กระทรวงมหาดไทย สั่งการทุกจังหวัด สนับสนุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ต่อเนื่อง 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ สิงหาคม – ตุลาคม 67 มุ่ง สร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน

กระทรวงมหาดไทย สั่งการทุกจังหวัด สนับสนุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ต่อเนื่อง 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ สิงหาคม – ตุลาคม 67 มุ่ง สร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน

วันนี้ (5 ส.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สนับสนุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ในระยะ 3 เดือน ตั้งแต่ สิงหาคม – ตุลาคม 2567 เพื่อเป็นการเสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน โดยให้ความสำคัญกับสินค้าชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นลำดับแรก

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาและเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งให้การสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มในทุกมิติ ซึ่งในการประชุมหารือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือแนวทางการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ช่วยเหลือประชาชนในด้านราคาค่าเช่าร้านค้า และค่าเช่าแผงตลาด รวมถึงสนับสนุนพื้นที่จัดจำหน่ายสินค้าทั้งที่ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“เป้าหมายของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ มีเป้าหมายหลัก 4 เป้าหมาย คือ 1) การลดรายจ่ายผู้ประกอบการรายเล็ก 2) เพิ่มช่องทางค้าขาย 3) ลดภาระค่าครองชีพ และ 4) กระตุ้นเม็ดเงินให้หมุนเวียนในเศรษฐกิจ โดยมีกรอบระยะเวลาในการจัด Campaign ต่อเนื่อง 3 เดือน ตั้งแต่ สิงหาคม – ตุลาคม 2567 รวมถึงเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชน สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือไปยังทุกภาคีเครือข่ายบูรณาการผ่านกลไกในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกันทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย บริษัทเอกชนรายใหญ่ สถานีบริการน้ำมัน Logistic Platform ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ในการสนับสนุนโครงการฯ ดังกล่าว” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดสนับสนุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ โดยดำเนินการดังนี้ 1) อำนวยการและกำกับการดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกำหนดดำเนินการเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2567 ของพื้นที่ในภาพรวม โดยให้ความสำคัญกับสินค้าชุมชน ผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นลำดับแรก เพื่อเป็นการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมถ้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนในพื้นที่ 2) สนับสนุนพื้นที่จำหน่ายสินค้า เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สถานที่ของทางราชการ หน่วยงานทหาร หน่วยงานรัฐสาหกิจ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ สถานที่ที่เหมาะสมในการจัดตลาดพาณิชย์ ทั้งนี้ มีข้อพึงระวังในการไม่นำตลาดเร่ คาราวานตลาดนัด ไปแข่งขันในตลาดท้องถิ่น ยกเว้นสินค้าจากเกษตรกร หรือ กลุ่มผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) 3) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบผ่านผู้นำชุมชน ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และอื่น ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก และสามารถลดค่าครองชีพของประชาชนได้ และ4) ให้ประสานงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินกิจการตลาดพิจารณาลดต้นทุนผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถของได้ในราคาถูกลง และกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายจึงได้กำชับให้ทุกจังหวัดรายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ทุกวันที่ 15 ของเดือน จนกว่าโครงการฯ จะแล้วเสร็จ โดยทุกจังหวัดจะมีการรายงานครั้งแรกในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยไปยังได้สั่งการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์การตลาด ให้พิจารณาลดค่าเช่าร้าน/ค่าเช่าแผง เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการรายเล็ก ให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาถูก หรือ จัด Campaign ลดราคาช่วยค่าครองชีพ และกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

“นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การตลาด และการจำหน่าย มุ่งเน้นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยกระทรวงมหาดไทยได้ส่งเสริมแนวทางการลดรายจ่ายในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งกำหนดมาตรการและแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่น (OTOP) สู่การส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Economy) จึงเป็นหน้าที่สำคัญของเราชาวมหาดไทยที่จะช่วยสนับสนุนให้โครงการฯ ดังกล่าวของรัฐบาล ได้ยังผลต่อประชาชน บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ การยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย