ปลัด มท. มอบโล่เชิดชูเกียรติ 4 รางวัลสุดยอดนวัตกรรมสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (Excellent Innovation Awards) ประจำปี 2567

ปลัด มท. มอบโล่เชิดชูเกียรติ 4 รางวัลสุดยอดนวัตกรรมสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (Excellent Innovation Awards) ประจำปี 2567 พร้อมเน้นย้ำ ขยายผล Best Practice ที่เป็นปัจจัยความสำเร็จในรูปแบบ cookbook ให้กับทุกกรม/รัฐวิสาหกิจ และทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลสูงสุดกับประชาชน

วันนี้ (20 ส.ค. 67) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบโล่เชิดชูเกียรติรางวัลสุดยอดนวัตกรรมสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (Excellent Innovation Awards) ประจำปี 2567 โดยมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง พร้อมด้วยผู้บริหารกรม/รัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าหน่วยงานที่ได้รับรางวัล ร่วมในพิธี โดยเป็นการถ่ายทอดสดพิธีผ่านระบบการประชุมทางไกลไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทุกจังหวัด ร่วมรับชม

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรม ได้จัดการประกวดรางวัลสุดยอดนวัตกรรมสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (Excellent Innovation Awards) ประจำปี 2567 เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมภาครัฐตามแนวคิดระบบราชการ 4.0 โดยได้พิจารณาผลงานจากหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ส่งเข้าร่วมการประกวด และได้มีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการประกวดรางวัลสุดยอดนวัตกรรมสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยฯ ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 โดยรางวัลชนะเลิศ ผลงาน “การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยกับหน่วยงานภาครัฐด้านร้องเรียนร้องทุกข์” โดยสำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ผลงาน “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดขอนแก่นแบบบูรณาการ” โดยสำนักงานจังหวัดขอนแก่น รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ผลงาน “โปรแกรมบริหารจัดการแผนพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด (Plan101Pro)” โดยสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด และรางวัลพิเศษต้นแบบการพัฒนานวัตกรรม ผลงาน “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ (Surin One Plan)” โดยสำนักงานจังหวัดสุรินทร์

“ขอให้นำผลสำเร็จของการขับเคลื่อนงานอันเป็นผลงานของทั้ง 4 หน่วยงานนี้ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ไปขยายผลด้วยการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ปัจจัยความสำเร็จในรูปแบบ cookbook ให้กับทุกกรม/รัฐวิสาหกิจ และทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้สิ่งที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ใน 4 จังหวัด แต่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับการให้บริการกับพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกัน ในส่วนของผลงาน Surin One Plan และผลงาน Plan101Pro ให้สำนักนโยบายและแผน สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลโดยเชื่อมโยงแผนงาน/โครงการในลักษณะ Linkage เพื่อให้แผนงาน/โครงการของทั้ง 76 จังหวัดผนวกรวมอยู่ในฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้การบริหารแผนงาน/โครงการในภาพรวมกระทรวงมหาดไทยและภาพรวมประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลสูงสุด” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำเพิ่มเติม

สำหรับผลงาน “การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยกับหน่วยงานภาครัฐด้านร้องเรียนร้องทุกข์” โดยสำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการพัฒนาระบบร้องเรียนร้องทุกข์จากการประสานงานด้วยเอกสารปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล ด้วยการเชื่อมโยง (Linkage) ฐานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์และหน่วยงานให้บริการพี่น้องประชาชนรวม 15 หน่วยงาน ส่งผลทำให้ลดระยะเวลาการทำงาน และสามารถติดตามเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถตรวจสอบเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่ได้มีการร้องเรียนซ้ำหลายหน่วยงาน และสามารถสรุปสถิติวิเคราะห์ข้อมูลนำเสนอผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเรียกร้องเรียนร้องทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อความสุขของพี่น้องประชาชน และความสงบเรียบร้อยของสังคมต่อไป

ในส่วนของผลงาน “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดขอนแก่นแบบบูรณาการ” โดยสำนักงานจังหวัดขอนแก่น สืบเนื่องจากจังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ชลประทานขนาดใหญ่ คือ ลำน้ำชี ลำน้ำเชิญ และลำน้ำพอง ซึ่งตลอดปีแหล่งน้ำทั้งจังหวัดรองรับปริมาณน้ำได้ไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้เกิดความไม่มั่นคงเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทางจังหวัดขอนแก่นจึงเกิดแนวคิดจัดทำ “แผนบริหารจัดการน้ำเชิงระบบ” โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำแผนงาน/โครงการครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ ด้วยแนวคิด “จากภูพานถึงมหานที” ด้วยการจัดทำแผนงาน/โครงการลงไปถึงระดับตำบล อำเภอ จังหวัด โดยกำหนดเป้าหมายว่า หากมีการนำเสนอโครงการที่เกี่ยวกับด้านการบริหารจัดการน้ำ จะได้พิจารณาคัดเลือกจากแผนบริหารจัดการดังกล่าวตามลำดับความสำคัญ ทั้งนี้ “แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดขอนแก่นแบบบูรณาการจังหวัดขอนแก่น” มีความหลากหลายและครอบคลุมทั้งในมิติพื้นที่และอำนาจหน้าที่และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และมีความยืดหยุ่น เพราะสามารถปรับปรุง/เปลี่ยนแปลง/แก้ไขได้ หากข้อเท็จจริงใน 6 เดือน/12 เดือน ไม่เป็นตามแผน เพื่อให้เกิดความเป็นปัจจุบันและตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง

ผลงาน “โปรแกรมบริหารจัดการแผนพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด (Plan101Pro)” โดยสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นการพัฒนาระบบโดยนักวิชาการคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ สืบเนื่องจากการสภาพปัญหาการจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดทุกปีที่ผ่านมาจะมีระยะเวลาสั้น การประสานหน่วยงานมักจะมีความล่าช้า ไม่ทันต่อการนำเสนอแผน สำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ดจึงมอบหมายให้นักวิชาการคอมพิวเตอร์ได้นำแนวคิดจากระบบ Thai Water Plan และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้ทำการออกแบบโปรแกรมและทดลองใช้จนระบบมีความเสถียรแล้ว จึงเชิญหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ มาประชุมเพื่อรับทราบแนวปฏิบัติ/วิธีการใช้ระบบ โดยในรายละเอียดนั้นประกอบด้วย แบบรูปรายการและภาพถ่าย แล้วนักวิเคราะห์นโยบายและแผนของสำนักงานจังหวัดจะมาวิเคราะห์จัดลำดับความสำคัญ และจะมีการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุง/แก้ไขทุก 3 เดือน เพื่อให้ข้อมูลมีความเป็นปัจจุบัน

และรางวัลพิเศษต้นแบบการพัฒนานวัตกรรม ผลงาน “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ (Surin One Plan)” โดยสำนักงานจังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินการจัดทำระบบ surinoneplan เพื่อรวบรวมปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ให้มีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ โดยมีการกำหนด รหัสครบทุกหมู่บ้านเพื่อผู้นำหมู่บ้านสามารถกรอกข้อมูลโครงการในทุกด้าน จากนั้น คณะกรรมการบริหารงานตำบลแบบบูรณาการ (กบต.) จะประมวลข้อมูลเพื่อนำความต้องการมาแยกย่อยว่าโครงไหน ดำเนินการในพื้นที่เอง โครงการไหนดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น หรือเป็นโครงการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่หน่วยงานระดับใด สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดหรือไม่ จากนั้น ในระดับอำเภอ คณะกรรมการบริหารงานอำเภอแบบบูรณาการ จะพิจารณาส่งต่อโครงการไปยังส่วนราชการเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาบรรจุเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดอย่างประสานสอดคล้องกัน และเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณก็จะถูกติดตามและประเมินผลด้วยระบบดังกล่าวตามขั้นตอน ตั้งแต่การจัดหา/จัดซื้อ/จัดจ้าง/รายงานผล สภาพปัญหา/ผลกระทบ/ประโยชน์ที่ได้ ซึ่งเมื่อการดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมกที่เกี่ยวข้องมองเห็นภาพรวมของการพัฒนาจังหวัด ทั้งงานที่ดำเนินการแล้ว และงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงงานที่อยู่ระหว่างการขอรับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ