คณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จับมือ คณะนิติฯ มธ. จัดเสวนา “ประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ. ประเมินผลสัมฤทธิ์ฯ”

คณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จับมือ คณะนิติฯ มธ. จัดเสวนาประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ. ประเมินผลสัมฤทธิ์ฯ ย้ำหลักการกฎหมายจำเป็นต้องได้รับการประเมินอย่างเป็นระบบ เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยและเกิดความคุ้มค่า

คณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) นำโดย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการเสวนาในหัวข้อ “ประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ. ประเมินผลสัมฤทธิ์ฯ (พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562)” ณ ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร (LT1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน เมื่อวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

การเสวนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ วิเคราะห์ประสิทธิภาพและข้อจำกัดของ พ.ร.บ. ประเมินผลสัมฤทธิ์ฯ ตลอดจนถึงระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ประเมินผลสัมฤทธิ์ฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

การเสวนานี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกเป็นการกล่าวปาฐกถานำ โดยศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ กฎหมายที่ดีควรเป็นอย่างไร และ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “DNA ของนักกฎหมายในยุคดิจิทัล

ช่วงที่สองเป็นการอภิปราย ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่

1.ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
2.ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) 3.รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปางและการคลัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดมี อาจารย์ ดร.บุญญภัทร์ ชูเกียรติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานในพิธีเปิดกล่าวว่า พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีความสำคัญ เนื่องจากวางหลักเกณฑ์กำหนดให้เมื่อกฎหมายใดได้ใช้บังคับไปสักระยะหนึ่ง จะต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินผลสัมฤทธิ์ ว่ามีความจำเป็นในการใช้กฎหมายนั้นต่อไปหรือไม่ หรือเป็นการสมควรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยในส่วนของพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อใช้บังคับมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ก็จำเป็นต้องมีการประเมินผลด้วย

 

ด้าน ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “DNA ของนักกฎหมายในยุคดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย 8 ประการ ได้แก่ 1.ความรู้ทางด้านกฎหมายและเทคโนโลยี 2.ความสามารถในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา 3.ความสามารถในการสื่อสาร 4.ความยืดหยุ่นและการปรับตัว 5.ความเข้าใจในด้านจริยธรรมและการมีคุณธรรม 6.การทำงานร่วมกับทีมและการประสานงาน 7.การเรียนรู้ตลอดชีวิต และ 8.การช่วยส่งเสริมให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ยังต้องใช้และตีความกฎหมายให้เกิดความสมดุล ระหว่างประโยชน์ของสาธารณะกับประโยชน์ของธุรกิจ

 

ปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ที่ไม่อาจจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ Cyber Attack, Digital Disruption, Disruptive innovation รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนขณะที่เกิดความเสี่ยงใหม่ๆ ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ตามไม่ทันปรากฏการณ์ Legal Disruption จึงไม่ได้หมายถึงการที่ตัวบทกฎหมายพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่หมายถึงการที่นักกฎหมายเองจำเป็นต้องเร่งพัฒนาตนเอง ตลอดจนต้องใช้และตีความกฎหมายที่มีอยู่ให้สามารถปฏิบัติได้และด้วยความเป็นธรรม

 

ดร.สุทธิพล อธิบายต่ออีกว่า นักกฎหมายมีจุดแข็ง คือ ยึดหลักการหรือเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นสำคัญ และมีพื้นฐานที่เป็นตัวบทกฎหมายมารองรับการทำงานหรือการตัดสินใจแต่อาจมีจุดอ่อน คือ มักนำเอากรอบของข้อกฎหมาย มาเป็นข้อจำกัดทางความคิดทำให้อาจไม่ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายให้สำเร็จ นักกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีความพร้อม โดยทักษะที่จำเป็นของนักกฎหมาย นอกเหนือจากทักษะในเรื่องกฎหมาย คือ 1.ทักษะในการเข้าใจคน เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการดำรงชีวิตของคน 2.ทักษะในการเข้าใจโลก เข้าใจกระแสและเทรนด์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 3.ทักษะที่รู้เท่าทันเทคโนโลยีและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และทักษะที่ 4.ต้องสามารถนำข้อมูลจากพฤติกรรมของคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์

 

ไม่เฉพาะแค่นักกฎมายที่ควรที่จะตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายเพื่อนำมาใช้ประกอบการประเมินสภาพปัญหา ความจำเป็น และความสอดคล้องกับสถานการณ์ ความคุ้มค่า และภาระที่มีต่อภาคธุรกิจ และประชาชน แต่ประชาชนรวมทั้งกลุ่มธุรกิจก็ควรที่จะตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินผลสัมฤทธิ์เช่นกัน เพราะกฎหมายที่ไม่เหมาะสมย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิตลอดจนภาระที่เกินความจำเป็นต่อประชาชนและภาคธุรกิจ จึงจำเป็นต้องนำทุกความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียรวมทั้งข้อเสนอแนะมาสะท้อนให้หน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายได้รับทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพิจารณากลั่นกรองกฎหมายให้ทันสมัยอยู่เสมอ  ดร.สุทธิพล กล่าวปิดท้าย