เผยแพร่ |
---|
จังหวัดแม่ฮ่องสอน เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน หลังจากเกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนประชาชนในหลายพื้นที่ ด้านผู้ว่าฯ สั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการกำลังลงพื้นที่คอยดูแลเคลื่อนย้ายประชาชนไปยังที่ปลอดภัย พร้อมเน้นย้ำให้พี่น้องประชาชนรับฟังการแจ้งเตือนข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (12 ส.ค. 67) นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณภาคเหนือตอนบน ส่งผลกระทบให้มวลน้ำจำนวนมากไหลมายังพื้นที่อำเภอปางมะผ้า และอำเภอใกล้เคียงซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากกระทบบ้านเรือนของประชาชนเป็นวงกว้าง ตนจึงได้มอบหมายให้ นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมทั้งให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนย้ายสิ่งของไปยังพื้นที่ปลอดภัย และให้ทุกภาคส่วนติดตามปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด
“โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ตนได้สั่งการให้นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เร่งติดตามความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยได้ประสานงานทุกหน่วยงาน เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ซึ่งได้บูรณาการกำลังร่วมกับนายพรเทพ เจริญสืบสกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขา แม่สะเรียง สั่งการให้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าปางมะผ้า / หน่วยป้องกันรักษาปางที่ มส 16(สบป่อง) ส่ง เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือราษฎร โดยการขนอุปกรณ์เครื่องใช้ ของราษฎรขึ้นพื้นที่สูง และขนเศษกิ่งไม้ ต้นไม้ที่ขวางทางน้ำ ตลอดจนใช้แพยาง ขนย้ายราษฎร และ เจ้าของรีสอร์ท พร้อมลูกจ้าง จำนวน 6 คน ที่ติดค้างรีสอร์ทในพื้นที่น้ำท่วมขัง ออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัยแล้ว ” นายชูชีพฯ กล่าว
นายชูชีพฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสำรวจสถานการณ์ฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 4 อำเภอ 6 ตำบล 8 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ จำนวน 2,214 ครัวเรือน 4,295 คน ซึ่งประกอบไปด้วย 1) อำเภอปางมะผ้า หมู่ที่ 5 บ้านเมืองแพม ตำบลถ้ำลอด น้ำป่ากัดเซาะคอสะพาน ขาด ได้รับความเสียหาย ทั้ง 2 ด้านทำให้ราษฎรไม่สามารถสัญจรไป- มาได้ มีราษฎรได้รับผลกระทบ หมู่ที่ 5 จำนวน 608 คน หมู่ 7 บ้านแอ๋ลา จำนวน 111 คน หมู่ที่ 3 บ้านไร่ ตำบลสบป่อง น้ำป่าไหลหลากเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมเส้นทางเข้าหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร โรงแรม/เก็ตเฮ้าส์ และบริเวณศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน 2) อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน น้ำป่าไหลหลากจากลำห้วยห้วยผา และลำน้ำแม่สะงี ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยผา โดยมวลน้ำท่วมบริเวณอาคารที่ทำการ สถานที่ท่องเที่ยว ถนนทางเข้าอุทยาน และจุดบริการนักท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบ 3) อำเภอขุนยวม หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ยวมน้อย น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และสะพานไม้ บ้านหว่าโน ได้รับผลกระทบ หมู่ที่ 4 บ้านแม่ออ ตำบลแม่ยวมน้อย มีต้นไม้ล้มขวางถนน ทางเข้าหมู่บ้าน 4) อำเภอแม่ลาน้อย ตำบลขุนแม่ลาน้อย และตำบลแม่นาจาง บ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ
“ในส่วนการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ตนได้สั่งการให้ 1) อำเภอปางมะผ้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหารในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปพร. และจิตอาสา เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการขนอุปกรณ์เครื่องใช้ ของราษฎรขึ้นพื้นที่สูง และขนเศษกิ่งไม้ ต้นไม้ที่ขวางทางน้ำ ตลอดจนจะใช้แพยาง ขนย้ายราษฎรและนักท่องเที่ยว พนักงาน ที่ติดค้างในรีสอร์ท ในส่วนความเสียหายคอสะพานอยู่ระหว่างการสำรวจ และดำเนินการแก้ไข 2) อ.เมืองแม่ฮ่องสอน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยผา และอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ จัดเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยมูลนิธิบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้การช่วยผู้ที่ติดค้างในบริเวณอุทยาน ได้ทั้งหมดแล้ว ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้ ได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากเพิ่มเติม ในส่วนความเสียหายพื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์อยู่ระหว่างการสำรวจ ปัจจุบันปริมาณน้ำได้ลดระดับลงแล้ว 3) อ.ขุนยวม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ความเสียหายด้านอื่น ๆ อยู่ระหว่างการสำรวจ 4) อ.แม่ลาน้อย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ความเสียหายด้านอื่น ๆ อยู่ระหว่างการสำรวจ” นายชูชีพฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายชูชีพฯ กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก โดยทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 จึงมีการออกประกาศ ปิดการท่องเที่ยว จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเพื่อจัดการทำความสะอาดเศษซากพืช โคลนตม ดินทรายที่ทับถม บริเวณดังกล่าว ให้กลับมาดังเดิม นอกจากนี้ยัง ได้ติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนและจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณเส้นทางที่มีน้ำท่วม และน้ำป่าไหลหลากโดยได้วางมาตรการในการบริหารจัดการสถานการณ์เอาไว้ ประกอบด้วย การมอบหมายให้นายอำเภอทุกอำเภอต้องเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่งอย่างต่อเนื่อง โดยทุกภาคส่วนในจังหวัดจะต้องเตรียมความพร้อม ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกล ยุทโธปกรณ์ กำลังพลเพื่อพร้อมให้ความช่วยเหลือทันที ตลอด 24 ชั่วโมงเมื่อได้รับการร้องขอ และจะต้องเร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร่งด่วน
นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวในช่วงท้ายว่า สถานการณ์ฝนตก ตามการรายงานสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังคงมีกลุ่มฝนปกคลุมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม และอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะต้องมีการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากอยู่ตลอดเวลา ในช่วงระหว่างวันที่ 11-14 สิงหาคม 2567 จึงขอให้พี่น้องประชาชนเตรียมตัวรับมือกับฝนตกหนักที่กำลังมาถึง และคอยติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนของทางราชการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากผู้ประสบภัยท่านใดยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือต้องการสอบถามข้อมูลและวิธีการเตรียมตัวรับมือสถานการณ์น้ำท่วม สามารถแจ้งได้ที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือ โทรสายด่วน 1567 หรือ 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข