เผยแพร่ |
---|
ปลัด มท. ลงพื้นที่ประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ เน้นย้ำ น้อมนำพระราชปณิธานสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ควบคู่การส่งเสริมเยาวชนร่วมอนุรักษ์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรักษามรดกอันล้ำค่าของชาติให้มีความสวยงามและร่มรื่นอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป
วันนี้ (1 ก.ย. 67) เวลา 15.30 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ประสานงานโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ พร้อมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบริเวณพื้นที่ดำเนินการบูรณะภายในพระราชวังสนามจันทร์ โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายพิศุทธิ์ สุขุม วิศวกรใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง นายชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ สถาปนิกใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง นายดุษฎี เจริญลาภ นายชัยวัฒน์ ปลายเนิน ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายพิษณุ มูลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการก่อสร้าง นางเปรมจิต สงวนแก้ว โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานพระวโรกาสให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อรับพระราชทานพระดำริเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ซึ่งทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ที่มีอายุกว่า 117 ปี ให้กลับมามีสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพื่อส่วนรวม อันเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาพระราชทานโฉนดที่ดิน พระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 148 ไร่ 2 งาน 88.8 ตารางวา ให้กระทรวงมหาดไทยได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งนอกจากพระราชทานพื้นที่พระราชวังสนามจันทร์แล้ว พระองค์ได้พระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 72.70 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 92.30 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อีกด้วย
“กระทรวงมหาดไทยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระกรุณาคุณ จึงได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับจังหวัดนครปฐม ดำเนินการโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งต้องขอบคุณที่พวกเราชาวมหาดไทย ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง และจังหวัดนครปฐม ได้ร่วมกันดูแลติดตามจนโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์มีผลความคืบหน้าอย่างยิ่ง โดยมุ่งเน้นบูรณะในเชิงอนุรักษ์ คือ การรักษาให้คงเดิม ทั้งลวดลาย สีสัน รวมถึงอารยสถาปัตย์ ตลอดจนถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ควบคู่กับการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบพื้นที่พระราชวังสนามจันทร์ ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ รวมถึงเป็นพื้นที่การศึกษาเรียนรู้และเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้ นอกจากเป็นที่ประทับขณะแปรพระราชฐานมายังเมืองนครปฐมแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่เสด็จออกว่าราชการ และต้อนรับพระราชอาคันตุกะ รวมถึงเป็นฐานที่ตั้งกองบัญชาการ และการฝึกซ้อมรบของเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับป้องกันประเทศในยามคับขัน ซึ่งต่อมาเป็นสถานที่สำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินของจังหวัดนครปฐม คือศาลากลางจังหวัดนครปฐม จวนข้าหลวง จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นต้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) บูรณาการร่วมกันดูแลเรื่องระบบบำบัดน้ำเสีย รวมถึงดูการระบายน้ำ จุดน้ำขัง ท่อน้ำทิ้ง เพื่อไม่ให้เกิดน้ำเน่าเสีย ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่เรื่องสิ่งแวดล้อม อาทิ การนำกังหันชัยพัฒนา ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย เพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย และรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ ต้องมีแผนในการป้องกันบุคคลที่อาจจะมาปล่อยปลาปล่อยสัตว์น้ำที่จะส่งผลทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และสิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้มีแบบแปลนพิมพ์เขียวของอาคาร โดยท่านอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ต้องตั้งทีมคณะทำงานที่เป็นทางการเพื่อยกร่างผังแม่บทในการใช้ประโยชน์พระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดูแลอาคารอันทรงคุณค่าเหล่านี้ในอนาคต
“ในส่วนของจังหวัดนครปฐม ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม จัดทำป้ายชื่อประจำต้นไม้ โดยมี QR Code ที่แสดงข้อมูลรายละเอียดพันธุ์ไม้ พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้เกิดร่มเงา รวมถึงการป้องกันและแก้ไขเรื่องปัญหานกพิราบที่จะส่งผลต่อความสะอาดและความสวยงามของอาคารสิ่งก่อสร้าง และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์และต่อยอดกิจกรรม เพื่อทำให้พระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้ได้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เชิญชวนนิสิตมาร่วมเป็นสมาชิกชมรม เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมพัฒนาพื้นที่ อาทิ มัคคุเทศก์น้อย ไกด์กิตติมศักดิ์ ซึ่งสามารถช่วยกันประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนที่มาเที่ยว เพราะมหาวิทยาลัยศิลปากรมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีไทย มีคณาจารย์ที่มีความรู้ ที่สามารถสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ได้ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาอื่น ๆ อันจะทำให้พื้นที่พระราชทานที่ล้ำค่าแห่งนี้เป็นเหมือนมรดกโลกในอนาคต” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
ทั้งนี้ พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร ภายในพระราชวังสนามจันทร์ ประกอบด้วยอาคารสำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งวัชรีรมยา พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ พระตำหนักทับแก้ว พระตำหนักทับขวัญ เรือนที่ประทับ และสถานที่อื่น ๆ ซึ่งล้วนมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและทางประวัติศาสตร์ และเป็นพระราชวังที่มีความโดดเด่นในด้านการรักษาศิลปะและความมั่นคงของชาติ ยังความภูมิใจของประชาชนคนไทยทุกคน