เผยแพร่ |
---|
มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทยที่จัดงาน TEDx Talks ภายใต้การนำร่องแนวคิดการจัดงานแบบ Low Carbon Event เพื่อแสดงจุดยืนถึงความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยมหิดลและสอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุน แผนพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาตั้งแต่ปี 2017และจัดต่อเนื่องมาตลอด
ในปี 2024 TEDxMahidolU ให้ความสำคัญ “ความหลากหลาย” โดยเชิญ Speakers ทั้งหมด 12 ท่าน มาพูดในประเด็นสำคัญต่าง ดังนี้
1. แอน ดร.สุภัชญา เตชะชูเชิด – นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม
2. เป๋ ชไมพร เจริญไกรกมล – หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล
3. อาจารย์ไก่ ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล – อาจารย์และนักคติชนวิทยา
4. กวง ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ – ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์
5. อู๋ ธนภัทร โอกาสเลิศ – Sound Artist
6. เพิ้ง จิตตกานต์ สุวรรณภัฏ – ศิลปิน
7. ติช่า กันติชา ชุมมะ – นักแสดง นางแบบ และ Influencer
8. จือ ณัฏฐา สุนทรวิเนตร์ – Interior Designer
9. กล้วย วิชัย กำเนิดมงคล – เจ้าของแบรนด์ “Coffee De Hmong”
10. สุ้ย วรรณา จารุสมบูรณ์ – ประธานกลุ่ม Peaceful Death
11. ป้อม ผศ.ดร.สุภัทร์ ไชยกุล – นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์
12. กร กร วรรณไพโรจน์ – ศิลปินวง PROXIE และนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์
• แอน ดร.สุภัชญา เตชะชูเชิด – นักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
เพราะสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน ทั้งอากาศและอาหาร แต่ในวันที่สิ่งแวดล้อมกำลังประสบปัญหา มีใครสามารถเข้าไปช่วยธรรมชาติได้บ้าง จะมีกี่คนเข้าใจถึงมูลค่าของแม่น้ำและก้อนหิน ซึ่งเป็นส่วนสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เมื่อมองย้อนดูการช่วยเหลือโลกง่าย ๆ อย่างการแยกขยะ หรือการรีไซเคลสิ่งของนั้น มันง่ายจริงหรือสำหรับการใช้ชีวิตของทุกคนในปัจจุบัน ในฐานะผู้จัดการโครงการสิ่งแวดล้อมและนักวิจัย คุณแอนมองว่าภารกิจนี้ไม่ง่ายเลย เพราะพวกเรายังขาดเข้าใจและการให้คุณค่าที่แท้จริงกับธรรมชาติ ส่งผลให้ตัวเราห่างไกลจากสิ่งแวดล้อมกว่าที่คิด
• เป๋ ชไมพร เจริญไกรกมล – หัวหน้าการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
นับตั้งแต่วันที่ได้เข้ามาทำงานด้านพยาบาล คุณเป๋ได้พบเจอผู้คนมากมาย ได้รับรู้และเล็งเห็นถึงความทุกข์ยากลำบากของพวกเขาในการเข้ารับการรักษา จนเกิดเป็นความตั้งใจที่ว่า “ไม่อยากให้พวกเขาต้องลำบากแบบที่ตัวเองเคยพบเคยเห็นมา” ในฐานะพยาบาลคนหนึ่ง เธอจึงอยากช่วยเหลือและเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วย เธอได้ใช้ประสบการณ์ ความรู้ และทักษะความสามารถที่สั่งสมมาในการพัฒนาระบบการใช้เตียงผู้ป่วยข้ามวอร์ดเข้ามาจัดการปัญหาภาวะผู้ป่วยไร้เตียง ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้ารับการรักษาเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เธอยังนำเอาวิธีการรับมือกับภาระงาน และปัญหาในแบบฉบับของตนเองมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบุคลากรแต่ละฝ่ายของโรงพยาบาล ส่งผลให้การประสาน ตลอดจนการดำเนินงานมีความราบรื่นและความคล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม
• ไก่ ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล – อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการเชี่ยวชาญในประเด็นวิชาการด้านมานุษยวิทยาและคติชนวิทยา
จากการตั้งคำถามถึงที่ไปที่มาของตัวเอง นำอาจารย์ไก่ไปสู่เส้นทางของนักคติชนวิทยา ด้วยความหลงใหลในการค้นหาที่มาของความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี และขนบธรรมเนียม ทำให้อาจารย์มีแนวคิดที่อยากจะ “เชื่อมโลกเก่ากับโลกใหม่เข้าด้วยกัน” เพราะทุกสิ่งล้วนถูกดำเนินไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน แต่ในวันที่โลกก้าวหน้ามากขึ้น จะมีซักกี่คนที่หวนให้ความสำคัญถึงสิ่งที่อดีตมอบให้และนำมาใช้ประโยชน์ต่อยอด อาจารย์ไก่เชื่อว่าเราสามารถเชื่อมโลกเก่ากับโลกใหม่เข้าด้วยกันได้ โดยเริ่มจากการพัฒนาชุมชน เช่น การศึกษาเกี่ยวกับ “ระบบผี” ที่สะท้อนให้เห็นถึงการจัดระเบียบในสังคมผ่านความเชื่อ หรือการส่งเสริมให้นิทานพื้นบ้านในอดีตมาเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนผ่านการตีความในรูปแบบใหม่ ๆ และทำให้เห็นว่านิทานเป็นเรื่องของทุกคน
• กวง ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ – ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์, KBTG Labs
งานวิจัยด้านจิตวิทยาพบว่า ยิ่งเรามองเห็นตัวเองในอนาคตชัดเจนมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้คุณกวง ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ KBTG Labs ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาแชทบอท “Future You” ที่เปรียบเสมือนไทม์แมชชีน โดยผู้ใช้งานสามารถพูดคุยกับตัวเองในอีกหลายปีข้างหน้าได้ ซึ่งคุณกวงตั้งเป้าหมายว่า Future You จะต่างจาก AI ทั่วไป โดยจะช่วยส่งเสริมวิธีคิดและชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น เช่น ในกรณีที่คำแนะนำในอนาคตไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน ทางผู้ใช้งานก็สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ด้วยการทำวันนี้ให้ดีขึ้น
• อู๋ ธนภัทร โอกาสเลิศ – อาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือศิลปินด้านเสียง ที่รู้จักกันในนาม ‘อู๋’
บางอย่าง ก็ไม่สามารถสื่อสารออกมาผ่านภาพถ่ายได้ แต่เสียงนั้นยืดหยุ่น เพราะมีความหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แค่การขยับมือซ้ายขวาในทิศทางและเวลาที่ต่างกัน ก็สร้างความถี่และแรงสั่นสะเทือนที่ไม่เหมือนกันแล้ว คุณอู๋จึงเกิดความสนใจในเสียง คอยเงี่ยหูฟังเสียงต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องซักผ้า เสียงรถติดใจกลางสยาม หรือเสียงของโรคระบาด ล้วนมีเอกลักษณ์ของตนเอง เลยตั้งใจรังสรรค์ทำนองใหม่ ไม่เหมือนใคร ด้วยการปลดขีดจำกัดของเสียงผ่าน live-coding music นวัตกรรมการสร้างเสียงที่สมบูรณ์แบบด้วยการโค้ดในคอมพิวเตอร์ โดยมีเว็บไซต์เป็นกระดาษโน้ต และคีย์บอร์ดคอมเป็นปากกา
• เพิ้ง จิตตกานต์ สุวรรณภัฏ – ศิลปินด้านงานศิลปะ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ยายเพิ้งนายพราน’
ในสายตาของคนทั่วไป ภาพจำเชิงลบเกี่ยวกับผู้มีภาวะออทิสติกอาจทำให้พวกเขาถูกด้อยค่าหรือถูกมองข้ามทักษะความสามารถที่พวกเขามี คุณเพิ้งเชื่อว่าการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ออกมาแสดงทักษะด้านศิลปะ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่ยนภาพจำเชิงลบเหล่านั้น ด้วยการนำศิลปะบำบัดอย่าง “การสื่อสารของบุคคลออทิสติกผ่านงานศิลปะ” กับยายเพิ้ง มาช่วยส่งเสริม จะสามารถสร้างให้เกิดพื้นที่แสดงความสามารถของพวกเขาได้ ยายเพิ้งคือแรงกำลังสำคัญที่จะนำพาความตั้งใจที่ว่านี้ให้ออกเดิน เพียงแต่ยายเพิ้งยังต้องการเสียงจากทุกคน ที่จะส่งต่อความตั้งใจในการสร้างพื้นที่เหล่านั้นให้เกิดขึ้น และขยับขยายพื้นที่แห่งโอกาสนี้ให้กว้างไกลออกไป
• ติช่า กันติชา ชุมมะ – นักแสดง/นางแบบ เจ้าของ Youtube Channel ‘Ticha Kanticha’
“การพูดเรื่อง Sex เปรียบเสมือนการชี้โพรงให้กระรอก” คือสิ่งที่หลายคนในสังคมไทยถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการเปิดกว้างที่มากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “Sex” ยังคงเป็นสิ่งที่คนไทยส่วนมากเลือกที่จะไม่พูดถึง และมักถูกมองเป็นเรื่องต้องห้ามและน่าอาย ในฐานะบุคคลสาธารณะคนแรก ๆ ที่กล้าจะพูดในเรื่องนี้อย่างเปิดเผย เธอมองว่าจะมีซักกี่คนที่ตระหนักได้ว่าสิ่งนี้ก่อให้เกิดเป็นปัญหาก้อนใหญ่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น การถูกคุกคามทางเพศ การท้องก่อนวัยอันควร รวมไปถึงปัญหามากมายที่จะสร้างแผลใจให้คนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน คุณติช่ามีความตั้งใจที่จะผลักดันเรื่องของเพศศึกษาให้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เปิดกว้างและสามารถพูดคุยกันได้มากขึ้น ทำความเข้าใจ เติมเต็มความไม่รู้ และมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนได้เข้าถึง ส่งเสริมเรื่องของ “Sex education” ให้ถูกต้องในช่วงวัยที่ควรรู้อย่างเหมาะสม เพราะการป้องกันปัญหาย่อมง่ายกว่าการแก้ไขปัญหาเสมอ
• จือ ณัฏฐา สุนทรวิเนตร์ – ดีไซเนอร์/นักออกแบบ เจ้าของบริษัท Double V space
“บ้านที่ทำให้คนหย่าร้างกัน” “ห้องน้ำสำหรับคนพิการ”
นี่คือโจทย์สุดแปลกใหม่ในสมัยเรียนของคุณจือ เป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายมุมมองใหม่ให้เห็นว่าอาชีพสถาปนิก หรือมัณฑนากรก็สามารถสร้างผลกระทบ มอบประสบการณ์ใหม่ หยิบยื่นความรู้สึกให้กับผู้อยู่อาศัยได้ทั้งในด้านที่ดีและไม่ดี ทุกงานออกแบบของคุณจือจึงเต็มไปด้วยจิตวิญญาณและความเอาใจใส่ ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ใช้แบบพิมพ์เดียวกันมาประกอบสร้าง แต่จะเป็นไปตามแบบที่ลูกค้าต้องการ เพราะคุณจือตั้งปณิธานไว้ว่า จะสร้างบ้านที่น่าอยู่ได้อย่างไร หากยังไม่เข้าใจความปรารถนาที่แท้จริงของผู้อยู่อาศัยอย่างลึกซึ้ง
• กล้วย วิชัย กำเนิดมงคล – เกษตรกรผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘Coffee De Hmong’
เชื่อไหมว่าเครื่องดื่มสากลในยามเช้าอย่างเจ้า “กาแฟ” นั้นเป็นมากกว่าเครื่องดื่ม สำหรับคุณกล้วยแล้ว กาแฟเป็นสิ่งสร้างมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างคนในชุมชนกับพื้นป่ามรดกตกทอด นอกจากนี้ยังช่วยสร้างรายได้และทักษะอาชีพให้แก่ผู้คนในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน รวมถึงระบบนิเวศที่สมดุลไปพร้อม ๆ กัน และมุ่งเป้าไปยังการทำ “เกษตรแบบประณีต” ด้วยความเชื่อว่า อะไรที่เราตั้งใจทำ เราให้ความสำคัญกับมัน แน่นอนว่าเราทำด้วยความประณีตมันย่อมออกมาดีเสมอ
• สุ้ย วรรณา จารุสมบูรณ์ – ผู้บุกเบิกและก่อตั้งกลุ่ม ‘Peaceful Death’
ความตาย หนึ่งสิ่งที่คนเราไม่สามารถปฏิเสธหรือหลีกหนีได้ และช่วงเวลาที่กำลังจะเกิดการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ความยากลำบากย่อมปรากฏขึ้นในใจ ชวนให้สับสนวุ่นวาย ตัดสินใจไม่ถูกว่าควรทำอย่างไรต่อไปดี คุณสุ้ยเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนเช่นกัน จึงเป็นจุดริเริ่มในการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตและความตาย นำไปสู่การก่อตั้ง Peaceful Death เพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้องและสนับสนุนให้ใช้เวลาร่วมกับผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างเป็นสุขที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างตอนจบของชีวิตอันสุขสงบ
• ป้อม ผศ.ดร.สุภัทร์ ไชยกุล – อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเชี่ยวชาญ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารทางการแพทย์, การทดสอบความปลอดภัยและการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหาร ตามระบบมาตรฐาน, มาตรฐาน กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการผลิตอาหาร
นับวันผู้ป่วยเบาหวานมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาให้กับผู้ป่วยเบาหวานคืออาหาร เนื่องจากอาหารทางการแพทย์มีราคาสูงมากกว่าอาหารทั่วไป เพราะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ในฐานะนักวิจัยทางด้านโภชนาการ คุณป้อมจึงหาทางแก้ปัญหานี้ด้วยการเลือกผลผลิตในประเทศอย่าง “ข้าว” ที่หาได้ง่าย ราคาถูก และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน มาทำการศึกษาและทดลองอย่างจริงจัง ส่งผลให้ข้าวได้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ที่ราคาถูก มีคุณค่าตามโภชนาการ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรของไทย
• กร วรรณไพโรจน์ – ศิลปินวง PROXIE และนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์
บนโลกที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า หมุนเวียนตามเข็มนาฬิกาไปไม่รู้จบ บางทีเราก็อาจจะหมุนตามความคาดหวังของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เมื่อมองย้อนกลับมาก็ชวนให้สงสัยในตัวเองว่าเราเป็นใครกันแน่ จนรู้สึกกลัว สับสน ตีค่าตัวเองว่ายังดีไม่พอ ทว่าคุณกรผู้เป็นทั้งศิลปินวง PROXIE ไอดอลมากความสามารถ พร้อมกับการเป็นนักศึกษาแพทย์ เชื่อว่าคนเราไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ยังสามารถเปลี่ยนชุดสวมทับบทบาทเป็นตัวเองในแบบที่วาดฝันเอาไว้ได้ เพียงโอบรับตัวตนในทุกรูปลักษณ์ โดยไม่ต้องรอให้ใครมายินยอม ก็จะค้นพบสิ่งที่เราตามหามาตลอด แล้วเอื้อมไปคว้ามาเก็บไว้ด้วยสองมือของเรา ไม่แน่ว่าเราอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจส่งต่อให้กับใครอีกหลายคนในสักวันหนึ่ง