เผยแพร่ |
---|
ปลัดมหาดไทย ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนกระบวนการทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ร่วมกับนายอำเภอ 18 อำเภอพื้นที่จังหวัดเชียงราย เน้นย้ำ คำตอบของการพัฒนาอยู่ที่ “หมู่บ้านยั่งยืน” ความสำคัญของการทำงานจะเกิดขึ้นได้ต้องเอาจริงเอาจัง และเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจประชาชน
วันนี้ (15 ส.ค. 67) เวลา 12.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมแลกเปลี่ยนกระบวนการทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ ปลัดจังหวัดเชียงราย นายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน พร้อมด้วยนายอำเภอทุกอำเภอในพื้นที่จังหวัดเชียงราย นายศรีวรรณ วงค์จินา กำนันตำบลสันกลาง นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดเชียงราย ร่วมแลกเปลี่ยน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้รับเมตตาจาก พระครูปิยวรรณพิพัฒน์ เจ้าคณะตำบลสันกลาง เขต 2 เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย พระนักพัฒนา ผู้มีรังสีแสงแห่งความดีงาม เชิญมาเยี่ยมชมความสำเร็จของการขับเคลื่อน “สถานชีวาภิบาลวัดหัวฝาย” อันสะท้อนถึงความเมตตาของภาคีเครือข่ายผู้นำทางศาสนา คือ คณะสงฆ์ ที่ให้ความเชื่อมั่นกับพวกเราชาวมหาดไทย ผู้ทำหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนทุกเพศทุกวัย เพราะหน้าที่ของคนมหาดไทย คือ การรับผิดชอบงานทุกเรื่อง ทุกฟังก์ชันของทุกกระทรวงในระดับพื้นที่ ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ที่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดูแลด้านสังคมอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่พ้นหน้าที่ของคนมหาดไทยที่จะต้องดูแลประชาชนในทุกพื้นที่ เพราะพี่น้องประชาชนมีความเชื่อมั่นและศรัทธา และปรารถนาให้คนมหาดไทยภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนงานราชการเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน และความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วยการนำของท่านนายอำเภอในพื้นที่
“วันนี้ตนตั้งใจเดินทางมาที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เพื่อได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกระบวนการทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ในระดับพื้นที่ร่วมกับท่านนายอำเภอทุกท่าน เพื่อให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่ง “ความสำคัญอยู่ที่การเอาจริงเอาจัง” เพราะงานทุกงานของทุกกระทรวงจะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้นั้นอยู่ที่นายอำเภอ จึงเกิดคำกล่าวที่ว่า “นายอำเภอ คือ นายกรัฐมนตรีของอำเภอ เป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชน” เพราะหน้าที่ของคนมหาดไทย คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทุกเรื่อง เราจึงต้องมีระบบระเบียบในการควบคุมจิตใจของเราไม่ให้เพลิดเพลินไปกับงานใดงานหนึ่ง ต้องทำให้ “ทุกงานเป็นเครื่องมือ” เพื่อบรรลุเป้าหมายการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขได้ดี ด้วยการอาศัย 4 กระบวนงานอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ในเชิงคุณภาพ คือ 1) “ร่วมพูดคุย” ต้องหมั่นไปพบปะ ทำให้เรามีความสนิทสนมมักคุ้น เป็นที่เชื่อมั่น เชื่อถือ เป็นที่รักของประชาชน 2) “ร่วมคิด” ผ่านการรับฟังความคิดเห็น ให้ชาวบ้านได้เล่า ได้สะท้อนปัญหา โดยมี “คนมหาดไทย” ช่วยกันถกแถลงให้เกิดแนวคิดและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทำให้ระบบการช่วยเหลือประชาชนดำเนินทุกขั้นตอนอย่างสมบูรณ์ มิใช่ต้องให้ชาวบ้านไปร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนจนเป็นข่าวอึกทึกครึกโครม ทางราชการจึงจะมะรุมมะตุ้มลงไปช่วยเหลือ เพราะทุกปัญหา ในพื้นที่ ชาวบ้านจะนึกถึงเบอร์ 1 ของพื้นที่ ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ดังนั้น key success อยู่ที่ “ทีม” ทั้งทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทีมตำบลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และทีมคณะกรรมการหมวดบ้าน (คุ้มบ้าน) ด้วยการสร้างความเข้มแข็งของผู้นำทุกหมู่บ้าน และผู้นำหมู่บ้านไปสร้างความเข้มแข็งให้กับหัวหมวดบ้าน หรือผู้นำคุ้มบ้าน และมีโครงสร้างการดูแลคนในหมู่บ้านในลักษณะ “หมวดบ้าน” หรือ “คุ้มบ้าน” หมั่นพูดคุย ประชุม สร้างพลังความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน ให้เกิดความเหนียวแน่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และกระบวนการนี้เองจะทำให้เกิด “ระบบงานการข่าวในพื้นที่” ด้วยการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารทุกเรื่องไปยังท่านนายอำเภอ เราจึงต้องมุ่งมั่นทำงานเชิงระบบ ด้วยทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ในทุกระดับ เพื่อมีสรรพกำลัง มีข้อมูล และท้ายสุด “ความสำเร็จในการทำงานจะเกิดขึ้น” 3) เราต้องหมั่นลงไป “ร่วมทำ” กับพี่น้องประชาชน และแสดงออกให้ชัดเจนว่า การมาร่วมงานกับประชาชน เราจะมีความสุข เพราะความสำเร็จของคนทำงานมหาดไทยอยู่ที่ใจ “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านให้ดีทำทุกวันให้เหมือนกับว่า เป็นวันที่เรากำลังส่งเข้าประกวดหมู่บ้านต้นแบบตลอดเวลา เพื่อให้ชีวิตราชการที่เหลืออยู่ จะได้เป็นชีวิตที่มีคุณค่า คือ ชีวิตที่เราช่วยสร้างสิ่งที่ดีในสังคม โดยมี “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ทั้งมิติเชิงป้องกันและบำบัดรักษาฟื้นฟูเข้าไปสู่ชีวิตประชาชน อาทิ “งานสิ่งแวดล้อม” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น “งานวัฒนธรรม” ทั้งการละเล่น ประเพณี อาหารการกิน การแสดง เครื่องแต่งกาย ตลอดจนถึงโครงการพระราชดำริทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทั้งที่เป็นความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” มาขับเคลื่อนในทุกครัวเรือน และช่วยกันเก็บเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายขยายผลให้กับคนในชุมชน และกระจายไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ เฉกเช่นที่พระองค์ทรงปลูกพืชผักสวนครัวด้วยพระองค์เอง และทรงเก็บมาทำเครื่องเสวยด้วยพระองค์เอง ทั้งยังพระราชทานเมล็ดพันธุ์ให้กับข้าราชบริพารไปใช้ในครัวเรือน และทำให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีธนาคารขยะ และมีการบริหารจัดการขยะตามหลัก 3Rs ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เราต้องทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยจิตใจที่เข้มแข็งควบคู่ความทะเยอทะยานของการมุ่งมั่นทำสิ่งที่ดีเพื่อประชาชน และเพื่อท้ายที่สุดจะเกิดข้อที่ 4) “ร่วมรับประโยชน์” คำตอบอยู่ที่หมู่บ้านยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ในด้านการพัฒนาเด็กเล็ก เราต้องช่วยกันส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักการสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน การร้องเพลงชาติด้วยความฮึกเหิม ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสดุดีจอมราชา ด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดี และเพลงปลุกใจต่าง ๆ เช่น เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี เพลงรักเมืองไทย เพื่อเสริมสร้างพลังแห่งความรู้รักสามัคคี และรู้หน้าที่ของการเป็นเด็กและเยาวชนที่ดี รวมทั้งร่วมกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหมั่นลงพื้นที่โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจติดตามการประกอบเลี้ยงอาหารกลางวันสำหรับเด็กอย่างสม่ำเสมอ และส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ อย่างน้อยวันละ 2 ฟอง ด้วยการเลี้ยงไก่ไข่ ให้เด็กหนึ่งคนมีแม่ไก่อย่างน้อย 3 ตัว รวมถึงการปลูกสมุนไพรต่าง ๆ ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เพื่อเด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน ขณะเดียวกัน ต้องส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาไทยของเด็กที่เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทั้งการประกวดประขันแต่งคำประพันธ์ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นสมองด้านการเขียน ให้เด็กมีคารมคมคาย มีสัมผัสสำนวน รู้จักเรียบเรียงเล่าเรื่องราวได้คล้องจอง และยังสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นนักประพันธ์เพลงในอนาคตได้อีกด้วย ซี่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญทำให้พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานเมื่อ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
“ขอฝากให้นายอำเภอทุกอำเภอได้เป็นผู้นำร่วมกับข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชน น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ด้วยการร่วมกันเอามื้อสามัคคี ทำให้ถนนในพื้นที่ตำบล ชุมชน หมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ถนนริมคลองชลประทาน ได้เป็นถนนแห่งความยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว พืนสมุนไพร มะกรูด มะนาว ตะไคร้ หัวข่า เพื่อเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนกับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า นอกจากนี้ ในด้านงานบริการประชาชน “การบริการที่ดีเริ่มจากการที่เรามีมนุษยสัมพันธ์” นายอำเภอทุกอำเภอ ต้องอำนวยการดูแลเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านงานบริการ ทำงานให้เข้าไปนั่งในหัวใจของพี่น้องประชาชน ทำให้เป็นที่รักของพี่น้องประชาชนประดุจเหมือนลูกเหมือนหลาน เพราะงานบริการจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จมันมีขั้นตอนตามกฎหมาย ประชาชนผู้รับบริการเขายอมรับได้ ถ้าเราพูดคุย อธิบายด้วยหัวใจบริการ แต่ถ้าเราไม่เคยพบปะ ไม่เคยทักทาย ไม่เคยพูดคุย ก็จะส่งผลต่องานบริการที่ไม่ได้รับความประทับใจอย่างแน่นอน และจงเชื่อมั่นว่า หากเราทำงานด้วยความสุจริตใจ ทุกอย่างจะประสบความสำเร็จ “ขอให้พวกเราทุกคนได้ใช้เวลาที่มีอยู่ ช่วยกัน Change for Good ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการลงมือทำในทันที ใช้ทุกเวลานาทีทำหน้าที่ให้สมกับคำว่า “ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ผู้อุทิศ ทุ่มเท เสียสละตน เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน