ปลัดมหาดไทยจับมือนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดงาน “ภูษาศิลป์ถิ่นผ้าครั่ง จากโลคอล สู่เลอค่า” เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567

“ภูษาศิลป์ถิ่นผ้าครั่ง จากโลคอล สู่เลอค่า”

ปลัดมหาดไทยจับมือนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดงาน “ภูษาศิลป์ถิ่นผ้าครั่ง จากโลคอล สู่เลอค่า” เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 ย้ำ “สีครั่งและสีฟ้าเป็นสีมหามงคลที่ทำให้ประเทศชาติมีความเจริญรุ่งเรือง” และขอให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันทำให้ผ้าครั่งอยู่คู่จังหวัดลำปาง สร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม สร้างความเจริญให้จังหวัดลำปางตลอดไป

วันนี้ (4 ส.ค. 67) เวลา 17.00 น. ที่ลานรถม้า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลำปาง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน “ภูษาศิลป์ถิ่นผ้าครั่ง จากโลคอล สู่เลอค่า” เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 โดยมี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง รองศาสตราจารย์ ดร. สุพรรณี ฉายะบุตร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปางและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง นางจิตรี จิวะสันติการ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง นายกิติพันธ์ นวลจันทร์ฉาย ประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง  คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดลำปาง ภาคีเครือข่าย ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยว ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้ร่วมพิธี ถวายธูปเทียนแพถวายราชสักการะ กล่าวถวายพระพรชัยมงคล และปฏิญาณตนเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยกล่าวว่า ปวงชนชาวไทยต่างชื่นชมในพระบุญญาบารมี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมที่ทรงมีต่อปวงพสกนิกร ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้อุทิศพระวรกาย พระปัญญา และพระราชทรัพย์ ปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความเหนื่อยยาก ทั้งด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนไทย การสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของประชาชน การส่งเสริมอนุรักษ์ฟื้นฟูงานศิลปะพื้นบ้าน และงานหัตถศิลป์อันงดงามหลากหลายสาขา ล้วนส่งผลให้ราษฎรมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ มีสุขภาพดี และมีความมั่นคงในครอบครัว ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา เอื้ออาทรต่อราษฎรทุกหมู่เหล่านำพาความผาสุกร่มเย็นไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นที่ประจักษ์ประทับใจ และได้รับการเทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้าของพสกนิกรไทยทั้งมวล

“ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย พระบารมีแห่งสยามเทวาธิราช ตลอดจนพระเดชานุภาพ แห่งสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ โปรดอภิบาลและดลบันดาลประทานพร ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระเกษมสำราญ พระราชหฤทัยชื่นบาน มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน สถิตเป็นมิ่งขวัญปกเกล้าเหล่าพสกนิกรตราบจิรัฐิติกาลเทอญ”

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน “ภูษาศิลป์ถิ่นผ้าครั่ง จากโลคอล สู่เลอค่า” เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 โดยกล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ได้มาร่วมชื่นชมในความสำเร็จของภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดลำปาง ภายใต้การนำการบูรณาการของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง/ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หอการค้าจังหวัดลำปาง และกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายภาคเอกชนที่มีความเข้มแข็ง และเป็นผู้นำในการสนับสนุนส่งเสริมการใช้ผ้าไทยที่เป็นผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดลำปาง ซึ่งนอกจากจะช่วยหนุนเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่แล้ว ยังเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษของคนลำปาง ที่พวกเราทุกคนได้ร่วมกันนำภูมิปัญญาการทอผ้าและการย้อมสีธรรมชาติจากครั่ง รวมถึงลวดลายของบรรพบุรุษ มาส่งเสริมจนเกิดมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ถูกอกถูกใจของประชาชนและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน

“งาน “ภูษาศิลป์ถิ่นผ้าครั่ง จากโลคอล สู่เลอค่า” ในวันนี้ เป็นกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงเพียรพยายามตรากตรำพระวรกายในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นระยะเวลากว่า 70 ปี โดยพระองค์ได้ทรงรื้อฟื้นให้ผ้าไทยกลับมาเป็นเครื่องมือของพวกเราคนไทยที่อยู่ในชนบทให้ได้มีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มเติม จนทำให้ผ้าไทยได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เพราะในช่วงปี 2514 สังคมไทยในขณะนั้นกำลังตื่นตัวกับสิ่งที่เรียกว่า 5 ย. คือ ผมยาว เสื้อยืด กางเกงยีนส์ สะพายย่าม รองเท้ายาง และยังมีโรงงานนำเข้าเสื้อผ้า จนจะทำให้อัตลักษณ์ความเป็นไทยหายไปหมด แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นทุ่มเทในการพระราชทานพระมหากรุณายุยงกระตุ้นส่งเสริมให้ประชาชนถักทอผ้าไทย ขณะเดียวกันในช่วงปีพุทธศักราช 2525 – 2530 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของประเทศไทย ได้เป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส จนทำให้ทุกคนหันมาสวมใส่ผ้าไทย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า พวกเราคนไทยทุกคนโชคดีที่มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งพระองค์ได้ทรงเจริญวัย และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จย่า คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการผลิตและการใช้ผ้าไทย ด้วยการพระราชทานลวดลายผ้า และพระราชทานโครงการพระดำริที่สำคัญ คือ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” และแนวพระดำริ “Sustainable Fashion” ซึ่งกระทรวงมหาดไทย สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งในขณะนั้น ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ดำรงตำแหน่งประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ รวมทั้งในฐานะนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ช่วยสนองงาน ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และภาคีเครือข่ายทุกกระทรวง ทุกรัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจเอกชน เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว และพี่น้อง OTOP จนทำให้ผ้าไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง เรียกได้ว่า ด้วยพระบารมี ทำให้ความรุ่งเรืองของผ้าไทยที่กำลังอับเฉาตกต่ำเกือบจะสูญพันธุ์ได้กลับมากระตุกและกระตุ้นให้คนไทยได้สวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น เป็นบทเรียนที่ทำให้เราสรุปได้ว่า “ถ้ามีคนสวมใส่ ผ้าไทยจะยั่งยืน” เพราะ Demand Side จะไปกระตุ้น Supply Side คนปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม คนทอผ้าใช้สีธรรมชาติ หรือภาคการผลิต ได้มีอิทธิฤทธิ์ ได้มีแรงที่จะผลิต ด้วยความต้องการของผู้บริโภค และยังช่วยกระตุ้นให้ลูกหลานสนใจเข้ามาเรียนรู้และทำการผลิต Demand Side จะเกื้อกูลเกื้อหนุน Supply Side ทำให้ผ้าไทยอยู่ยั่งยืนยง อันยืนยันว่า “หัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้บริโภคทุกคน ไม่ใช่เพียงอยู่แค่ผู้นำ”

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผ้าไทยของจังหวัดลำปางมีความคึกคัก เข้มแข็ง โดดเด่น ภายใต้การนำของประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปางและผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ที่ได้ทุ่มเททำวิจัยเรื่องครั่งและโปรโมทผ้าลำปางอย่างเข้มแข็ง และสีครั่ง ยังเป็นสีที่ตามหลักความเชื่อโหราศาสตร์ไทยเชื่อว่า “สีครั่ง” เป็นสีถวายพระพรผู้ที่มีวันเฉลิมพระชนมพรรษาตรงกับวันจันทร์ ให้มีอายุมั่น อายุยืนเป็นหมื่นปี อันหมายความว่า พวกเราชาวจังหวัดลำปาง ได้ร่วมกันย้อมสีที่เป็นสีมหามงคล เพื่อถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นสีคู่มิตรกับสีฟ้าที่ทำให้ประเทศชาติมีความเจริญรุ่งเรือง จึงขอขอบคุณหอการค้าและองค์กรต่าง ๆ ที่ได้มาส่งเสริมสนับสนุนงานผ้าไทยและหัตถศิลป์ไทยของลำปางเพิ่มมากขึ้น

“ขอให้พวกเราได้ช่วยกันส่งเสริมให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และทุกคนในจังหวัดลำปาง สวมใส่ผ้าลำปางให้มากที่สุดในทุก ๆ วัน และร่วมเป็นกำลังสำคัญในการดูแลจังหวัดลำปางให้เป็นจังหวัดที่เข้มแข็ง พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน ด้วยความทุ่มเทเสียสละในลักษณะจิตอาสาที่เราทุกคนทำมาโดยตลอด ดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเพียงพยายามอยากให้เกิดขึ้น คือ “จิตอาสาเราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ช่วยกันสร้างความมั่นคงด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ให้คงอยู่คู่จังหวัดลำปาง และขอให้งาน “ภูษาศิลป์ถิ่นผ้าครั่ง จากโลคอล สู่เลอค่า” ของเรา เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผ้าลำปางเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนไม่หยุดยั้งตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปาง มีการเลี้ยงครั่งมากที่สุดในภาคเหนือ มีการปลูกต้นจามจุรี และสามารถเลี้ยงครั่งได้ประมาณ 67,000 ต้น มีโรงงานแปรรูปครั่ง 7 โรงงาน จากต้นทุนดังกล่าว จังหวัดลำปาง โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่กลุ่มช่างทอพื้นบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ภาคราชการ สถาบันการศึกษา และแรงสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยมีแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง เป็นแกนกลางในการประสานความร่วมมือ ตามนโยบายของท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริม และพัฒนาการทอผ้าตามอัตลักษณ์ท้องถิ่น ย้อมสีครั่ง และสีธรรมชาติ ยกระดับการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่กลุ่มต่างๆ ในจังหวัดลำปาง ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย การน้อมนำแนวพระดำริและพระราชดำริของทุกพระองค์ ตลอดจนการน้อมนำพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความยั่งยืนสืบไป

นางไอลดา จันทร์จิเรศรัศมี รองประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปางถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีลวดลายผ้าเป็นที่ขึ้นชื่อ ทั้งซิ่นเชียงแสนลำปาง ตีนจกลำปาง ซิ่นราชสำนัก และลวดลายล่าสุด คือ ลายละกอนไส้หมู ซึ่งเป็นลวดลายของสกุลช่างที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมวัด บ้านเรือน และงานพุทธศิลป์ของจังหวัดลำปาง ทั้งนี้ สังคมไทยนั้นนับว่าโชคดีที่นับเป็นเวลา 7 ทศวรรษ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผ้าไทย” ที่ทรงอนุรักษ์ฟื้นฟูและเป็นแบบอย่าง ในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง ทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไทยไปทุกหนทุกแห่ง รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยสู่สายตาชาวโลก ทรงเป็นผู้ให้ความสนพระทัยในเรื่องการทอผ้า และส่งเสริมราษฎรให้มีอาชีพ สร้างรายได้สู่ครัวเรือน และทรงพลิกฟื้นผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์ที่คนทั่วโลกให้การยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้

“หอการค้าจังหวัดลำปาง และภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมกันจัดงาน “ภูษาศิลป์ถิ่นผ้าครั่ง จากโลคอล สู่เลอค่า” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และสืบสานพระราชปณิธานการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน ตลอดจนเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนคนทอผ้า และผู้ประกอบการ และยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ปลุกกระแสการใส่ผ้าทอที่ใช้สีย้อมและเส้นใยจากธรรมชาติ ของชุมชนในจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะสีย้อมครั่ง จึงได้มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าย้อมสีครั่ง ที่นำมาตัดเย็บให้เข้ากับยุคสมัย ให้ผ้าไทยใส่แล้วเก๋ไก๋ในชีวิตประจำวัน กิจกรรมเสวนา การจำหน่ายผ้าทอจากชุมชนต่าง ๆ และสินค้าจากชุมชนมากมาย” นางไอลดา กล่าวเพิ่มเติม