ปลัดมหาดไทยจับมือนายกแม่บ้านมหาดไทยนำแถลงข่าวเปิดตัว “หนังสือการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025)” ชื่นชม คน พช. ทำงานใกล้ชิดประชาชนที่สุด

ปลัดมหาดไทยจับมือนายกแม่บ้านมหาดไทยนำแถลงข่าวเปิดตัว “หนังสือการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025)” ชื่นชม คน พช. ทำงานใกล้ชิดประชาชนที่สุด และต้องช่วยกันสื่อสาร ให้กำลังใจ ผลักดันให้ผู้ประกอบการน้อมนำพระดำริจาก “Thai Textiles Trend Book” เป็นคู่มือชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (11 ส.ค. 67) เวลา 10.30 น. ที่สเฟียร์ ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก แถลงข่าวเปิดตัว “หนังสือการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025)” โดยมี นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายชยชัย แสงอินทร์ นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน และคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue Thailand นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ASAVA คุณสุธาวดี ศิริธนชัย กรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด เอ็มดิสทริค นางวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ หัวหน้าศูนย์ศิลปาชีพอำเภอนาหว้า ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และผู้สนใจร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า หนังสือ Thai Textiles Trend Book เป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการรับเอาแนวโน้ม (Trend) ของโลกแฟชั่นที่สากลนิยมมาปรับใช้ในชีวิตการผลิตชิ้นงาน ซึ่ง Spring/Summer 2025 เล่มนี้เป็นเล่มที่ 5 ที่พระองค์ทรงลงมาเป็นองค์บรรณาธิการในการเรียบเรียงหนังสือด้วยพระองค์เอง อันเกิดคุณประโยชน์ในแวดวงวิชาการแฟชั่นไทย เพราะ 1) เราไม่เคยมีตำรับตำราลักษณะนี้ของไทยเลย 2) ทรงปรารถนาที่อยากจะให้เพื่อนร่วมอาชีพได้รู้แนวโน้มและแรงปรารถนาของแฟชั่นในอนาคต 3) ทรงเล็งเห็นว่าเด็กไทยจำนวนมากมีความสนใจในเรื่องการออกแบบตัดเย็บ แฟชั่นดีไซน์ ซึ่งอะไรก็ตามที่เป็นการทำนายอนาคต (Predict) ถือเป็นองค์ความรู้ (Knowhow) ที่มีมูลค่าสูง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า พระองค์ทรงมีความปรารถนาดีต่อวงการแฟชั่นไทยและวงการศึกษาด้านแฟชั่น ด้วยพระประสงค์ที่จะแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยพระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์มาช่วยคนไทยในยามวิกฤตโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มศิลปาชีพ และผู้ประกอบการ OTOP ที่ในช่วงนั้นกำลังจะไปถึงทางตัน และพระราชทานพระกรุณาให้กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) กับกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่ Thai Textiles Trend Book เล่มที่ 3 เพราะพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจและมีความรับผิดชอบในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำงานใกล้ชิดอยู่กับพี่น้องประชาชน เข้าใจ เข้าถึง พี่น้องประชาชน เข้าใจพระประสงค์ในการผลิตและเผยแพร่หนังสือ เข้าใจจิตใจพี่น้องประชาชนว่ามีศักยภาพ มีอุปนิสัย ที่เราต้องช่วยกันโน้มน้าวจิตใจให้เขาได้เข้าใจในรายละเอียดของตำรับตำรา Thai Textiles Trend Book อย่างไร และที่สำคัญ “คน พช. เราเข้าถึงทุกครัวเรือน” กระทั่ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่ 51 กล่าวว่า คนกรมการพัฒนาชุมชนเป็นคนที่พูดกับประชาชนรู้เรื่องมากที่สุด และเป็นข้าราชการที่พูดแล้วประชาชนรัก ประชาชนเชื่อมากกว่ากรมอื่น เพราะพูดแบบลูกหลาน ไม่ได้พูดแบบเจ้าขุนมูลนาย

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเปรียบเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เสด็จลงมาทำให้การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยทรงเล็งเห็นว่า ประชาชนจะมีความสุขด้วยการนำภูมิปัญญาบรรพบุรุษมาผลิตชิ้นงานและจำหน่ายให้ผู้คนได้นำไปใช้ ซึ่งคนจะนิยมใช้มากขึ้น ถ้าสี รูปแบบ และลวดลายโดนใจ พระองค์จึงได้ทรงบันทึกลงไว้ในหนังสือ Thai Textiles Trend Book ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ด้วยพระวิริยอุตสาหะที่พระองค์ทรงงานอย่างมีเป้าหมายดี วิธีการดี ควบคู่การประเมินผล และสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะ Thai Textiles Trend Book เล่มที่ 1-4 ทำมาดีอยู่แล้ว จึงได้ทรงประเมินผล ปรับปรุงเนื้อหา และพระราชทานให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้ดำเนินการเล่มที่ 5 เป้าประสงค์คือ ชาวบ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง โดยคนกลางที่จะไปสื่อสารส่งผลสิ่งดี ๆ ให้กับชาวบ้านไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คือ คนกรมการพัฒนาชุมชน และต้องขอขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้อนุมัติงบประมาณงบกลางให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำพระดำริสู่การปฏิบัติ เพราะขั้นสุดท้ายปลายทางของพระกรณียกิจทุกอย่าง พระองค์ท่านปรารถนาให้พสกนิกรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดี นำ knowhow ที่ทันสมัย ทันท่วงที ประยุกต์กับภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อนำไปใช้ผลิตงาน ดังนั้นในอนาคตหลังจากนี้ และ 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากพระองค์ได้ยื่นพระหัตถ์ลงมา ผลงาน OTOP จากที่ต้องขอให้ช่วยซื้อ กลายเป็นมีลูกค้ามากขึ้น และชิ้นงานบางชิ้น ต้องสั่งจองล่วงหน้าเพราะขาดตลาด จึงขอให้ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนทุกคนได้ภาคภูมิใจ รวมทั้งขอบคุณสมาคมแม่บ้านมหาดไทยที่สนับสนุนพวกเราเสมอมา โดยในเล่มที่ 5 สามารถอ่าน E-book ที่ https://online.fliphtml5.com/rnqjs/tmaz/#p=2” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่เราได้รับพระกรุณาคุณ ชีวิตของพวกเราก็ง่ายขึ้น เพราะไม่ว่าเราไปบรรยายที่ไหนเราก็มีภูมิความรู้ มีความมั่นใจ และที่สำคัญด้วยความจงรักภักดีของพี่น้องประชาชนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในปีนี้ที่พวกเราทุกคนชาวมหาดไทยได้เป็นเจ้าภาพหลักในการสนองงานเรื่อง Thai Textiles Trend Book แล้ว จะต้องทำงานให้หนักกว่าเดิม จึงขอฝากอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และพี่น้องกรมการพัฒนาชุมชนทุกคน ต้องทำงานให้หนักกว่าที่ผ่านมา ในเรื่องการนำเอาองค์ความรู้ Thai Textiles Trend Book ไปสู่พี่น้องประชาชนให้กว้างขวาง รวดเร็ว และเกิดผลทำให้ชิ้นงานออกมาเพื่อสนองตอบต่อโลกแฟชั่น เพราะเล่มที่ผ่านมาที่เราได้รับ เราเคยนำเอาไปใช้แล้ว ผลก็คือคนชอบ และผลของโลกแฟชั่นก็เป็นจริงอย่างที่พระองค์คาดคะเนไว้จากการทรงงานหนัก ทั้งการ Research การประมวลรวบรวมความคิดเห็นจากกูรูแฟชั่นทั่วโลก มาสู่ Thai Textiles Trend Book และเหตุที่เราต้องทำงานหนักตั้งแต่วันนี้ เพราะงานหัตถกรรมไทยเป็นงานมือ และถ้าเราอยากเห็นคนที่สวมใส่ผ้าไทยได้ก้าวทันโลกแฟชั่น เราก็ต้องเร่งให้เขารีบผลิตชิ้นงานออกมา เราต้องเริ่ม “ลงมือตั้งแต่วันนี้” เพื่อให้เขาเร่งรีบวางแผนการผลิต และสีทั้งหมด พระองค์ได้พระราชทานเรื่องของวัสดุตามธรรมชาติเพื่อที่จะให้เกิดสีตาม theme ของ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025 อันจะทำให้คนไทยช่วยเยียวยารักษาโลกใบเดียวให้อยู่ได้ ดังตราสัญลักษณ์พระราชทาน Sustainable Fashion ที่พระองค์ได้พระราชทานให้กับพวกเรา เพื่อให้ผ้าไทยได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มที่จะใช้ตราสัญลักษณ์พระราชทาน จะต้องได้รับหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยมีคณะกรรมการพิจารณาระดับต่าง ๆ ที่สามารถพิจารณาในลักษณะ Daily ไม่ต้องเป็นไปตามรอบ ทั้งนี้ พระราชประสงค์จะไม่สำเร็จ ถ้าพวกเราไม่ทำงานหนัก จึงขอให้พวกเราทุกคนได้ลงไปช่วยกันสื่อสาร ลงไปให้กำลังใจ ลงไปผลักดันให้พี่น้องผู้ประกอบการได้เข้าสู่กระบวนการผลิตตามแนวพระดำริ ที่มีมากกว่าเรื่องของสี ต้องเปิดใจให้กว้าง “Thai Textiles Trend Book” เป็นคู่มือชีวิตของผู้ประกอบการไทย ที่สมบูรณ์ด้วยพระปรีชาชาญของพระองค์ท่านโดยแท้ ถ้ามีและทำตามหนังสือเล่มนี้ไม่มีวันจนอย่างแน่นอน”

ดร.วันดี กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทยน้อมสำนึกในพระกรุณาคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงมีพระปรีชาชาญพระวิริยอุตสาหะ โดยทรงเป็นบรรณาธิการ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025 เป็นเล่มที่ 5 แล้ว ซึ่งพระองค์พระราชทานแนวคิดด้านการตลาดให้กับพี่น้องทุกกลุ่มในอุตสาหกรรมผ้าไทยได้ใช้ จาก 4 แนวคิดที่พระองค์พระราชทาน ดังพระนิพนธ์คำนำบางส่วน “เป็นพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมชุมชนเพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาด้วยความคิดสร้างสรรค์ และต้องนำไปใช้ได้อย่างยั่งยืน” โดย Trend หรือเฉดสีเล่มนี้ มี 4 กลุ่ม คือ สวรรค์เขตร้อน : Paradise Found โอบอ้อมอบอุ่น : Warm Embrace แพรวพราววาวฝัน : Iridescent Dream และเงาแห่งอดีต : Silhouette of the Past ซึ่งทุกสิ่งสามารถถักทอด้วยภูมิปัญญา และสิ่งที่เปลี่ยนไปของผ้าไทย คือ การใช้ธรรมชาติ ใช้สีธรรมชาติเข้ามาสัมผัส เข้ามาอยู่ในชีวิตของคนทอผ้าทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะผู้ประกอบการมองว่า ถ้าไม่ใช้สีเคมีมันจะไม่สวย แต่ทว่า ภายหลังจากได้น้อมนำพระดำริมาใช้สีธรรมชาติ ทำให้ชิ้นงานมีมูลค่าสูงขึ้น และสีก็มีความสวยสดงดงามไม่แพ้สีเคมี และยังมีความยั่งยืน พระองค์ทำให้หลักการตลาดของงานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยทั้ง 4 องค์ประกอบ คือ ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) และการส่งเสริมการตลาด (Promotion) ได้รับการยกระดับสู่วงการแฟชั่นระดับโลกอย่างสมบูรณ์

นายสยาม กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่า Thai Textiles Trend Book เป็นตำรับตำราสำหรับคนทุกคน เพราะแม้ว่าเราจะเป็นประชาชนทั่วไป เราตื่นมาตอนเช้าจะสวมสีอะไร ถ้าเราได้เปิดหนังสือ เราก็สามารถที่จะ match การแต่งตัวของเราได้ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่ผู้ประกอบการ แต่เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนได้

“กรมการพัฒนาชุมชน ได้ศึกษาพระดำริและพระปณิธานของพระองค์ท่าน ตั้งแต่ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาถึง “Sustainable Fashion” สู่การดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 โดยในปี 2568 ได้นำเสนอโครงการปี 2568 และได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และสำหรับกิจกรรมสำคัญที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะเสด็จไปทรงเป็นองค์ประธานการประชุมวิชาการ Symposium การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 โดยกรมการพัฒนาชุมชนจะได้น้อมนำเอาแนวพระดำริมาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติสมดังพระปณิธานพระองค์ท่าน” นายสยาม กล่าวเพิ่มเติม

ดร.ศรินดา กล่าวว่า จากการได้ร่วมงานกับคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ภายหลังจากที่พวกเราทุกส่วนได้น้อมนำพระดำริสู่การปฏิบัติ ซึ่งพระองค์ท่านรับสั่งว่า ลูกศิษย์ของเรามี 2 กลุ่ม คือ 1) แม่ ๆ ป้า ๆ ช่างทอผ้า และ 2) นิสิต นักศึกษา ที่อยู่ในงาน Fashion Design และ Product Design ซึ่งเราจะต้องทำให้ลูกศิษย์ทั้ง 2 กลุ่มเข้าถึงเรื่องราวและความรู้ของงานดีไซน์สมัยใหม่ โดยในส่วนของนิสิตนักศึกษาก็ต้องเรียนรู้ผ่านทฤษฎีความรู้จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่แม่ ๆ ป้า ๆ ช่างทอผ้าผู้เป็นศิลปินภูมิปัญญาช่าง ผู้ทรงภูมิปัญญา ต้องให้นิสิต นักศึกษา ไปเรียนรู้กับคนเหล่านี้ เพื่อที่ให้คนเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเราต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของเราให้สามารถอยู่กับโลกในปัจจุบันและในอนาคตได้