เผยแพร่ |
---|
ปลัด มท. นำพุทธศาสนิกชนประกอบพิธีเททองหล่อพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ เพื่อประดิษฐานเป็นอนุสรณ์สถานที่พระราชทานเพลิงศพพระอริยสงฆ์ผู้ได้รับการขนานนามว่า “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว” ให้คงอยู่ตลอดไป
วันนี้ (5 ส.ค. 67) เวลา 13.39 น. ที่วัดหนองโพ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเททองหล่อพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ โดยได้รับเมตตาจาก พระธรรมวชิรธีรคุณ, รศ.ดร. เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ พระอารามหลวง เป็นประธานสงฆ์ มีพระเถราจารย์นั่งปรกอธิษฐานจิต ได้แก่ พระราชวชิรสุนทร ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เจ้าอาวาสวัดท่าพระเจริญพรต พระวชิรธรรมวิสิฐ ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอตาคลี เจ้าอาวาสวัดจันเสน พระครูนิวาตธรรมาทร เจ้าคณะตำบลพนมเศษ เจ้าอาวาสวัดพนมเศษเหนือ และพระครูศรีธีรานันท์ เจ้าคณะอำเภอตาคลี เจ้าอาวาสวัดดงพลับ และพระสงฆ์สมณศักดิ์ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ อาทิ พระราชรัตนเวที, ดร. รองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เจ้าอาวาสวัดวรนาถบรรพต พระอารามหลวง พระศรีสุทธิพงศ์ เจ้าคณะอำเภอลาดยาว เจ้าอาวาสวัดศรีสุธรรมาราม
โอกาสนี้ นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายศรัณย์ศักด์ ศรีเครือเนตร รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายฉัตรชัย เพ็ชรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ พลโท ณัฐวุฒิ คล้ายโอภาส เจ้ากรมการอุตสาหกรรมทหาร นายชุมพิชญ์ เดชะรัฐ นายบดินทร์ เกษมศานติ์ นายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพุทธศาสนิกชนกว่า 2,000 คน ร่วมในพิธี
โดยเมื่อถึงเวลาตามฤกษ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบพิธีบูชาฤกษ์และบวงสรวงเทวดา โดยจุดธูปเทียนบูชาฤกษ์หน้าโต๊ะเครื่องสังเวย พราหมณ์บูชาฤกษ์และอ่านโองการ จากนั้น เป็นการประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย สมาทานศีล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และประกอบพิธีเททองหล่อ โดยหย่อนแผ่นทอง เงิน และนาก ลงบนช้อนคันยาว จากนั้นถือสายสิญจน์ที่โยงมาเทลงเบ้าหล่อ โดยมีผู้ร่วมพิธีถือสายสิญจน์ด้วยความพร้อมเพรียง เสร็จแล้ว ประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ทั้งนั้นอนุโมทนา ผู้ร่วมพิธีกรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธี นอกจากนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าสักการะรูปหล่อหลวงพ่อเดิมองค์แรกที่มณฑปหลวงพ่อเดิมด้วย
“การประกอบพิธีเททองหล่อพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ ในวันนี้ เกิดขึ้นจากดำริของศิษยานุศิษย์ที่ได้เล็งเห็นว่า บริเวณฌาปนสถานที่ใช้ในการพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อเดิมนั้น ทางวัดหนองโพได้อนุรักษ์ไว้ แต่ทว่า ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาไม่รู้ว่าเป็นสถานที่แห่งอนุสรณ์การสลายสรีระหลวงพ่อเดิม จึงได้ขอสร้างรูปหล่อหลวงพ่อเดิม ขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว เพื่อประดิษฐานไว้ที่ในมณฑปฌาปนสถานหลวงพ่อเดิม พร้อมจัดทำป้ายบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ และได้ร่วมกันทำนุบำรุงฌาปนสถานทรงไทยให้มั่นคงถาวรเป็นอนุสรณ์แห่งความเคารพรักของศิษยานุศิษย์ที่มีความเคารพนับถือในหลวงพ่อเดิมตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพนับถือของพุทธบริษัททั่วประเทศ และประเทศต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย กระทั่งลูกศิษย์ได้น้อมนำวัตรปฏิบัติไปประพฤติปฏิบัติตามจนดวงตาเห็นธรรม คือ แสงสว่าง เพราะหลวงพ่อเดิมท่านจุดแสงสว่างให้เกิดขึ้นที่วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ให้โชติช่วงไปสู่เวทีโลก ด้วยอำนาจแห่งศีล สมาธิ และปัญญา จนชาวบ้านขนานนามว่า “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว”
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การที่ทุกท่านได้มาร่วมกันประกอบพิธีเททองหล่อพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) ในวันนี้ เป็นการน้อมรำลึกนึกถึงปัญญาบารมีของหลวงพ่อเดิม ผู้เป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนา โดยหากพวกเราทุกคนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบดังวัตรปฏิบัติที่หลวงพ่อเดิมได้ดำรงมาในกาลก่อนนั้นแล้วนั้น ย่อมจะทำให้เกิดพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ และเกิดปัญญา รู้แจ้งในหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และการที่ท่านทั้งหลายมีปัญญาก็เพราะมีสติและสมาธิ เหล่านี้จะเป็นปัญญาอันบริสุทธิ์ ที่จะนำไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ หรือ “มรรคมีองค์ 8” อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำชอบ สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ คือ ความพยายามชอบ สัมมาสติ คือ การระลึกชอบ สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งจิตมั่นชอบ อันจะส่งผลให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิดดีคิดชอบประสบความสำเร็จทุกประการ
“วัดหนองโพเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยในราวสมัยกรุงธนบุรี หลวงพ่อรอดได้นำชาวบ้านเขาทอง 7 ครัวเรือนอพยพมาตั้งรกรากที่บริเวณวัดหนองโพที่ถูกทิ้งร้าง มีต้นโพธิ์ใหญ่ 7 กิ่งสาขาให้อาศัยร่มเงา มีหนองน้ำ มีโบสถ์ร้าง ชาวบ้านหนองโพหักร้างถางพงบูรณะพัทธสีมาเดิม อาราธนาหลวงพ่อรอดขึ้นเป็นสมภารเจ้าวัด เป็นปฐมเจ้าอาวาส และอดีตเจ้าอาวาสถัดมา ได้แก่ หลวงพ่อสิน หลวงพ่อจันทร์ หลวงตาชม พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (เดิม พุทฺธสโร) หลวงพ่อสมุห์ชุ่ม ขนฺธสโร พระครูนิพนธรรมคุด (น้อย เตชปุญโญ) พระครูนิวาสธรรมโกวิท (ประเทือง อินฺทวีโร) โดยแต่เดิมวัดหนองโพแต่แรกชื่อ “วัดสมโภชน์โพธิ์กระจาย” ทั้งนี้ ในสมัยพระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร เป็นเจ้าอาวาส ในช่วงปี 2435 – 2494 วัดหนองโพมีความเจริญรุ่งเรืองมีชื่อเสียงขจรขจายด้วยบารมีของหลวงพ่อเดิมสืบต่อมาจนปัจจุบัน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ปัจจุบัน วัดหนองโพมีพระครูนิปุณพัฒนพงศ์ เจ้าคณะตำบลหนองโพ เขต 1 เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพ และได้นำแนวทางของอดีตเจ้าอาวาสทุกรูป มาดำเนินการพัฒนาวัดเป็นพัฒนาตัวอย่าง และเป็นวัดที่ได้นำแนวทางของมหาเถรสมาคมตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ระหว่างฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย อันเป็นการส่งเสริมทำให้วัดซึ่งเป็นศาสนสถาน ได้เป็นสถานที่ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนและประชาชน เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ เป็นสัปปายะสถานสำหรับประชาชน รวมทั้งเป็นสถานที่ในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนการนำศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของท้องถิ่นของชุมชนมาดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการบูรณาการความร่วมมือ ในรูปแบบของพลัง “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ และยังเป็นการน้อมนำแนวความคิดของหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร ผู้ที่ริเริ่มนำการพัฒนาในทุกด้านมาสู่ตำบลหนองโพแห่งนี้ ถ่ายทอดส่งต่อมาสู่คนรุ่นหลังในการน้อมนำและสานต่อถึงปัจจุบัน