กระทรวงมหาดไทย เดินหน้า “โค้ชชิ่งสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพ” ยกระดับและพัฒนามรดกภูมิปัญญาผ้าและหัตถกรรมไทย ภาคเหนือ ตามแนวพระดำริเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มุ่งน้อมนำพระดำริสู่การปฏิบัติ

กระทรวงมหาดไทย เดินหน้า “โค้ชชิ่งสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพ” ยกระดับและพัฒนามรดกภูมิปัญญาผ้าและหัตถกรรมไทย ภาคเหนือ ตามแนวพระดำริเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มุ่งน้อมนำพระดำริสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (2 ก.ย. 67) เวลา 10.30 น. ที่ห้อง Yi Peng Grand Ballroom ชั้น 2 โรงแรมมีเลีย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ พระอัจฉริยภาพทางด้านการยกระดับและพัฒนามรดกภูมิปัญญาผ้าและงานหัตถกรรมไทย ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ครั้งที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวีระพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ รองผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาสร้างสรรค์ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนวัตกรรมการสื่อสาร วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของกิจการ แบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา ผู้ก่อตั้งและดีไซน์เนอร์แบรนด์ ISSUE หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการ และผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมงคลล้านนา เชียงใหม่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จำนวน 106 ราย ร่วมในงาน

นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการสนองงาน แบ่งเบาพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยทรงพระราชทานแนวพระดำริการผสมผสานระหว่างศิลปะงานผ้าที่มีความเป็นอัตลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค กับมุมมองด้านแฟชั่นร่วมสมัย ทรงมีแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตกรรมไทยมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ให้เหมาะสมในโอกาสต่าง ๆ เป็นที่นิยมของทุกเพศทุกวัย สร้างอาชีพสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนและกลุ่มผู้ผลิตผ้าส่งเสริมและกระตุ้นการรังสรรค์ผ้าไทยให้มีความทันสมัยเป็นสากลอยู่เสมอ

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาได้พระราชทานแบบลายผ้าพระราชทานหลากหลายลวดลาย ได้แก่ ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผ้าบาติกลายพระราชทาน จำนวน 3 ลาย ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ผ้าลายชบาปัตตานี และผ้าลายสิริวชิราภรณ์ รวมถึงทรงพระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตกรรม พระราชทาน “Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทรงมีพระประสงค์ให้กลุ่มผู้ผลิตผ้าให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ด้วย” นายราชันย์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้พระราชทานแนวทางการขับเคลื่อนงานศิลปะและหัตถกรรมที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละพื้นที่ ให้เข้าสู่กระบวนการทางวิชาการ มีการศึกษาเรียนรู้ จดจารึก ส่งเสริมพัฒนา และสนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้เป็นต้นแบบสู่การสร้างสรรค์ผลงานด้านผ้าและหัตถกรรม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระกรุณาธิคุณเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือ “Thai Textiles Trend Book” โดยล่าสุดได้จัดทำเป็นเล่มที่ 5 แล้ว ในการนี้เพื่อเป็นการถวายพระกำลังใจแด่พระองค์ท่าน กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับอาจารย์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านผ้าและหัตถศิลป์ไทย ตลอดจนปวงชนชาวไทย ร่วมกันจัดทำโครงการสมุดภาพประวัติศาสตร์ “สิริราชกัญญานารีรัตน์Thai Craft Wisdom Legacy” ซึ่งได้ถ่ายทอดแนวทางการสนองพระราชดำริของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐทุกหมู่เหล่า แล้วบังเกิดผลที่เป็นประโยชน์อเนกอนันต์ต่อชาติบ้านเมืองและประชาชนในทุกระดับ เป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นใหม่และอนุชนรุ่นหลังว่า พระบรมวงศานุวงศ์ทรงมีแนวทางการทรงงานเพื่อให้ประชาชนได้เปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ และความรู้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ให้มีการปรับกลวิธี แนวทาง วัสดุอุปกรณ์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ จากที่เคยทำมา โดยให้มีความเป็นเลิศ มีความเป็นสากลนิยม และทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ จะถูกจดจารึกเป็นประวัติศาสตร์คู่กับประเทศไทยผ่านหนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้

“ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ทุกท่านได้ช่วยกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาด้านงานผ้า งานหัตถกรรม ที่จะได้เรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านผ้าและหัตถศิลป์ไทยในวันนี้ ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสอันดีที่ท่านจะได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบงานผ้าของท่าน จนอาจสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ดีที่สุดในชีวิต จึงขอให้ทุกท่านได้ตั้งใจรับความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากร ซึ่งหลาย ๆ ท่านอาจจะอุทิศเวลากว่าครึ่งชีวิตสั่งสมประสบการณ์และพร้อมที่จะถ่ายทอดสู่ทุก ๆ ท่านในวันนี้ และโอกาสนี้ ผมขอให้ทุกท่านมุ่งมั่นที่จะช่วยกันรักษาชาติไทยให้คงความเป็นชาติเพราะมีวัฒนธรรมไทย มีหัตถกรรมไทย และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ให้คงอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยไปตราบนานเท่านาน” นายราชันย์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

นายวีระพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้ขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้และสวมใส่ผ้าไทย และได้มีการประชาสัมพันธ์การสวมใส่ผ้าไทย ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยรวบรวมข้อมูลผ้าอัตลักษณ์ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 25 อำเภอ และข้อมูลแหล่งผลิตและแหล่งแปรรูปผ้าจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำเป็นสื่อในรูปแบบ E-book เพื่อประชาสัมพันธ์ผ้าพื้นถิ่นให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังรณรงค์ ส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ใช้วัสดุจากธรรมชาติในการย้อมผ้า เห็นได้จากผลงานของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้นำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้ในการผลิตผ้า อาทิ กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย อำเภอจอมทอง ที่นำสีจากหินโมคคัลลาน มาใช้ย้อมผ้าและทอผ้า ออกแบบลายผ้าโดยนำลายพระราชทานมาประยุกต์กับลายดั้งเดิมของชุมชน ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ในพื้นที่ และผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการจำหน่ายผ้าหรือผลิตภัณฑ์จากผ้า ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน