ปลัด มท. เผยสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 463 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต พร้อมสั่งการผู้ว่าฯ ให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูลข่าวสารกับประชาชนและนักท่องเที่ยว

ปลัด มท. เผยสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 463 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต พร้อมสั่งการผู้ว่าฯ ให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูลข่าวสารกับประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมเน้นย้ำสายด่วนนิรภัย 1784 สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (12 ส.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ สาธาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณตอนใต้ของสาธาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนังหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้เกิดอุทกภัย ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. 12 ส.ค. 67 ในพื้นที่ 16 จังหวัด คือ ลำปาง น่าน พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ เลย กาญจนบุรี นครนายก จันทบุรี ตราด ระยอง ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี และกระบี่ รวม 57 อำเภอ 165 ตำบล 724 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 14,106 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเมื่อวันที่ 5-7 ส.ค. 67 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ ต.บางแตน ต.บางเตย อ.บ้านสร้าง เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ 463 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ปราจีนบุรี และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี สนับสนุนเรือท้องแบน 6 ลำ เรือพายพลาสติก 251 ลำ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล 2 เครื่อง เครื่องสูบน้ำขนาด 14 นิ้ว 1 เครื่อง อำเภอ หน่วยทหารในพื้นที่ อปท. จิตอาสา อส. อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหาย ให้การช่วยเหลือและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นพื้นที่ลุ่มต่ำ ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 ส.ค.67 เวลา 10.00 น. เกิดเพลิงไหม้โรงงานไม้แปรรูป บริษัท สิงห์ พาราเทค จำกัด (มหาชน) เลขที่ 132 ม.4 ต.บ้านหม้อ อ.พรหมบุรี ซึ่งในเวลาดังกล่าวไม่ได้มีการประกอบกิจการ เนื่องจากอยู่ในการกำกับควบคุมของสำนักงานบังคังคับคดี โดยเบื้องต้นส่งผลให้เพลิงลุกไหม้เสียหายบางส่วน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสิงห์บุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ อำเภอ กฟภ. อปท. จิตอาสา อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าอำนวยการและทำการดับเพลิง โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 16 ชัยนาท สนับสนุนรถดับเพลิงกระเช้าสูง 32 เมตร รถบรรทุกน้ำ 10,000 ลิตร รถติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล รถเคลื่อนที่เร็ว พร้อมเจ้าหน้าที่ ปัจจุบันสามารถควบคุมเพลิงไว้ในวงจำกัด สาเหตุอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้นเป็นปานกลาง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ พร้อมได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญกับการสื่อสารสังคมด้วยการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ทั้งสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน และช่องทางการขอรับความช่วยเหลือในทุกเรื่อง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนหากเกิดสถานการณ์ โดยภายหลังสถานการณ์บรรเทาเบาบางลง ให้บูรณาการทุกภาคีเครือข่ายเข้าช่วยเหลือในเบื้องต้น และทำการสำรวจเยียวยาตามระเบียบกฎหมาย สำหรับการช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน สามารถใช้กลไกทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ระดมสรรพกำลังช่วยเหลือประชาชน

“ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารสถานการณ์อุทกภัย ตลอดจนการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด จนกว่าเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้รู้เท่าทันเหตุการณ์อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติหรือต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถโทรสายด่วนนิรภัย 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปลัดอำเภอประจำตำบล นายอำเภอ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ /2567
วันที่ 12 ส.ค. 2567