้าทุกประเภท ร่วมกันในการถักทอตัดเย็บสนองพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมหามงคล

“การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เป็นการน้อมนำแนวพระดำริในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตผ้าได้ทุ่มเทสรรพกำลังและความคิด เพื่อนำลายผ้าพระราชทานมาออกแบบควบคู่กับลวดลายดั้งเดิมและลวดลายที่เกิดจากการสร้างสรรค์ชิ้นงานจากวิธีคิดและจินตนาการอันสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการและช่างทอผ้าทุกประเภท ซึ่งพื้นที่ภาคใต้นั้น สามารถพัฒนาฝีมือได้อย่างก้าวกระโดด มีผลงานที่วิจิตรงดงาม ลวดลายสีสันแปลกใหม่ ทำให้คนเห็นแล้วอยากซื้อ เกิดรายได้มากมายให้กับพี่น้องคนปักษ์ใต้ เรียกได้ว่า ได้รับการขยายผลจนเป็น “ซูเปอร์ความสำเร็จ” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่พวกเราได้ร่วมกันปฏิบัติบูชาถวายแด่พระองค์ท่าน และขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาระดับคุณภาพและต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นตลอดไป” ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติม

ดร.ศรินดา กล่าวว่า นับตั้งแต่คณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 จนถึงตอนนี้ เราพัฒนางานอย่างก้าวกระโดดต่อเนื่อง จากความร่วมมือของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน และชาวมหาดไทยทุกคน จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านช่วยกันขับเคลื่อนรักษามาตรฐานของผ้าไทย งานหัตถศิลป์และหัตถกรรมไทยให้อยู่ในระดับนี้และยกระดับให้ดีขึ้นไปด้วยการต่อยอดยิ่ง ๆ ขึ้นไป

คุณธนันท์รัฐ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระมหากรุณาคุณอย่างสูงยิ่งต่อชาวปักษ์ใต้ ด้วยการพระราชทานลายผ้าบาติกพระราชทานจำนวนมากให้พี่น้องคนใต้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ทำให้ผ้าไทยของชาวใต้มีความงดงามจากการผสมผสานภูมิปัญญาและความสร้างสรรค์ จนก่อให้เกิดรายได้มากมายกับประชาชน นอกจากนี้ ขอชื่นชมข้าราชการมหาดไทย โดยเฉพาะพัฒนาการจังหวัด พัฒนากรในพื้นที่ภาคใต้ ที่มุ่งมั่นทุ่มเทขับเคลื่อนพัฒนาผ้าไทยอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าภาคอื่น ๆ ทำให้ผ้าบาติกปักษ์ใต้ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด

นายสยาม กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” มาจัดประกวด จำนวน 14 ประเภท โดยมีผู้ส่งผลงานผ้าและงานหัตถกรรม รวม 8,651 ชิ้น แบ่งเป็น ประเภทผ้า 8,117 ผืน งานหัตถกรรม 534 ชิ้น ซึ่งในส่วนของภาคใต้ มีผู้ส่งผลงานประเภทผ้า 1,370 ผืน และงานหัตถกรรม 87 ชิ้น